‘บอร์ดคัดเลือกฯ’ ไฟเขียว ‘BEM’ ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ ขณะที่ ‘ผู้ว่าฯรฟม.’ ยกเลิกการแถลงข่าวกะทันหัน
...................................
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้พิจารณาผลการประเมินซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด
ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการเชิญ BEM มาเจรจาต่อรอง ตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป
สำหรับการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังกล่าว มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ได้แก่ BEM และ ITD Group ขณะที่กลุ่มบีทีเอส คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งได้ซื้อซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ในครั้งนี้ ไม่ได้เข้ายื่นเอกสารข้อเสนอฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เดิมนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการฯ รฟม. นัดหมายสื่อมวลชนแถลงข่าวการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันนี้ (16 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ผ่านระบบ Zoom อย่างไรก็ดี ก่อนถึงกำหนดเวลาแถลงข่าว รฟม. ได้แจ้งสื่อมวลชนยกเลิกการแถลงข่าวอย่างกะทันหัน และไม่มีการแจ้งสาเหตุการยกเลิกแถลงข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ระบุว่า BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่รัฐ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท หรือขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ 78,287.95 ล้านบาท และมีรายงานข่าวว่า ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิให้แก่รัฐ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท หรือขอรับการสนับสนุนวงเงินค่าก่อสร้างฯ 102,635.66 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับ RFP การคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กำหนดว่า ภาครัฐจะสนับสนุน ‘ค่างานโยธา’ ให้เอกชนในวงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธาที่เกิดขึ้นจริงภายในวงงิน 91,983 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็น Provisional Sum (เงินสำรองเผื่อการใช้จ่าย) ภายในวงเงิน 4,229 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
BEM พร้อมก่อสร้าง ‘สายสีส้ม’ เมิน BTS โชว์ราคาต่ำกว่า
‘รฟม.’ประกาศ‘BEM-ITD’ผ่าน‘ซองเทคนิค’ประมูลสายสีส้มฯ-‘สามารถ’ท้วงบางเจ้าขาดคุณสมบัติ
‘ศาลปค.’สั่งยกคำร้อง‘BTSC’ขอระงับประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-‘รฟม.’เดินหน้าเปิดซองข้อเสนอ
โต้นัว!‘สามารถ’ยันวิจารณ์รถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’สุจริต หลัง‘รฟม.’กล่าวหาใช้ดุลพินิจบิดเบือน
แนะ‘รฟม.’ชะลอเปิดซองรถไฟฟ้า‘สายสีส้ม’ รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้ล้มประมูล‘รอบแรก’ชอบหรือไม่
มาแค่ 2 เจ้า! ‘BEM-อิตาเลียนไทย’ ยื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม-กลุ่ม‘บีทีเอส’ไม่ร่วม
'รฟม.'โต้'บีทีเอส'ยันกติกาประมูลรถไฟฟ้า'สายสีส้ม'เปิดกว้าง-ไม่เอื้อประโยชน์เอกชนรายใด
พลิกคำพิพากษาศาลปค.! ยก 3 ปม ก่อนชี้‘รฟม.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คดีล้มประมูลสายสีส้ม ปี 64
ใช้ดุลพินิจมิชอบ!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯล้มประมูล‘สายสีส้ม’-‘รฟม.’จ่อยื่นอุทธรณ์
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’ ล้มประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ โดยมิชอบ
เบื้องลึก!ศึกประมูล‘สายสีส้ม’ เขียนกติกาล็อก‘รับเหมา’? ‘ศักดิ์สยาม’ปัดกีดกันเอกชนบางเจ้า