‘รักษาการเลขาธิการ กสทช.’ ยืนยันค่าบริการมือถือ ‘เฉลี่ย’ ลดลง 12% หลังควบรวม TRUE-DTAC พร้อมแจงปม ‘เน็ตช้า’ เหตุ ‘ผู้ประกอบการ’ มีการเคลื่อนย้าย Cell Site ในบางจุด-บางช่วงเวลา ย้ำยุบเสา แต่ Cell Sit ไม่ลดลง ระบุ ‘โปรฯถูก 299 บาท’ ไม่ได้หาย แต่ลูกค้าไม่ถาม ขณะที่ 'เวทีผู้บริโภค' สะท้อนปัญหาหลังควบรวมค่ายมือถือ
..........................................
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค ในเรื่องอัตราค่าบริการ คุณภาพสัญญาณ และแพ็คเกจการให้บริการ หลังการรวมธุรกิจระหว่างระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หลังจากก่อนหน้านี้ มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่าบริการและคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในประเด็นที่ว่า TRUE และ DTAC ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะ ที่กำหนดให้ลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่มีการรวมธุรกิจ หรือไม่ ขอยืนยันว่า บริษัทฯมีการลดค่าบริการเฉลี่ยลง 12% แน่นอน ส่วนโปรโมชั่นที่เคยมีอยู่ เช่น โปรฯ 299 บาท นั้น วันนี้ก็ยังมีแพ็กเกจนั้นอยู่
“การลดราคา ไม่ใช่ว่า โปรโมชั่นที่เห็นในท้องตลาด แล้วไปลดลงมา 12% แต่เป็นการลดราคา ‘โดยใช้การเฉลี่ย’ คือ แพ็กเกจ ไหนที่ประชาชนใช้เยอะ เราก็นำมาเฉลี่ยออกมา ซึ่งเขาก็ทำตามมาตรฐานและเงื่อนไขที่กำหนด แต่สิ่งที่เป็นข่าว เช่นว่า แพ็กเกจ 299 บาท/เดือน หายไป ต้องเรียนว่า จริงๆแล้ว แพ็กเกจนี้ก็ยังอยู่
เพียงแต่ว่า ในส่วนของลูกค้ารายเก่าที่ใช้อยู่นั้น ก่อนครบกำหนด 30 วัน เขาจะต้องมี SMS ไปยังลูกค้าว่า แพ็กเกจจะหมด แล้วให้ผู้บริโภคเลือกว่า จะต่อแพ็กเกจเดิม หรือจะเป็นแพ็คเกจใหม่ที่เขาออกหรือกำหนด คือ แพ็กเกจเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆทุกเดือน ตามกลยุทธ์ด้านการตลาดของแต่บริษัท เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ เขาไม่ได้บังคับผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถเลือกในสิ่งที่ต้องการได้
ส่วนลูกค้ารายใหม่ ณ วันนี้ ซึ่งไม่ได้เห็นแพ็กเกจ 299 บาท ที่เคยมีในท้องตลาดนั้น ถ้าถามเขา เขาก็จะบอกให้ แต่ถ้าไม่ได้ถามเขา เขาจะโชว์หรือไม่โชว์ตรงไหน ผมก็ไม่ทราบได้ แต่ยืนยันว่ายังมีแพ็กเกจนั้น อยู่แน่นอน อันนี้เป็นหลักการขายทั่วๆไป แต่ถ้าถามว่าอัตราเฉลี่ยลดลง 12% หรือไม่ ผมยืนยันว่า ลดลงแน่นอน” นายไตรรัตน์ กล่าว
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องคุณภาพสัญญาณ ซึ่งมาตรการเฉพาะกำหนดว่า บริษัทฯจะต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site) ลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและบริการที่ประชาชนได้รับไม่ต่ำไปกว่าเดิม รวมทั้งต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด นั้น บริษัทฯไม่ได้ลด Cell Site ลงแต่อย่างใด แต่การเคลื่อนย้าย Cell Site ในบางจุด อาจทำให้มีปัญหาเน็ตช้าได้
“ต้องอธิบายก่อนว่า เสาโทรคมนาคม ก็คือเสา บนเสาก็จะมี Cell Site สิ่งที่ประสบกันอดีต คือ บ้านหนึ่งบ้าน มีโทรศัพท์ 3 ยี่ห้อ ทำให้มีเสาสัญญาณรอบบ้าน และมีการร้องเรียนมาโดยตลอด กทช. หรือ กสทช.สมัยนั้น จึงกำหนดมีการแชร์โครงสร้างพื้นฐานหรือใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ พอ TRUE กับ DTAC รวมตัวกัน เขาก็เช็กว่าพื้นที่บริเวณนั้นๆ เสาที่เขามี กับเสาที่ DTAC มี อันไหนทำให้ครอบคลุมประชาชนได้มากที่สุด
ใช่ครับ มีบางจุด ที่เขายุบเสา แต่การยุบเสา ไม่ได้หมายความว่า เขายุบ Cell Site เพราะเงื่อนไข คือ ต้องไม่ลด Cell Site เขาจึงโยก Cell Site จากเสาที่เขาลด มาอยู่อีกเสาหนึ่ง ซึ่งในการเคลื่อนไหว Cell Site นั้น เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ผมตำหนิเขาไปว่า คุณควรจะบอกผู้บริโภคก่อนที่คุณจะเคลื่อน ฉะนั้น ในบางครั้ง ณ บางเวลา บางวัน บางจุด การโทรติดต่อ หรือการส่งข้อมูล อาจจะทำให้เน็ตช้าลง เพราะมีการเคลื่อน Cell Site เขาก็ยอมรับ
และผมบอกไปว่า ตั้งแต่นี้ไป คุณต้องบอกก่อนว่า คุณจะเลื่อน เคลื่อน Cell Site วันไหน แต่ยืนยันว่า coverage (ขอบเขตที่ครอบคลุมถึง) ตามที่ได้กำหนดไว้เงื่อนไขนั้น ไม่ได้ลดลง และมาตรฐานที่ว่า ถ้าเป็น 4G จะต้องมี coverage เท่าไหร่ และ 5G จะต้องมี coverage เท่าไหร่ อันนี้ มีครบตามจำนวนที่เขาถูกกำหนดไว้ แต่เสานั้น บางครั้งเป็นมลพิษทางสายตาของพวกเรา เพราะเสาเยอะ เขาก็เอาเสาลงให้ และเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน” นายไตรรัตน์ กล่าว
ส่วนในประเด็นการว่าจ้างที่ปรึกษาฯ เพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ในเรื่องค่าบริการ และคุณภาพสัญญาณ เป็นต้น ซึ่งมีความล่าช้า นั้น นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ส่งเรื่องการว่าจ้างที่ปรึกษาฯไปให้บอร์ด กสทช. พิจารณาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 ซึ่งบอร์ด กสทช. มีมติอนุมัติในหลักการ และส่งเรื่องมาให้อนุกรรมการฯ ดำเนินการจัดทำรายละเอียด TOR ให้ชัดเจน ซึ่งอนุกรรมการฯได้ปรับปรุงแก้ไข TOR และส่งเรื่องกลับไปให้บอร์ด กสทช. พิจารณา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการฯได้สิ้นสุดลงในวันที่ 2 พ.ย.2566 แต่มีการส่ง TOR ที่คณะอนุกรรมการฯแก้ไขแล้ว กลับมาให้ กสทช. ตรวจในวันที่ 16 พ.ย.2566 จึงทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องเวลา และอนุกรรมการฯเอง ก็ไม่ได้เรียกประชุมกันมาตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2566 จนถึงปัจจุบัน จึงทำให้เรื่องนี้ยังค้างอยู่ที่คณะอนุกรรมการฯ
นายไตรรัตน์ ระบุด้วยว่า ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ บอร์ด กสทช. จะมีการพิจารณา เรื่อง การดำเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เฉพาะในส่วนค่าบริการและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรการเฉพาะ ซึ่งบริษัทฯได้ส่งข้อมูลมาให้สำนักงาน กสทช. แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2566 และที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ประสานกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด ทั้งเรื่องราคาค่าบริการและในทุกๆเรื่อง
นายไตรรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่า หลังควบรวม TRUE และ DTAC แล้ว มีเรื่องร้องเรียนเพิ่มเป็น 600 เรื่อง จากก่อนควบรวมที่มี 500 เรื่อง ว่า ในจำนวน 600 เรื่อง ที่ร้องเรียนเข้ามานั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณเพียง 17 เรื่องเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเรื่อง SMS กวนใจ การคิดราคาที่มีความไม่เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการในแพ็กเกจต่างๆ และข้อมูลส่วนบุคคลที่หลุดออกไป เป็นต้น
“เรื่องคุณภาพสัญญาณที่ปรากฏเป็นข่าวว่า พอเสาลด แล้วมีการร้องเรียน อันนี้มีแค่ 17 เรื่อง และขอเรียนว่า การควบรวม สำนักงานฯ ไม่ได้เพิกเฉย คอยติดตามเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำนักงานฯพูด และกล้ายืนยันว่า อะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเดือนร้อน เราไม่เคยคิดจะทำ เราเป็นเรกกูเรเตอร์ ดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม ดูแลทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ตลาด เราจะดูทุกอย่าง ไม่มีการเพิกเฉยอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าข้อมูลที่นำไปเปิดเผยนั้น มีการใช้ข้อมูลไปสื่อ แล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้” นายไตรรัตน์ กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. กล่าวว่า นับตั้งแต่ TRUE และ DTAC ได้ควบรวมกันอย่างเป็นทางในวันที่ 1 มี.ค.2566 เป็นต้นมา สำนักงาน กสทช.ได้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของทั้งสองบริษัท พบว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ ตามมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ทั้งก่อนควบรวมและหลังการควบรวม จำนวน 11 ข้อใหญ่ รวม 19 ข้อย่อย ในส่วนที่ต้องดำเนินการ ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว
“ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบติดตาม ทางบริษัทฯได้ดำเนินการในส่วนที่ต้องดำเนินการ ภายในระยะเวลาที่กำหนด มีเพียงเรื่องเดียว คือ ประเด็นที่มีการพูดในสื่อมวลชนว่า จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่สามารถว่าจ้างที่ปรึกษาฯ ที่จะมาประเมินเรื่องราคา คุณสมบัติหรือคุณภาพต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งในส่วนนี้ ก็มีที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยืนยันว่า จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือของ TRUE และ DTAC ปรากฏว่า คุณภาพสัญญาณไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
@เวทีผู้บริโภคฯ สะท้อนปัญหาหลังควบรวม TRUE-DTAC
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีคอนซูมเมอร์ ฟอรั่ม ครั้งที่ 7 (Consumers Forum EP.7) หัวข้อ จ่ายแพง สัญญาณตก คุณภาพต่ำ ‘มโน’ หรือ ‘เรื่องจริง’ หลังควบรวม? ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้มีตัวแทนผู้บริโภคในภูมิภาคได้สะท้อนปัญหาที่พบเจอหลังควบรวมกิจการโทรคมนาคม ใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่เสถียร แม้ว่าผู้ให้บริการจะระบุว่าหลังการควบรวมกิจการจะดีขึ้นและมีการเพิ่มเสาสัญญาณ แต่กลับไม่ช่วยให้สัญญาณโทรศัพท์ดีขึ้น อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการติดตั้งเสาสัญญาณใกล้ชุมชนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ จึงต้องการให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กสทช. ที่ไม่ควรติดตั้งเสาสัญญาณในแหล่งชุมชน
2.ปัญหาการแจ้งเปลี่ยนแพ็กเกจโดยไม่แจ้งให้ทราบ ซ้ำยังเป็นแพ็กเกจที่มีราคาแพงขึ้นหรือได้รับบริการแพ็กเกจเสริมโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม 3.ศูนย์บริการที่อยู่ห่างไกล ทำให้ผู้บริโภคในบางพื้นที่ไม่สะดวกในการเข้าไปใช้บริการ และ 4.การลดหย่อนค่าบริการสำหรับคนพิการไม่ตอบโจทย์ รวมถึงรูปแบบการใช้สิทธิข้างต้นที่ทำให้คนพิการ เนื่องจากต้องไปยืนยันตัวตนที่ศูนย์บริการเท่านั้น
นายกันตพงศ์พันธุ์ สันแดง ตัวแทนผู้บริโภคจากกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากควบรวม TRUE และ DTAC พบว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อแจ้งไปที่ค่ายโทรศัพท์ก็ได้คำแนะนำว่า ให้ตั้งค่า (Reset) สัญญาณอีกครั้ง จากนั้นเมื่อสัญญาณไม่ดี ตนจะใช้วิธีนี้มาโดยตลอด และมีความคิดเห็นว่าการที่ต้องใช้วิธีการตั้งค่าใหม่กลายเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคต้องจัดการเองทั้งที่ผู้ใช้บริการควรจะต้องให้บริการสัญญาณที่ดี
นอกจากนี้ ในช่วงหลังควบรวมกิจการแล้ว ตนได้รับข้อความแจ้งเรื่องเปลี่ยนแพ็กเกจ และหากต้องการใช้แพ็กเกจเดิม จะต้องยืนยันตัวในระยะเวลาที่กำหนด
“ในช่วงหลังควบรวม ผมได้รับข้อความจากค่ายมือถือว่าแพ็กเกจที่ใช้จะถูกเปลี่ยนหลังวันที่กำหนด และมีค่าบริการที่เพิ่มขึ้น หากผมต้องการใช้แพ็กเกจเดิมจะต้องกดยืนยันภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นโชคดีที่ผมเข้ามาดูข้อความและแจ้งยืนยันแพ็กเกจเดิมทัน ซึ่งผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ไม่ได้สังเกตและถูกเปลี่ยนแพ็กเกจไปโดยไม่รู้ตัว” นายกันตพงศ์พันธุ์ กล่าว
นายภพต์ เทภาสิต ตัวแทนคนพิการ กล่าวว่า แม้ว่าคนพิการจะได้รับการลดหย่อนค่าบริการร้อยละ 10 เฉพาะบริการแบบรายเดือน แต่เห็นว่าสิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากหากมองถึงรายได้ของคนพิการแล้ว การใช้บริการรายเดือนมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทำให้คนพิการใช้บริการแบบเติมเงินเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่ต้องไปยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนฯที่ศูนย์บริการ ซึ่งคนพิการบางรายมีปัญหาด้านการเดินทาง เช่น เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือไม่สะดวกที่จะไปศูนย์บริการ
“สิทธิของคนพิการจะได้ลดหย่อนร้อยละ 10 เป็นเรื่องที่พวกเราเรียกร้องเองถึงได้มา แต่ก็ยังพบปัญหาไม่ครอบคลุม รวมถึงอุปสรรคในการไปใช้สิทธิยืนยันตัวตนที่ศูนย์บริการ ทั้งนี้มีความเห็นว่าปัญหาการเข้าถึงบริการ ค่าบริการ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ทำให้พวกเราขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และคนพิการส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเติมเงิน เนื่องจากบางคนมีรายได้น้อย ไม่สามารถเลือกใช้แบบรายเดือนเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่สิทธิของคนพิการกลับลดได้เพียงแบบรายเดือนเท่านั้น” นายภพต์ ระบุ
ขณะที่ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายมือถือทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 81 พบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการสำรวจ คือ TRUE และ DTAC โดยปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า รองลงมาคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุด
นอกจากนี้ ร้อยละ 91 ของผู้ได้รับผลกระทบเคยร้องเรียนไปที่คอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ใช้บริการแล้วแต่ยังพบปัญหาอยู่เช่นเดิม
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะต่อเครือข่ายผู้ให้บริการ ดังนี้ 1.ปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น ใช้งานได้ต่อเนื่อง เสถียร ขยายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ 2.ลดราคาแพ็กเกจให้ถูกลง มีโปรโมชั่นให้เลือกหลากหลายในราคาที่สมเหตุสมผล และ3.ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา ทำตามเงื่อนไขแพ็กเกจระบุ แจ้งล่วงหน้าและได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อน
พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อ กสทช. ในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ยกเลิกการควบรวม เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สะท้อนว่า หลังควบรวมแล้วสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็กเกจไม่หลากหลาย 2.ควบคุมและตรวจสอบการให้บริการอย่างเข้มงวด โดยควบคุมคุณภาพของสัญญาณให้ได้มาตรฐาน และ 3.กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการทำตามข้อตกลง มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา อดีต กรรมการ กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันคนมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเมื่อปี 2563 มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยรายเดือนประมาณ 12 GB ส่วนปี 2565 ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยรายเดือนประมาณ 20 GB ขณะที่ในปี 2566 มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยรายเดือนประมาณ 30-40 GB ดังนั้น ด้วยปริมาณของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกสองเท่าต่อปี ผู้ให้บริการจึงควรขยายเสาสัญญาณ และการหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับปริมาณการใช้งาน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นไปได้ยากที่สุดเพราะจะต้องประมูลกับ กสทช.
“หลังกรณีที่เกิดขึ้นการอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคมล่าสุด อาจเปรียบเทียบสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็น ‘ทางด่วน’ ส่วน ‘ผู้ใช้บริการ’ เป็น ‘รถบนทางด่วน’ เมื่อมีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ผู้ให้บริการควรขยายช่องทางด่วนเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้สะดวกขึ้น เหมือนกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการควรเพิ่มเสาสัญญาณหรือหาคลื่นเพิ่ม ซึ่งข้อสันนิษฐานว่าทำไมอินเทอร์เน็ตช้าลงนั้นอาจเป็นเพราะว่าผู้ให้บริการไม่ขยายช่องทาง
เมื่อมีปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตสูงมากอยู่แล้วประกอบกับการควบรวมธุรกิจที่อาจคิดว่าไม่ต้องแข่งขันกับเจ้าไหนอยู่แล้ว แม้ว่ารถจะติดบนทางด่วน ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องเสียค่าบริการให้ผู้ให้บริการอยู่ดี ดังนั้นการลดความเร็วของอินเทอร์เน็ตลงหรือการจำกัดความเร็วบนทางด่วนจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด มากกว่าการต้องขยายเสาสัญญาณหรือการหาคลื่นความถี่นั่นเอง” นพ.ประวิทย์ ระบุ
ส่วนประเด็นการที่โฆษณาว่าจะได้รับโปรโมชันไม่อั้น ไม่ลดความเร็วอินเทอร์เน็ต แต่ภายหลังผู้บริโภคหลายรายพบว่ามีการลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง ถือว่าผู้ให้บริการผิดสัญญา และในประเด็นการเปลี่ยนโปรโมชันอัตโนมัติไปเป็นโปรโมชันที่สูงขึ้นหากผู้บริโภคไม่ได้กดลิงก์ที่ผู้ให้บริการส่งมา ถือว่าเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยที่ไม่ได้ยินยอม
“อยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคร้องเรียนไปที่ กสทช. และหาก กสทช. ตรวจสอบและวินิจฉัยแล้วว่าผู้ให้บริการเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค กสทช. มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำดังกล่าว และมีโทษปรับถึง 5 ล้านบาท แต่หากยังไม่แก้ไขจะมีโทษปรับอีกวัน 1 แสนบาท รวมถึงการเชิญชวนให้ผู้บริโภคตรวจสอบคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ด้วยตัวเอง โดยการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เคยตรวจสอบเดิมและลองทดสอบในวันและเวลาเดิมเพื่อดูว่าสัญญาณโทรศัพท์เป็นอย่างไร” นพ.ประวิทย์ กล่าว
นพ.ประวิทย์ ระบุว่า สภาผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ใน 2 ระดับ ได้แก่ 1.การเชิญชวนผู้บริโภคลองตรวจสอบคุณภาพสัญญาณได้ด้วยตัวเอง หรือการเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีถูกเปลี่ยนโปรโมชันโดยไม่ยินยอมหรือเสาสัญญาณที่หายไปจากตำแหน่งเดิม
และ 2.ระดมนักวิชาการและนักกฎหมายศึกษาเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ กสทช. ออกมาหลังจากอนุญาตให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2565 ว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าหรือไม่ รวมถึงการเร่งรัดให้ กสทช. ต้องดำเนินตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ใช้บริการค่ายโทรศัพท์
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ว่า ‘คลื่นความถี่และกิจการโทรคมนาคมถือเป็นทรัพยากรสาธารณะจะต้องมีการส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม’ และยังเป็นที่มาของการปฏิรูปการสื่อสารของประเทศ โดยการจัดตั้ง กสทช. ขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในประเทศ
แต่สิ่งที่ กสทช. ชุดปัจจุบันทำ คือ การพาคนไทยย้อนถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาดเช่นเดิม เพราะอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมเข้าด้วยกันแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังและหากไม่สามารถแก้ไขในสิ่งที่ได้อนุญาตให้ควบรวมไปแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพรวมให้ดีขึ้น อาทิ การเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม การผลักดันให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ๆเพิ่มขึ้น การส่งเสริมรายย่อยหรือการส่งเสริม บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มากขึ้นให้สามารถก้าวมาเป็นคู่แข่งรายที่ 3 ในตลาดมือถือให้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดและเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’นัดแถลงปม'ค่าบริการมือถือ'หลังควบTRUE-DTAC-'ทรู'ย้ำคุณภาพสัญญาณดีขึ้น-ลูกค้าเพิ่ม
4 กสทช. จี้ ประธาน นัดถกบอร์ด ติดตามค่ามือถือแพง หลังควบ ‘ทรู-ดีแทค’
เน็ตช้า-โปรฯใหม่แพงกว่าเดิม! ผลสำรวจฯผู้บริโภค 81% เจอ 5 ปัญหาหลังควบTRUE-DTAC-ทรูแจง6ปม
‘ทรู’ ชี้แจง ‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งรับคำฟ้องคดีควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ไม่กระทบธุรกิจบริษัทฯ
เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งรับคำฟ้อง คดีเพิกถอนมติ‘กสทช.’ควบ TRUE-DTAC
'ศาล ปค.สูงสุด'นัดชี้ขาดคำร้อง'อุทธรณ์คำสั่ง'ไม่รับพิจารณาคดีควบรวมธุรกิจ'TRUE-DTAC'
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ'จี้'กสทช.'สอบ'TRUE-DTAC- AIS' หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ'ใกล้เคียงกัน'
สส.อภิปรายถล่ม กสทช. หลากประเด็น ‘ปธ.บินนอกถี่-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ควบ TRUE-DTAC’
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC