‘คมนาคม’ ชงรัฐตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ เปิดระดมทุนหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าก่อสร้าง-ค่าจ้างเดินรถ ก่อนเปิดประมูลเดินรถหลังหมดสัมปทานในปี 73 ชี้จะทำให้ค่าโดยสารลดลงต่ำกว่า 50 บาทตลอดสายได้ และนำเงินเข้ารัฐกว่า 3.8 แสนล้านบาทในช่วงปี 2573-2602 ขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ระบุลดค่าโดยสารเหลือ 25 บาทตลอดสายทำได้
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นการต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส
โดยกระทรวงคมนาคมเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปจ่ายคืนหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแทนกทม. รวมถึงจ่ายค่าจ้างเดินรถให้กับบีทีเอส และเมื่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสิ้นสุดลงในปี 2573 ให้รัฐเปิดประมูลการเดินรถใหม่ โดยนำโครงการเข้าสู่กระบวนการ PPP (รัฐร่วมลงทุนเอกชน) เพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป
“รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดรายได้สูง รวมทั้งมีโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” กระทรวงคมนาคมระบุ
กระทรวงคมนาคม ระบุว่า แนวทางดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและนโยบายอื่นๆเพื่อสวัสดิการของประชาชน และสามารถลดค่าโดยสารจาก 65 บาทต่อเที่ยวเหลือ 50 บาทต่อเที่ยวหรือต่ำกว่า ซึ่งเป็นระดับค่าโดยสารที่เหมาะสมที่ทำให้ประชาชนมีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ภาครัฐจะมีรายได้จากเงินนำส่งระหว่างปี 2573-2602 เป็นเงิน 380,200 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคมยังเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ในช่วงปี 2573-2585 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท โดยจะนำไปจ่ายหนี้แทนกทม.จำนวน 76,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2561-2572 ,จ่ายค่าจ้างเดินรถ 104,000 ล้านบาท ,จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในกองทุนในอัตรา 5% ต่อปี เป็นเงิน 9,800 ล้านบาท และที่เหลือจะเป็นเงินนำส่งรัฐ 110,200 ล้านบาท
ส่วนในช่วงปี 2586-2602 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 414,000 ล้านบาท เมื่อหักค่าจ้างเดินรถ 144,000 ล้านบาทแล้ว รัฐจะมีรายได้จากเงินนำส่ง 270,000 ล้านบาท
“หากดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงคมนาคม จะทำให้รัฐสามารถจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และนำเงินเข้ารัฐได้ 380,200 ล้านบาท ในปี 2602” กระทรวงคมนาคม ระบุ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคออกแถลงการณ์ ‘ข้อเสนอด้านราคาในการต่อสัมปทานสายสีเขียว’ โดยระบุว่า จากการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เรื่องรถไฟฟ้าและการต่อสัญญาสัมปทาน เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญา สภาองค์กรของผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ดังนี้
1.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวสามารถลดเหลือเพียง 25 บาทต่อเที่ยวได้ รัฐยังมีกำไรและสามารถนำเงินส่งรัฐได้มากถึง 23,200 ล้านบาท และหากคิดค่าบริการ 49.83 บาท ตามข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จะสามารถนำเงินส่งรัฐได้สูงถึง 380,200 ล้านบาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ที่ถูกนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า กรุงเทพมหานครสามารถคืนหนี้สินได้ทั้งหมด แถมยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐบาลได้มากถึง 380,200 ล้านบาท ในปี 2602 โดยใช้การคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคา 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ทดลองทำข้อมูลเปรียบเทียบ หากลดราคาค่าโดยสารลง 50% เหลือเพียง 25 บาท ยังสามารถทำได้และมีกำไร
2.มูลค่าหนี้ที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร ไม่มีความชัดเจน สร้างความสับสน
กรุงเทพมหานคร ใช้ตัวเลขหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เกินจริง โดยผนวกรวมหนี้ใน 8 ปีข้างหน้าที่ยังไม่เกิดรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวอีก 30 ปี รวม 38 ปีอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูล ไม่มีที่ไปที่มาของค่าโดยสารรถไฟฟ้า
จากตัวเลขหนี้จำนวน 148,716.2 ล้านบาท (หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 14 กุมภาพันธ์ 64) ที่ กทม. อ้างขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานแล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15-65 บาท หรือ 130 บาทในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี
โดยตัวเลขที่กรุงเทพมหานคร ค้างจ่ายจริง ณ.ปัจจุบัน มีเพียง 34,837.00 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็น หนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145.00 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090.00 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602.00 ล้านบาท หรือหากใช้ตัวเลขหนี้ของกระทรวงคมนาคมกทม.มีหนี้เพียง 76,000 ล้านบาทจนถึงปี 2572
มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวม ค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคตจนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทานเป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ตั้ง ปี 2562-2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม.เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี
3.สภาขององค์กรผู้บริโภคเสนอให้กรุงเทพมหานคร ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทาน และรอการตัดสินใจจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น หนี้สิน ดอกเบี้ย การคิดค่าจ้างเดินรถ รายได้จากการเดินรถ รายได้จากการพัฒนาสถานี การโฆษณา เป็นต้น
ราคา 15-65 บาทตลอดสายไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 39.27% ของค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทในกรุงเทพมหานคร เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนยาวนานถึง 38 ปี จนถึงปีพ.ศ. 2602 ทำให้บริการรถไฟฟ้าไม่สามารถเป็นบริการขนส่งมวลชนได้จริง ไม่สามารถลดปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครได้ ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคาดหวังและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร
“สภาองค์กรของผู้บริโภค หวังว่า จะได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้ การคิดราคาค่าบริการ การจ้างบริการเดินรถ หรือการสร้างทางเลือกของแหล่งรายได้อื่นของกรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนบริการรถไฟฟ้าให้เป็นบริการขนส่งมวลชนและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบสัญญาที่จะสร้างภาระให้กับผู้บริโภค” แถลงการณ์ระบุ
อ่านประกอบ :
เลื่อนเก็บไปแล้ว! ศาลปค.ไม่รับคำขอ ‘ทุเลาบังคับ’ ประกาศฯขึ้นค่าโดยสาร ‘สายสีเขียว’
หนีกม.ร่วมทุน! อัด‘บิ๊กตู่’ต่อสัมปทาน‘สายสีเขียว’ ข้ามศตวรรษ’-‘บิ๊กป๊อก’ยันไร้ทุจริต
'บิ๊กตู่'ย้ำทุกฝ่ายหารือทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอบคุณ กทม.เลื่อนเก็บ 104 บาท
กทม.เลื่อนเก็บค่ารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' 104 บาท หวั่นเป็นภาระประชาชนช่วงโควิด
ถูกกว่าสายสีเขียว! รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ส่วนตะวันตก 15-45 บาท
แพงสวนทางรายได้ขั้นต่ำ! 'มพบ.'ค้านขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท-จี้นายกฯสั่งเบรก
ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
‘บีทีเอส’ แจงขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ เป็นอำนาจ ‘กทม.’-รอความชัดเจนครม.ต่อสัมปทาน
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
ครม.ยังไม่หารือ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งถกเพิ่มต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ ลั่นค่าโดยสารต้องถูก-แก้หนี้
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
ขวางรัฐต่อสัมปทานรถไฟฟ้า‘บีทีเอส’อีก 40 ปี
ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน 'ทางด่วน-รถไฟฟ้า' แสนล้าน-ส.ส.ซัดกมธ.ทำรายงานเละเทะ
‘สมคิด’ โชว์ รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-อีอีซี ผลงานศก. เลิกกินบุญเก่าป๋าเปรม 30 ปี
กสม.แนะ ก.คมนาคม-รฟม. เร่งแก้ปัญหาผลกระทบจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage