“…หาก กปน.จะหยิบยกเรื่องการรวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย มาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ก็ย่อมเป็นการผิดแผกไปจากเนื้อความแห่งประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เพราะถือเป็นการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย…”
..............................
เป็นอีก 1 โครงการที่ต้องจับตามอง
เมื่อ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นหนังสือ ‘ขออุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้าง’ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
หลัง บมจ.ซิโน-ไทยฯ และวงษ์สยามก่อสร้าง ‘แพ้ฟาล์ว’ ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูล เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ เห็นว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท (อ่านประกอบ : 'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.)
@ ‘2 บริษัท’ เสนอราคาต่ำกว่า ‘ผู้ชนะ’ แต่ถูกตัดสิทธิร่วมประมูล
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 การประปานครหลวง (กปน.) ออกประกาศ เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท
เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอ (e-bidding) ในวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ผลปรากฏว่า บริษัทฯที่เสนอราคาต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคา 6,150 ล้านบาท
อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท
อันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท
แต่ปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจาก กปน. แจ้งว่า วงษ์สยามก่อสร้าง มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เพราะ “มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11”
ขณะที่ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ซึ่งถูกตัดสิทธิจากการเข้าร่วมประมูลด้วย นั้น กปน. แจ้งว่า บมจ.ซิโน-ไทยฯ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เนื่องจาก “ผลงานก่อสร้างที่ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถูกตีความว่ามีขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน”
ส่งผลให้ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ซึ่งเสนอราคามาเป็นอันดับ 3 ที่ 6,460 ล้านบาท ชนะการประมูล จากนั้น กปน. เจรจาต่อรองราคากับ ITA Consortium และลดราคาจ้างลงมาเหลือ 6,400 ล้านบาท ก่อนจะประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565
@ ‘ซิโน-ไทยฯ’ โต้แย้ง 4 ประเด็น กรณีถูก ‘ตีความ’ ขาดคุณสมบัติ
แต่ทว่าหลัง กปน. ประกาศผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ดังกล่าว แล้ว บมจ.ซิโน-ไทยฯ ได้ยื่นหนังสือขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ฉบับลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ถึง ผู้ว่าการ กปน. โดย บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยืนยันว่า บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วน
“การวินิจฉัยว่าบริษัทฯ ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกาดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการตัดสิทธิบริษัทไม่ให้เข้าประกาดราคาได้ ซึ่งไม่ได้จัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยอย่างเพียงพอเนื่องจากยังขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
และไม่มีข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจว่า เหตุใดผลงานก่อสร้างที่บริษัท ใช้ยื่นประกอบการประกวดราคาถึงถูกตีความว่ามีขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือวงเงินน้อยกว่า 300 ล้านบาท ตรงไหน อย่างไร” หนังสือขออุทธรณ์ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
หนังสือขออุทธรณ์ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยังมี ‘ข้อโต้แย้ง’ ใน 4 ประเด็น กรณีที่ กปน. ตัดสิทธิ บมจ.ซิโน-ไทยฯ จากการเข้าร่วมประมูล โดยอ้างเหตุผลว่า ผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำขนาด 100,000 ลบ.ม./วัน นั้น หมายถึงกำลังผลิตน้ำสุทธิ ซึ่งไม่นำปริมาณน้ำสูญเสียมารวมด้วย ทำให้ผลงานก่อสร้างที่ บมจ.ซิโน-ไทยฯ นำมายื่นนั้น ไม่เป็นไปตาม ซึ่งประกอบด้วย
ประเด็นแรก ตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ถูกอ้างถึง และถูกถือเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ได้มีการกำหนดไว้ถึงเรื่องการ “รวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย” ไว้ด้วยแต่ประการใด
หาก กปน.จะหยิบยกเรื่องการรวมหรือไม่รวมปริมาณน้ำสูญเสีย มาเป็นข้อจำกัดเพิ่มเติมขึ้นอีก เพื่อตีความคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ก็ย่อมเป็นการผิดแผกไปจากเนื้อความแห่งประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 เพราะถือเป็นการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้ตั้งแต่แรก เพื่อหวังจะตัดสิทธิผู้เข้าประกาดราคาบางราย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สอง การนำ “กำลังการผลิตสุทธิที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตร” อันเป็นความต้องการของงานที่จะจัดจ้าง มาตีความ “ผลงาน 100,000 ลูกนาศก์เมตรต่อวัน” ที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถือเป็นการหลงประเด็น จากการนำสเปคงานที่ต้องการจัดจ้างในอนาคตของตนเอง มาปะปนกับคุณสมบัติทางด้านประสบการณ์ที่ตนเองตั้งเงื่อนไขไว้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามประกาศประกาดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 กำหนดไว้แต่เพียงว่า “มีผลงานก่อสร้าง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน”
ประเด็นพิจารณาในที่นี้ จึงต้องดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยไม่นำลักษณะความต้องการของผลงานที่จะจัดจ้างมาปะปนกัน การใช้ความต้องการในอุนาคตของตนเองมาตีความผลงานที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติเช่นนี้ จึงไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเนื้องต้นในเอกสารประกาดราคา เล่ม 3/8 ที่กำหนดเพียงว่า “ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน” เช่นกัน
(ที่ตั้งโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ที่มา การประปานครหลวง)
ประเด็นที่สาม หลังจากรับทราบคำกล่าวอ้างของ กปน. ที่อ้างว่ามีหนังสือจากเทศบาลนครนครราชสีมามาชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ไว้ บริษัทฯ ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเทศบาลนครนครราชสีมา มีหนังสือแจ้งข้อมูลเรื่องนี้ไว้ 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองฉบับมีเนื้อความไปในทางสนับสนุน ว่า
ผลงานก่อสร้างโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ที่ถูกนำมาใช้ยื่นเป็นประสบการณ์มีความสอดคล้องกับประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 แล้ว
กล่าวคือ หนังสือชี้แจงข้อมูลจากเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/418 ลงวันที่ 19 ม.ค.2565 ชี้แจงว่าเป็นปริมาณซึ่ง “มีกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วยตามข้อกำหนดไว้ในสัญญา” อันหมายความว่า หลังจากผ่านการคิดคำนวณเรื่องน้ำสูญเสียเสร็จแล้ว ปริมาณการผลิตจริงที่ทำได้ ก็ยังเป็น 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันตามหนังสือรันรองผลงานก่อสร้างที่ออกให้
และหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากเทศนาลนครนครราชสีมา ที่ นม 52005/550 ลงวันที่ 26 ม.ค.2565 ก็ได้แจกแจงเพิ่มเติมว่า “ไม่ปรากฏข้อมูลว่าขนาดกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม เป็นขนาดกำลังการผลิตน้ำประปาที่จ่ายออกจวกโรงงานผลิตน้ำประปาหรือกำลังการผลิตน้ำที่รวมปริมาณน้ำสูญเสียไว้ด้วย”
ซึ่งหมายความว่า หากจะวัดกันโดยลงไปดูรายละเอียดถึงหน่วยชั่วโมงตามสัญญา จะสามารถทำได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (มาจาก 4,400 x 24) และตามสัญญาก็ไม่ได้บอกด้วยว่ามีปริมาณน้ำสูญเสียแต่อย่างใด
กปน. ซึ่งมิใช่เจ้าของโครงการงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคนริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา จึงไม่มีอำนาจบิดเบือนข้อความในเอกสารราชการ หรืออนุมานเอาเองว่า โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมาที่ถูกใช้ยื่นเป็นคุณสมบัตินี้ มีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นเท่าใด
และไม่ว่าจะมีปริมาณน้ำสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องรับฟังว่า ผลงานก่อสร้างโครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา สามารถทำกำลังผลิตได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตามหนังสือรับรองผลงาน มิฉะนั้น ก็จะเป็นการตีความที่ผิดแผกไปจากเอกสารโดยสิ้นเชิง
ประเด็นที่สี่ ที่ กปน. อ้างว่า ในชั้นออกแบบ ถูกออกแนบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง (96,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) เป็นการรับฟังจากเอกสารที่เก่าเก็บ ล้าสมัย เนื่องจากถูกทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2542 และเป็นเอกสารระหว่างผู้ออกแบบกับกรมโยธาธิการ จึงไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างตามโครงการที่บริษัทฯ ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ
โดยโครงการจากเทศบาลนครนครราชสีมานี้ ได้ถูกนำมาทำสัญญาจัดจ้างในปี พ.ศ.2550 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2559 คิดเป็นระยะเวลาห่างจากขั้นตอนออกแบบถึง 17 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบบก่อสร้างจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีปริมาณการผลิตมากขึ้น ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้ทำงานอย่างถูกต้องตามสัญญา จนงานมีกำลังการผลิตน้ำประปา 4,400 ลบ.ม./ชม. แล้ว ถึงผ่านการตรวจรับงานแล้วเสร็จมาได้
กปน.จึงต้องรับฟังจากหนังสือรับรองผลงานก่อสร้างของเทศบาลนครนครราชสีมาและเอกสารมาตรฐานการก่อสร้างเล่ม 1/2 โครงการของเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเอกสารจากหน่วยงานของรัฐที่ใหม่กว่า และถูกจัดทำขึ้นภายหลังขั้นตอนการออกแบบแล้วเสร็จ โดยเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้ตรวจรับงานก่อสร้างได้จัดทำขึ้นเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ผู้ออกแบบ (บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด) ในโครงการที่บริษัทฯใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ก็มีการนำเสนอผลงานอยู่บนเว็บไซต์ http://progress.co.th/html.th.MWTP/references_30WTP.html ของตนเอง โดยระบุว่า “ระบบผลิตบ้านใหม่หนองบอน : ระบบกรองเร็ว ขนาดกำลังผลิต 4,4000 ลบ.ม./ชม.”
แสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าว.ผ่านการปรับปรุงแก้ไขแบบใหม่ เพื่อให้ผลงานก่อสร้างมีความสามารถในการผลิตน้ำมากขึ้นกว่าแบบในช่วงปี พ.ศ. 2542 แล้ว อันส่งผลให้ผลงานที่สร้างแล้วเสร็จและส่งมอบแก่เทศนาลนครนครราชสีมา สามารถทำการผลิตน้ำประปาได้ถึง 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว หากการประปานครหลวง ยังคงดึงดันจะรับฟังว่า ผลงานนี้ผลิตน้ำประปาได้ไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะขัดแย้งกับบรรดาเอกสารทั้งปวงที่บริษัทฯ ได้นำเสนอให้ท่านได้พิจารณามา ณ ที่นี้ และเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“บริษัทฯ จำต้องขออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าว ขอท่านโปรดดำเนินการพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณากลับมายังบริษัทฯ ด้วย” หนังสือขออุทธรณ์ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
@ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ขอให้ 'กปน.' ทบทวนผลการประมูล
ขณะที่ หนังสือขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ฉบับลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ยืนยันว่า บริษัทฯ มีคุณสมบัติตามที่ประกาศประกวดราคาจ้างฯ ของ กปน. จากผลงานการก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีขนาดตั้งแต่ 500-5,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
และผลงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นผลงานประเภทเดียวกันกับผลงานที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 ตามข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในหนังสือรับรอง
“บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยืนยันว่า บริษัทฯมีผลงานครบถ้วน เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา” หนังสือขออุทธรณ์ฯ ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
หนังสือขออุทธรณ์ฯ ของ วงษ์สยามก่อสร้าง ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด กปน. จึงไม่เปิดโอกาสให้บริษัทฯได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของบริษัทฯ
พร้อมทั้งระบุว่า “ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน”
“กปน.ได้ประกาศการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลางของงานก่อสร้างประกวดราคาครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 6,526,973,718.58 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
มีผู้ซื้อเอกสาร จำนวน 9 ราย และมีผู้เสนอราคา จำนวน 5 ราย โดยบริษัทฯ เป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 6,150,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเป็นเงินจำนวน 376,973,718.58 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งผู้ได้รับการพิจารณาจาก กปน. ให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา เสนอราคาเป็นเงินจำนวน 6,460,560,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สูงกว่าราคาที่บริษัทเสนอเป็นเงินจำนวน 310,560,000 บาท
เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ จึงขอให้ กปน. พิจารณาให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง
อาศัยเหตุดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้น บริษัทฯ ใคร่ขอความกรุณาจากท่าน ขอโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบข้ออุทธรณ์ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขของรัฐ อย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ เพื่อรักษากติกาของสังคม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานของรัฐ” หนังสือขออุทธรณ์ฯ ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ติดต่อไปยัง กวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. เพื่อขอทราบเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่บริษัทเอกชน 2 ราย ยื่นขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงแต่อย่างใด โดยเลขาฯของ ผู้ว่าการ กปน. ซึ่งรับเรื่องไว้ ระบุว่า จะติดต่อกลับ
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กปน. จะรับพิจารณาคำขออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ วงษ์สยามก่อสร้าง หรือไม่ อย่างไร และหาก กปน. ยังยืนยันตามเดิมว่า ทั้ง 2 บริษัท ขาดคุณสมบัติ ก็จะมีการส่งเรื่องไปให้ ‘คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์’ กรมบัญชีกลาง เป็นผู้ชี้ขาด ต่อไป
อ่านประกอบ :
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.