‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครองกลาง’ ขอให้ชี้ขาด 4 คดี ปมพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ร้องเพิกถอน ‘ประธานอนุญาโตฯ-อนุญาโตฯ’ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ขณะที่ ‘ไทยคม’ ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว หลัง ‘ก.ดีอีเอส’ ส่งหนังสือเรียก ‘แบงก์’ ชดใช้ ‘เงินค้ำประกัน’ สัญญาดาวเทียม
..................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ลงวันที่ 3 ม.ค.2561 โดยมี บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง เป็นผู้เรียกร้อง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นผู้คัดค้าน นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ปัจจุบันทั้ง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง กับ กระทรวงดีอีเอส ได้ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลฯวินิจฉัย และมีคำสั่งเกี่ยวกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ รวมแล้ว 4 คดี
คดีแรก บมจ.ไทยคม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ค.1/2562 คดีหมายเลขแดงที่ ค.1/2562 โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ กรณีพิพาทตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 3 ม.ค.2561 ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) ลงวันที่ 3 ม.ค.2561
เนื่องจากข้อพิพาทดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และยังไม่ได้ข้อยุติว่า การที่ผู้ร้อง (บมจ.ไทยคม) ไม่ชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการผิดสัญญาสัมปทานที่จะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้าน ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันหรือไม่ แต่ผู้คัดค้านกลับมีหนังสือเรียกให้ธนาคารชดใช้เงินตามสัญญาค้ำประกัน
คดีที่สอง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ค.4/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ค.5/2561 โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้ ‘ยก’ คำคัดค้านอนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งยอมรับตามคำร้องคัดค้านของผู้ร้อง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน (กระทรวงดีอีเอส)
นอกจากนี้ บมจ.ไทยคม และบมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ยังขอให้ศาลฯมีคำสั่งห้ามมิให้อนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน (กระทรวงดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการในข้อพิพาท ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 7 และ 8)
คดีที่สาม บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง ร้องศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ค.1/2564 (ยังไม่ออกคดีหมายเลขแดง) กรณีพิพาทตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 2534 โดย บมจ.ไทยคม และบมจ.อินทัช โฮลดิ้ง เห็นว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการ THAC กระทรวงยุติธรรม ไม่มีอำนาจนำข้อบังคับของสถาบันฯ ซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับตามสัญญา มาใช้บังคับในข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (คดีพิพาทดาวเทียมไทยคม 5) ซึ่งรวมถึงแต่งตั้งประธานคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทนี้ด้วย จึงขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยฯดังกล่าว
คดีที่สี่ กระทรวงดีอีเอส ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคำร้องที่ 533/2564 (ยังไม่ออกคดีหมายเลขแดง) โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดเบื้องต้นของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 (คดีพิพาทสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8) หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเบื้องต้นว่า คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจวินิจฉัยในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 เนื่องจาก บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้คัดค้านที่ 1 และ 2) ยืนยันว่าดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 มิใช่ดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ 11 ก.ย. 2534 จึงไม่อาจอาศัยข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้
“สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 10 ก.ค.2562 แจ้งคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ให้ยกคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นของผู้ร้อง (กระทรวงดีอีเอส) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เป็นคำวินิจฉัยเบื้องต้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาร้องต่อศาล” รายงานข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสาร ระหว่าง กระทรวงดีอีเอส และ บมจ.ไทยคมกับพวก จำนวน 3 ข้อพิพาท ให้เป็นอัยการคนเดียวกัน ได้แก่
1.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้เรียกร้อง) กับ กระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน)
2.ข้อพิพาทเลขที่ A27/2020 (A27/2563) ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ระหว่าง กระทรวงดีอีเอส (ผู้เรียกร้อง) กับ บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้คัดค้าน)
3.ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นคดีพิพาทการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 5 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง (ผู้เรียกร้อง) กับ กระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน)
ต่อมานายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดขณะนั้น มีหนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 ,ข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 เป็น นายวงศ์สกุล จากเดิมที่ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 มีนายธีระวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์และงบประมาณ และเลขานุการอัยการสูงสุด (นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์) เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส
ส่วนข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 มีนางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการในขณะนั้น เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ในขณะที่ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ยังไม่มีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอส
อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา นายวงศ์สกุล ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสทั้ง 3 ข้อพิพาท โดยเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการจาก นายวงศ์สกุล เป็น นายธีระวัฒน์ แต่ต่อมา กระทรวงดีอีเอสไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งนายธีระวัฒน์ เป็นอนุญาโตตุลาการ ทั้ง 3 ข้อพิพาท
กระทั่ง นายวงศ์สกุล ได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 ข้อพิพาท อีกครั้ง โดยแต่งตั้งนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอัยการอาวุโสในขณะนั้น เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 ส่วนข้อพิพาทหมายเลขที่ A27/2020 ยังตคงให้ นางสุรางค์ ซึ่งเดิมเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในข้อพิพาทนี้อยู่แล้ว เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในข้อพิพาทนี้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ต่อมา นางพฤฒิพร ได้แจ้งขอถอนตัวจากเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงดีอีเอสในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 97/2560 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 93/2563 หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ และมีการกล่าวหาว่า นางพฤฒิพร มีข้อสงสัยในความเป็นกลางและอิสระ (อ่านประกอบ : เปิดละเอียดข้อกล่าวหา!ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘รมว.ดีอีเอส- อสส.’ แทรกแซงตั้งอนุญาโตฯคดีไทยคม)
อ่านประกอบ :
‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ แจ้งถอนตัว ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม-ยันคู่กรณีไม่คัดค้าน 'ความเป็นกลาง’
อธิบดีอัยการสำนักอนุญาโตฯ ระบุชัด ‘ก.ดีอีเอส’ ตั้ง 'พฤฒิพร' คดีไทยคม ขัดระเบียบ-กม.
เปิดละเอียดข้อกล่าวหา!ยื่น ป.ป.ช.สอบ ‘รมว.ดีอีเอส- อสส.’ แทรกแซงตั้งอนุญาโตฯคดีไทยคม
‘ก.อ.’ ถกปมตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คดีดาวเทียมไทยคม ส่อมีปัญหา-แนะ ‘พฤฒิพร’ ถอนตัว
‘ดีอีเอส’ โยน ‘อสส.'ทบทวนตั้ง ‘พฤฒิพร’เป็นอนุญาโตฯคดีไทยคม หลังมีข้อครหาไม่เป็นกลาง
โชว์คำสั่ง‘บิ๊กตู่’! ตั้ง‘พล.อ.วิทวัส’นั่งปธ.ตรวจสอบสัมปทานดาวเทียม-ถกนัดแรก 13 ก.ย.
‘บอร์ด กสทช.’ ไฟเขียว NT เข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หลังสิ้นสุดสัมปทาน 'ไทยคม'
ย้อนปมแก้สัญญาดาวเทียม! ก่อนครม.ไล่เบี้ยหาคนผิด ลดหุ้น'ไทยคม’-ไม่ประมูล‘ไอพีสตาร์’
ครม.ไฟเขียวแก้สัญญาดาวเทียม ให้‘อินทัช’ ถือหุ้น‘ไทยคม’ไม่ต่ำกว่า 51%-ผนวก'ไอพีสตาร์'
แกะคู่มืออนุญาโตฯ เปิดช่อง ‘ไทยคม’ ได้เปรียบคดีดาวเทียม เดิมพันค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ชำแหละมหากาพย์ 'ดาวเทียม’ เอื้อกลุ่มทุน-‘ชัยวุฒิ’ ปัดอุ้ม‘ไทยคม’
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี