‘ส.ส.เพื่อไทย’ อภิปราย ‘บิ๊กตู่’ ใช้ม.44 ต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’ ยาวข้ามศตวรรษ เอื้อบีทีเอสรายเดียว หนีพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-ขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯโต้ไม่ได้ผูกขาด แต่ที่ต้องเจรจากับบีทีเอส เหตุสัญญากำหนดไว้ให้ต้องเจรจาก่อน
...................
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปถึงปี 2602 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้มีการเจรจาเพื่อต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวข้ามศตวรรษไปถึงปี 2602 ให้เอกชน โดยหลีกเลี่ยงพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ
“ทำไมนายกฯจึงออกมาตรา 44 ให้สัมปทานบีทีเอสเจ้าเดียว คนอื่นเข้าไม่ได้ ถามว่าเจ้าสัวคนอื่นๆเขาไม่อยากประมูลหรืออย่างไร ขณะที่ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ให้มีการประมูลแข่งขัน แต่เพื่อไม่ให้เขาขึ้นราคาค่าโดยสาร ก็ไปยกรถไฟฟ้าให้เขาไปเลย เพราะพล.อ.ประยุทธ์ออกมาตรา 44” นายยุทธพงศ์กล่าว และว่า “การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ทำให้เกิดการทุจริต ผูกขาด ตัดตอน หนีการแข่งขัน หนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เอื้อบีทีเอสเจ้าเดียว คนอื่นเข้าไปไม่ได้”
นายยุทธพงศ์ ระบุว่า ที่มีการอ้างว่าที่ต้องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้นั้น เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อขยายสัมปทานให้เอกชน ทั้งๆที่ครม.เคยมีมติให้กระทรวงการคลังหาเงินกู้มาให้กทม. แล้วนำไปชำระคืนหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ และสีเขียวใต้ ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงการจ่ายหนี้ลงทุนระบบเดินรถ และค่าจ้างเดินรถรวม 3 หมื่นล้านบาทให้กับบีทีเอสด้วย
นายยุทธพงศ์ ยังกล่าวว่า หากมีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอสไปถึงปี 2602 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า จะคิดเป็นผลประโยชน์มูลค่าไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ออกมาตรา 44 ในการเจรจาต่อสัมปทานให้กับเอกชนเพียงรายเดียว โดยไม่เปิดให้รายอื่นเข้ามาแข่งขัน
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การผูกขาด ตัดตอน ต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยไม่มีการแข่งขัน ยังทำให้ค่าโดยสารสูงถึง 65 บาทตลอดสาย หากไป-กลับคิดก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าจ้างขั้นต่ำ และหากไม่ต่อสัมปทานค่าโดยสารจะเพิ่มเป็น 158 บาทต่อสาย ซึ่งนี่เป็นการจับประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะหากไม่ขยายสัมปทาน คนกรุงเทพฯต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ขณะที่ก่อนหน้านี้ กทม.ประกาศเพิ่มค่าโดยสารเป็น 104 บาทตลอดสาย ถามว่าเป็นธรรมแล้วหรือ
นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
“คราวที่แล้วอยู่บ้านหลวง คราวนี้ยกรถไฟฟ้าหลวงให้เจ้าสัว สถานีต่อไป คือ ศาลรัฐธรรมนูญ” นายยุทธพงศ์ระบุ
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงในสภาฯว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 แต่เมื่อ รฟม.สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และครม.มีมติเมื่อปี 2561 ให้ รฟม.โอนส่วนต่อขยายสายสีเขียวให้กทม. ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง มีเอกภาพ ตนจึงออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อทำให้เกิดเอกภาพเป็นโครงข่ายเดียวกัน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ค่าโดยสารเป็นธรรม และไม่มีภาระหนี้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ ยังไม่ได้เข้าครม.
“ผมออกมาตรการ 44 ก็เพื่อให้เกิดเอกภาพ มีการบูรณาการเดินรถอย่างต่อเนื่อง ค่าโดยสารเป็นธรรม ไม่เป็นภาระประชาชน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนหารือ ส่วนการขึ้นค่าโดยสารก็ได้มีการชะลอไปแล้ว ขณะที่คณะกรรมการเจรจาตามมาตรา 44 ก็มีองค์ประกอบแนวเดียวกับองค์ประกอบคณะกรรมการฯตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ…หากเจรจาได้ข้อยุติก็ให้ถือว่าทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และคำสั่งฯไม่ได้ระบุหรือบังคับให้ขยายสัมปทานให้เอกชน 40 ปีตามที่กล่าวหากัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเจรจากับบีทีเอส ไม่ได้เป็นการผูกขาด เพราะตามสัญญาร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักที่เป็นสัมปทานเดิม ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 นั้น กำหนดว่าหากกทม.ลงทุนสายทางเพิ่มเติมหรือขยายเส้นทางของระบบ บีทีเอสมีสิทธิเป็นรายแรกที่จะเจรจาก่อน หากไม่ทำตามสัญญารัฐอาจถูกเอกชนฟ้องร้องได้ และการเจรจากับเอกชนได้วางแนวทางป้องกันการทุจริต โดยนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้
"ผลการดำเนินการตามคำสั่งคสช.ดังกล่าว จะให้รมว.มหาดไทยเป็นผู้ชี้แจงว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไร…แต่ขอยืนยันว่าผลการเจราดังกล่าวยังไม่มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. เป็นขั้นตอนเจรจากันอยู่ ดังนั้น อย่าพูดเลยเถิด เกินเลยว่าให้ไปแล้ว จะขึ้นราคาเท่าโน่นเท่านี้ อย่าเพิ่งจินตนาการไปขนาดนั้น ส่วนที่บอกว่าผมผิดรัฐธรรมนูญ ผมไม่ใช่ศาล แต่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว อันนั้นก็สุดแล้วแต่ศาลฯ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า การเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบีทีเอส และให้บีทีเอสรับภาระหนี้แสนล้านบาทแทน กทม. นั้น เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและอนาคตได้ เนื่องจาก กทม.ไม่มีศักยภาพในการรับภาระหนี้ดังกล่าวได้ และข้อบัญญัติของ กทม. ระบุว่าให้ผูกพันหนี้ได้ไม่เกิน 10% ของรายได้ของกทม. ซึ่งอยู่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน หากให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้ กทม. ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะหากทำอย่างนั้นจะมีคำถามจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 8,000 แห่งว่าทำไมเขาไม่ได้เงินส่วนนี้ด้วย
ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้คำสั่งตามมาตรา 44 นั้น เพราะหากทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็จะทำให้กทม.มีปัญหาภาระหนี้เพิ่มขึ้น เฉพาะหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบเดินรถ 5.1 หมื่นล้านบาท จะทำให้กทม.มีภาระดอกเบี้ยปีละ 1,000 ล้านบาท หากต้องไปเจรจากันก่อนสัมปทานสิ้นสุด 5 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 3 ปี ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่นับผลการขาดทุนจากการจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้า พร้อมทั้งยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ทำทุจริตที่ไหน และไม่ได้มีนอกมีในอะไรกับใคร
“ผมไปทำอะไรทุจริตที่ไหน เมื่อมีคสช.สั่งมา อัยการสูงสุดก็เรียนว่าคำสั่งถูกต้อง ผมเอาข้อเจรจาทั้งหมดไปเสนอครม. ผมไม่มีนอกมีใน ไปเป็นอะไรให้ใคร” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวว่า การให้เอกชนร่วมทุนไม่ได้เลวร้าย แต่ทำอย่างไรไม่ให้ไปเอื้อ หรือผุูกขาด รัฐเสียประโยชน์ ประชาชนเสียประโยชน์ และจากผลเจรจาที่ผ่านมา จะพบว่ากทม.ไม่ต้องมีหนี้ และยังได้รับส่วนแบ่งรายได้ตลอดอายุสัมปทานอีก 1-2 แสนล้านบาท ค่าโดยสารก็เหมาะสม ไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ส่วนเอกชนได้ประโยชน์ตอบแทนเพียง 9.6% ต่อปี และหากปีใดสูงกว่านั้นต้องจ่ายส่วนแบ่งเพิ่มให้ กทม.ด้วย
พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำด้วยว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 65 บาทตลอดสายถือว่าถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะหากคิดตามระยะทางจะพบว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทาง 53 กม. หากเก็บค่าโดยสาร 65 บาท จะคิดเฉลี่ยเป็น 1.23 บาท/กม. ถูกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่คิดโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่มีระยะทาง 26 กม. หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1.63 บาท/กม. อีกทั้งรัฐบาลต้องอุดหนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท
ต่อมานายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายต่อว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงเกินไป มีการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และตั้งคำถามว่ารัฐกำลังหากินกับรถไฟฟ้าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนรถไฟฟ้าไปแล้วเป็นเงินสูงถึง 508,609 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยกิโลเมตรละ 2,000-9,000 ล้านบาท แต่กลับไม่มีระบบขนส่งรองที่จะนำผู้โดยสารมาขึ้นรถไฟฟ้า ส่งผลให้การลงทุนของรัฐบาลไม่คุ้มค่า
“กู้เงินมาผลาญสร้างรถไฟฟ้า แต่ไม่มีระบบขนส่งรองที่จะเอาคนมาขึ้นรถไฟฟ้า…และการก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละสาย ก็เป็นการแบ่งเค้กเป็นสายๆ ทำให้ผู้สัมปทานรวย แต่ไม่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง” นายสุรเชษฐ์กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/