"...ภารกิจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นหนึ่งใน 4 ปัญหาเร่งด่วนที่ ‘ชัชชาติ’ ประกาศตั้งแต่วันแรกว่า จะเข้าสะสางให้ได้ แต่จนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 7 เดือนแล้วที่ปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และดูเหมือนปัญหาจะยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก.."
ยังเป็นประเด็นที่เป็นกระแสได้เรื่อยๆ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ปัจจุบันกำลังมีวิวาทะของ 2 หน่วยงาน ซัดสาดใส่กันในหน้าสื่อขณะนี้
ฝ่ายหนึ่ง คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC เจ้าของตำนานผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศ ซึ่งต่อมาเรียกกันชินปากว่า ‘รถไฟฟ้า BTS’ หรือ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ผูกปลีสัมปทานกับ ‘กรุงเทพมหานคร (กทม.)’ มายาวนานตั้งแต่ปี 2542
ฝ่ายสองคือ บจ.กรุงเทพธนาคม หรือ เคที วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มี กทม.ถือหุ้นใหญ่สุด 99.98% ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง มักจะได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร กทม. ให้ดำเนินการรบริหารจัดการสาธาณูปโภคและจัดทำบริการสาธารณะของเมืองมหานครขนาดใหญ่ รวมถึง ‘กิจการรถไฟฟ้า’ ด้วย
เมื่อกรุงเทพธนาคม อยู่ใต้ร่มธงของ กทม. จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า กทม.ก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย และหากนับตั้งแต่ช่วงที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 อันมาพร้อมกับการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ของกรุงเทพธนาคม นำโดย ‘ธงทอง จันทรางศุ’ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ด และมี ‘ประแสง มงคลศิริ’ นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ
ภารกิจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นหนึ่งใน 4 ปัญหาเร่งด่วนที่ ‘ชัชชาติ’ ประกาศตั้งแต่วันแรกว่า จะเข้าสะสางให้ได้
แต่จนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 7 เดือน ปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และดูเหมือนปัญหาจะยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.
เมื่อ BTSC ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อเดือนพ.ย. 2565 โดยเป็นการฟ้องในฐานความผิดเดิม คือ กรณีที่ กทม.และเคที ค้างชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ แต่เป็นคนละช่วงเวลา คือ ค้างชำระในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 - ต.ค. 2565 เป็นจำนวนรวม 10,600 ล้านบาท
ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีที่ศาลปกครองกลางตัดสินเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ให้ กทม.และเคที จ่ายค่าจ้างเดินรถและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวม 1.17 หมื่นล้านบาท
เมื่อมีคดีใหม่นี้เกิดขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของการแถลงตอบโต้กันไปมาระหว่าง BTSC กับ กรุงเทพธนาคมในที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไล่เรียงความเป็นมาของความขัดแย้งรอบนี้ โดยอ้างอิงตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 มาให้สาธารณชนรับทราบ ณ ที่นี้
@ปฐมบท ส่วนต่อขยายที่ 1
ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางหน้าที่ 21 ระบุว่า เมื่อ กทม.ทำสัญญาว่าจ้าง กรุงเทพธนาคม ในฐานะวิสาหกิจของ กทม. ให้เป็นผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 โดยมีสัญญาจ้างโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาที่ 1/2555 ลงวันที่ 2 พ.ค. 2555 กำกับไว้
ต่อมา กรุงเทพธนาคม ไปทำสัญญาจ้าง BTSC ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการเดียวกัน ตามสัญญาที่ กธ.ส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 โดยเงื่อนไขในสัญญาให้ BTSC เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งจัดเก็บค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 โดยส่วนต่อขยายช่วงนี้มีค่าโดยสารที่ 15 บาทตลอดสาย
โดยรายได้จากการดำเนินการส่วนต่อขยายนี้ กรุงเทพธนาคม มีหน้าที่นำส่งเป็นรายรับของ กทม. หากมีรายรับมากกว่ารายจ่าย กรุงเทพธนาคมจะนำรายรับจากบัญชีนอกงบประมาณของ กทม. มาจ่ายเป็นค่าจ้างบริหารระบบและค่าใช้จ่ายผู้รับจ้างเดินรถ ส่วนที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำส่ง กทม. แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้ กรุงเทพธนาคม จะนำเงินค่าจ้างล่วงหน้ามาจ่ายในส่วนที่ขาดจนครบ และ กทม. จะจ่ายส่วนที่ขาดคืนให้ในปีงบประมาณถัดไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนต่อขยายที่ 1 นี้ BTSC ยังได้รับค่าจ้างไม่ครบถ้วน โดย กทม.และกรุงเทพธนาคม ค้างชำระตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 - พ.ค. 2564 และลากยาวมาจนถึงเดือน ต.ค. 2565 ตามที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ดังที่รายงานข้างต้น
สัญญาจ้างโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญาที่ 1/2555 ระหว่าง กทม. และ กรุงเทพธนาคม ทำเมื่อปี 2555
สัญญาที่กรุงเทพธนาคมจ้าง BTSC ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ ทำเมื่อปี 2555
@หยุดจ่าย เพราะรอ ครม. เคาะสัมปทาน
สำหรับเหตุผลที่ไม่มีจ่ายค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ ส่วนต่อขยายที่ 1 นี้
‘สุรพงษ์ เลาหะอัญญา’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ตอบกับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าววานนี้ (17 ม.ค. 66) ว่า การไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวมาจากการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการระหว่างที่คณะกรรมการเจรจาตามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หยุดจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ณ ขณะนั้น ก็เพราะว่าตามที่เจรจากัน ต่อไปส่วนต่อขยายที่ 1 จะผนวกรวมกับสัญญาอื่นๆ ให้อยู่ในสัญญาสัมปทานเดียวรวมทั้งงานเดินรถ และอื่นๆทั้งหมด โดยการแจ้งว่า จะหยุดจ่ายนั้น ไม่มีการทำบันทึกหรือตกลงใดๆไว้ เพราะต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตัวสัมปทานก่อน แล้วจึงมาเจรจาก่อนลงนามในภายหลัง
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยต่อรองให้มีการจ่ายค่าจ้างในส่วนต่อขยายที่ 1 นี้ไปก่อนหรือไม่ นายสุรพงษ์ตอบว่า ณ ตอนนั้น คณะกรรมการเจรจาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ไม่มีแล้ว เพราะกระบวนการตามคำสั่งมาถึงการเสนอ ครม. ให้เห็นชอบ ซึ่งก็ต้องรอกระบวนการนี้ต่อไป จึงดำเนินการได้
สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
@ส่วนต่อขยายที่ 2 : ฝีที่รอวันแตก
นอกจากส่วนต่อขยายที่ 1 ที่เป็นปัญหาแล้ว ยังมีประเด็นสืบเนื่องไปถึงส่วนต่อขยายที่ 2 ของสายสีเขียวด้วย โดยส่วนต่อขยายที่ 2 คือช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางระบุว่า เดิมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบเดินรถตามมติ ครม. เมื่อเดือน พ.ย. 2551 ซึ่ง กทม.ในขณะนั้นมีบทบาทเฉพาะการบริหารจัดการเชื่อมต่อระบบ รวมไปถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนกรุงเทพมหานครเท่านั้น
ต่อมาในเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 ครม.รับทราบตามมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) ที่ให้ กทม.เป็นผู้เดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 ถัดมา กทม.ทำ MOU มอบหมายให้กรุงเทพธนาคม บริหารจัดการและมีสิทธิในการดำเนินโครงการ รวมไปถึงการจัดให้มีระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถด้วย ซึ่งภายหลังกรุงเทพธนาคมก็จ้าง BTSC เป็นผู้บริหารเดินรถและซ่อมบำรุง รวมทั้งเก็บค่าโดยสาร ในส่วนต่อขยายที่ 2 และที่ผ่านมาส่วนต่อขยายนี้ไม่เคยเก็บค่าโดยสารเลย นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 ถึงปัจจุบัน
โดยในช่วงปี 2564 กทม.เคยนำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2564 เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) พิจารณาใช้เงินสะสมวงเงิน 50,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้ส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงไปก่อน
แต่ท้ายสุด สภากทม.ไม่อนุมัติ จึงนำมาสู่การฟ้องร้องในศาลปกครองในที่สุด
สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ ก็เป็นประเด็นที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ พ่อเมืองคนปัจจุบันเคยเสนอ สภากทม. เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2565 ขอเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย และนำรายได้บางส่วนมาจ่าย BTSC ไปก่อน แต่สุดท้ายถูก สภากทม. โหวตคว่ำจนต้องถอนมติไปในที่สุด ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 สภากทม.ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวขึ้น เพื่อสแกนปัญหาต่อไป
อนึ่ง ที่ต้องไม่ลืมคือ นอกจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ศาลปกครองกลางเคยสั่งให้จ่ายจำนวน 14,937 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย และกำลังสู้คดีกันอยู่นั้น ยังมีค่าจ้างติดตั้งระบบเดินรถและระบบไฟฟ้าในส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ไปจ้าง BTSC ดำเนินการแล้วยังไม่ได้จ่ายคืน ซึ่ง BTSC ประเมินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยหนี้ก้อนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด และรอเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไปที่อาจจะปะทุได้ทุกเมื่อ
เหล่านี่คือ เรื่องราวโดยสรุปที่มาของการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว วงเงินสูงนับหมื่นล้านบาท หนึ่งในปมสำคัญที่ยังมีอีกหลาย ๆ ปัญหารอสะสางอีกมาก ซึ่งคงต้องรอวัดใจ และวัดฝีมือผู้บริหาร กทม. และกรุงเทพธนาคมชุดปัจจุบันกันต่อไป
อ่านประกอบ
- ‘BTS’ โต้ ‘กรุงเทพธนาคม’ ขอให้รีบจ่ายค่าจ้างเดินรถสายสีเขียว ปัดรู้เห็นกระบวนการทำสัญญา
- ‘กรุงเทพธนาคม’ แจง ‘ศาลปกครอง’ โต้ BTSC ปมฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถอีกหมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ รับ ‘กทม.’แบกภาระขาดทุนเดินรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’ ช่วงปี 73-84 รวม 8.57 หมื่นล.
- มีเงินสะสม7หมื่นล.! กทม.พร้อมจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ต้องรอผ่านสภากรุงเทพฯ ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ส่งความเห็น ‘สายสีเขียว’ ถึง ‘มหาดไทย’ แล้ว ลุ้นครม.พิจารณา
- กทม.ส่งความเห็น ‘มหาดไทย’ ปมสายสีเขียว สัปดาห์หน้า
- ‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
- สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
- ‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
- ‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
- ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
- เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
- 2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
- ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
- แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
- ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
- กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน