‘วงษ์สยามก่อสร้างฯ’ ส่งหนังสือถึง ‘กปน.’ ขอให้เร่งรัดประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลโรงงานผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์ฯ’ พร้อมแจง 3 ปม คัดค้าน ‘ล้มประมูล’ โครงการฯ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทำหนังสือถึงนายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) โดยขอให้ กปน.เร่งรัดพิจารณาให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ และลงนามสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ
พร้อมกันนั้น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยังระบุว่า หาก กปน. ไม่พิจารณาผลการเสนอราคาเพื่อรักษาประโยชน์ของภาครัฐและสุขภาพของประชาชน บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของ กปน. จำเป็นต้องใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดกับ กปน. ตลอดจน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและความเป็นธรรมแก่สังคม
“หาก กปน. ไม่พิจารณาผลการเสนอราคาเพื่อรักษาประโยชน์ของภาครัฐและสุขภาพของประชาชนดังที่กล่าวในข้างต้น บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของ กปน. จำเป็นต้องใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดกับ กปน. ตลอดจน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและความเป็นธรรมแก่สังคม มิให้เกิดการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร ทำลายกฎเกณฑ์ของสังคม และระบบกฎหมายต่อไป” หนังสือของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
สำหรับหนังสือของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า เนื่องด้วย บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ทราบข่าวผ่านสื่อว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 การประปานครหลวง (กปน.) ได้ทำหนังสือหารือกับกรมบัญชีกลางว่า กปน. สามารถยกเลิกการประมูลงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ได้หรือไม่ โดยอ้างว่าประกาศประกวดราคางานจ้างฯ ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการยื่นข้อเสนออย่างครบถ้วน
และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 กปน. ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิกการประมูลงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ อีกด้วย นั้น
ในการนี้ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและได้รับความเสียหายจากการที่ กปน. ประวิงเวลาในการดำเนินการพิจารณาผลการเสนอราคาให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง และเห็นว่า การที่ กปน. ประวิงเวลานี้ จะเป็นผลทำให้โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ต้องล่าช้าออกไปไม่เป็นไปตามระยะเวลาดำเนินการที่มติคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ไว้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559
และไม่เป็นไปตามแผนงานโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ที่ กปน. ทบทวนล่าสุด โดยกำหนดให้งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 อีกทั้งความล่าช้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออก
เนื่องจากโครงการฯเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำดิบจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้อยคุณภาพ (มีความเค็มสูง) สำหรับผลิตน้ำประปาโดยการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามาทดแทนเพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนแก่ระบบประปา ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีข้อคัดค้านประเด็นต่างๆ ที่ กปน. ขอหารือกรมบัญชีกลาง ดังต่อไปนี้
1.ประเด็นข้อหารือตามหนังสือการประปานครหลวง ที่ มท 5450-3-1.2/17914 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2565
1.1 ในการยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ยื่นเอกสารภาคผนวก ‘ฉ’ แผนงานการก่อสร้าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารสัญญา เพื่อให้การประปานครหลวงมั่นใจว่า ผู้ยื่นข้อเสนอมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของงานก่อสร้าง มีการวางแผนงานก่อสร้างที่ดี ถูกต้อง สัมพันธ์กันทั้งระบบ เพื่อให้งานก่อสร้างระบบผลิตน้ำแล้วเสร็จได้ตามกำหนดเวลา กรณีนี้ กปน. จะสามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นได้หรือไม่
บริษัทฯ มีข้อคัดค้านประเด็นนี้ กล่าวคือ
(1) กปน. ไม่ได้ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องยื่นภาคผนวก ‘ฉ’ มาพร้อมกับการเสนอราคา โดยปรากฎในเอกสารประกวดราคา หน้าที่ 4 และ 5 ‘ข้อ 3 หลักฐานการยื่นข้อเสนอ’ กำหนดไว้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเสนอเอกสารหลักฐานยื่นมาพร้อมกับการเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ โดยแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งทั้งสองส่วนดังกล่าวกำหนดว่า อย่างน้อยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเอกสารใดบ้างผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเอกสารภาคผนวกที่ กปน. กำหนดให้ต้องยื่นมาพร้อม การเสนอราคามีเพียง ภาคผนวก ‘ค’ ‘ง’ และ ‘ช’ เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดให้ต้องยื่นภาคผนวก ‘ฉ’ เอาไว้แต่อย่างใด
ดังนั้น แม้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะไม่ได้ยื่นเอกสารภาคผนวก ‘ฉ’ ย่อมถือว่าได้ทำตามข้อกำหนดถูกต้องเพียงพอแล้ว และ กปน. ย่อมทราบดีอยู่แต่แรกว่า ไม่สามารถพิจารณาตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นได้
(2) ข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ ในคราวที่ กปน. ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคา กปน. ไม่เคยทักท้วง หรือหยิบยกประเด็นการยื่นภาคผนวก ‘ฉ’ มาขอหารือกรมบัญชีกลาง และ กปน. แจ้งมายังบริษัทฯ และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทฯ และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ ได้มีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของบริษัททั้งสองฟังขึ้นและให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอน การพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอใหม่ให้ถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นจนที่ประจักษ์ได้ว่า กปน. ได้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายแล้วจนมั่นใจ จึงประกาศผู้ชนะการเสนอราคา
เพียงแต่ผลของการอุทธรณ์เป็นผลให้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กปน. ต้องออกประกาศเพื่อยกเลิกประกาศผู้ชนะการเสนอราคาดังกล่าว และการที่ กปน. ทำหนังสือหารือกรมบัญชีกลางเพื่อท้วงติงประเด็นการยื่นภาคผนวก ‘ฉ’ ดังกล่าวขึ้นมาทั้งที่ไม่มีเหตุอันควรจะอ้างได้นี้ จึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด กปน. จึงได้กระทำการขัดกับการดำเนินการที่ผ่านมา และส่อไปในทางที่อาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางรายเช่นนี้
(3) บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯได้ยื่นข้อเสนอโดยมีเอกสารหลักฐานพร้อมกับการเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบถ้วนตามข้อกำหนดของ กปน. ดังจะเห็นได้จากการที่ กปน. ได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวมายังบริษัท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับการคัดเลือกเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน และแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมที่ไม่ผ่านการพิจารณาเฉพาะประเด็นว่า
‘บริษัทฯ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ข้อ 2.11’ ซึ่งเกี่ยวกับประสบการณ์และผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอเท่านั้น
ส่วนเรื่องประเด็น ‘ยื่นเอกสารไม่ถูกต้องและครบถ้วน’ และ ‘ยื่นข้อเสนอทางเทคนิคไม่เป็นไปตามที่ประกาศ’ ในแบบแจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างนั้น กปน. ไม่ได้ท้วงติง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์เอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ข้อ 3.2 ส่วนที่ 2 (1)-(3) และข้อ 6 หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณา กำหนดไว้โดยชัดเจนว่า เอกสารทั้งหมดที่ได้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการตรวจสอบพร้อมกัน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ก่อนหน้านี้ กปน. ได้แจ้งผลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวมายังบริษัทฯ ครั้งหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันว่า กปน. ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารต่างๆ และข้อเสนอทางเทคนิคที่บริษัทฯ ยื่นเสร็จสิ้นและผ่านข้อกำหนดทั้งหมดแล้วเช่นกัน
ดังนั้น การที่ กปน.หารือไปยังกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับการยกเลิกการประมูลและการตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น กปน. ได้เคยพิจารณาเอกสารทั้งหมดจนได้ผลการประกวดราคาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 มาแล้ว จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับการดำเนินการของ กปน. ที่ผ่านมาทุกประการ
1.2 เนื่องจาก กปน. ได้คืนหลักประกันการเสนอราคาให้ผู้อุทธรณ์ที่ฟังขึ้นทั้งสองราย ทางระบบ e-GP ไปแล้ว กรณีนี้ กปน. ต้องแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้งสองรายที่อุทธรณ์ฟังขึ้นนำหลักประกันการเสนอราคามาวางไว้เพื่อประกันความเสียหายตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 166 หรือไม่ และหากต้องนำหลักประกันการเสนอราคามาวางใหม่ ควรกำหนดให้หลักประกันการเสนอราคามีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันยื่นข้อเสนอ หรือให้นับต่อจากวันที่ได้มีการคืนหลักประกันการเสนอราคา
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า ประเด็นนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องและมีความพร้อมที่จะลงนามสัญญาได้ทันทีมาโดยตลอด ก่อนที่ กปน. จะทำหนังสือหารือกรมบัญชีกลาง กล่าวคือ
(1) บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึง กปน. และส่งสำเนาเรียนธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ว่า บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะไม่ขอรับคืนหลักประกันการเสนอราคาดังกล่าว จนกว่าการพิจารณาอุทธรณ์และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ และต่อมา กปน. ได้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้ามายังบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ว่า รับทราบเรื่องที่บริษัทฯ ไม่ขอรับคืนหลักประกันการเสนอราคาดังกล่าว
(2) บริษัทฯ ได้มีหนังสือถึง กปน. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เพื่อติดตามความคืบหน้า ในการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ และแจ้งให้ กปน. ทราบ ในคราวเดียวกันว่า บริษัทฯ ขอขยายกำหนดเวลายืนราคาของการเสนอราคาออกไปอีก 150 วัน นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 หรือจนกว่าการพิจารณาอุทธรณ์และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะเสร็จสิ้น
1.3 กรณีที่หน่วยงานได้ประกาศประกวดราคาและได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาและมีผู้อุทธรณ์โดยมีผลอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ต่อมาหน่วยงานได้ตรวจพบว่า ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข ข้อ 3 หลักฐานการยื่นข้อเสนอให้ครบถ้วน และกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความจนผิดหลักการทางวิศวกรรม และวัตถุประสงค์ในการจ้าง หรือพบข้อกำหนดผิดพลาดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอื่นๆ การประปานครหลวงจะพิจารณายกเลิกการจัดจ้างโดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 ได้หรือไม่
บริษัทฯ มีข้อคัดค้านประเด็นนี้ กล่าวคือ
(1) เมื่อตีความตามเจตนารมณ์ของข้อ 53 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 นี้ ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการซื้อหรือจ้างใหม่ให้ถูกต้องได้เฉพาะในกรณีที่ยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
‘ข้อ 53 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใด หากหน่วยงานของรัฐได้กำหนดรายละเอียดของประกาศหรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ว่าทั้งหมดหรือเเต่บางส่วน ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการซื้อหรือจ้างในครั้งนั้น แล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องต่อไป’
(2) การที่ กปน. ได้ประกาศประกวดราคาและได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาเป็นที่สำเร็จแล้ว ถือได้ว่า กปน. ได้ยอมรับว่าการเผยแพร่ประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถูกต้อง ครบถ้วน และถือเป็นที่ยุติแล้ว กปน. จึงไม่สามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 ได้ โดยเมื่อพิจารณาประกอบกับ มาตรา 119 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด กปน. จึงมีหน้าที่เพียงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น
ข้อหารือของ กปน. เพื่อหาแนวทางการยกเลิกการประมูลงานจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ภายหลังจากที่ดำเนินกระบวนการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 ดังที่กล่าวมาในข้างต้น
และบริษัทฯ เห็นว่า กรมบัญชีกลางย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้หน่วยงานของรัฐสามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามอำเภอใจ เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้หน่วยงานอื่นเอาเยี่ยงอย่างเพื่ออาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนได้ รวมทั้งอาจกระทบต่อภาพรวมการจัดซื้อจัดจ้างของทั้งประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
2.ประเด็นข้อหารือตามหนังสือการประปานครหลวง ที่ มท 5450-3-1.2/18362 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2565
2.1 เพื่อมิให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการบริหารสัญญาภายหลัง เป็นการป้องกันความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ และรักษาประโยชน์สาธารณะ หากการประปานครหลวงจะพิจารณายกเลิกการจัดจ้างในครั้งนี้ โดยอาศัยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 และมาตรา 67 (3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่
และการยกเลิกการจัดจ้างดังกล่าว จะขัดกับมาตรา 119 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และจะเป็นการไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่ อย่างไร
บริษัทฯ มีข้อคัดค้านประเด็นนี้ กล่าวคือ
ข้อหารือของ กปน. ดังกล่าวข้างต้น เป็นความพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ซึ่งแต่เดิมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ ได้พิจารณาข้ออุทธรณ์ของบริษัทฯ แล้วว่า การอุทธรณ์ของบริษัทฯ ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ และให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอ ให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
เมื่อพิจารณาประกอบกับ มาตรา 119 วรรคสาม ที่กำหนดให้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนั้น กปน. จึงมีหน้าที่เพียงพิจารณาผลการเสนอราคาเท่านั้น โดยจะต้องพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคา เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยบริษัทฯ เสนอราคา เป็นเงิน 6,150,000,000.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเป็นเงินจำนวน 376,973,718.58 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และต่ำกว่าผู้เสนอราคารายอื่นทั้งหมด
ทั้งนี้ หาก กปน. ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนฯ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ กปน. มิได้จัดจ้างผู้เสนอราคารายต่ำสุด เป็นผลทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณแผ่นดินสูงกว่าที่ควรจะเป็นกว่าสี่ร้อยล้านบาท
2.2 หากผู้ยื่นข้อเสนอไม่ขยายระยะเวลาการยืนราคาออกไป การประปานครหลวงจะสามารถตัดรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นออกจากการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ได้หรือไม่
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งแก่ กปน. ขอขยายกำหนดเวลายืนราคาของการเสนอราคาออกไปอีก 150 วัน นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2565 หรือจนกว่าการพิจารณาอุทธรณ์ และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะเสร็จสิ้น
3.ผลกระทบต่อโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9
การประวิงเวลาของ กปน. ส่งผลทำให้โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ต้องล่าช้าออกไป ไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่มติคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ เนื่องจาก งานก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นการดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ของ กปน. ตามข้อเท็จจริงดังนี้
3.1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอโครงการฯ ภายใต้กรอบวงเงินลงทุนรวม 42,750 ล้านบาท เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยโครงการฯ ดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความมั่นคง เพียงพอ และความมีเสถียรภาพในโครงสร้างพื้นฐานของระบบประปาพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ให้สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย รองรับกับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น
สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลและการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในด้านการพัฒนาศักยภาพการให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่มีมาตรฐานสากลครอบคลุมทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบท โดยสาระสำคัญของโครงการฯ มีขอบเขตงานครอบคลุมระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำ ระบบสูบส่งน้ำ และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 – 2565
3.2 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบกับโครงการฯ และเห็นว่า โครงการฯ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในด้านความมั่นคงต่อระบบผลิตประปาของ กปน. เนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงน้ำดิบฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งจะสามารถทดแทนปริมาณน้ำดิบฝั่งตะวันออกที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูงในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
3.3 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาและมีมติเห็นชอบโครงการฯ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้ กปน. ปรับระยะเวลาของโครงการฯ ให้สอดคล้องกับการดำเนินการจริงที่จะสามารถเริ่มได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยและการประปานครหลวงรับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
ดังนั้น การที่ กปน.ประวิงเวลาไม่เร่งดำเนินการเพื่อพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้อง เป็นผลทำให้โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ต้องล่าช้าออกไป ไม่เป็นไปตามระยะเวลาดำเนินการที่มติ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ และไม่เป็นไปตามแผนงานโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 9 ที่ กปน. ทบทวนล่าสุด
โดยกำหนดให้งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 และแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยจากกำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2564 มาแล้วกว่า 15 เดือน และคาดว่ากำหนดแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ จะล่าช้ากว่ากำหนดระยะเวลาที่ ครม.เห็นชอบไว้แล้วกว่า 3-4 ปี
ทั้งนี้ ความล่าช้าดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการอุปโภคบริโภคในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง
ดังจะเห็นได้จากข้อมูลอ้างอิงจากหน้าเว็บไซต์ของ กปน. ว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นายนิพนธ์ บุญญามนี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 1/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในการนี้ ได้มีการสั่งการไปยังผู้ว่า กปน. ให้เตรียมการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
โดยให้มีการบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ให้ระมัดระวังในขั้นตอนการสูบน้ำดิบที่มีความเค็มสูงเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน และธนบุรี ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อการให้บริการน้ำประปาแก่พี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการรวมถึงพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และนอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ผู้ว่า กปน. ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทานในการนำน้ำดิบจากฝั่งตะวันตกมาเพิ่ม ในการทำน้ำประปาในช่วงหน้าแล้งนี้
จากผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนดังที่กล่าวมาแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ กปน. จะต้องเร่งดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ให้แล้วเสร็จ โดยด่วน เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ที่คาดว่าจะได้รับ คือ การที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ กปน. ได้ โดยสามารถลดผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำดิบจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้คุณภาพ สำหรับการผลิตน้ำประปา
โดยการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามาทดแทนเพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนแก่ระบบประปา และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประปาทั้งระบบให้มีความเพียงพอ และมีคุณภาพ มั่นคง และสร้างความยั่งยืนแก่โครงสร้างพื้นฐานระบบของ กปน. มากยิ่งขึ้น
เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รับบริการ และที่ผ่านมา การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3-5 เดือน นับจากวันยื่นข้อเสนอด้านราคา แต่สำหรับโครงการนี้ใช้ระยะเวลามาแล้วกว่า 7-8 เดือน จึงเป็นกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่จะขอให้ กปน. เร่งรัดพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ และลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัทฯ โดยเร็วต่อไป
อนึ่ง หาก กปน. ไม่พิจารณาผลการเสนอราคาเพื่อรักษาประโยชน์ของภาครัฐและสุขภาพของประชาชนดังที่กล่าวในข้างต้น บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของ กปน. จำเป็นต้องใช้สิทธิดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดกับ กปน. ตลอดจน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและความเป็นธรรมแก่สังคม มิให้เกิดการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร ทำลายกฎเกณฑ์ของสังคม และระบบกฎหมายต่อไป
อ่านประกอบ :
อ้างทีโออาร์บกพร่อง! ‘กปน.’ หาทางล้มประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน
‘วงษ์สยามฯ’ร้อง‘กมธ.ป.ป.ช.’ สอบ‘กปน.’ ไม่ประกาศผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ 6 พันล.
‘กปน.’ แจ้งผลอุทธรณ์ฯ ‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ’ มีคุณสมบัติร่วมประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ฯ
อาจใช้สิทธิ์ตามกม.! 'วงษ์สยามฯ'จี้'กปน.' เร่งทบทวนผลประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
ส่อผิดกม.จัดซื้อ! 'เรืองไกร'ยื่น'ป.ป.ช.'สอบ‘บอร์ดพิจารณาประมูลฯ'โรงงานน้ำมหาสวัสดิ์
โชว์เอกสารโต้! กปน.ชี้‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’วินิจฉัยผิดพลาด ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
'อิตาเลียนไทย'จ่อยื่นสอบ'บอร์ดอุทธรณ์ฯ'ใช้ดุลพินิจไม่สุจริต กรณีประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.
ใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง! ‘อนุทิน’ จี้ ‘กมธ.’ สอบ ‘กปน.’ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล้าน
กลับไปทำให้ถูกต้อง! ‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’ แจ้ง ‘กปน.’ ทบทวนผลประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
ตัดสิทธิเอื้อบางราย? ย้อนปมประมูลขยายโรงงานน้ำ 6.5 พันล. ก่อนเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.