“…โครงสร้างอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ระหว่างปี 2562-2602 และเส้นทางหลัก ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572- 2602 กำหนดเป็น 15+3X (X คือจำนวนสถานี) (ราคา ณ ปี 2562) โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยจะปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ 24 เดือน นับจากวันที่เริ่มใช้อัตราค่าโดยสารตารางเดียว…”
.......................
“เขากำลังเจรจากันอยู่ ยังอยู่ในการเจรจา ถ้าทุกอย่างมันถูกต้อง ก็อยู่ที่เจรจาว่า จะลดเท่าไหร่ หรือไม่ อย่างไร”
เป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถูกถามว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายค่อนข้างแพง (อ่านประกอบ : สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา')
นับเป็นเวลา 1 เดือนเต็มแล้ว ที่การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบีทีเอส ยังคงไม่ได้ข้อยุติ
หลังกระทรวงคมนาคม ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ไม่เห็นด้วยการกับการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ไปเป็นสิ้นสุดปี 2602 จากสัญญาสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2572 เนื่องจากมีข้อที่ต้องพิจารณาใน 4 ประเด็น (อ่านประกอบ : ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.)
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในวันที่ 16 ก.ย.2562 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ส่งหนังสือที่ มท 0100/14661 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบ
สาระสำคัญของหนังสือฉบับดังกล่าว มีการรายงานผลการเจรจาระหว่าง ‘คณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 กับผู้รับสัมปทานเดิม คือ BTSC มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติม
-ขยายระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมสิ้นสุดปี พ.ศ.2572 เป็นสิ้นสุด พ.ศ.2602
ภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญและเกี่ยวข้องของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด โดยนับเป็นทุนของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ ที่กรุงเทพมหานครมีต่อกระทรวงการคลัง เป็นจำนวนไม่เกิน 44,429 ล้านบาท สำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม โดยนับเป็นทุนของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างของค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M) และรายได้ค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 และค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม โดยนับเป็นทุนของโครงการ แต่ทั้งนี้การคำนวณผลตอบแทนของผู้รับสัมปทาน (EIRR) จะปรับลดค่าจ้างการให้บริการเดินรถลงร้อยละ 16
-ผู้รับสัมปทานจะรับภาระส่วนต่างของค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M) และรายได้ค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งคงค้างอยู่นับตั้งแต่พฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้ และส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมดก่อนวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ โดยนับเป็นทุนของโครงการ แต่ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานยังคงมีสิทธิได้รับค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M) คงค้างทั้งหมดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2562
-ผู้รับสัมปทานจะชำระค่าตอบแทนเพิ่มเติมจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ค่าโดยสาร จากส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เพื่อตอบแทน 'การให้สิทธิดำเนินกิจการพาณิชย์' ของส่วนหลัก ที่นอกเหนือจากสัญญาสัมปทานเดิมและส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
โดยนำไปหกกลบลบหนี้กับหนี้ค่าจ้าง สำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตามสัญญาว่าจ้างให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงส่วนหลักและส่วนต่อขยายที่ 1 และสัญญาว่าจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ของโครงการ โดยนับค่าตอบแทนเพิ่มเติมนี้เป็นค่าใช้จ่าย เพื่อมานำมาหักกลบกับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากส่วนนี้ในตอนคิด EIRR ของเอกชน
-ผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบปรับปรุงสถานีสะพานตากสิน โดยผู้รับสัมปทานจะนับเฉพาะส่วนค่าปรับปรุงสะพานตากสินมหาราชและปรับปรุงรางรถไฟฟ้าให้เป็น 2 ราง ให้เป็นทุนของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบจัดทำประตูกั้นชานชาลา (platform screen door) ในเส้นทางส่วนหลักและส่วนต่อขยายที่ 1 โดยนับเป็นทุนของโครงการเฉพาะประตูกั้นชานชาลาส่วนต่อขยายที่ 1
-ผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบบำรุงรักษาสะพานคนเดิน (Sky walk) ของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 สำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม ซึ่งนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และสัญญาว่าจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 โดยนับเป็นทุนของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบชำระเงินสนับสนุนที่ผู้รับสัมปทานต้องชำระ เพื่อชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสารแก่ BTSGF สำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม โดยนับเป็นทุนของโครงการ
-ผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบชำระค่าใช้ที่ดินและ/หรือค่าเช่าที่ดินราชพัสดุบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงหมอชิต รวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงตามจำนวนที่กรุงเทพมหานครชำระให้แก่กรมธนารักษ์ โดยนับเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการเฉพาะช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติมคือ ปี 2572-2602
(โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน คือ BTSC ในเครือบีทีเอส)
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
-กรุงเทพมหานครจะรับผิดชอบภาระที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะในท้องที่ของกรุงเทพมหานคร เว้นแต่ส่วนที่ผู้รับสัมปทานใช้ดำเนินกิจการพาณิชย์ และผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เอกชนใช้ดำเนินกิจการพาณิชย์และส่วนที่อยู่นอกท้องที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาษีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของเอกชน
หลักเกณฑ์การปรับเพดานค่าโดยสาร กำหนดดังนี้
-หลักเกณฑ์การปรับเพดานค่าโดยสารใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป สำหรับเขตกรุงเทพหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ (CPI) เพียงอย่างเดียว
-โครงสร้างอัตราค่าโดยสารเส้นทางหลัก ระหว่างปี 2562-วันที่ 4 ธันวาคม 2572 กำหนดเป็น 15+1 +4 (x-1) (x คือจำนวนสถานี) สูงสุดไม่เกิน 44 บาท (ราคา ณ ปี 2562) โดยจะปรับอัตราค่าโดยสารทุก 24 เดือน นับจากวันที่เริ่มใช้อัตราค่าโดยสารตารางเดียว
-โครงสร้างอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ระหว่างปี 2562-2602 และเส้นทางหลัก ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572- 2602 กำหนดเป็น 15+3X (X คือจำนวนสถานี) (ราคา ณ ปี 2562) โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท โดยจะปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ 24 เดือน นับจากวันที่เริ่มใช้อัตราค่าโดยสารตารางเดียว
บันทึกข้อตกลงเรื่องค่าแรกเข้าระบบและระบบตั๋วร่วม
-ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการเรื่องตั๋วร่วมและค่าแรกเข้าระบบ ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายและโอนภาระทางการเงิน และตามนโยบายของรัฐบาล หากการดำเนินการเรื่องตั๋วร่วมไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขระบบที่ติดตั้งไว้แล้ว และการยกเว้นค่าแรกเข้า จะเป็นกรณียกเว้นให้กับผู้โดยสารที่เปลี่ยนถ่ายมาจากระบบขนส่งทางรางรถไฟฟ้าอื่น ที่ยกเว้นค่าแรกเข้าระบบที่เปลี่ยนถ่ายมาจากโครงการฯ ภายใต้ระบบตั๋วร่วมเท่านั้น
ผลตอบแทนที่ผู้รับสัมปทานเสนอให้กับกรุงเทพมหานคร
ช่วงระหว่างปี 2562-2572 ผู้รับสัมปทานต้องชำระผลตอบแทนให้แก่ กรุงเทพมหานคร ดังนี้
-ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2
-ภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อกระทรวงการคลัง
-ภาระส่วนต่างระหว่างค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 กับรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 และค่าตอบแทนเพิ่มเติม
-ภาระค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M) คงค้างของส่วนต่อนยายที่ 1 และ 2 ก่อนวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้
-ภาระค่าตอบแทนเพิ่มเติมจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2
ช่วงระหว่างปี 2573-2602 ผู้รับสัมปทานจะแบ่งรายได้ให้กับกรุงเทพมหานคร ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิม คือ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572 จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2602 ดังนี้
-ระยะเวลา 15 ปีแรก (ปี 2572-2587) อัตราร้อยละ 10 ของรายได้ค่าโดยสาร
-ระยะเวลา 10 ปีต่อมา (ปี 2588-2597) อัตราร้อยละ 15 ของรายได้ค่าโดยสาร
-ระยะเวลา 5 ปีสุดท้าย (ปี 2598-2602) อัตราร้อยละ 25 ของรายได้ค่าโดยสาร
ทั้งนี้ หากผลตอบแทนของผู้รับสัมปทาน (EIRR) เกินกว่าร้อยละ 9.60 ผู้รับสัมปทานก็จะแบ่งกระแสเงินสดสุทธิต่อผู้ถือหุ้น (Free Cash Flow to Equity) ในส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนเกินกว่าร้อยละ 9.60 ให้แก่กรุงเทพมหานครเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา
(ที่มา : หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0100/14661 ลงวันที่ 16 ก.ย.2562)
หลังจากพล.อ.อนุพงษ์ ส่งหนังสือที่ มท 0100/14661 ลงวันที่ 16 ก.ย.2562 ถึงเลขาครม.แล้ว ในวันต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่นร. 0506/ว (ล) 29841 ลงวันที่ 17 ก.ย.2563 ถึงกระทรวงคมนาคม ขอความเห็นกรณีผลเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ต่อมาวันที่ 24 ต.ค.2562 กระทรวงคมนาคม ทำหนังสือที่ คค (คปร) 0208/321 เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงนามโดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีเนื้อหา ว่า
“กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เห็นสมควรที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 แล้ว
ทั้งนี้ การให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)
โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีและความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ”
ต่อมา สลค. มีหนังสือด่วนที่สุด ที่นร 0506/9209 ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 ส่งไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เนื่องจากก่อนหน้านั้น พล.อ.อนุพงษ์ มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0100/4813 ลงวันที่ 24 มี.ค.2563 เรื่อง การปรับปรุงข้อมูลเพื่อขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังพล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ปรับปรุงข้อมูล ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาในปัจจุบัน
เช่น สถานภาพของจำนวนหนี้สินทั้งหมด เงินต้น ดอกเบี้ย ผลประโยชน์อื่นๆ และการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ของปีที่เริ่มนับอายุสัมปทาน รวมทั้งรายละเอียดการคำนวณต่างๆ เช่น หลักเกณฑ์การปรับเพดานอัตราค่าโดยสาร และผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างกรุงเทพมหานครและคู่สัญญา
ไม่กี่วันต่อมา กระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุด ที่คค (คปร) 0208/97 ลงวันที่ 30 มี.ค.2563 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ความเห็นชอบประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 'ครั้งที่ 2' มีเนื้อหาว่า
“กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563 สลค. มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0506/15976 ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความเห็นกรณีผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง
จากนั้นวันที่ 9 มิ.ย.2563 กระทรวงคมนาคม ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (คปร) 0208/199 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ความเห็นชอบประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 'ครั้งที่ 3' โดยเนื้อหาเช่นเดียวกับฉบับก่อนหน้านี้ คือ
“กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม”
แต่แล้วอีก 6 เดือนต่อมา กระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุดที่ คค (คปร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พ.ย.2563 เรื่อง 'ความเห็นเพิ่มเติม' กรณีขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเห็นว่ายังไม่ควรต่อสัมปทาน เนื่องจากมีกฎหมายและระเบียบที่ต้องปฏิบัติ
หนังสือฉบับนี้เสนอให้มีการ ‘ทบทวน’ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยล่าสุดกระทรวงคมนาคมเห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายควรต่ำกว่า 50 บาท
มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ‘ปมร้อน’ กรณีต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่ BTSC มีข้อพิพาทกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีแก้ไขทีโออาร์รถไฟฟ้าสีส้ม (อ่านประกอบ : ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’)
แต่ไม่มีใคร 'ยืนยัน' ว่าทั้ง 2 กรณีที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกัน หากแต่มีเพียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการ 'ผู้รับเหมา' และแวดวงการเมือง
ในขณะที่ในฟากฝั่งภาคประชาชนออกมาตั้งคำถามว่า เมื่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดในปี 2572 จึงมีเวลาที่จะพิจารณาอีก 9 ปี เหตุใดจึงต้องรีบเร่งต่อสัมปทานมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทในภายใต้คำสั่งมาตรา 44 (อ่านประกอบ : รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน)
นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังมีข้อเสนอว่า ควรเปิดประมูลเพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเสรี แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ‘บีทีเอส’ จะเป็นผู้ชนะการประมูล แต่อย่างน้อยก็อาจทำให้ภาครัฐได้เงื่อนไขที่ดีกว่า หลังจากสินทรัพย์ทั้งหมดตกมาเป็นของรัฐในปี 2572 แล้ว
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีบทสรุปอย่างไร และคนที่จะ ‘ทุบโต๊ะ’ เป็นคนสุดท้าย คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขอบคุณภาพ : https://www.thaigov.go.th
อ่านประกอบ :
สร้างแล้วทุบทิ้งไม่ได้! ‘บิ๊กตู่’ เผยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ตลอดสาย อยู่ในขั้น 'เจรจา'
รุมค้านต่อสัญญาสายสีเขียว! วงเสวนาฯชี้มีเวลาอีก 9 ปี-จี้เปิดประมูลแข่งขันหลังหมดสัมปทาน
‘บีทีเอส’ แจงขึ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ เป็นอำนาจ ‘กทม.’-รอความชัดเจนครม.ต่อสัมปทาน
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
ครม.ยังไม่หารือ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งถกเพิ่มต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ ลั่นค่าโดยสารต้องถูก-แก้หนี้
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
ขวางรัฐต่อสัมปทานรถไฟฟ้า‘บีทีเอส’อีก 40 ปี
ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน 'ทางด่วน-รถไฟฟ้า' แสนล้าน-ส.ส.ซัดกมธ.ทำรายงานเละเทะ
‘สมคิด’ โชว์ รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-อีอีซี ผลงานศก. เลิกกินบุญเก่าป๋าเปรม 30 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/