วงเสวนาฯ คัดค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว 30 ปี ชี้ยังมีเวลาพิจารณาอีก 9 ปี ไม่ต้องรีบ หนุนเปิดประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี หลังหมดสัมปทานปี 72 ‘นักวิชาการทีดีอาร์ไอ’ ชี้ทำสัญญาใหม่ ต้องตอบได้ว่า ‘ค่าโดยสาร' ทั้งระบบควรเป็นเท่าไหร่ เผยค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงอันดับต้นๆของโลก ขณะที่ ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ จี้รัฐเปิดข้อมูลให้ภาคประชาชนรับทราบ ด้าน 'ก้าวไกล' อัดรัฐบาลงุบงิบเจรจา หวั่นประเทศเสีย 'ค่าแกล้งโง่'
..................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ต่อสัญญา BTS 30 ปี ได้หรือเสีย?” โดยนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุ ก่อนจะมีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรพิจารณาในภาพรวมว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมของไทยควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อจะได้ออกแบบสัญญาที่เหมาะสม
“รถไฟฟ้าแต่ละสายมีสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาด คือ การมองภาพรวมว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมของระบบควรเป็นเท่าไร่ ต้องกางเลยว่าเมื่อรถไฟฟ้าเปิดทุกสาย ค่าโดยสารจะเป็นอย่างไร เพราะที่เขาบอกว่า 65 บาทตลอดสาย เป็นของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างเดียว แต่เที่ยวต่อเป็นอย่างไร ไม่รู้ ได้แต่เดา จึงต้องทำวันนี้เลยว่าอีก 3 ปี เปิดกี่เส้น ค่าโดยสารเท่าไหร่ แล้วค่อยมาออกแบบสัญญาสัมปทานที่เหมาะสม ไม่ต้องไปหวังแก้สัญญาในอนาคต”นายสุเมธกล่าว
@เสนอยกเลิก ‘ค่าแรกเข้า’ เปลี่ยนสายรถไฟฟ้า
นายสุเมธ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน หากเทียบค่าโดยสารแบบบาทต่อบาท จะพบว่าค่าโดยสารของไทยถูกกว่าญี่ปุ่น ฮ่องกง และอังกฤษ แต่หากเทียบค่าโดยสารต่ออัตราค่าครองชีพ จะกลายเป็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยสูงกว่าทั้ง 3 ประเทศ และสิ่งที่น่ากังวล คือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ว่าแพงกว่าทั้ง 3 ประเทศนั้น คิดจากค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพียงสายเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย ค่าโดยสารจะเพิ่มเป็นทวีคูณ
“ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเปิด ถ้าใครจะเดินทางจากบางกะปิไปสยามจะต้องขึ้นรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน และสายสีเขียว ถ้าไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า ค่าโดยสารวิ่งขาเดียวจะอยู่ที่ 99 บาท แต่ถ้ายกเว้นค่าแรกเข้าจะตกอยู่ที่ 77 บาท ซึ่งปัญหาตรงนี้จะเกิดในอีก 1 ปีข้างหน้าแน่ๆ เพราะแม้ว่าเราอยากอุดหนุนรถไฟฟ้า อยากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า แต่ค่าโดยสารจะแพงมาก” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ เสนอว่า รัฐบาลต้องทบทวนสัญญารถไฟฟ้าทุกสายมีอยู่ในปัจจุบัน และสัญญาที่จะทำในอนาคต ให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการยกเว้นค่าแรกเข้ากรณีโดยสารรถไฟฟ้าข้ามสาย คือ เมื่อเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าระบบหนึ่งแล้ว เมื่อเปลี่ยนสายก็ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าอีก แต่ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะหน่วยงานที่ดูแลสัมปทานรถไฟฟ้ามีหลายหน่วยงาน เช่น กทม. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
สุเมธ องกิตติกุล (กลาง)
@ต่อสัญญาสายสีเขียวมีเวลาอีก 9 ปี-ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีเอสทีอีก 30 ปีในตอนนี้ เพราะยังเหลืออายุสัมปทานอีก 9-10 ปี ภาครัฐยังมีเวลาในพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีวิธีการทางการเงินที่หลากหลายในการจัดการกับหนี้สินต่างๆ ซึ่งทำให้ภาครัฐมีการอำนาจต่อรองกับภาคเอกชน
“การต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยใช้อำนาจ ม.44 มายกเว้นพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ แล้วใช้วิธีเจรจากันนั้น เราไม่รู้ว่าคนเจรจาเก่งหรือไม่เก่ง ล้มมวยหรือไม่ล้มมวย เราไม่อยากพูดว่าสมประโยชน์กันหรือไม่ แต่การที่ดำเนินการไม่โปร่งใส ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจว่า จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้เต็มที่หรือเปล่า และนี่ไม่ใช่โครงการเล็กๆ แต่นี่หมายถึงประโยชน์ของประเทศชาติอีก 39 ปีข้างหน้า พวกเราจึงต้องต่อสู้” นพ.กิตติศักดิ์กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักถือว่าเป็นไข่แดง เป็นพรี่เมียม และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นทองที่มีมูลค่าแล้ว ก็ไม่ควรให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชนมากเกินไป แน่นอนว่ารัฐต้องให้เอกชนอยู่ได้ แต่ต้องอยู่บนความเหมาะสม ภาครัฐจึงไม่ควรเสียค่าโง่อีกเหมือนเช่นกรณีทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เพราะเมื่อครบสัญญาสัมปทานแล้วแทนที่ค่าทางด่วนลดลงเหลือไม่เกิน 50 บาท แต่วันนี้เพิ่มเป็น 80 บาท ทั้งๆที่ Fix Cost หมดแล้ว ที่เหลือคือกำไรล้วนๆ
นพ.กิตติศักดิ์ เสนอว่า การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังมีเวลา กรุงเทพฯและรัฐบาลไม่ควรเร่งรัดต่อสัญญา และการพิจารณาว่าจะต่อสัญญาอย่างไรนั้น วิธีการที่เหมาะสม คือ ต้องผ่านกระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ต้องมีการศึกษา และเปิดให้เอกชนรายอื่นๆเข้ามาแข่งขันด้วย ส่วนเรื่องหนี้สินไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่กรุงเทพฯเอาหนี้สินมาเป็นตัวประกัน เพื่อให้ยอมรัฐบาลและกรุงเทพฯ ต่อสัญญากับบีทีเอส โดยอ้างว่าบีทีเอสจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้
“จะต้องรีวิวกันใหม่ โดยใช้กระบวนการที่ถูกต้อง คือ ใช้กระบวนพีพีพีตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น การคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม เราสามารถศึกษาไปพร้อมๆกันได้” นพ.กิตติศักดิ์ระบุ
@หนุนเปิดประมูลเดินรถสายสีเขียว-หวั่นเสีย ‘ค่าแกล้งโง่’
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี แต่เห็นว่าเมื่อสัญญาสัมปทานใกล้หมดในปี 2572 เช่นอาจจะเป็น 1-2 ปีก่อนหมดสัมปทาน ภาครัฐค่อยมาเจรจาหาออกว่า เช่น จะเปิดประมูลใหม่เพื่อให้มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม หรือจะมีเงื่อนไขในการพัฒนา หรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆอย่างไร
ส่วนการจัดการหนี้สินจากการลงทุนสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น ต้องนำรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ซึ่งเป็นไข่แดงมาอุดหนุน แต่หากไม่เพียงพอและจำเป็น รัฐบาลก็ต้องอุดหนุนเข้ามาอุดหนุนในส่วนนี้ด้วย
“ส่วนที่ต่อขยายออกไป มันไม่คุ้มค่าทางการเงินแน่ๆ จึงต้องเอาส่วนที่เป็นไข่แดงไปอุดหนุน และถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆ รัฐบาลต้องอุดหนุน แต่ถ้าบอกว่ารัฐบาลใกล้ถังแตก เพราะ 6 ปีที่ผ่านมา ผลาญเงินมากจริงๆ กู้มา 6 ล้านล้านบาทแล้ว อย่างนี้ต้องขยายสัญญาสัมปทาน แต่ควรใช้วิธี PPP Gross Cost เพราะการเจรจาแก้ไขสัญญาทำได้ง่ายกว่าแบบ PPP Net Cost และไม่ต้องผูกมัดไปอีก 30 ปี โดยเปลี่ยนอะไรไม่ได้” นายสุรเชษฐ์กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ย้ำว่า หากท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องขยายสัญญาสัมปทานให้บีทีเอสจริง การเจรจาจะต้องอยู่บนโต๊ะ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ขณะที่ปัจจุบันรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อวัน หรือ 1.44 หมื่นล้านบาทต่อปี
“ไม่ใช่มางุบงิบเจรจา ตั้งคนของตัวเองมาทำอย่างนี้กัน และถ้าเทียบการใช้คำสั่งคสช. กับกระบวนการปกติ สิ่งที่หายไป คือ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แล้วจะให้ผมเชื่อว่า คุณเป็นคนดีแล้วจะทำอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือ ซึ่งไม่ใช่ และที่ผ่านมาเราจะเห็นหลายกรณีที่เป็น ‘ค่าแกล้งโง่’ ไม่ใช่ ‘ค่าโง่’ เช่นกรณีต่อสัมปทานทางด่วน ที่รัฐยังไม่แพ้ แต่ยอมแพ้ แล้วเอาเงินก้อนนี้จ่ายในรูปการต่อสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน” นายสุรเชษฐ์กล่าว
สุภาภรณ์ เกียรติสิน (ซ้าย) นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ (กลาง) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ (ขวา)
@แนะนำรายได้ส่วนควบรถไฟฟ้ามาอุดหนุนค่าโดยสาร
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคฯ ไม่สนับสนุนการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี เพราะขัดกฎหมาย ไม่มีโปร่งใส และไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าราคาควรเป็นเท่าไหร่ รวมทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลว่า การจัดหาผลประโยชน์และจัดเก็บรายได้ที่เกิดจากส่วนควบรถไฟฟ้า เช่น ร้านค้าบนสถานี และค่าโฆษณา ซึ่งจะมีส่วนทำให้ต้นทุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงนั้น รายได้เหล่านี้ไปตกอยู่กับใคร
“ถ้าต่อสัญญาแล้วเสียหาย อย่าทำ เพราะผู้บริโภคต้องรับภาระ ซึ่งเราเองขอดูข้อมูลทั้งหมดว่า ถ้าจะต่อ ต่ออย่างไร และอยากถามทำไมกทม.และกรุงเทพธนาคมฯ ถึงเพิกเฉยกับกรณีที่บีทีเอสไม่สร้างสถานีตามสัญญา ซึ่งตอนนี้มีสถานีผีอย่างน้อย 1 สถานี แล้วเก็บเงินจากเราทุกวัน ทั้งๆสถานีไม่มี” น.ส.สารีกล่าว
น.ส.สารี ยังเสนอให้มีการ ‘เซ็ตซีโร่’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ ไม่ต่อสัญญา เพราะหากรีบต่อสัญญา อำนาจต่อรองจะไม่ได้อยู่ในมือประชาชน และเห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าควรถูกลง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ ไม่ใช่ทำให้รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งทางเลือก พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงใช้อำนาจพิเศษต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และเป็นจงใจต่อสัญญาล่วงหน้าแทนที่จะให้ผู้ว่ากรุงเทพฯจริงๆเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดปี 2572
“ถ้าเรายอมค่าโดยสาร 65 บาท ไปกลับก็ 130 บาทต่อวัน คิดเป็นเกือบ 50% ของรายได้ขั้นต่ำ ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร และก็ต้องตั้งคำถามอีกว่า ทำไมปารีสถึงมีค่าโดยสารแค่ 3% ของรายได้ขั้นต่ำ ลอนดอน 5% และสิงคโปร์ 5% ทำไมเขาทำได้ เราอยากเห็นว่าเราทำได้ เอาแค่ 15% ของรายได้ขั้นต่ำก็ได้ เป็นค่ารถไฟฟ้า 10% อีก 5% เป็นค่ารถเมล์ แต่ถ้าเราปล่อยให้ไปถึงตอนนั้น เราคงไม่ทางออก ได้แต่ดูรถไฟฟ้าวิ่งไปวิ่งมา ต้องขึ้นรถเมล์ติดๆกันต่อไป” น.ส.สารี กล่าว
นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การจะพิจารณาว่าควรต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ มีข้อพิจารณาหลายเรื่อง เช่น ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ มีการเปิดรับฟังความเห็น มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ และที่มาของค่าโดยสารรถไฟฟ้า 65 บาทตลอดสายที่บอกว่าเหมาะสมมีที่มาอย่างไร การบริการจัดการพื้นที่ และค่าโฆษณา ภาครัฐได้ประโยชน์ส่วนนี้หรือไม่ และเมื่อสิ่งเหล่าไม่มีความโปร่งใส และตรวจสอบไม่ได้ ก็ไม่ควรต่อสัญญา
“ร่างสัญญาไม่มีการเปิดเผย คนก็ตรวจสอบไม่ได้ ข้อกฎหมายก็ไม่ชัดเจน เช่น มีการขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯหรือไม่ ที่สำคัญการที่มาบอกว่ารัฐกับเอกชนต้องแบกรับหนี้สินมากมาย และดีลกันจบ สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ลืมคิดว่าคนที่รับภาระต่อไปอีกนาน คือ ประชาชน และเรื่องนี้มันรวมอยู่แค่คำ 2 คำ คือ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เมื่อไม่มีแล้ว ก็ขาดความชอบธรรม จึงเห็นว่าการขยายสัมปทานครั้งนี้ไม่ควรไปต่อ” นายจิณณะกล่าว
สารี อ๋องสมหวัง (ซ้าย) จิณณะ แย้มอ่วม (ขวา)
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี เนื่องจากยังเหลือเวลาในการพิจารณาอีกหลายปี จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องเร่งรีบ อย่าเอาประชาชนกรุงเทพเป็นตัวประกัน และเมื่อสิ้นสุดสัมปทานแล้วก็เปิดให้มีการประมูลแข่งขัน หากบีทีเอสจะชนะประมูลก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเคยบริหารรถไฟฟ้าสายนี้มาก่อย แต่สิ่งที่จะได้คืออย่างน้อยมีการแข่งขัน
“ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย เมื่อนำไปลบกับค่าแรกเข้า 12 ก็ยังเยอะอยู่ และการคาดการณ์ผู้โดยสารนั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่เขียนกันด้วยปลายนิ้ว เพราะเป็นตัวเลขที่ไม่เชื่อว่าจะเป็นจริง และมีอะไรในการวัด หรือแม้แต่ตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าจริงในปัจจุบัน ทำไมกรุงเทพฯต้องรอตัวเลขจากเอกชน ถ้าเรามีระบบไอทีที่ดี เราก็จะมีตัวเลขจริง เราจะรู้มีคนขึ้นรถไฟฟ้าเท่าไหร่” ผศ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การเสวนาวิชาการดังกล่าว ได้มีการเชิญตัวแทนจากกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการเสวนาด้วย แต่ไม่มีการส่งตัวแทนมา จึงไม่มีชี้แจงเหตุผลว่าเหตุใดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงอยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย และเหตุใดต้องต่ออายุสัมปทานก่อนสัญญาปัจจุบันจะสิ้นสุดในอีก 9 ปีหรือในปี 2572
อ่านประกอบ :
‘บีทีเอส’ แจงขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ เป็นอำนาจ ‘กทม.’-รอความชัดเจนครม.ต่อสัมปทาน
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
ครม.ยังไม่หารือ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งถกเพิ่มต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ ลั่นค่าโดยสารต้องถูก-แก้หนี้
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
ขวางรัฐต่อสัมปทานรถไฟฟ้า‘บีทีเอส’อีก 40 ปี
ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน 'ทางด่วน-รถไฟฟ้า' แสนล้าน-ส.ส.ซัดกมธ.ทำรายงานเละเทะ
‘สมคิด’ โชว์ รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-อีอีซี ผลงานศก. เลิกกินบุญเก่าป๋าเปรม 30 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/