‘ธปท.-สมาคมธนาคารไทย’ เดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘SMEs-รายย่อย’ หลังมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้มีผลบังคับใช้แล้ว เน้นเติมเงินใหม่รักษา ‘สภาพคล่อง’ ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว
............................
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2564 เป็นต้นไป มาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จะมีผลบังคับใช้ โดยมาตรการเพิ่มเติมดังกล่าวจะเป็นมาตรการเพื่อรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ได้แก่
1.การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกว่าคาดและยังมีความไม่แน่นอนสูง เพื่อช่วยให้บางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ประกอบด้วย
1.1 ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ SMEs ที่เดิมมีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน เพราะใช้เงินทุนส่วนตัวหรือรายได้ของบริษัทในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก
1.2 เพิ่มการค้ำประกันและปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น micro-SMEs และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.2564
ปัจจุบันยอดอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูอยู่ที่ 98,316 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว 11,697 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 82 ราย
2.การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราว ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อลดภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2564 จนถึงสิ้นปี 2565 ประกอบด้วย
2.1ขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ
2.2 คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ถูกปรับลดลงในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้าเหลือร้อยละ 5 ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565
2.3 ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน
ส่วนมาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืนนั้น สถาบันการเงินจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา โดย ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2564
นายรณดล ย้ำว่า มาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิผล และลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจริง ก็ควรได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามสถานะของลูกหนี้แต่ละราย
อย่างไรก็ดี ธปท. จะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยในการเร่งรัดและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยให้สถาบันการเงินจัดทำรายงานให้ ธปท. รับทราบว่า แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามที่ ธปท.คาดหวังหรือไม่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน และหากลูกหนี้ประสบปัญหาก็อยากให้ลูกหนี้จ่ายหนี้แบบหน้าต่ำ หรือในช่วงแรกให้ชำระหนี้น้อย และค่อยๆเพิ่มการชำระหนี้เมื่อรายได้ของลูกหนี้ฟื้นตัวขึ้น
ทั้งนี้ หากลูกหนี้ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่านผู้ให้บริการทางการเงินโดยตรง หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและ SMEs ตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. ทั้งในเรื่องของการเพิ่มสภาพคล่องหรือแนวทางการช่วยเหลือ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (Product program) ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้
“เราจะรีบเตรียมความพร้อมภายใน รวมถึงสื่อสารพนักงานทุกช่องทาง โดยเฉพาะพนักงานสาขาให้เข้าใจถึงเครื่องมือและโปรดักส์ของแต่ละธนาคาร จากนั้นจะเปิดให้ลูกหนี้ติดต่อเข้ามาและเราเองจะติดต่อลูกหนี้ด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ลูกหนี้มีการเตรียมการในเบื้องต้น เช่น ได้รับผลกระทบประเด็นใดบ้าง สิ่งที่ทำไปแล้วมีอะไรบ้าง เช่น ลดสต็อกสินค้า ลดพนักงาน และทำประมาณการกระแสเงินสดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ท่านต้องการเงินทุนเท่าไหร่” นายผยง กล่าว
สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบและเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ หลักๆจะอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรม และกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ เช่น ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยจะมุ่งเน้นไปที่ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ส่วนลูกหนี้รายใหญ่นั้น ธนาคารมีกลไกปกติในการดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อยู่แล้ว
ส่วนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้นั้น นายผยง กล่าวว่า ลูกหนี้แต่ละรายจะได้รับเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประเภทของธุรกิจ
“จะยาวที่สุดเท่าไหร่ คงต้องแล้วแต่กลุ่มเป้าหมาย และประเภทกลุ่มลูกหนี้ เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบเยอะ บางสถาบันก็มองไปที่ 10 ปี 15 ปี ซึ่งเราจะดูขนาดของลูกหนี้ ลักษณะที่ได้รับผลกระทบ และโครงสร้างการประกอบธุรกิจของลูกหนี้แต่ละราย โดยเราไม่ได้กำหนดขั้นสูงสุดไว้ แต่ต้องเหมาะสม จะ 10 ปี 15 ปี เราก็ทำ หรืออย่างกรณีสินเชื่อบ้านลูกหนี้รายย่อย บางทีก็ยืดไปจนถึง 25-30 ปีก็มี จึงต้องเหมาะสมและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” นายผยง กล่าว
ทั้งนี้ ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องและแก้ไขหนี้เดิม สามารถติดต่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ใช้บริการอยู่เพื่อรับความช่วยเหลือได้ผ่านสาขา หรือ call center และช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมทั้งจะมีการรายงานความคืบหน้าให้ ธปท. รับทราบเป็นระยะ
อ่านประกอบ :
เน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว! ‘ธปท.-สมาคมธนาคารฯ’ เร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/