‘ธปท.-สมาคมธนาคารไทย’ เร่งเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เน้นผลักดันปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ไม่สร้างแรงจูงให้ลูกหนี้หยุดการชำระหนี้ ขณะที่ 'แบงก์' ออกมาตรการ 'ทางเลือก' ช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกลุ่ม
...........................
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ธนาคารแห่งประเทศ (ไทย) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันออกเอกสารข่าวชี้แจงถึงมาตรการเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างยั่งยืน โดยระบุว่า จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (โควิด 19) ส่งผลให้การแพร่ระบาดมีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มยืดเยื้อและผันผวนกว่าที่คาด กระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น แต่ละภาคเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกัน
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ระยะสั้นแบบเดิม เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้น จึงไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ทุกฝ่ายผ่านวิกฤตนี้ไปได้
ในการนี้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย เห็นร่วมกันในการผลักดันมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยให้สอดคล้องกับคาดการณ์รายได้ของลูกหนี้ เช่น ในช่วงที่รายได้ของลูกหนี้ยังไม่กลับมาและอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็ควรอยู่ในระยะต่ำ แล้วค่อยๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่ไม่ใช่การเลื่อนหรือพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว
โดยแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามแถลงข่าว ธปท. เรื่อง มาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการสั่งปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ย (แฮร์คัต) นั้น ธปท. และสมาคมธนาคารไทยขอเรียนว่า ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้หารืออย่างใกล้ชิด และเห็นตรงกันว่าควรเร่งผลักดันให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดให้สัมฤทธิ์ผล โดยสามารถประคับประคองลูกหนี้ที่ประสบปัญหาได้จริง
ภายใต้หลักการสำคัญ คือ ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาโควิด 19 สมควรได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดและสอดคล้องกับปัญหา อีกทั้งจะต้องไม่สร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบให้หยุดชำระหนี้ (moral hazard) ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินยังเป็นกลไกสำคัญ และมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเป็นเป้าหมายได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. ได้พิจารณาปรับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เอื้อต่อการให้ความช่วยเหลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับลดข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการ อาทิ การให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากไปกว่าการขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว
พร้อมทั้งขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารจะเร่งนำมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมนี้ เป็นแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยแต่ละธนาคารจะไปออกมาตรการเพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือลูกหนี้ (Product program) โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ทั้งนี้ การออก Product program เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของแต่ละธนาคารนั้น จะมีความหลากหลายและสอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย แต่ละกลุ่ม และเป็นธรรมทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายได้ผลอย่างแท้จริง
“ธปท.และสมาคมธนาคารไทย มุ่งหวังให้มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ แต่ละกลุ่มในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” เอกสารข่าวระบุ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/