เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
“...อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ยังมีเจ้าของอาคารทั้งสิ้นจำนวน 37 อาคาร ที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาต หรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 25 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารภายในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
@ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารภายในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
เนื่องจากเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดต่างๆ มีการขยายตัวด้านการก่อสร้าง อาคารและการผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จึงกำหนดเขตควบคุมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร รวมทั้งการรองรับการขยายตัวของชุมชนในด้านการก่อสร้างอาคาร
ซึ่งท้องที่ที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้น จะต้องเป็นไปตาม หลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายที่จะประกาศให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในท้องที่ดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลจึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารหรือป้ายไม่เป็นไปตามกฎหมาย
จากการตรวจสอบ พบว่า การก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร หรือป้ายในเขตเทศบาลตำบลและ องค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนี้
1.1 เจ้าของอาคารไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร
1.1.1 การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร ปี พ.ศ.2551-2560 ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้างกองช่าง เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว จำนวน 377 ราย แบ่งเป็น ไม่ทราบสถานภาพ อยู่ระหว่างดำเนินการ และดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 260,38 และ 79 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 68.97,10.08 และ 20.95 ของจำนวนการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่กระทำผิด กฎหมายควบคุมอาคารทั้งหมด ตามลำดับ กล่าวคือ เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการออกคำสั่งตามแบบของคำสั่ง ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2528) และอยู่ในระหว่างการบังคับให้เจ้าของอาคาร ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยเป็นการกระทำผิดกรณีก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด จำนวน 246 ราย แต่ไม่ทราบสถานภาพ จำนวน 167 ราย เนื่องจากไม่มีการติดตามผลการดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นฯ รวมถึงยังมิได้มีการสอบยันสถานภาพการดำเนินการกับฝ่ายนิติการ สำนักปลัด เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ
นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ยังมีเจ้าของอาคารทั้งสิ้นจำนวน 37 อาคาร ที่กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร กล่าวคือ มีการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร โดยไม่ขออนุญาต หรือก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
1.1.2 การเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบเอกสารการออกใบอนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) หรือการขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ข้อมูลจำนวนอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2560 เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ที่สุ่มตรวจสอบทั้ง 8 แห่ง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ที่ขออนุญาตฯ (อ.1) หรือขอเปลี่ยนการใช้ฯ (อ.6) กับฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เพียง 714 แห่ง แต่ข้อมูลการสำรวจโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (ผ.ท.2) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง มีอาคารประเภทควบคุมการใช้ จำนวน 1,346 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันถึง 632 แห่ง แสดงว่า อาคารส่วนใหญ่อาจมีการเปลี่ยนการใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีอาคารทั้งสิ้นจำนวน 21 อาคาร ที่มีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามที่แจ้งขออนุญาต กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 และยังมิได้ดำเนินการขอเปลี่ยนการใช้อาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ มีอาคารที่เปิดให้บริการโดยคิดค่าบริการเป็นรายวัน ซึ่งเข้าข่ายการประกอบธุรกิจโรงแรม โดยโรงแรมเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามกฎกระทรวงกำหนดอาคาร ประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. 2522 และมีอาคารที่เปิดให้บริการเป็นสถานบริการ ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนด ประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555 ข้อ 3 กำหนดให้อาคารสำหรับใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา 32 (2)
1.1.3 อาคารไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวงที่กำหนด
จากการสังเกตการณ์อาคารในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 139 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม หอพัก ห้องเช่า อาคารชุด โรงมหรสพ และสถานบริการ จำนวน 77 27 24 4 3 และ 4 แห่ง ตามลำดับ พบว่า อาคารส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยจากอัคคีภัยตามกฎกระทรวง ที่กำหนด โดยมีสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ (1) ไม่มีป้ายผังบริเวณ จำนวน 115 แห่ง (2) ไม่มีป้ายทางหนีไฟ จำนวน 106 แห่ง และ (3) ไม่มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จำนวน 93 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 82.73 76.26 และ 66.91 ของอาคารที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งทั้ง 3 ลำดับนี้ เป็นระบบและอุปกรณ์ความปลอดภัยจากอัคคีภัยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) กำหนดให้อาคารต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย
นอกจากนี้ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป จำนวน 42 แห่ง โรงมหรสพ จำนวน 3 แห่ง และสถานบริการ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 49 แห่ง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับประตูหนีไฟ และบันไดหนีไฟ แต่จากการสังเกตการณ์ ปรากฏว่า อาคารที่มีความสูง ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ไม่มีประตูหนีไฟหรือมีแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวน 20 แห่ง หรือคิดเป็น ร้อยละ 40.82 ของอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ
1.2 เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร
จากการตรวจสอบเอกสารการดำเนินการกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายที่กระทำผิดกฎหมาย ควบคุมอาคาร ปี พ.ศ. 2551-2560 ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง เทศบาลตำบลและองค์การ บริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า ฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง ของเทศบาลตำบลและองค์การ บริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบทั้ง 8 แห่ง ยังไม่เคยมีการสำรวจป้ายโฆษณาในพื้นที่ว่ามีจนวนเท่าใด ได้รับอนุญาตหรือไม่ จึงทำให้ไม่ทราบว่ามีป้ายโฆษณาที่ถูกหรือผิดกฎหมายจำนวนเท่าใด อีกทั้ง ยังไม่มี การสอบยันข้อมูลกับฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง จึงทำให้ไม่ทราบว่ามีป้ายโฆษณา ที่ต้องชำระภาษีป้ายและเข้าข่ายเป็นอาคารตามมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำนวนเท่าใด
อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจป้าย (ผ.ท.3) ของฝ่ายแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน กองคลัง กับข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง กองช่าง ของเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบทั้ง 8 แห่ง พบว่า จำนวนป้ายโฆษณาในพื้นที่และเข้าข่าย เป็นอาคารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งฝ่ายแผนที่ภาษีฯ สำรวจได้ มีจำนวนมากกว่าจำนวนป้ายที่ขออนุญาตฯ กับฝ่ายแบบแผนและก่อสร้างฯ แสดงว่า ส่วนใหญ่อาจมี การติดหรือตั้งป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และอาจมีความเสี่ยงในด้านความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย
นอกจากนี้ จากการสังเกตการณ์ป้ายในเขตเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ ปรากฏว่า ยังมีป้ายโฆษณาซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองป้ายติดหรือตั้งโดยไม่ขออนุญาต ตามมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
สำเหตุ
1. ไม่มีการตรวจสอบเจ้าของอาคารและป้ายอย่างครบถ้วนให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. ไม่มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดหรือตั้งป้ายของ กองช่าง กับการจัดเก็บภาษี โรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของกองคลัง
3. ไม่มีการสอบยันข้อมูลสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับ ฝ่ายนิติการสำนักปลัด
ข้อเสนอแนะ ให้นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดให้มีแผนการตรวจสอบในแต่ละปีและดำเนินการตรวจสอบตามแผน หากพบการฝ่าฝืน/ ไม่ปฏิบัติให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
2. กำหนดให้มีการสอบยันข้อมูลการใช้อาคารและการติดตั้งป้าย ของกองช่าง กับการจัดเก็บภาษี โรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย ของกองคลัง หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารหรือการติดหรือตั้งป้ายโดยไม่ขออนุญาต ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้มีการสอบยันสถานภาพการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารกับฝ่ายนิติการ เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องตรงกัน และเป็นปัจจุบัน
ข้อตรวจพบที่ 2 ไม่มีการดำเนินการหรือดำเนินการแต่ไม่ครบถ้วนตามหนังสือสั่งกำรกระทรวงมหาดไทย
จากการตรวจสอบ พบว่า เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบไม่ได้ดำเนินการ หรือำเนินการแต่ไม่ครบถ้วนตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย กล่าวคือ เทศบาลตำบลและองค์การบริหาร ส่วนตำบล จำนวน 7 แห่ง ไม่ได้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยที่ให้ตรวจสอบอาคารด้านความมั่นคง แข็งแรงและด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยและอีก 1 แห่ง ดำเนินการแต่ไม่ครบถ้วน โดยดำเนินการตรวจสอบ ตามแบบรายงานการตรวจอาคาร กรณีอาคารที่มีสภาพการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายฯ แต่มิได้ดำเนินการตรวจสอบ ตามแบบรายงานผลการตรวจสอบอาคารด้านความมั่นคงฯ
นอกจากนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบเชิงป้องกันโดยมีหนังสือที่ ตผ 0023/2371 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญและเร่งรัด ตรวจสอบและรายงานผลตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นติดตามผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยได้มี หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.6/14498 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญและเร่งรัดตรวจสอบและรายงานผลตามมาตรการข้างต้น แล้วรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ โดยจะได้รายงานให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีหนังสือที่ มท 0804.6/953 ลงวันที่ 14 มกราคม 2562 แจ้งว่า มีจังหวัดรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 37 จังหวัด และอยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามรายงานผล หากมีการรายงานผล การตรวจสอบฯ เพิ่มเติม จะได้รายงานผลให้ทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลการรายงานฯ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้ดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
สาเหตุ
ไม่มีการติดตามผลการดำเนินการตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
ข้อเสนอแนะ ให้นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาดำเนินการ
1. กำชับผู้รับผิดชอบสั่งการให้ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่สั่งการ หากยังไม่มีการรายงานผลให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ให้เร่งรัดการดำเนินการโดยเร็ว
2. ในอนาคต หากมีการสั่งการของกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานอื่นของรัฐกำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินการตามที่สั่งการ
3. ติดตามผลการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอาคารให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากยังไม่ดำเนินการให้ดำเนินการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อตรวจพบที่ 3 การส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคารของอาคาร 9 ประเภทไม่เป็นไปตามกฎหมาย
จากการตรวจสอบเอกสารสมุดคุมใบอนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2560 ของฝ่ายแบบแผนและก่อสร้าง เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 8 แห่ง พบว่า มีจำนวนอาคารที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารฯ ตามมาตรา 32 ทวิ ยื่นขออนุญาตก่อสร้างฯ (อ.1) รวมทั้งสิ้น 186 แห่ง แต่จากการตรวจสอบการยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร เพื่อออกใบรับรอง การตรวจสอบอาคาร (ร.1) ของอาคารทั้ง 186 แห่ง ปรากฏว่า การส่งรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร ของอาคาร 9 ประเภทที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอาคารฯ ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ มีอาคาร จำนวน 161 แห่ง ไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือคิดเป็นร้อยละ 86.56 ของอาคาร 9 ประเภท ที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบฯ ทั้งหมด
สาเหตุ
ไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่มีการเพิกเฉยไม่ส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคาร
ข้อเสนอแนะ ให้นายกเทศมนตรีหรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณากำหนดมาตรการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉยไม่ส่งรายงาน การตรวจสอบสภาพอาคาร หากยังเพิกเฉยให้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย