กสม.ชี้กรณีควบรวม TRUE-DTAC กระทบการบริการประชาชนและการแข่งขัน แนะควรเปิดให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาร่วม-แก้กฎหมายการควบรวมธุรกิจใหม่ให้ กขคงเข้ามามีส่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มีนาคม 2567 นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพการแข่งขัน เกิดการผูกขาดโดยผู้ขายสองราย และมีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้การรวมธุรกิจยังส่งผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคที่น้อยลง อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลและการกำหนดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงส่งผลให้ผู้ให้บริการธุรกิจที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง หรือ ผู้ให้บริการ MNO (Mobile Network Operator) อาจเพิกเฉยต่อการให้บริการในพื้นที่ชนบทหรือภูมิภาคที่มีรายได้น้อยและห่างไกล ไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยเฉพาะเครือข่าย 5G เนื่องจากจะมุ่งเน้นทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงในพื้นที่เมืองและพื้นที่ประชากรหนาแน่นเป็นหลัก
ดังนั้น การที่ กสทช. พิจารณาให้รวมธุรกิจระหว่าง DTAC และ TRUE จะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในต่างจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการบริการสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต และผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองต้องเสียค่าบริการสูงขึ้น ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ โดยประชาชนต้องมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ขณะที่ มาตรา 46 มาตรา 56 วรรคสี่ และมาตรา 61 ได้รับรองสิทธิของผู้บริโภค การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินธุรกิจ รัฐจะต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชน และต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้วย
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กสทช. มีมติรับทราบรายงานการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยได้กำหนดมาตรการให้ทั้งสองบริษัทปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ซึ่ง TRUE และ DTAC ได้ยื่นจดทะเบียนบริษัทใหม่ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมีภาคเอกชนหลายแห่งนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งมีประเด็นแห่งการฟ้องร้องหลายประเด็น เช่น การออกประกาศ กสทช. ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบอนุญาตไปสู่ระบบรายงาน ฯลฯ เป็นผลให้ TRUE และ DTAC สามารถรวมธุรกิจได้เพียงการรายงานให้ กสทช. ทราบ และขอให้ศาลเพิกถอนมติของ กสทช. ที่รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ด้วย
โดย กสม. พิจารณาเห็นว่าการที่ภาคเอกชนที่นำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว ถือเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว
@เกิดการผูกขาด กระทบบริการ-ราคา-การแข่งขัน
อย่างไรก็ดี มีมุมมองความเห็นจากนักวิชาการอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิ พยานผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรภาคเอกชน เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าการรวมธุรกิจโทรคมนาคมข้างต้น มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และประชาชนทุกคนที่ใช้บริการโทรคมนาคมทั้งในด้านการได้รับบริการที่เท่าเทียม คุณภาพ ราคา หรือสิทธิในความเป็นส่วนตัว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องไม่สามารถบังคับให้ผู้ประกอบการลงทุนในพื้นที่ที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงกังวลว่าหากผู้ถูกร้องไม่สามารถกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจกันดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ได้ อาจทำให้ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันน้อยลงและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นแต่คุณภาพเท่าเดิมหรือน้อยลง และไม่มีการขยายพื้นที่ให้บริการไปในพื้นที่ชายขอบหรือท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งจะกระทบทั้งผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่าง ๆ
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยัง กสทช. สรุปได้ดังนี้
@เปิดให้มีผู้ประกอบการรายที่ 3 - แก้กม.การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม
(1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ กสทช. รายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณชนทุก 6 เดือน จนกว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เข้ามาเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมจนทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) อยู่ในระดับปกติ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่อผู้บริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ และผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนด รวมทั้งผลการดำเนินการของ กสทช. ต่อกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะดังกล่าวได้
นอกจากนี้ให้จัดทำแนวทาง (Road Map) ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) หรือมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น ขยายพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ชายขอบหรือถิ่นทุรกันดาร ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม
มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิที่จะถูกลืม เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีกระบวนการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ชัดเจนและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่หน่วยงานของรัฐขอข้อมูลดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีการเปิดเผยสถิติการขอข้อมูลของหน่วยงานรัฐให้ประชาชนรับทราบด้วย
(2) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีส่วนในการให้ความเห็นหรือร่วมพิจารณาการรวมธุรกิจโทรคมนาคมที่มีผู้แข่งขันน้อยรายซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ รวมทั้งพิจารณาแก้ไขวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ประกาศ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 จากวิธีเฉลี่ยรวมทุกรายเป็นวิธีการอื่น เพื่อป้องกันการออกรายการส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคและทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน
อ่านประกอบ :
เปิดรายงานฯชำแหละ‘กสทช.’ละเลยหน้าที่ปมควบTRUE-DTAC ทำผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น-บั่นทอนแข่งขัน
‘สภาผู้บริโภค’แพร่รายงานฯ ชี้‘กสทช.’ละเลยหน้าที่กำกับ‘ค่าบริการ-คุณภาพ’หลังควบ TRUE-DTAC
เช็คลิสต์! ความคืบหน้า'มาตรการเฉพาะ' 6 เดือน หลังควบ TRUE-DTAC ค่าบริการเฉลี่ยลด 12%?
‘มูลนิธิผู้บริโภคฯ’ยื่นหนังสือ‘กสทช.’จี้แก้ปม‘เน็ตช้า-ต่อโปรฯแพงขึ้น’ หลังควบTRUE-DTAC
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
แจงปม‘เน็ตช้า-โปรฯถูกหาย’! ‘กสทช.’การันตีค่าบริการมือถือ‘เฉลี่ย’ลด 12% หลังควบTRUE-DTAC
‘กสทช.’นัดแถลงปม'ค่าบริการมือถือ'หลังควบTRUE-DTAC-'ทรู'ย้ำคุณภาพสัญญาณดีขึ้น-ลูกค้าเพิ่ม
4 กสทช. จี้ ประธาน นัดถกบอร์ด ติดตามค่ามือถือแพง หลังควบ ‘ทรู-ดีแทค’
เน็ตช้า-โปรฯใหม่แพงกว่าเดิม! ผลสำรวจฯผู้บริโภค 81% เจอ 5 ปัญหาหลังควบTRUE-DTAC-ทรูแจง6ปม
‘ทรู’ ชี้แจง ‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งรับคำฟ้องคดีควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ไม่กระทบธุรกิจบริษัทฯ
เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งรับคำฟ้อง คดีเพิกถอนมติ‘กสทช.’ควบ TRUE-DTAC
'ศาล ปค.สูงสุด'นัดชี้ขาดคำร้อง'อุทธรณ์คำสั่ง'ไม่รับพิจารณาคดีควบรวมธุรกิจ'TRUE-DTAC'
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ'จี้'กสทช.'สอบ'TRUE-DTAC- AIS' หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ'ใกล้เคียงกัน'
สส.อภิปรายถล่ม กสทช. หลากประเด็น ‘ปธ.บินนอกถี่-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ควบ TRUE-DTAC’
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว