‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ ยื่นหนังสือ ‘กมธ.ป.ป.ช.’ ขอให้ตรวจสอบการประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ หลัง ‘กปน.’ ไม่ประกาศผลการคัดเลือกฯ
..................................
เมื่อวันที่ 8 มิ.น. นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ของการประปานครหลวง (กปน.)
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องด้วยการประปานครหลวง (กปน.) ได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
และแจ้งเหตุผลที่ไม่ผ่านการพิจารณาเพียงแค่ว่า “บริษัทมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคา ข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11” เท่านั้น ไม่ปรากฎรายละเอียดและไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายให้บริษัทเข้าใจได้โดยชัดเจนว่า บริษัทขาดคุณสมบัติอย่างไร และใช้เหตุผลอย่างไรในการพิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคา
ทั้งที่ บริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 6,150 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 376.97 ล้านบาท อีกทั้งราคายังต่ำกว่าผู้ยื่นเสนอราคารายอื่นๆทั้งหมด เป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯนั้น
ต่อมา กปน. ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ได้พิจารณาข้ออุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้ว ปรากฎว่า การอุทธรณ์ของบริษัทฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเห็นว่าข้อเสนอของบริษัทฯ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11
จึงให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 นอกจากนี้ มาตรา 119 วรรคสาม ยังกำหนดให้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ดังนั้น กปน. จึงมีหน้าที่เพียงพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น และเมื่อนับจากวันที่ 21 เมษายน 2565 ซึ่ง กปน. ได้ทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลางจนถึงปัจจุบัน กปน. ยังมิได้ประกาศผลการเสนอราคา ทั้งที่การพิจารณาราคาซึ่งมีตัวเลขชัดเจนไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเนิ่นนานขนาดนี้
อีกทั้ง กปน ยังได้มีหนังสือถึงบริษัทฯ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยอ้างว่า มีประเด็นข้อมูลบางรายการที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งที่ข้อเท็จจริง กปน. ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ และข้อเสนอทางเทคนิคที่บริษัทยื่นเสร็จสิ้นและผ่านข้อกำหนดทั้งหมดแล้ว โดย กปน. ไม่ได้ท้วงติงในประเด็น “ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องและครบถ้วน” และ “ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคไม่เป็นไปตามที่ประกาศ” แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้าง กปน. ได้กำหนดไว้ในข้อ 6 หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณา ประกอบกับข้อ 3.2 ส่วนที่ 2 (1) - (3) เอกสารทั้งหมด ที่ได้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการตรวจสอบพร้อมกัน จึงเป็นการยืนยันว่า กปน. ได้ตรวจสอบเอกสารและข้อเสนอทางเทคนิคจนครบถ้วนแล้ว การขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมอีก ย่อมไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางที่สั่งให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องเท่านั้น
ดังนั้น กรณีที่ กปน. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง อาจมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็น บทกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบกับความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทำให้หน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ กปน. มิได้จัดจ้างผู้เสนอราคารายต่ำสุด เป็นผลทำให้รัฐต้องเสียเงินแผ่นดินสูงกว่าที่ควรจะเป็น เกินกว่าสามร้อยล้านบาท
“ในการนี้ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและได้รับความเสียหายจากการที่ กปน. ประวิงเวลาในการดำเนินการพิจารณาผลการเสนอราคา ทั้งที่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลางได้พิจารณาข้ออุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้วว่า การอุทธรณ์ของบริษัทฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ แต่จนถึงบัดนี้ กปน. ยังมิได้ประกาศผลการเสนอราคา
บริษัทฯ จึงขอร้องเรียนมายังท่านเพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันพร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของ กปน. ตามที่ได้กราบเรียนมาในข้างต้น” หนังสือของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุ
อ่านประกอบ :
‘กปน.’ แจ้งผลอุทธรณ์ฯ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ’ มีคุณสมบัติร่วมประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อาจใช้สิทธิ์ตามกม.! 'วงษ์สยามฯ'จี้'กปน.' เร่งทบทวนผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
ส่อผิดกม.จัดซื้อ! 'เรืองไกร'ยื่น'ป.ป.ช.'สอบ‘บอร์ดพิจารณาประมูลฯ'โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
โชว์เอกสารโต้! กปน.ชี้‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’วินิจฉัยผิดพลาด ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
'อิตาเลียนไทย'จ่อยื่นสอบ'บอร์ดอุทธรณ์ฯ'ใช้ดุลพินิจไม่สุจริต กรณีประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.
ใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง! ‘อนุทิน’ จี้ ‘กมธ.’ สอบ ‘กปน.’ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล้าน
กลับไปทำให้ถูกต้อง! ‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’ แจ้ง ‘กปน.’ ทบทวนผลประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
ตัดสิทธิเอื้อบางราย? ย้อนปมประมูลขยายโรงงานน้ำ 6.5 พันล. ก่อนเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.