‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือถึง ‘กสทช.’ ขอให้เร่งตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาให้ ‘ผู้บริโภค’ หลังควบรวม TRUE-DTAC พบมีการเรียกเก็บค่าบริการผิดเงื่อนไข
...................................
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.
โดยขอให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) พร้อมแนบผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ได้แก่ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า ,สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ,ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก
รวมถึงกรณีผู้บริโภคร้องเรียนได้รับข้อความสั้น (SMS) จากผู้ให้บริการว่า โปรโมชันปัจจุบันเดือนละ 299 บาท จะสิ้นสุดลง และนำเสนอโปรโมชั่นเดือนละ 349 บาท และค่าโทรส่วนเกินนาทีละ 1 บาท 50 สตางค์ หากต้องการใช้โปรโมชันเดิมให้กด *966*8# ซึ่งหมายความว่า โปรโมชันจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ แม้ว่าโปรโมชันใหม่ที่นำเสนอจะทำให้อัตราค่าบริการเฉลี่ยถูกลง แต่ทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยไม่ยินยอมและอาจไม่มีความจำเป็น
“เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ประจักษ์ถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอ ส่งตัวอย่างหลักฐานที่แสดงถึงปัญหาในการคุ้มครองผู้บริโภคภายหลังการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ซึ่งผู้บริโภคได้รับข้อความสั้นจากผู้ให้บริการ ระบุว่า โปรโมชั่นปัจจุบันเดือนละ 299 บาท จะสิ้นสุดลง และนำเสนอโปรโมชั่นเดือนละ 349 บาท และค่าโทรส่วนเกินนาทีละ 1 บาท 50 สตางค์ หากต้องการใช้โปรโมชั่นเดิมให้กด "966*8# ซึ่งหมายความว่าโปรโมชั่นจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ
แม้ว่าโปรโมชั่นใหม่ที่นำเสนอ จะทำให้อัตราค่าบริการเฉลี่ยถูกลง แต่ทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยไม่ยินยอมและอาจไม่มีความจำเป็น อีกทั้งค่าโทรส่วนเกินยังสูงถึง 1.50 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการเฉพาะที่กำหนดขึ้น ที่ระบุว่า การกำหนดอัตราตามตันทุนเฉลี่ยรายบริการ (Average cost pricing) ให้นำไปใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการรายการส่งเสริมการขายแบบร่วมบริการ (Bundle package) ด้วย
การนำเสนอรายการส่งเสริมการขายในลักษณะเปลี่ยนโปรโมชั่นอัตโนมัติ หากไม่กดยกเลิกนี้ ยังขัดกับประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ข้อ 18 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตคงบริการตามรายการส่งเสริมการขายเดิมต่อไปเป็นลำดับแรกเมื่อสิ้นสุดใช้งาน หากไม่มีรายการส่งเสริมการขายดิม ให้เปลี่ยนไปให้บริการรายการส่งเสริมการขาย
และพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ตามข้อ 5 (2) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ เนื่องจากเนการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการโทรคมนาคมโดยผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการนั้น หรือเป็นเหตุให้ผู้บริโภคต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้น
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาภายใน 15 วัน และสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และหากเพิกเฉยให้มีคำสั่งปรับทางปกครองในอัตราสูงสุด ตามที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นถือได้ว่าสำนักงาน กสทช. ละเลยต่อปัญหาของผู้บริโภคและละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หนังสือร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงวันที่ 22 ธ.ค.2566 ระบุ