‘ซิโนไทย-วงษ์สยามก่อสร้าง’ ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิประมูลงานขยาย 'โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ' กปน. 6.5 พันล้าน เหตุไม่ผ่านคุณสมบัติ ยืนยันมี 'ผลงาน-คุณสมบัติ' ตรงตามประกาศ TOR
..............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 การประปานครหลวง (กปน.) ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยผู้เสนอราคาที่ชนะการประมูล ได้แก่ ITA Consortium ซึ่งเสนอราคา 6,400 ล้านบาท จากราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเข้าร่วมการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯดังกล่าว ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ต่อผู้ว่า กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง
เนื่องจากทั้ง บมจ.ซิโน-ไทยฯ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูล หลังจากได้ยื่นซองราคาไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 โดย คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ กปน. ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ซึ่งระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากผู้ว่า กปน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง ได้รับหนังสืออุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างแล้ว กปน.จะพิจารณาข้ออุทธรณ์ของทั้ง 2 บริษัท หาก กปน. เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ก็จะมีการพิจารณายกเลิกการตัดสิทธิเอกชนในการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ แต่หาก กปน. ยืนยันที่จะตัดสิทธิตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ จะมีการส่งอุทธรณ์ไปยังกรมบัญชีกลาง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาต่อไป
สำหรับหนังสืออุทธรณ์ฯของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ สรุปได้ว่า บริษัทฯ เป็นหนึ่งในเอกชนที่เข้าร่วมประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ แต่หลังจากบริษัทฯได้ยื่นข้อเสนอราคาแล้ว กปน.แจ้งว่า บริษัทฯ ไม่มีคุณสมบัติตาม TOR ข้อที่ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่าต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ทำให้ถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการประมูล
ทั้งๆที่ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ได้ยื่นผลงานประกอบการประกวดราคา คือ งานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศนาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 และจากหนังสือรับรองระบุชัดเจนว่า บริษัทฯมีงานติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเมื่อคำนวณมูลค่างานตามสัดส่วน 80% ในกิจการร่วมค้าออกมา ก็พบว่ามีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับ TOR
อย่างไรก็ตาม ต่อมา กปน.ได้เชิญบริษัทฯเข้าพบ แจ้งเหตุผลการตัดสิทธิไม่ให้บริษัทฯเข้าร่วมประมูลเพิ่มเติม ว่า ผลงานการติดตั้งระบบผลิตประปา ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ กปน.ได้ตั้งคุณสมบัติไว้นั้น หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิ ซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย พร้อมทั้งอ้างว่า ในชั้นออกแบบของงานโครงการเทศบาลนครนครราชสีมาดังกล่าวฯ ถูกออกแบบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกนาศก์เมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
“ภายหลังจากสิ้นสุดการยื่นข้อเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ การประปานครหลวงได้เชิญบริษัทฯ ให้เข้าพบในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุม 1208 อาคารศูนย์ฝึกอบรมกลาง และการประปานครหลวงได้แจ้งต่อบริษัทฯ ในวันนั้น ว่า ผลงาน 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่การประปานครหลวงได้ตั้งคุณสมบัติไว้ หมายถึงกำลังการผลิตสุทธิซึ่งไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย โดยเทียบกับงานที่เปิดประกวดจัดจ้างว่าจะมีกำลังการผลิตสุทธิที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตรเช่นกัน
และอ้างด้วยว่ามีเอกสารจากเทศบาลนครนครราชสีมาแจ้งต่อการประปานครหลวงว่า ผลงานขนาด 100,000ลูกบาศก์เมตรต่อวันในโครงการดังกล่าว เป็นผลงานที่ตัวเลขรวมปริมาณน้ำสูญเสียด้วย กับอ้างว่าในชั้นออกแบบของงานโครงการเทศบาลนครนครราชสีมาดังกล่าวกับกรมโยธาธิการ ถูกออกแบบให้ผลิตน้ำประปาได้ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ทำให้เข้าใจได้ว่า คำสั่งทางปกครองที่ตัดสิทธิของบริษัทฯ เกิดขึ้นจากข้ออ้างเรื่องนี้” หนังสืออุทธรณ์ฯของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
ขณะที่หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า บริษัทฯเป็นผู้ยื่นเสนอราคาประมูลฯต่ำสุดที่ 6,150 ล้านบาท ต่ำกว่า ITA Consortium ซึ่งเสนอราคาประมูลสูงกว่าบริษัทฯ 310.56 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า บริษัทฯไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจาก กปน. ระบุว่า บริษัทฯ ไม่มีคุณสมบัติตาม TOR ข้อที่ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่าต้องมีผลงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นผลงานก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 ลงวันที่ 11 เม.ย.2556 เป็นไปตามประกาศประกวดราคาข้อที่ 11 แต่กลับถูกคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมประมูล และคณะกรรมการฯไม่เคยเรียกบริษัทฯให้มาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม
“ในการประกวดราคาครั้งนี้ มีมูลเหตุอันควรสงสัยที่ กปน. ควรจะต้องเรียกเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องด้วยบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด การที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังในข้อดังกล่าว เป็นเหตุให้ กปน.เสียประโยชน์จากการที่ไม่ได้ผู้เสอนราคาต่ำสุด และมีคุณสมบัติครบถ้วน” หนังสืออุทธรณ์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ลงวันที่ 7 มี.ค.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า การประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ฯ ของ กปน. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกสารมายื่นเสนอราคา 5 ราย ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,150 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท และอันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท