‘บีทีเอส’ ออกจดหมายเปิดผนึกแจงประชาชน ยันจำเป็นต้องทวงหนี้ค่าก่อสร้าง-ลงทุนระบบรถไฟฟ้า 3 หมื่นล้านบาท เหตุเป็นภาระที่มากเกินไป ระบุมีบุคคลบางฝ่ายไม่ต้องการให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เตือนรัฐบาลอย่าลักไก่ต่อสัมปทานสายสีเขียว ย้ำค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายทำได้จริง
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรื่อง ‘ชี้แจงข้อเท็จจริงการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ โดยบริษัทฯหวังว่าประชาชนจะเข้าใจถึงปัญหาที่บริษัทต้องเผชิญ และได้พยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมรับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด
สำหรับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีเนื้อหาว่า ตามที่ปรากฎข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับความพยายามแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินของรัฐบาล โดยกรุงเทพมหานครแบกรับค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและค่าโดยสารไม่สูงจนเกินไป ในส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ดูดต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ค่าระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ค่าจ้างเดินรถ รวมทั้งสิ้นกว่าแสนล้านบาท
ด้วยการหาแนวทางบริหารการเดินรถในพื้นที่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงการลดภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน โดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการขอให้เอกชนรับภาระหนี้สินทั้งหมดกว่าแสนล้านบาทไปจากรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน โดยรัฐจะอนุญาตให้สัมปทานเอกชนในการเดินรถ 30 ปี ทั้งนี้ ต้องกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดลายทุกเส้นทางสูงสุด ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุน และร่วมแก้ไขปัญหามาเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว กรุงเทพมหานคร โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถจนเป็นเหตุให้มีภาระหนี้ติดค้าง นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2560 จำนวน 9,602 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่ถึงกำหนดชำระจำนวน 20,768 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่มากเกินกว่าที่บริษัทฯ จะแบกรับต่อไปได้ บริษัทฯจึงมีความจำเป็นต้องยื่นหนังสือทวงถามเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่ชำระหนี้ให้กับบริษัทฯ แต่อย่างใด
จากข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ได้พยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมรับผิดชอบในการหาแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาที่ซ้อนปัญหาอยู่ภายใน ซึ่งบริษัทฯเองไม่สามารถก้าวล่วงได้ ประกอบกับมีบุคคลบางกลุ่มบางฝ่ายอาจต้องการที่จะไม่ให้เรื่องดังกล่าวได้รับการแก้ไข และพยายามสร้างประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อคัดค้านต่อต้าน โดยไม่สนใจว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะสร้างความเดือดร้อนเสียหายเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับผู้โดยสารและประชาชนที่มาใช้บริการ
ตลอดระยะเวลากว่า 21 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ขอขอบคุณผู้โดยสารทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนและใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาโดยตลอด และมีส่วนร่วมทำให้การจราจรในกรุงเทพมหานครมีความคล่องตัวมากขึ้น บริษัทฯขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน จะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะดูแลผู้โดยสารทุกท่านอย่างดีที่สุด
“แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ซึ่งโดยลำพังบริษัทฯ เองไม่สามารถแก้ไขให้ประสบความสำเร็จได้ และสุดท้ายอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนได้ บริษัทฯ จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้ผู้โดยสารทุกท่านเข้าใจและรับทราบในเบื้องต้น” จดหมายเปิดผนึกระบุ
ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มาออกเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเตรียมต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยไม่บอกราคา เพียงแต่อ้างว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องไม่สูงเกินไปและไม่สร้างปัญหาให้รัฐบาลในอนาคต พร้อมทั้งรณรงค์การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยติดแฮชแท็ก #MobFromHome #ไม่เอา65บาท38ปี #ยืนยัน25บาททำได้จริง #ขอคนGenYร่วมตัดสินใจ
สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่นายกฯไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำไมต้อง 65 บาท ที่สำคัญสายสีเขียวจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 แต่จะมีการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 38 ปี ไปจนถึงปี 2602 ขณะที่ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กทม.กำหนดไว้ 65 บาท เป็นการสร้างภาระให้ผู้บริโภค เพราะหากคำนวณ 22 วันต่อเดือน เป็นเวลา 38 ปี แต่ละคนที่ใช้ต้องจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้าน 3 แสนบาท
“ตัวเลขค่าโดยสาร 65 บาทที่กทม.กำหนดไม่สามารถอธิบาย หรือชี้แจงได้ว่าคิดคำนวณจากหลักการใด ไม่เปิดเผย ไม่ให้ข้อมูล ขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ใช้ราคา 49.83 บาท ยังทำให้กทม.มีกำไรมากถึง 380,200 ล้านบาท (ไปเพื่ออะไร?) อย่าแอบลักไก่พิจารณาตอนสงกรานต์” สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ
นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคยืนยันการกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย สามารถทำได้จริง และกทม. ยังมีกำไร 23,200 ล้านบาทในปี 2602 ดังนั้น ครม.ต้องพิจารณากำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องขึ้นได้ คือ ไม่เกิน 10% ของค่าจ้างขั้นต่ำ เหมือนของต่างประเทศ และต้องเร่งรัดดำเนินการตั๋วใบเดียวสำหรับใช้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกสี
อ่านประกอบ :
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
เลื่อนเก็บไปแล้ว! ศาลปค.ไม่รับคำขอ ‘ทุเลาบังคับ’ ประกาศฯขึ้นค่าโดยสาร ‘สายสีเขียว’
หนีกม.ร่วมทุน! อัด‘บิ๊กตู่’ต่อสัมปทาน‘สายสีเขียว’ ข้ามศตวรรษ’-‘บิ๊กป๊อก’ยันไร้ทุจริต
'บิ๊กตู่'ย้ำทุกฝ่ายหารือทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอบคุณ กทม.เลื่อนเก็บ 104 บาท
กทม.เลื่อนเก็บค่ารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' 104 บาท หวั่นเป็นภาระประชาชนช่วงโควิด
ถูกกว่าสายสีเขียว! รฟม.แจงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม' ส่วนตะวันตก 15-45 บาท
แพงสวนทางรายได้ขั้นต่ำ! 'มพบ.'ค้านขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท-จี้นายกฯสั่งเบรก
ไม่ชี้นำ! ‘บิ๊กตู่’ ปัดตอบปมสายสีเขียว-‘บอสใหญ่บีทีเอส’ ร่อนหนังสือขอความเป็นธรรม
แบกขาดทุนปีละ 4 พันล.! กทม.ปรับค่าโดยสาร 'สายสีเขียว' ตลอดสายไม่เกิน 104 บาท
เปิดเงื่อนไขขยายสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ 30 ปี-‘คมนาคม’ ร่อนหนังสือหนุน 3 ฉบับ ก่อนกลับลำ ‘ค้าน’
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage