‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ เผยผลสำรวจฯ พบผู้บริโภค 81% พบ 5 ปัญหา หลังการควบรวม TRUE-DTAC ทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ต ‘ช้า’ ต้องใช้โปรฯใหม่แพงขึ้น หลังหมดโปรฯเดิม ด้าน 'ทรู' แจง 6 ข้อเท็จจริงที่คนเข้าใจผิด
....................................
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยแพร่ข่าวโดยมีเนื้อหาว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมกันทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-23 พ.ย.2566 หลังจากก่อนหน้านี้ผู้บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำลง และค่าบริการ TRUE-DTAC-AIS ปรับขึ้นแพงเท่ากัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการควบรวม TRUE-DTAC
โดยผลสำรวจฯพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 81% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ได้ระบุถึง 5 ปัญหาที่พบ คือ 1.สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า 2.สัญญาณหลุดบ่อย 3.โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น 4.ค่าบริการในแต่ละระดับแพ็กเกจมีราคาเท่ากัน ทำให้ไม่มีทางเลือก และ 5.call center โทรติดยาก โดยทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่ได้รับผลกระทบหลังการควบ TRUE-DTAC อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2566
ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจฯ มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายว่า จะต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ และเมื่อ TRUE-DTAC มีการควบรวมกันแล้ว อุปกรณ์เสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายให้ครอบคลุมจุดรับสัญญาณ พร้อมปรับปรุงโครงข่ายให้มีความเสถียรเพียงพอต่อความต้องการ และสัมพันธ์กับความหนาแน่นของผู้ใช้งาน
ขณะเดียวกัน สัญญาณความเร็วอินเตอร์เน็ตต้องใช้ได้จริงตรงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ เพราะปัจจุบันไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่าย และต้องนำข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อให้บริการสัญญาณที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ ทั้ง TRUE-DTAC จะต้องลดเพดานอัตราค่าบริการลง 12% ทันที โดยไม่มีข้ออ้าง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขในการควบรวม TRUE-DTAC ที่พ่วงมากับมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565
“ปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคสะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือปรับแพคเกจตามอำเภอใจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้บริการตามเงื่อนไขที่ลูกค้าซื้อแพ็กเกจเท่านั้น หากมีเหตุขัดข้องที่เป็นความผิดพลาดของผู้ประกอบการต้องชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับลูกค้า
ที่สำคัญต้องใส่ใจดูแลปัญหาอย่างทันท่วงที ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ใช้ AI อย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคฝากไปถึงคณะกรรมการ กสทช. อาทิขอให้พิจารณามติควบรวม TRUE-DTAC เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ
อีกทั้ง กสทช. ต้องมองโลกในความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ศึกษาผลกระทบการควบรวมเครือข่ายมือถือให้รอบคอบ ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าเป็นแค่เสือกระดาษ ต้องจริงใจ-จริงจัง กำหนดบทลงโทษที่เข้มแข็งจัดการผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างทันท่วงที โดยอิงตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญต้องเปิดทางให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ” เอกสารข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า มูลนิธิฯจะนำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายในระบบออนไลน์ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม ไปเสนอต่อผู้ให้บริการ และกสทช. เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคต่อไป
ขณะที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยแพร่สารสนเทศชี้แจง 6 ข้อเท็จจริง ที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ TRUE-DTAC โดยมีเนื้อหาว่า
1.คุณภาพสัญญาณแย่ลงหลังควบรวม?
ข้อเท็จจริง : คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวมโดยในทางกลับกันภายหลังการควบรวมนั้น สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทค ดีขึ้นทันที จากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยทรูมุ่งมั่นการให้บริการโดยมีคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา และไม่มีเหตุผลใดๆที่ทรูจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยจัดการโครงข่ายด้วย “Single Grid” ทำให้สัญญาณใช้งานดียิ่งขึ้น ลดการรบกวนของสัญญาณ และเพิ่มพื้นที่ใช้งานครอบคลุมทั่วไทยมากขึ้น คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568
2.มีการลดเสาสัญญาณทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง
ข้อเท็จจริง : ไม่มีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) แต่อย่างใด แต่มีผู้เข้าใจผิดว่า เสาโครงเหล็กคืออุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell Site) แต่ความเป็นจริงเสาสัญญาณจะต้องประกอบด้วย เสาโครงเหล็ก (Tower) และสถานีฐานระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site ) ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเสา (Tower) บางแห่งที่อยู่ในจุดซ้ำซ้อน เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน
นอกจากจะไม่มีการปรับลดระบบสื่อสัญญาณ (Cell Site ) แล้ว ในทางกลับกัน ยังมีการติดตั้ง cell sites เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก 5,000 สถานีฐาน เพื่อขยายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และทำให้ 5G ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรได้ทั่วประเทศยิ่งขึ้น
3.ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย 5 G ครอบคลุมแล้วหรือไม่ ลูกค้าแพ็กเกจไหนถึงมีสิทธิ์ใช้ 5G
ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันโครงข่าย 5G ของทรู-ดีแทคครอบคลุม 90% และตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมประชากรถึง 97% ภายในปี 2568 ขณะที่โครงข่าย 4G ของทรู-ดีแทค ครอบคลุมประชากร 99% ซึ่งปัจจุบันหลังควบรวม ทุกแพ็กเกจสามารถใช้งาน 5G ได้ หากเครื่องมือถือที่ใช้งานรองรับ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแพ็กเกจ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการแพ็กเกจราคาประหยัดก็สามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจใหม่
4.ไม่สามารถใช้แพ็กเกจเดิมได้ต่อไป มีการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจราคาสูงขึ้น
ข้อเท็จจริง : ในการให้บริการตามปกติทุกแพ็กเกจมีกำหนดอายุการใช้งานตามสัญญา ดังนั้น เมื่อจะครบกำหนดก่อนที่ปรับเปลี่ยนแพ็กเกจ บริษัทฯ จะมีการส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า 30 วัน โดยพิจารณานำเสนอแพ็กเกจที่น่าจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า และเพื่อให้การใช้บริการของลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากลูกค้าไม่ต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจตามที่เสนอ ลูกค้ารายเดือนสามารถเลือกใช้งานแพ็กเกจเดิม หรือสมัครแพ็กเกจอื่นๆ ได้ตามปกติ และลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกแพ็กเกจอื่นๆ ได้เช่นกัน
5. แพ็กเกจราคาแพงขึ้น
ข้อเท็จจริง : มีการเสนอแพ็กเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากและหลากหลายโดยแต่ละแพ็กเกจมีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบเติมเงินและรายเดือน ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับมีการเพิ่มคุณค่าที่หลากหลายที่นอกเหนือการบริการโทรคมนาคม (Non-Telco benefits) เพื่อเพิ่มการตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุคปัจจุบัน อาทิ คูปองเงินสด, TrueID, TrueX, ประกัน, ดูฟรี บอล EPL หนัง ซีรีส์, อาหารและเครื่องดื่มจากแบรนด์ดัง, ส่วนลดร้านค้าห้างสรรพสินค้า
6. แพ็กเกจ Unlimited ไม่ Unlimited จริง?
ข้อเท็จจริง : บริษัทฯ ยังคงมีโปรโมชั่นแบบ Unlimited ให้ลูกค้าเลือกใช้งาน โดยสำหรับลูกค้ารายเดือนจะมีแพ็กเกจเน็ตไม่อั้นที่ความเร็วสูงสุดให้เลือกใช้งานได้ นอกจากนี้ สำหรับแพ็กเกจที่จำกัดปริมาณบนความเร็วสูงสุด (Volume) หลังจากมีการใช้งานครบปริมาณแล้ว บริษัทฯ ได้ปรับความเร็วให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อเนื่อง จากเดิมความเร็ว 384kbps เป็น 1Mbps-6Mbps ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของลูกค้า
สำหรับลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกใช้แพ็กเน็ตไม่อั้นที่มีการใช้งานแบบจำกัดความเร็ว (Fixed speed) เลือกได้ตามความเร็วที่ต้องการ และ ระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน (เช่น 1 วัน 7 วัน 30 วัน เป็นต้น)
อ่านประกอบ :
‘ทรู’ ชี้แจง ‘ศาล ปค.สูงสุด’ สั่งรับคำฟ้องคดีควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ไม่กระทบธุรกิจบริษัทฯ
เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งรับคำฟ้อง คดีเพิกถอนมติ‘กสทช.’ควบ TRUE-DTAC
'ศาล ปค.สูงสุด'นัดชี้ขาดคำร้อง'อุทธรณ์คำสั่ง'ไม่รับพิจารณาคดีควบรวมธุรกิจ'TRUE-DTAC'
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ'จี้'กสทช.'สอบ'TRUE-DTAC- AIS' หลังพบขึ้นค่าบริการมือถือ'ใกล้เคียงกัน'
สส.อภิปรายถล่ม กสทช. หลากประเด็น ‘ปธ.บินนอกถี่-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ควบ TRUE-DTAC’
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC
‘ทรู-ดีแทค’ เผยได้รับหนังสือแจ้ง ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC แล้ว
มติไม่สมบูรณ์-อาจมีปย.ขัดกัน! ชี้ 2 ปม ฟ้อง'ศาลปค.'เพิกถอน'มติ กสทช.'ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC
ย้อนวิสัยทัศน์'กสทช.เสียงข้างมาก' ก่อนไฟเขียวควบTRUE-DTAC 'สรณ'เคยค้าน AIS จับมือ Disney
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’
ประชาชนต้องทำอะไร หลังมติอัปยศของ กสทช.