'สภาองค์กรของผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' คัดค้านการต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว' ชี้ก่อวิกฤติใหม่ ย้ำค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายแพงเกินไป พร้อมเปิดประชาชนลงชื่อคัดค้าน 19 เม.ย.นี้
......................
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำเรื่องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าเข้าสู่การพิจารณาของครม. และขอให้รัฐบาลกลับมาแก้ปัญหาระบบรถไฟฟ้า ก่อนการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ พร้อมกันนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเปิดลงชื่อวันที่ 19 เม.ย.นี้
นายสุเมธ องกิตติกุล กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า หากครม.ด่วนตัดสินใจเรื่องค่ารถโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยขาดข้อมูลที่บูรณาการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพ ถือเป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศ และกำลังจะสร้างวิกฤติใหม่ที่อาจไม่สามารถแก้ได้ในอนาคตอันใกล้
"ครม.ยังขาดข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำระบบรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองผู้ใช้ได้อย่างแท้จริงเนื่องจากการปกปิดข้อมูลของกทม. เช่น ข้อมูลเชิงวิเคราะห์นโยบายการกำหนดค่าบริการสูงสุดในบริการขนส่งมวลชนทั้งระบบที่สามารถทำให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าหลากสีได้ทั้งระบบในราคาที่อยู่บนพื้นฐานของรายได้ที่สามารถจ่ายได้จริง ขาดการบูรณาการภาพรวมของการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่จะช่วยลดปัญหาการจราจรและมลภาวะของกรุงเทพ และข้อมูลด้านอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยด้านการขนส่งมวลชนในเมืองหลวงได้อย่างแท้จริง” นายสุเมธกล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า หากครม.จะมีการพิจารณาประเด็นนี้ สภาผู้บริโภคขอยืนยันกับครม.ว่า ราคาค่าโดยสารที่กำหนดไว้ที่ 65 บาทนั้น แพงเกินกว่าความสามารถของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยจะสามารถใช้เพื่อการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกรุงได้
"รัฐบาลต้องคำนึงถึงภาระหนี้สินของประชาชนกลุ่มนี้ ที่ไม่อาจแบกค่าใช้จ่ายต่อวันที่ 65 บาทได้ แต่กลุ่มประชาชนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ชานเมืองคือเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้าเพื่อลดความแออัดของจราจรบนท้องถนนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ” น.ส.สารีกล่าว
ทั้งนี้ หากครม.ยังยืนกรานที่จะพิจารณา สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำข้อเสนอเบื้องต้นให้กับครม. เพื่อให้ครม.พิจารณาประเด็นนี้บนพื้นฐานของข้อมูลก่อนการตัดสินใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอระบบราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชน จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำที่เอื้อต่อการเข้าถึงคือไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพ เช่นในระบบในเมืองหลวงอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งจะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และลดการใข้รถส่วนตัวที่สร้างปัญหาจราจรและมลพิษได้จริง
2.เสนอให้ใช้ค่าโดยสาร 25 บาทในการพิจารณาของครม. จากตัวเลขของกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวกับราคาของระบบสายสีเขียวนี้ อยู่ที่ 49.83 บาท ต่อเที่ยว ซึ่งจะทำให้ระบบสายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท จนถึงระยะเวลาหมดสัมปทานในปี 2602 สภาผู้บริโภคเสนอให้ลดราคาดังกล่าวลง 50% แล้วกทม. ก็ยังคงมีกำไรถึง 23,200 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 38 ปีข้างหน้า
3.เสนอให้มีการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนของระบบรถไฟฟ้า เมื่อมีการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้า เพื่อลดภาระประชาชน
4.เสนอให้มีการจัดระบบตั๋วร่วมหรือระบบบัตรใบเดียว เพื่อใช้บริการขนส่งมวลชนได้ทั้งระบบซึ่งรวมทั้งรถเมล์ เรือเมล์ เป็นต้น
5.เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินของกทม.ด้วยวิธีการอื่น เพราะสัญญาสัมปทานจะหมดอายุในปี 2572 และช่วยเหลือจัดการปัญหาหนี้สินของกทม.ในปัจจุบันที่จำเป็นจริงกับบริษัทบีทีเอส
น.ส.สารี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวในการมองเรื่องนี้ทั้งระบบ ในเชิง Concept เช่น ตั้งบริษัท Joint venture ที่มิใช่การตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมากินหัวคิว แบบที่ผ่านๆมา แต่เป็นการถือหุ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน แบ่งค่าใช้จ่ายและรายได้ร่วมกันทุกอย่าง รวมทั้งรายได้จากค่าเช่าเชิงพาณิชย์ และค่าโฆษณา ฯลฯ ต้องรวมทุกสาย ทุกส่วนต่อขยายเป็นระบบเดียวกับบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ
"สภาผู้บริโภคยังยืนยันว่ารัฐบาลควรยุติการนำเรื่องระบบรถไฟฟ้าไปพิจารณาโดยขาดข้อมูลแบบบูรณาการ เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความระส่ำระสายในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนชาวกรุงเทพและปริมณฑลที่พึ่งรถไฟฟ้า และเมื่อราคาค่าโดยสารไม่ได้อยู่บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำ จะก่อให้เกิดวิกฤติด้านต่างๆ เช่นค่าครองชีพที่จะถีบตัวสูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ภาวะมลพิษ และการจราจรที่จะหนักมากขึ้นทุกปี" น.ส.สารีระบุ
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า วิธีเดียวที่รัฐบาลจะแก้วิกฤติอนาคตนี้ได้ คือการนำเรื่องระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชน มาเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมและวิเคราะห์วิจัยอย่างกว้างขวาง ต่อปัจจัยที่จะมีผลกระทบในทุกรูปแบบ และนำข้อมูลมาเปิดเผยเพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตรงจุด ก่อนระบบรถไฟฟ้าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาล
อ่านประกอบ :
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
เลื่อนเก็บไปแล้ว! ศาลปค.ไม่รับคำขอ ‘ทุเลาบังคับ’ ประกาศฯขึ้นค่าโดยสาร ‘สายสีเขียว’
หนีกม.ร่วมทุน! อัด‘บิ๊กตู่’ต่อสัมปทาน‘สายสีเขียว’ ข้ามศตวรรษ’-‘บิ๊กป๊อก’ยันไร้ทุจริต
'บิ๊กตู่'ย้ำทุกฝ่ายหารือทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอบคุณ กทม.เลื่อนเก็บ 104 บาท
กทม.เลื่อนเก็บค่ารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' 104 บาท หวั่นเป็นภาระประชาชนช่วงโควิด
ถูกกว่าสายสีเขียว! รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ส่วนตะวันตก 15-45 บาท
แพงสวนทางรายได้ขั้นต่ำ! 'มพบ.'ค้านขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท-จี้นายกฯสั่งเบรก
ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage