‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ยื่นคำร้องขอให้ 'เพิกถอน' คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯของ 'ศาลปกครองชั้นต้น' คดีรวมธุรกิจ TRUE-DTAC เหตุการพิจารณาผิดระเบียบฯ พร้อมขอให้ ‘ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองชั้นต้น’ เป็นผู้พิจารณาคดีใหม่
...........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านสมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ในคดีที่สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค (สอบ.) และพวกรวม 5 คน (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณี กสทช. มีมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชัน (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มติ กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ระเบียบวาระที่ 5.11 เรื่อง การรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชัน และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ที่รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท นั้น ยังไม่มีเหตุรับฟังได้ว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา สอบ.ได้คำยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น พิจารณาเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯของศาลปกครองชั้นต้น และเปิดพิจารณาคดีนี้ใหม่ เนื่องจาก สอบ. เห็นว่าคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC นั้น อาจไม่สอดคล้องกับวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง
“เมื่อศาลฯมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวฯ สอบ. รู้สึกผิดหวังอย่างมาก ที่ศาลฯมีคำสั่งยกคำร้องฯดังกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กขค. และถ้าไปดูมติ กสทช. ก็ชัดเจนว่า กสทช.ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของ กสทช. แต่เป็นการพิจารณาของสำนักงานฯ ดังนั้น เมื่อศาลฯมีคำวินิจฉัยว่า ไม่คุ้มครองฯ ก็สะท้อนว่าว่าไม่มีหน่วยงานไหนที่ดูแลการควบรวมกิจการระดับแสนล้านในประเทศเราเลย” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า สอบ.ยังคงติดตามกรณีการขอรวมธุรกิจของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่เข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ซึ่งยื่นขออนุญาตต่อ กสทช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2565 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลของการฟ้องคดีควบรวม TRUE และDTAC ของศาลปกครองในครั้งนี้ จะเป็นคดีตัวอย่างในคดีลักษณะเดียวกัน ที่มีการขอควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมและจะนำไปสู่การผูกขาดต่อไป
นายสมชาย อามีน ทนายความ สอบ. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา สอบ.และผู้ฟ้องคดี รวม 5 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลฯเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 9 ธ.ค.2565 ในคดีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC และขอให้ศาลพิจารณาคำร้องวิธีการชั่วคราวฯ ที่ สอบ.ได้ยื่นไปในวันที่ 10 พ.ย.2565 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น
ส่วนสาเหตุที่ สอบ. ต้องยื่นขอเพิกถอนคำสั่งยกคำร้องฯ เนื่องจากมีกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คือ คดีนี้ศาลฯได้มีคำสั่งรับคำชี้แจงของ กสทช. ลงวันที่ 29 พ.ย.2565 ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี และมีคำสั่งรับคำชี้แจงของ TRUE และ DTAC ลงวันที่ 28 พ.ย.2565 ในฐานะผู้ร้องสอดทั้งสอง ต่อมาศาลได้มีคำสั่งส่งสำเนาคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ร้องสอดทั้งสอง ให้ สอบ. ในฐานะผู้ฟ้องคดี ในวันที่ 8 ธ.ค.2565 และสอบ.ได้รับสำเนาคำชี้แจงในวันที่ 13 ธ.ค.2565
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) และผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) ยังไม่ถึงผู้ฟ้องคดีทั้งห้า (สอบ.และพวก) ปรากฎว่าในวันที่ 9 ธ.ค.2565 ศาลปกครองกลางได้มีการแจ้งคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาทางอีเมลให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ทำให้ก่อนศาลมีคำสั่งยกคำขอ สอบ.และผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ไม่อาจโต้แย้งคัดค้านหรือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งในคำชี้แจงคัดค้านคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
“ออกคำสั่งยกคำขอร้องฯ ศาลปกครองมีการรับฟังพยานหลักฐานคำชี้แจงคัดค้านคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีและของผู้ร้องสอดทั้งสอง โดยที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งเป็นคู่กรณีและเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่มีโอกาสทราบและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างพยานหลักฐานจากคำชี้แจงคัดค้านคำขอทั้งสองฉบับของผู้ถูกฟ้องคดี และของผู้ร้องสอดทั้งสอง ดังนั้น กระบวนพิจารณาดังกล่าวอาจขัดต่อระเบียบฯ” นายสมชาย กล่าว
นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สอบ.ได้ทำหนังสือไปถึงอธิบดีศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาคดีนี้ดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 94 (1) และ (2) ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 เนื่องจากคดีนี้มีลักษณะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจำนวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง
อีกทั้งคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ มีเอกสารจำนวนมาก และมีประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่เคยมีการตีความมาก่อน ประกอบกับคำพิพากษาคดีนี้ไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาไปในทางใดทางหนึ่ง จะมีผลกระทบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากถึงหลายสิบล้านคน
“คำพิพากษาคดีนี้ผลกระทบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากถึงหลายสิบล้านคน ซึ่งหากได้รับการพิจารณาพิพากษาจากคณะที่ประชุมใหญ่ จะทำให้มีความรัดกุมละเอียดถี่ถ้วนทั้งในด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย” นายจิณณะ กล่าว
อ่านประกอบ :
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC
‘ทรู-ดีแทค’ เผยได้รับหนังสือแจ้ง ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC แล้ว
มติไม่สมบูรณ์-อาจมีปย.ขัดกัน! ชี้ 2 ปม ฟ้อง'ศาลปค.'เพิกถอน'มติ กสทช.'ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC
ย้อนวิสัยทัศน์'กสทช.เสียงข้างมาก' ก่อนไฟเขียวควบTRUE-DTAC 'สรณ'เคยค้าน AIS จับมือ Disney
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’
ประชาชนต้องทำอะไร หลังมติอัปยศของ กสทช.