"...ราคาค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือหลังการรวมธุรกิจ พบว่าหลังจากมีการรวมธุรกิจ กลุ่มเครือข่ายของผู้ควบรวมมีการปรับเพิ่มราคาค่าบริการ พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือให้เทียบเท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้น เครือข่ายที่ไม่ใช่ผู้ควบรวม (เอไอเอส) ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนราคาและปริมาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือเพื่อให้เทียบเท่ากับกลุ่มของผู้ควบรวม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการรวมธุรกิจที่บั่นทอนการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมของไทยลง..."
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ ‘สภาผู้บริโภค’ ได้เผยแพร่ ‘รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม’
โดยจะมีการจัดส่งรายงานฉบับดังกล่าว ไปให้หน่วยงานต่างๆ เช่น คณะรัฐมนตรี (ครม.) , กสทช. , สำนักงาน กสทช. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น เพื่อพิจารณาดำเนินการตาม ‘ข้อเสนอแนะ’ ต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ‘สภาผู้บริโภค’แพร่รายงานฯ ชี้‘กสทช.’ละเลยหน้าที่กำกับ‘ค่าบริการ-คุณภาพ’หลังควบ TRUE-DTAC)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญหลักของรายงานฉบับดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ชี้มติ กสทช. ‘รับทราบ’ควบรวม TRUE-DTAC ไม่ชอบด้วยกม.
การกระทำหรือละเลยการกระทำของ กสทช. อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค
การที่ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 เสียงข้างมาก มีมติ ‘รับทราบ’ การรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค (DTAC) และต่อมาในวันที่ 10 พ.ย.2566 ที่ประชุมกสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 มีมติเสียงข้างมาก ‘อนุญาต’ การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN กับ บมจ.ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ หรือ TTTBB
การลงมติที่มีความแตกต่างกัน ทั้งๆที่เป็นการพิจารณาการขอรวมธุรกิจโทรคมนาคมในลักษณะเดียวกัน สภาผู้บริโภคตรวจสอบแล้ว พบว่าการดำเนินการของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีลักษณะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคใน 2 ลักษณะ คือ
1.การลงมติของ กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2.ไม่การดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ กสทช.ด้วยขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-การลงมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 มีมติเสียงข้างมาก ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย สรุปได้ดังนี้
1) การลงมติขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8 และขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 3 ข้อ 5 และข้อ 9
ด้วยมติ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 พิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค เริ่มจากความเห็นของ กสทช. 2 เสียง คือ ประธาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และ กสทช. ต่อพงศ์ เสลานนท์ มีมติเห็นว่า
การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฉบับปี 2549) และอ้างถึงนัยของผลของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) ข้อ 9 ให้มีมติรับทราบการรวมธุรกิจ
ขณะที่ที่ประชุม 2 เสียง คือ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ กสทช. ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต มีมติเห็นว่า กรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และให้พิจารณาดำเนินการตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2549 และเห็นว่า กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าวได้
และ กสทช. 1 เสียง คือ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่า ยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของงดออกเสียง
เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว กรณีการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
โดยทรูเป็นผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาต คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในขณะที่ ดีแทค เป็นทั้งผู้รับใบอนุญาต และผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาต คือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ทั้งนี้ ทรูและดีแทค ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีทั้งเสียง (Voice) และข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Data) ส่งผ่านคลื่นความถี่เหมือนๆ กัน จึงย่อมเป็นธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
นอกจากนี้ หากใช้หลักการหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นกรอบในการพิจารณาการแข่งขันทางการค้าในสหภาพยุโรปและประเทศสิงคโปร์ และเป็นไปตามประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการฯ แล้ว
การรวมธุรกิจระดับบริษัทแม่ที่มีอำนาจควบคุมบริษัทลูกที่ได้รับใบอนุญาตของเอกชนทั้งสองฝ่าย จึงต้องนับเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน มิเช่นนั้น การรวมธุรกิจในระดับบริษัทแม่ แม้จะไม่ควบรวมบริษัทลูกเข้าด้วยกัน ก็จะส่งผลให้ไม่มีการแข่งขันตามหลักเกณฑ์ของ กขค. และย่อมส่งผลกระทบต่อสาธารณะในที่สุด
และเมื่อพิจารณาในแง่กฎหมาย (Legal Entity) การรวมธุรกิจนี้ ก็เป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกันตามประกาศอยู่ดี เนื่องจากบริษัทลูกของทั้งสองฝั่งต่างเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและประกอบธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ซึ่งคณะกรรมการ กสทช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายที่จะต้องพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออาจอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยมีการกำหนดเงื่อนไขเสียก่อน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2549
นอกจากนี้ การแจ้งรวมธุรกิจ ของ บริษัท TUC และ บริษัท DTN นี้ ยังเข้าลักษณะ ‘การรวมธุรกิจ’ ตามนิยามในข้อ 3 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2561
ซึ่งกำหนดว่า ‘การรวมธุรกิจ’ หมายความว่า (1) การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น อันส่งผลให้สถานะของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งคงอยู่ และผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามสัญญาร่วมค้า
และเป็นการรวมธุรกิจตามข้อ 5 (1) ที่ว่า “...ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) จดทะเบียนนิติบุคคล ในกรณีที่เข้ารวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามสัญญาร่วมค้า...”
เมื่อเป็นการรวมธุรกิจตามนิยามของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศรวมธุรกิจฯ ฉบับปี 2551 บัญญัติว่าการรายงานการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8
ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2549 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ถือเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด (Irrebuttable Presumption) โดยมิต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในบทบัญญัติตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ฉบับปี 2549 อีกหรือไม่
เมื่อถือเป็นการขออนุญาตแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของ กสทช. ต้องพิจารณาอนุญาตให้รวมธุรกิจหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจหรืออนุญาตอย่างมีเงื่อนไข เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมได้เท่านั้น คณะกรรมการ กสทช. จะพิจารณาเพียงแค่รับทราบมิได้
ดังนั้น มติ ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจของ ทรู และ ดีแทค ของ คณะกรรมการ กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565
จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8 และขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 3 ข้อ 5 และข้อ 9
@ประธานฯลงมติ 2 ครั้งขัดระเบียบ‘กสทช.’-ส่อเอื้อผู้ยื่นคำขอ
2) การลงมติด้วยการออกเสียงเพิ่มของประธาน กสทช. ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 เป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกระทำที่ขัดต่อระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 41(2)
โดยระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 41 กำหนดว่า
“การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมตามความในข้อ 40 วรรคสอง ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 (19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 ให้ใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุม
(2) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นตามความใน (1) ต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด หากคณะกรรมการเห็นว่าประเด็นใดตามความใน (1) เป็นประเด็นสำคัญอาจกำหนดให้ประเด็นนั้นต้องได้รับมติพิเศษก็ได้ ในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้กรรมการหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”
จากการที่ ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค.2565 มี กสทช. ทั้งหมด 5 คน มีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างทรูแลดีแทค ซึ่งที่ประชุม 2 เสียง คือ ประธาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และมีมติรับทราบการรวมธุรกิจ
ขณะที่ที่ประชุม 2 เสียง คือ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัชฯ และ กสทช. ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรองฯ มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน และให้พิจารณาดำเนินการตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. ปี 2549 โดย กสทช. อาจพิจารณาสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าวได้ และ กสทช.อีก 1 เสียง คือพลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ ของดออกเสียง
การลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้มีคะแนนเสียงเท่ากัน 2 ต่อ 2 เสียง ประธานที่ประชุม คือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ได้ออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งๆที่ได้ออกเสียงลงมติไปแล้ว โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555
สภาผู้บริโภค พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาการรวมธุรกิจโทรคมนาคม มิได้อยู่ในการวินิจฉัยชี้ขาดของระเบียบ 41 (1) คือ มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ที่เกี่ยวกับการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 แต่เป็นการประชุมพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. ดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่า การพิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในครั้งนี้ ต้องได้รับมติพิเศษตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงหมายความว่า มติพิเศษนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน จากกรรมการทั้งหมด 5 คน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของข้อ 41 (2) ของระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ.2555 แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าการ ‘ลงมติพิเศษ’ ในครั้งนี้ที่ประชุมของคณะกรรมการ กสทช. มีการออกเสียงเป็นสามฝ่ายตามที่กล่าวมา
ดังนั้น เมื่อการลงมติพิเศษของคณะกรรมการ กสทช. ในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบเพียง 2 เสียง จากกรรมการทั้งหมดจำนวน 5 คน จึงถือว่ามติพิเศษนี้ได้รับความเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทำให้ผลของการลงมติพิเศษในครั้งนี้จึงต้องตกไปทั้งหมด
และเมื่อจำนวนกรรมการ กสทช. มีจำนวนทั้งหมด 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนเลขคี่ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การลงมติพิเศษที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จะได้รับคะแนนเสียงความเห็นชอบที่เท่ากันได้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบแนวปฏิบัติของคณะกรรมการ กสทช. ในการนับคะแนนเสียงของกรรมการ กสทช. ในกรณีที่เป็นการออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีต้องกระทำโดยมติพิเศษนั้น พบว่า ในการประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ในระเบียบวาระที่ 5.3.5 เรื่อง การพิจารณากำหนดสัดส่วนค่าตอบแทนผู้ถือครองคลื่นความถี่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ ในหน้า 57 ซึ่งในขณะนั้น
ประกอบไปด้วย กรรมการจำนวน 6 คน มีการลงมติโดยมีคะแนนเสียงเท่ากัน มติ 2 ต่อ 2 โดยประธานในที่ประชุมเห็นว่า จากการลงมติข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน และกรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่ต้องได้รับมติพิเศษ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
ดังนั้น ประธานที่ประชุมจึงยังไม่ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้ ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ส่งเรื่องนี้ให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. พิจารณาให้ความเห็นประเด็นข้อกฎหมายก่อนนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ากระบวนการลงมติพิเศษในครั้งนี้ และการที่ประธาน กสทช. ออกเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดในการลงมติพิเศษในครั้งนี้
จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 41 (2) ที่ต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดและวรรคท้ายของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ.2555 อย่างชัดแจ้งและร้ายแรง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ยื่นคำขอโดยตรง
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค แถลงสรุป ‘รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม’ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2567
@กสทช.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปม‘รับทราบ’ควบรวม TUC-DTN
3) การลงมติ ‘รับทราบ’ ของ กสทช. ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ด้วยการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท TUC และ บริษัท DTN และการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ TTTBB เข้าลักษณะของ “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” แต่การที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติ ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะ ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 โดยเห็นว่า การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท TUC และบริษัท DTN ไม่เข้าลักษณะของ “การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน”
ในขณะที่การพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ TTTBB กสทช. มีมติ ‘อนุญาต’ โดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะนั้น
เห็นว่า การลงมติรับทราบในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเป็นไปเพื่อจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาให้อนุญาตหรือไม่ให้อนุญาต หรือให้อนุญาตโดยมีเงื่อนไข
ซึ่งคณะกรรมการ กสทช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 ประกอบมาตรา ๔๐ มาตรา ๖๑ และมาตรา 75 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2563 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 รวมถึงหลักการทางกฎหมายปกครองที่จะต้องกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการ
@‘กสทช.’ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย-กระทบสิทธิปชช.
4) กระบวนการลงมติในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 ขัดต่อหลักกฎหมาย ทั้งหลักแห่งความจำเป็น หลักแห่งความได้สัดส่วน และหลักแห่งการระวังป้องกัน
คณะกรรมการ กสทช. มีมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อหลักแห่งความจำเป็น หลักแห่งความได้สัดส่วน และหลักแห่งการระวังป้องกัน ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังนี้
กล่าวคือ เมื่อการใช้ดุลพินิจลงมติของ คณะกรรมการ กสทช. เกี่ยวกับการรวมธุรกิจของ บริษัท TUC และ บริษัท DTN โดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และมีผลเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง
มติดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามหลักการทางกฎหมายปกครอง ทั้งหลักแห่งความจำเป็น หลักแห่งความได้สัดส่วน และหลักแห่งการระวังป้องกัน
ในการที่ คณะกรรมการ กสทช. จะพิจารณาใช้ดุลพินิจและอำนาจให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อลงมติในประเด็นการพิจารณาว่า การรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่
ต้องพิเคราะห์ถึงประโยชน์ของเอกชน การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม คือ บริษัท TUC และ บริษัท DTN และผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค และการลงมติต้องนำไปสู่การบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายด้วย นั่นคือ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีและอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการอันเป็นประโยชน์มหาชนที่ กสทช. ต้องพึงให้ความสำคัญเป็นสูงสุด
ประกอบกับผลของรายงานศึกษาต่างๆ ที่ กสทช. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะที่ กสทช. ได้แต่งตั้งขึ้น ทั้งในแง่ความเห็นทางกฎหมาย การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผลจากรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการหลายชุดที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น
มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า หากมีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท TUC และ บริษัท DTN ย่อมส่งผลกระทบด้านลบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และไม่มุ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
และหาก กสทช. ได้พิจารณารายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศฉบับสมบูรณ์ ซึ่งตนเป็นผู้ว่าจ้างเองอย่างครบถ้วนก่อนการพิจารณาลงมติของ คณะกรรมการ กสทช. ย่อมทราบดีว่า ในการพิจารณาอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจไม่สามารถชดเชยหรือป้องกันผลกระทบต่อสาธารณะได้เพียงแค่มีการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ
การอนุญาตให้รวมธุรกิจและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสาธารณะ คณะกรรมการ กสทช. จึงต้องใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจ จึงจะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น การที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอันจะเกิดขึ้นต่อการจำกัดการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมและผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่รอข้อมูลการศึกษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งที่ในการประชุมดังกล่าวมีกรรมการ กสทช. ท่านหนึ่ง คือพลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมาย จึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน ซึ่ง กสทช. สามารถเลือกใช้ดุลยพินิจเลื่อนการประชุมลงมติในเรื่องนี้ออกไปก่อนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับเพิกเฉย
และเร่งพิจารณาโดยที่ประชุมมีมติโดยเสียงข้างมาก มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561)
และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561
ดังนั้น การมีมติดังกล่าวจึงเป็นการทำคำสั่งทางปกครองที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้บริการมากกว่าประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมจะพึงได้ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อหลักแห่งความจำเป็น หลักแห่งความได้สัดส่วน และหลักแห่งการระวังป้องกัน
@กสทช.ไร้ประสิทธิภาพกำกับดูแล‘ก่อน-หลัง’ควบรวมมือถือ
-การไม่กำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะอย่างมีประสิทธิภาพ
จากมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 ทำให้ทรู และ ดีแทค ทำการรวมกิจการเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2566 ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะของ กสทช. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการรวมธุรกิจ
สภาผู้บริโภค ได้ติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. โดยตรง และสนับสนุนให้ “ดิ วันโอวัน” ทำการการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามผลกระทบการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และดีแทค พบว่ามีเพียงบางมาตรการที่ดำเนินการแล้ว แต่มีอีกหลายมาตรการสำคัญที่ยังไม่ดำเนินการ แม้จะพ้นกำหนดเวลาในการดำเนินการมาแล้วร่วม 9 เดือน
นับเป็นความย่อหย่อน ไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของ คณะกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในภาวะที่ตลาดหลังการควบรวมมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการผูกขาด และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งผลการดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะของ กสทช. ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแม้จะล่วงพ้นระยะเวลาที่กำหนดไปแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนการรวมธุรกิจและช่วงหลังการรวมธุรกิจ
-เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ต้องดำเนินการก่อนการรวมธุรกิจ แต่ยังไม่มีการดำเนินการ
(1) ให้จัดทำแผนการให้บริการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ก่อนการรวมธุรกิจ หรือภายในวันที่ 1 มี.ค.2566 ผลการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้
(1.1) จัดให้มีหน่วยธุรกิจต่างหากจากหน่วยธุรกิจหลักเพื่อให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ให้บริการ MVNO
ผลการตรวจสอบ ยังไม่มีการจัดหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายสาหรับผู้ให้บริการแบบ MVNO
(1.2) จัดให้มีระบบการให้บริการโครงข่ายที่พร้อมสำหรับผู้ให้บริการ MVNO ภายหลังจากการวมธุรกิจโดยทันที ทั้งนี้ ต้องเสนอแผนการดำเนินการต่อ กสทช. ก่อนการรวมธุรกิจ
ผลการตรวจสอบ ด้วยยังไม่มีการจัดหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายสำหรับผู้ให้บริหารแบบ MVNO จึงยังไม่มีการจัดระบบการให้บริการโครงข่ายที่พร้อมสำหรับผู้ให้บริการ MVNO ภายหลังจากการรวมธุรกิจโดยทันที
-เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ต้องดำเนินการหลังการรวมธุรกิจ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
(1) การกำหนดอัตราค่าบริการ ต้องดำเนินการภายใน 90 วันหลังจากมีการรวมธุรกิจ หรือภายในวันที่ 30 พ.ค.2566
(1.1) อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12
ผลการตรวจสอบ ผู้บริโภคโดยทั่วไปยังไม่เคยรับทราบถึงโปรโมชันที่มีการลดอัตราค่าบริการตามเงื่อนไขนี้แต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบการรายงานข้อมูลให้แก่สำนักงาน กสทช. แล้ว แต่ชุดข้อมูลที่นำส่งมีความคลุมเครือ และไม่เชื่อมโยงกับชุดข้อมูลที่บริษัทเคยส่งให้และโปรโมชันที่ส่งให้สำนักงาน กสทช.
อีกทั้งไม่ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รายการส่งเสริมการขายในเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเป็นการทั่วไปในทุกรายการ จึงส่งผลยากต่อการตรวจสอบว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นมีจริงหรือไม่ และมีผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการ กสทช. แถลงข่าวชี้แจงว่า มีการลดอัตราค่าบริการลดลงร้อยละ 12 โดยวิธีเฉลี่ยราคาใหม่ถ่วงน้ำหนักใหม่ใน 90 วัน แต่รายละเอียดของตัวเลขเฉลี่ยไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ให้รับทราบก่อน แล้วมติที่ประชุมจะให้เผยแพร่หรือไม่แล้วแต่นโยบาย
(1.2) ต้องกำหนดอัตราค่าบริการตามต้นทุนเฉลี่ยรายบริการ (Average Cost Pricing)
(1.3) ต้องมีการกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แยกตามรายบริการ เช่น เสียง ข้อมูล บริการส่งข้อความ เป็นต้น
ผลการตรวจสอบ ข้อ (1.2) และ (1.3) พบว่า สำนักงาน กสทช.ยังไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบและกำหนดอัตราค่าบริการได้ ด้วยสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีการจัดหาที่ปรึกษาเพื่อสอบทานโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และเพื่อคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ตามเงื่อนไขที่กำหนด
(1.4) ต้องจัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และแสดงรายละเอียดของบริการไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นปัจจุบัน
ผลการตรวจสอบ สภาผู้บริโภคสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคผ่านองค์กรสมาชิกพบข้อมูลว่า ผู้บริโภคบางส่วนไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็วจากการรับบริการ
(1.5) ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ
ผลการตรวจสอบ สำนักงาน กสทช. มิได้เปิดเผยข้อมูลเป็นการทั่วไปว่าผู้รวมธุรกิจมีการดำเนินตามเงื่อนไขนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่
(1.6) ต้องจัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทานข้อมูลที่ส่งให้สำนักงาน กสทช. เป็นเวลา 10 ปี หรือจนกว่าใบอนุญาตหมดอายุโดยสำนักงาน กสทช. เป็นผู้กำหนดที่ปรึกษา และผู้แจ้งรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย โดยต้องดำเนินการใน 30 วัน
ผลการตรวจสอบ สำนักงาน กสทช. ยังไม่ดำเนินการจัดให้มีที่ปรึกษาตามเงื่อนไขกำหนด จึงไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อมูลโครงสร้างงต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการที่ผู้รวมธุรกิจส่งให้ได้
(1.7) ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้
ผลการตรวจสอบ ผลรับฟังความเห็นขององค์กรผู้บริโภค ไม่ทราบถึงการประกาศเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนด โดยเฉพาะการไม่ทราบในประกาศถึงโปรโมชันที่ได้มีการลดราคา เพื่อมีการตรวจสอบแต่อย่างใด
(2) ให้บริษัท TUC หรือบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท DTN หรือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อคงทางเลือกของผู้บริโภค หรือครบกำหนดวันที่ 28 ก.พ.2569]
ผลการตรวจสอบ ต้องติดตามการดำเนินการต่อเนื่องต่อไป
(3) ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงกับผู้ใช้บริการตามระยะเวลาของสัญญา ยกเว้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่ดี มีกำหนดเวลาตามระยะเวลาของสัญญาหรือตามที่ผู้ใช้บริการยินยอม
ผลการตรวจสอบ มีการเปลี่ยนโปรโมชันใหม่แบบอัตโนมัติ โดยผู้รวมธุรกิจใช้วิธีส่งข้อความแจ้งระยะเวลาสิ้นสุดของโพรโมชันปัจจุบัน และเสนอโปรโมชันใหม่ที่มีราคาสูงขึ้น หากต้องการใช้โปรโมชันเดิมจะต้องตอบรับภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อไม่ตอบรับจะถูกเปลี่ยนโปรโมชันใหม่โดยอัตโนมัติ
(4) ภายหลังการรวมธุรกิจ ต้องประชาสัมพันธ์การให้บริการที่มีคุณภาพและเป็นธรรม เพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ให้เริ่มดำเนินการเมื่อมีการรวมธุรกิจ หรือภายในวันที่ 1 มี.ค.2566
ผลการตรวจสอบ จากการรับฟังความเห็นของตัวแทนผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค หลังการรวมธุรกิจ ผู้บริโภคไม่ทราบถึงการประชามสัมพันธ์ที่ผู้รวมธุรกิจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะตามที่ กสทช. กำหนด
(5) มาตรการส่งเสริมผู้รับใบอนุญาต MVNO ให้เริ่มดำเนินการเมื่อมีการรวมธุรกิจ หรือภายในวันที่ 1 มี.ค.2566
ผลการตรวจสอบ ยังไม่มีการจัดหน่วยธุรกิจเพื่อให้บริการโครงข่ายสาหรับผู้ให้บริการแบบ MVNO จึงยังไม่มีการจัดระบบการให้บริการโครงข่าย
(6) ต้องคงคุณภาพในการให้บริการ โดยให้เริ่มดำเนินการเมื่อมีการรวมธุรกิจ หรือภายในวันที่ 1 มี.ค.2566
(6.1) คุณภาพของสัญญาณในการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องไม่ลดคงจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม และจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด
ผลการตรวจสอบ มีเสียงร้องเรียนของผู้บริโภคผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า คุณภาพสัญญาณการให้บริการลดลง ซึ่งการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่ามีการยุบเสาสัญญาณ แต่ไม่ได้ยุบตัวรับ-ส่งสัญญาณ มีการโยกจากเสาหนึ่งไปเสาหนึ่ง ซึ่งได้ตำหนิไปแล้วว่าให้แจ้งลูกค้าและประชาชนก่อน เพราะระหว่างการเคลื่อนย้าย Cell Site อาจส่งผลต่อสัญญาณขาดหาย ต่อไปให้แจ้ง กสทช. และลูกค้าด้วย
แสดงให้เห็นว่า เกิดปัญหาคุณภาพสัญญาณลดต่ำลงจริง จากการย้ายสถานีฐานสัญญาณตามเสียงร้องเรียนของผู้บริโภค โดยที่ไม่มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงเสาหรือสถานีฐานสัญญาณต่อ สำนักงาน กสทช. ก่อน อาจเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม และประกาศที่เกี่ยวข้องได้
(6.2) คุณภาพในการให้บริการลูกค้า บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call Center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ
ผลการตรวจสอบ การรับฟังความเห็นของผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค พบปัญหาคุณภาพการให้บริการลูกค้า
(7) ความครอบคลุมของโครงข่าย บริษัท TUC และ/หรือบริษัท DTN จะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 3 ปี หรือภายในวันที่ 28 ก.พ.2569 และร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดของประเทศภายใน 5 ปี นับจากวันที่รวมธุรกิจ
ผลการตรวจสอบ ผู้รวมธุรกิจมีการส่งข้อความสั้นแจ้งเสนอโปรโมชันใหม่ 5G ในเชิงบังคับเปลี่ยน โดยให้ผู้บริโภคต้องกดรับโปรโมชันเดิมภายในระเวลาที่กำหนด เมื่อผู้บริโภคไม่กดรับโปรโมชันเดิมในเวลาที่กำหนด จะถูกเปลี่ยนเป็นโพรโมชันใหม่โดยอัตโนมัติ
@ผู้บริโภคพบปัญหาหลังควบรวมฯ-พบ‘บั่นทอนการแข่งขัน’
ผลกระทบต่อผู้บริโภค
จากการเปิดทางของ กสทช. โดยมีมติรับทราบรวมกิจการของทรูและ ดีแทค และอนุญาตให้ AWN และ TTTBB รวมธุรกิจกันได้ โดย คณะกรรมการ กสทช.และสำนักงาน กสทช. ไม่ได้กำกับให้ผู้รวมธุรกิจได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะหลายประการ ดังที่กล่าวมา จึงมีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนผ่านทางสื่อออนไลน์ถึงคุณภาพบริการโทรคมนาคมที่ต่ำลง ขณะที่มีการเรียกเก็บค่าบริการสูงขึ้น
เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบอันเกิดกับผู้บริโภคที่ชัดเจนเพิ่มขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกและเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครของสภาผู้บริโภค ได้ทำการสำรวจผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เก็บข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 9-23 พ.ย.2566 มีประชาชนร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด 2,924 ราย โดยมีผลสำรวจดังนี้
1) พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามากถึงร้อยละ 81 ปัญหาที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า ร้อยละ 29 ,สัญญาณหลุดบ่อย ร้อยละ 19 ,โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ร้อยละ 14 ,ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมด ไม่มีทางเลือก ร้อยละ 10 , คอลเซนเตอร์ โทรติดยาก ร้อยละ 7
2) ร้อยละ 81 ของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นผู้ใช้บริการของผู้รวมธุรกิจโทรคมนาคมคือ ทรูและดีแทค โดยเป็นผู้ใช้บริการทรู 1,117 ราย คิดเป็นร้อยละ 47 เป็นผู้ใช้บริการดีแทค 807 ราย คิดเป็นร้อยละ 34 และเป็นผู้ใช้บริการเอไอเอส 443 ราย คิดเป็นร้อยละ 18
สภาผู้บริโภค ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) กับตัวแทนเครือข่ายองค์กรสมาชิกใน 6 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร จัดทำช่วงระหว่างวันที่ 7-10 ธ.ค.2566 ในระบบออนไลน์กับตัวแทนเครือข่ายองค์กร
ผลการรับฟังความคิดเห็นทำให้ทราบถึงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังการรวมกิจการ คือ การยกเลิกหรือการเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการซึ่งอยู่ไกล พบปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ปัญหาที่พบในทุกพื้นที่ คือ พนักงานบริการไม่ดี และปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ไม่ดี อินเทอร์เน็ตถูกลดความเร็ว สัญญาณหาย หรือคุณภาพสัญญาณไม่เต็มมาตรฐาน
อีกปัญหาที่ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคทุกพื้นที่สะท้อน คือ ไม่พบการประชาสัมพันธ์เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะหลังการรวมกิจการทั้งจาก กสทช. และผู้ให้บริการ
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ ‘ดิ วันโอวัน’ ที่สภาผู้บริโภคมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาวิจัยติดตามผลกระทบการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและ ดีแทค ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
1) ราคาค่าบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือหลังการรวมธุรกิจ พบว่าหลังจากมีการรวมธุรกิจ กลุ่มเครือข่ายของผู้ควบรวมมีการปรับเพิ่มราคาค่าบริการ พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือให้เทียบเท่ากัน
ยิ่งไปกว่านั้น เครือข่ายที่ไม่ใช่ผู้ควบรวม (เอไอเอส) ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนราคาและปริมาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือเพื่อให้เทียบเท่ากับกลุ่มของผู้ควบรวม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการรวมธุรกิจที่บั่นทอนการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมของไทยลง ทำให้ผู้ให้บริการมีความสามารถในการกำหนดราคาค่าบริการได้มากขึ้นและผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
2) คุณภาพการให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือหลังการรวมธุรกิจ พบว่าหลังการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ผู้บริโภคพบปัญหาจากการใช้งานสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือกับกลุ่มเครือข่ายของผู้ควบรวมที่มีการพบเจอปัญหาจากการใช้งานเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น
ปัญหาที่กลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายของผู้ควบรวมพบเจอบ่อยมากขึ้น ได้แก่ ปัญหาด้านความครอบคลุมของสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือ และปัญหาการบริการและศูนย์บริการของผู้ควบรวมไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้บริโภคได้
ปัญหาที่ผู้ใช้บริการเครือข่ายผู้ควบรวมพบเจอเหล่านี้ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่ามาตรการเฉพาะด้านการคงคุณภาพการให้บริการของผู้ควบรวมที่กำหนด โดยสำนักงาน กสทช. อาจยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะบังคับใช้ให้ผู้ควบรวมปฏิบัติตามได้จริงแล้ว
มาตรการดังกล่าวยังขาดตัวชี้วัดด้านความครอบคลุมของพื้นที่การให้บริการ (Coverage) ว่ามีการให้บริการที่ครอบคลุมประชากรที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองด้วยหรือไม่ ดังที่เห็นว่าผู้ใช้บริการเครือข่ายผู้ควบรวมได้พบเจอปัญหาด้านสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมือถือไม่ดีเมื่ออยู่นอกตัวเมืองบ่อยมากขึ้นเป็นอันดับแรก
@เปิดข้อเสนอแนะถึง 8 หน่วยงาน-ชง‘ป.ป.ช.’ตรวจสอบละเว้นฯ
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน
การที่ กสทช. ได้เปิดทางให้มีการรวมธุรกิจของบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ นับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกิจการของเอกชนรายใหญ่ แม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะก่อนและหลังการควบรวมแต่ กสทช. ก็ขาดประสิทธิภาพในการติดตามกำกับดูแลเพื่อให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช.กำหนดขึ้นเองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
จนส่งผลให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคในหลายลักษณะ อาทิ สัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์คุณภาพลดลง ขณะที่ค่าบริการกลับสูงขึ้น สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ คือ
ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ให้พิจารณากำหนดนโยบายการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีผู้ประกอบรายใหม่ในกิจการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นโดยอาจมอบหมายให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ กสทช.
1) ให้พิจารณาทบทวนและยกเลิกการรวมธุรกิจของกิจการโทรคมนาคมที่ดำเนินการแล้วทั้งหมด
2) ให้พิจารณาจัดทำมติเรื่องการปรับลดราคาค่าบริการพื้นฐานร้อยละ 12 ตามมาตรการที่กำหนด โดยให้ลดค่าอินเทอร์เน็ตจาก 0.16 บาทเป็น 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ หรือค่าโทรศัพท์จาก 0.60 บาทเป็น 0.52 บาทต่อนาที
3) ให้กำกับการทำหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. อย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนสูงสุด
ข้อเสนอแนะต่อ สำนักงาน กสทช.
1) ให้เปิดเผยรายงานผลการประกอบธุรกิจของผู้รวมธุรกิจทั้งสองกรณีที่จัดส่งให้แก่ กสทช. ทุก 6 เดือน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี โดยควรเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์
2) ให้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ เช่น การถูกเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่ได้รับอนุญาต
3) ให้เร่งรัดผู้ให้บริการต้องลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลงร้อยละ 12 ซึ่งเป็นมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการควบรวมที่ กสทช. กำหนดขึ้นเอง และให้มีการเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายทุกรายการที่มีการลดราคาค่าบริการเป็นการทั่วไป โดยให้ลดค่าอินเทอร์เน็ตจาก 0.16 บาทเป็น 0.14 บาทต่อเมกะไบต์ หรือค่าโทรศัพท์จาก 0.60 บาทเป็น 0.52 บาทต่อนาที
4) ให้เร่งรัดดำเนินการให้มีการเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายในทั้งหมดอย่างเป็นระบบรวมถึงรายการราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม และให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
5) ให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของบริการให้ประชาชนได้รับไม่ให้ต่ำไปกว่าเดิม
6) ให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อส่งเสริมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบไม่มีโครงข่าย หรือ MVNO ให้มีการเพิ่มหน่วยธุรกิจ เพิ่มระบบการให้บริการ
7) ให้ตรวจสอบบริการอย่างเข้มงวดของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้บริการและให้ผู้บริโภคจ่ายเงินตามจริง
ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.)
ขอให้ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจ รวมทั้งรายงานข้อเท็จจริงหรือข้อสังเกตจากการปฏิบัติตาม อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 และมาตรา 75
และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่
ข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ให้พัฒนาส่งเสริมและยกระดับการแข่งขันของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT)โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้สามารถเป็นทางเลือกกับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ขอให้คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 และมาตรา 75 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่
ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นของคณะกรรมการ กสทช. จากการมีมติไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการก่อนมีการลงมติ กระบวนการระหว่างการลงมติ และมติหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมและหลักการทำคำสั่งทางปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมติหรือคำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 และมาตรา 75 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่
ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินผู้แสวงหาข้อเท็จจริงจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของคณะกรรมการ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. จากการมีมติไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการก่อนมีการลงมติ กระบวนการระหว่างการลงมติ และมติหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมและหลักการทำคำสั่งทางปกครอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมติหรือคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรคมนาคมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60 และมาตรา 75 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่
@เตรียมยื่น‘หลักฐาน’เพิ่ม หวัง‘ศาลปค.’สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ
“เราคาดหวังว่าข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภค ควรได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเมื่อหน่วยงานได้แจ้งผลการดำเนินการมาแล้ว เราจะเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า แต่ละหน่วยงานตอบเรามาอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเวลา 60 วัน” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
สารี ย้ำว่า “สภาผู้บริโภคคาดหวังว่ารายงานฯฉบับนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการแถลงรายงานฯในครั้งนี้ เราได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เช่น ป.ป.ช. มารับรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย และเราจะจัดส่งรายงานฯดังกล่าวไปให้กับ 8 หน่วยงานภายในสัปดาห์หน้า”
(สารี อ๋องสมหวัง)
สารี ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่สภาผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกมติ กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กรณีมีมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้
อย่างไรก็ดี สภาผู้บริโภคอยู่ระหว่างพิจารณาจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมในคดี ในประเด็นเกี่ยวกับบรรทัดฐานการทำงานของ กสทช. เนื่องจากกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC มีมติเพียง ‘รับทราบ’ แต่กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB นั้น เป็นการลงมติ ‘อนุญาต’
นอกจากนี้ จากกรณีที่ กสทช. มีมติรับทราบและให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น การรวมธุรกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแล้ว ดังนั้น สภาผู้บริโภคจะยื่นคำร้องไปยังศาลฯ เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษา
“แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว จะไม่มีหน่วยงานใดๆตอบสนองต่อรายงานฯฉบับนี้ แต่เราก็ฟ้องคดีไปแล้ว และสิ่งที่เราจะทำเพิ่มในคดี คือ เราจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องที่เขา (กสทช.) ไม่ทำตามสิ่งที่กำหนด ไปขอคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลปกครอง ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เขาใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกัน ในกรณีการควบรวม TRUE-DTAC และกรณี AIS-3BB” สารี กล่าว
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC นั้น กสทช. และหน่วยงานต่างๆ จะมีการตอบสนองต่อรายงานฯของ ‘สภาผู้บริโภค’ หรือไม่ รวมทั้งคดีที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของ ‘ศาลปกครอง’ จะออกมาอย่างไร?
อ่านประกอบ :
‘สภาผู้บริโภค’แพร่รายงานฯ ชี้‘กสทช.’ละเลยหน้าที่กำกับ‘ค่าบริการ-คุณภาพ’หลังควบ TRUE-DTAC
เช็คลิสต์! ความคืบหน้า'มาตรการเฉพาะ' 6 เดือน หลังควบ TRUE-DTAC ค่าบริการเฉลี่ยลด 12%?
‘มูลนิธิผู้บริโภคฯ’ยื่นหนังสือ‘กสทช.’จี้แก้ปม‘เน็ตช้า-ต่อโปรฯแพงขึ้น’ หลังควบTRUE-DTAC
ได้ข้อมูล‘ทรู’ฝ่ายเดียว! ‘บอร์ด กสทช.’ยังไม่สรุปค่าบริการมือถือลด 12% หลังควบ TRUE-DTAC
แจงปม‘เน็ตช้า-โปรฯถูกหาย’! ‘กสทช.’การันตีค่าบริการมือถือ‘เฉลี่ย’ลด 12% หลังควบTRUE-DTAC
‘กสทช.’นัดแถลงปม'ค่าบริการมือถือ'หลังควบTRUE-DTAC-'ทรู'ย้ำคุณภาพสัญญาณดีขึ้น-ลูกค้าเพิ่ม
4 กสทช. จี้ ประธาน นัดถกบอร์ด ติดตามค่ามือถือแพง หลังควบ ‘ทรู-ดีแทค’
เน็ตช้า-โปรฯใหม่แพงกว่าเดิม! ผลสำรวจฯผู้บริโภค 81% เจอ 5 ปัญหาหลังควบTRUE-DTAC-ทรูแจง6ปม
‘ทรู’ ชี้แจง ‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งรับคำฟ้องคดีควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ไม่กระทบธุรกิจบริษัทฯ
เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งรับคำฟ้อง คดีเพิกถอนมติ‘กสทช.’ควบ TRUE-DTAC
'ศาล ปค.สูงสุด'นัดชี้ขาดคำร้อง'อุทธรณ์คำสั่ง'ไม่รับพิจารณาคดีควบรวมธุรกิจ'TRUE-DTAC'
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ'จี้'กสทช.'สอบ'TRUE-DTAC- AIS' หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ'ใกล้เคียงกัน'
สส.อภิปรายถล่ม กสทช. หลากประเด็น ‘ปธ.บินนอกถี่-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ควบ TRUE-DTAC’
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว