รฟม.แจงต้นก่อสร้างรถไฟฟ้า MRT 4 สาย สูงกว่ารถไฟฟ้า 'สายสีเขียว' 3 เท่า เหตุการก่อสร้าง 50% อยู่ใต้ดิน จึงลดค่าโดยสารเหลือ 25 บาทไม่ได้ พร้อมยันค่าโดยสารปัจจุบันเหมาะสมแล้ว
..................
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวในประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาท โดยได้มีการกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ลงทุนค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด เหตุใดถึงไม่ลดค่าโดยสารเหลือ 10-25 บาท โดยระบุว่า
1.รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามกฎหมาย โดยปัจจุบันมี 4 โครงการที่ลงนามในสัญญาสัมปทานแล้ว ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 2.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 3. โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) 4.โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
2.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 4 สายทางดังกล่าว รฟม. (ภาครัฐ) รับภาระค่าลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ในขณะที่ภาคเอกชนรับภาระค่าลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ในโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เนื่องจากเป็นโครงการก่อสร้างที่มีแนวเส้นทางเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกว่า 50%
อีกทั้งยังมีแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ลอดผ่านใต้แม่น้ำเจ้าพระยา มีความยากในการก่อสร้างและมีความเสี่ยงในการดำเนินการหลายแห่ง จึงทำให้มูลค่าลงทุนโครงการสูงกว่าโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ถึง 3 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าที่ผู้รับสัมปทานต้องแบกรับด้วย
ในทางกลับกันปริมาณผู้โดยสารของโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน กลับน้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ภาคเอกชนลงทุนโครงการทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ รฟม. (ภาครัฐ) ต้องเป็นผู้รับภาระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา เพื่อจูงใจให้เอกชนสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนโครงการ
3.หลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้ามหานครของ รฟม. เป็นการคิดตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ประกอบกับ รฟม. ได้มีการกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 12 สถานีด้วย ซึ่งหากพิจารณาโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ซึ่งมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร จะเห็นว่าประชาชนมีภาระค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 0.88 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม มีความเหมาะสมและประชาชนยอมรับได้
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ได้พยายามลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดย รฟม. ได้กำหนดให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. ในกรณีที่มีการเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง MRT สายสีน้ำเงินและ MRT สายสีม่วง รวมไปถึงการเชื่อมต่อไปยังสายสีเหลืองและสายสีชมพูที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 ต่อไปด้วย
นอกจากนี้ สำหรับโครงการ MRT สายสีม่วง รฟม. ยังได้เคยปรับลดค่าโดยสารตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 256 โดยเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท
อ่านประกอบ :
'สภาฯผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' ค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-เปิดปชช.มีส่วนร่วม
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
เลื่อนเก็บไปแล้ว! ศาลปค.ไม่รับคำขอ ‘ทุเลาบังคับ’ ประกาศฯขึ้นค่าโดยสาร ‘สายสีเขียว’
หนีกม.ร่วมทุน! อัด‘บิ๊กตู่’ต่อสัมปทาน‘สายสีเขียว’ ข้ามศตวรรษ’-‘บิ๊กป๊อก’ยันไร้ทุจริต
'บิ๊กตู่'ย้ำทุกฝ่ายหารือทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอบคุณ กทม.เลื่อนเก็บ 104 บาท
กทม.เลื่อนเก็บค่ารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' 104 บาท หวั่นเป็นภาระประชาชนช่วงโควิด
ถูกกว่าสายสีเขียว! รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ส่วนตะวันตก 15-45 บาท
แพงสวนทางรายได้ขั้นต่ำ! 'มพบ.'ค้านขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท-จี้นายกฯสั่งเบรก
ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage