‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่ง ‘ศาลปกครองชั้นต้น’ รับฟ้องคดี ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ฟ้องเพิกถอน ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องขอเพิกถอนมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวเนื่องกับการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดี (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) เป็นมูลนิธิจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
และแม้ว่าผู้ฟ้องคดี จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลฯเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ แต่เนื่องจากการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ศาลปกครอง จึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
“…เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) ได้มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กรณีรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
และการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ จำนวน 5 ข้อ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนากิจการโทรคมนาคมตามข้อ 12 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติดังกล่าว
คดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น ต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) จึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 (มติพิพาท) รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เผยแพร่มติการประชุมดังกล่าวเป็นการทั่วไปต่อสาธารณะและลงประกาศในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์กรผู้ที่สนใจติดตามเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ อันพึงมีพึงได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดี
ประกอบกับการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มีการพิจารณามาตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2565 โดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติให้มีการควบบริษัทกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2565 อันเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการประชุมและลงมติ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไว้แล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าข่าวประชาสัมพันธ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นเพียงการสรุปผลการลงมติ มิได้มีการระบุรายละเอียดว่า บริษัทมหาชนจำกัดทั้งสองมายื่นรายงานการรวมธุรกิจโดยอาศัยสิทธิตามข้อใด และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองรับรายงานการรวมธุรกิจของบริษัทมหาชนจำกัดทั้งสองอาศัยอำนาจตามข้อใดของประกาศ กสทช. พ.ศ.2561 ก็ตาม
แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็มิได้ปฏิเสธถึงความมีอยู่ของมติที่พิพาท ประกอบกับผู้ฟ้องคดีได้กล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทราบว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสารี อ๋องสมหวัง เป็นเลขาธิการของสภาดังกล่าวและยังเป็นกรรมการของผู้ฟ้องคดีด้วย กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรจะรู้ถึงความมีอยู่ของมติพิพาทในวันดังกล่าว หาใช่วันที่ 10 ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง
ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2566 จึงเป็นการนำฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีต่อไปว่า การฟ้องคดีนี้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว หรือไม่
เห็นว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ
การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ 617/2566 คำสั่งที่ 1548/2566 ลงวันที่ 4 ต.ค.2566 อ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2566
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า กสทช. กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะต้องทราบถึงความมีอยู่ของมติพิพาทตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการประชุมและลงมติ และสำนักงาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้เผยแพร่ผลการประชุมเป็นการทั่วไปต่อสาธารณะและลงประกาศในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด้วยแล้ว
และผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติในการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะรู้หรือได้รู้ถึงความมีอยู่ของมติพิพาทอย่างช้าที่สุดในวันที่ 10 พ.ย.2565 หาใช่จะถือเอาวันที่ 10 ธ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงพบว่ามีการเผยแพร่รายงานการประชุม การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เมื่อคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล ที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ย่อมมีผลอันเกี่ยวด้วยการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เท่านั้น มิได้กระทบต่อสาธารณะโดยตรงหรือเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยแท้แต่อย่างใด
ทั้งไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีดังกล่าว
อ่านประกอบ :
'ศาล ปค.สูงสุด'นัดชี้ขาดคำร้อง'อุทธรณ์คำสั่ง'ไม่รับพิจารณาคดีควบรวมธุรกิจ'TRUE-DTAC'
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ'จี้'กสทช.'สอบ'TRUE-DTAC- AIS' หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ'ใกล้เคียงกัน'
สส.อภิปรายถล่ม กสทช. หลากประเด็น ‘ปธ.บินนอกถี่-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ควบ TRUE-DTAC’
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC
‘ทรู-ดีแทค’ เผยได้รับหนังสือแจ้ง ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC แล้ว
มติไม่สมบูรณ์-อาจมีปย.ขัดกัน! ชี้ 2 ปม ฟ้อง'ศาลปค.'เพิกถอน'มติ กสทช.'ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC
ย้อนวิสัยทัศน์'กสทช.เสียงข้างมาก' ก่อนไฟเขียวควบTRUE-DTAC 'สรณ'เคยค้าน AIS จับมือ Disney
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’
ประชาชนต้องทำอะไร หลังมติอัปยศของ กสทช.