“…จะพบว่าค่าใช้จ่ายบุคลากร ทั้งที่ตั้งไว้แผนงานบุคลากรภาครัฐ รวมกับค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ตั้งไว้ในงบกลาง จะมีวงเงินจำนวน 1,243,607.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.1% ของงบประมาณ และมีสัดส่วนสูงเกินกว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก…”
.....................
ในระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ นับเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับที่ 8 ที่จัดทำโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ขณะที่งบปี 2565 ซึ่งกำหนดวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาทนั้น นับเป็นปีที่ 8 ของจัดทำ ‘งบประมาณแบบขาดดุล’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากเริ่มจัดทำงบประมาณฉบับแรกในปีงบ 2558 ส่งผลให้ขณะนี้รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลติดต่อกันมาแล้ว 16 ปี หรือตั้งแต่ปีงบ 2550-2565
(ที่มา : งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำนักงบประมาณ)
เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดูแลประชาชน โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์โควิด-19 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ผ่านรายงานวิเคราะห์ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ดังนี้
@งบปี 65 กู้ชดเชยขาดดุล 7 แสนล้าน ‘ชนเพดานหนี้’
ในปี 2565 รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดี และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น
จึงคาดว่ารายได้สุทธิจะอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13.8% ของ GDP
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รายจ่ายภาครัฐสามารถเยียวยา ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น
รัฐบาลจึงกำหนดวงเงินงบประมาณปีงบ 2565 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท หรือ 17.9% ของ GDP ทำให้งบปี 2565 เป็นงบประมาณขาดดุล โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่ 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของ GDP ‘เต็มกรอบวงเงินสูงสุด’ ที่กู้ได้ตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี สำนักงบประมาณของรัฐสภาให้ความเห็นว่า "ในปีงบ 2565 นี้ ประมาณการว่าจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท เต็มกรอบวงเงินที่กฎหมายอนุญาตให้กู้เงินได้ทั้งสิ้น 700,000 ล้านบาท
ซึ่งหากเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2563 จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถกู้เงินชดเชยได้อีก และอาจต้องหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่นๆ เพื่อให้รายรับเพียงพอกับรายจ่าย ดังนั้น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2565 นี้ จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง"
@งบลงทุนลด 3.8%-จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าคืนหนี้เงินต้น
สำหรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณปีงบ 2565 แบ่งเป็น
1.รายจ่ายประจำ 2,360,543 ล้านบาท คิดเป็น 76.1% ของวงเงินงบประมาณฯ ลดลงจากปีงบ 2564 (สัดส่วนรายจ่ายประจำ 77.2%) 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลง 7%
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของงบประมาณฯ เพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของงบประมาณฯ เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้นำไปใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
4.รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.1% ของงบประมาณฯ ลดลงจากปีงบ 2564 (สัดส่วนรายจ่ายลงทุน 19.8%) 24,910.3 ล้านบาท หรือลดลง 3.8%
5.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.2% ของงบประมาณฯ เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2564 (สัดส่วนรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 3%) 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1%
แต่หากแยกรายจ่ายออกเป็นประเภทต่างๆ พบว่า รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ (งานพื้นฐานและงานยุทธศาสตร์) จะอยู่ที่ 1,032,010.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.3% (กระทรวงมหาไทย 260,338.5 ล้านบาท ,กระทรวงศึกษาธิการ 119,878.1 ล้านบาท ,กระทรวงกลาโหม 95,980.2 ล้านบาท)
รายจ่ายบุคลากรจะอยู่ที่ 770,160 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.8% (กระทรวงศึกษาธิการ 211,889.3 ล้านบาท ,กระทรวงสาธารณสุข 115,008.3 ล้านบาท ,กระทรวงกลาโหม 105,034.6 ล้านบาท)
รายจ่ายงบกลางอยู่ที่ 571,047.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.4% รายจ่ายงบเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 297,631.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.6% และรายจ่ายบูรณาการอยู่ที่ 208,177.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7% เป็นต้น
“วงเงินที่ตั้งไว้เพื่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 297,631.4 ล้านบาท เมื่อหักส่วนชำระคืนเงินต้น 100,000 ล้านบาท จะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระและค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาลมีจำนวนถึง 197,631.4 ล้านบาท
จึงเห็นว่า งบประมาณในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐส่วนใหญ่ ใช้จ่ายไปเพื่อการชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการก่อหนี้ใหม่ ขณะที่การชำระคืนเงินต้นในแต่ละปีเป็นส่วนน้อย ซึ่งอาจกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้” รายงานของสำนักงบประมาณของรัฐสภา ระบุ
(ที่มา : รายงานวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำนักงบประมาณของรัฐสภา)
@ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 1.24 ล้านล้าน แตะ 40.1%
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณารายจ่ายบุคลากร แม้ว่างบปี 2565 จะกำหนดค่าใช้จ่ายตามแผนงานบุคลากรไว้ที่ 770,160 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.8% ของงบประมาณ
แต่หากพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ ซึ่งตั้งไว้ในรายจ่ายงบกลางอีก 473,447.3 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท ,เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547.3 ล้านบาท ,เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท ,เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
จะพบว่าค่าใช้จ่ายบุคลากร ทั้งที่ตั้งไว้แผนงานบุคลากรภาครัฐ รวมกับค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ตั้งไว้ในงบกลาง จะมีวงเงินจำนวน 1,243,607.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.1% ของงบประมาณ และมีสัดส่วนสูงเกินกว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก
“เพื่อลดภาระการคลังจากค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในอนาคต จึงควรมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ใช้คนให้น้อยลง รวมทั้งควรจ้างงานจากภายนอก (Outsourcing) ให้มาทำงานบางอย่างแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องรับภาระงบประมาณในระยะยาว” สำนักงบประมาณของรัฐสภาให้ความเห็น
@ติงอนุมัติใช้งบกลางรายการฉุกเฉินฯ ‘ไม่เร่งด่วน’ จริง
ส่วนการจัดสรรงบแยกเป็นรายกระทรวงและหน่วยงานนั้น พบว่ากระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบปี 65 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้รับจัดสรรงบรวมกันทั้งสิ้น 1,697,196.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.7% ของงบประมาณทั้งหมด ประกอบด้วย
1.งบกลาง 571,047.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.4% ของงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 43,568.9 ล้านบาท หรือลดลง 7.1%
2.กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท คิดเป็น 10.7% ของงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 24,051 ล้านบาท หรือลดลง 6.7%
3.กระทรวงมหาดไทย 316,527 ล้านบาท คิดเป็น 10.2% ของงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 17,144.5 ล้านบาท หรือลดลง 5.1%
4.กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,501.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2%
5.กระทรวงกลาโหม 203,282 ล้านบาท คิดเป็น 6.6% ของงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน 11,248.7 ล้านบาท หรือลดลง 5.2%
(ที่มา : รายงานวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำนักงบประมาณของรัฐสภา)
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณของรัฐสภา ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายงบกลางไว้ 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 การจัดสรรงบประมาณ งบกลางรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปี (ปี 2561-2565) งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการที่เกี่ยวกับบุคลากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.6% ต่อปี ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณงบกลางที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรบางรายการควรทบทวนให้มีความเหมาะสม
ประเด็นที่ 2 การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรองไว้ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง เป็นต้น และไม่สามารถใช้จากแหล่งเงินอื่นใดได้
อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา พบว่าการใช้จ่ายงบกลาง หลายโครงการเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล หรือไม่ได้เป็นโครงการฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง และสามารถกำหนดแผนการดำเนินเงินและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติได้
“กรณีที่หน่วยงานมีความจำเป็นต้องการดำเนินการในด้านต่างๆ ควรพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีในลำดับแรกก่อน หากจำเป็นเร่งด่วนและมีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงค่อยขออนุมัติใช้จ่ายจากงบกลาง เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างประหยัด และคุ้มค่า” สำนักงบประมาณของรัฐสภา ระบุ
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณงบประมาณปี พ.ศ.2565 สำนักงบประมาณ)
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ที่จัดสรรโดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นปีที่ 8 และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19!
อ่านประกอบ :
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.
12 หน่วยงาน ‘ศาล-รัฐสภา-องค์กรอิสระ-อัยการ’ ยื่นคำของบปี 65 กว่า 8.59 หมื่นล.
สร้างคุกใหม่-บ้านพักตำรวจ! ครม.ไฟเขียวรายการคำของบปี 65 กว่า 1.5 หมื่นล้าน
‘ธปท.-คลัง’ งัดมาตรการสู้โควิด ‘รายย่อย-SME’ พักหนี้ 6 ด.-อัดฉีดสภาพคล่อง 6.3 แสนล.
ครม.เคาะลดค่าน้ำ-ไฟ-เน็ต พร้อมสั่งคลังทำแผนแจกเงิน 3,500 เยียวยาโควิด 2 เดือน
ยึดแผนแม่บทเฉพาะกิจโควิด-ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น! ‘บิ๊กตู่’ มอบนโยบายจัดทำงบปี 65
เปิดแผนแม่บทเฉพาะกิจ ‘โควิด’ ตั้งเป้า 2 ปี ‘ดัน 5 เครื่องยนต์ศก.ใหม่-ลดยากจน’
สั่งลดรายจ่ายประจำ! ครม.เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล.
ชำแหละแผนคลัง 4 ปี! ภาระผูกพันเพียบ-ดบ.พุ่ง ขยับ 'เก็บภาษีคนเดินทางไปนอก'
'โควิด' ยืดเยื้อ-ระบาดรอบใหม่ ทุบจัดเก็บรายได้รัฐบาล-จับตากู้เพิ่มปิดงบปี 64?
ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/