‘เรืองไกร’ ยื่น ‘ป.ป.ช.’ สอบ 'คณะกรรมการพิจารณาผลประมูลฯ' โครงการขยายกำลังผลิตน้ำ ‘มหาสวัสดิ์’ 6.5 พันล้าน เข้าข่ายทำผิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯหรือไม่
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ การประปานครหลวง เข้าข่ายกระทำความผิดตามความใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 หรือไม่
สำหรับหนังสือของนายเรืองไกร สรุปได้ว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564 การประปานครหลวง (กปน.) ออกประกาศ เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธี ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท
เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอ (e-bidding) ในวันที่ 15 ธ.ค.2564 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ผลปรากฎว่า บริษัทฯที่เสนอราคาต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคา 6,150 ล้านบาท
อันดับ 2 บมจ.ซิโน-ไทยฯ เสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท
อันดับ 3 ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) เสนอราคา 6,460 ล้านบาท
แต่ปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการพิจารณ เนื่องจาก กปน. แจ้งว่า วงษ์สยามก่อสร้าง มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เพราะ “มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ตามที่กำหนดในประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11”
ขณะที่ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ซึ่งถูกตัดสิทธิจากการเข้าร่วมประมูลด้วย นั้น กปน. แจ้งว่า บมจ.ซิโน-ไทยฯ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เนื่องจาก “ผลงานก่อสร้างที่ใช้ยื่นเป็นคุณสมบัติ ถูกตีความว่ามีขนาดน้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน"
ส่งผลให้ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลือปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ซึ่งเสนอราคามาเป็นอันดับ 3 ที่ 6,460 ล้านบาท ชนะการประมูล จากนั้น กปน. เจรจาต่อรองราคากับ ITA Consortium และลดราคาจ้างลงมาเหลือ 6,400 ล้านบาท ก่อนจะประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565
ต่อมา บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบมจ.ซิโน-ไทยฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน โดยผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ ระบุว่า “กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย จึงยื่นข้อเสนอเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 แล้ว ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 รายฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ จึงให้การประปานครหลวงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป"
ย่อมแปลความได้ว่า การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถูกต้องตาม TOR ข้อ 2.11 และอาจทำให้ฐต้องเสียเงินแผ่นดินสูงไปกว่าที่ควร ประมาณ 250 ล้านบาท (6400 - 6150 = 250) กรณี จึงมีมูลเหตุที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามความใน พรป.ปปช. มาตรา 28 (2) ต่อไป
นอกจากนี้ กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ได้ให้การประปานครหลวงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ แล้วระบุว่า ไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นที่ควรพิจารณาตามมาว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ เป็นเจ้าหน้าที่ ตามนัยมาตรา 4 ซึ่งมีการกระทำที่เข้าข่ายตามนัยมาตรา120 หรือไม่
เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 119 วรรคสอง และวรรคสาม บัญญัติว่า
"ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีนัยสำคัญ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ หรือเริ่มจากขั้นตอนใดตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด"
“จึงเรียนมาเพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบตรวจสอบว่าคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ การประปานครหลวง เข้าข่ายกระทำความผิดตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำคามผิดตามความในวรรคสอง หรือไม่” หนังสือของนายเรืองไกร ลงวันที่ 27 เม.ย.2565 ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ระบุ
อ่านประกอบ :
โชว์เอกสารโต้! กปน.ชี้‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’วินิจฉัยผิดพลาด ประมูลโรงงานน้ำมหาสวัสดิ์ 6 พันล.
'อิตาเลียนไทย'จ่อยื่นสอบ'บอร์ดอุทธรณ์ฯ'ใช้ดุลพินิจไม่สุจริต กรณีประมูลโรงงานน้ำ 6 พันล.
ใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง! ‘อนุทิน’ จี้ ‘กมธ.’ สอบ ‘กปน.’ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล้าน
กลับไปทำให้ถูกต้อง! ‘บอร์ดอุทธรณ์ฯ’ แจ้ง ‘กปน.’ ทบทวนผลประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ'ชนะ'กปน.'! กก.อุทธรณ์ฯชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 6 พันล.
ตัดสิทธิเอื้อบางราย? ย้อนปมประมูลขยายโรงงานน้ำ 6.5 พันล. ก่อนเอกชนยื่นอุทธรณ์คุณสมบัติ
'ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ' ยื่นอุทธรณ์ หลังถูกตัดสิทธิฯ ประมูลขยายโรงงานน้ำ 'กปน.' 6.5 พันล.