“...อย่างเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าบอกจะเอางบไปทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มันก็ตรงไปหมด แต่วันนี้ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ลงซักที หรือแผนบางแผนตัวชี้วัดมีการตั้งไว้สวยหรูเลย แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาปฏิบัติอาจไม่ได้เป็นไปตามนั้น ดังนั้น เมื่อมีเป้า ต้องทำตามเป้า ต้องมีงบ มีแผน มีกิจกรรม ถ้าไม่มีก็เกิด และต้องมีคนรับผิดชอบ…”
.....................
แม้ว่าจนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย
แต่ทว่าโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือการ ‘ปฏิรูป’ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับโลกหลังยุคโควิด-19 ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
สอดคล้องกับความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ภายหลังการระบาดของ COVID-19
“คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นของนโยบายด้านอุปทานเพื่อปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ที่โครงสร้างเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะการยกระดับทักษะแรงงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว…” รายงานการประชุมกนง.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 ฉบับย่อ ระบุ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565 ซึ่งสะท้อนแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้
@เป้าหมายแผนแม่บทเฉพาะกิจ ‘โควิด-19’
แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ มีเป้าหมายสำคัญ คือ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่”
แผนแม่บทฯยังกำหนดดัชนีชี้วัดว่า อัตราว่างงานต้องไม่เกิน 1.5% ในปี 2564 และไม่เกิน 1% ในปี 2565 ,ผู้เข้าสู่ระบบประกันสังคมต่อกำลังแรงงานไม่น้อยกว่า 45% ในปี 2564 และไม่น้อยกว่า 48% ในปี 2565 ,ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวไม่น้อยกว่า 236,000 บาท/คน/ปี ในปี 2564 และไม่น้อยกว่า 245,000 บาท/คน/ปี ในปี 2565
และดัชนีความยากจนแบบหลากหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ ในปี 2564 ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 10% เทียบกับปีก่อนหน้า และในปี 2565 ต้องลดลง ไม่น้อยกว่า 10% เทียบกับปีก่อนหน้า
(ที่มา : แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565)
ขณะเดียวกัน แผนแม่บทฯได้กำหนดประเด็นการพัฒนาที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระยะ 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างศักยภาพในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเทศให้สามารถ “ล้มแล้ว ลุกไว หรือ Resilience” ใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) โดยมุ่งเน้นกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปยังระดับท้องถิ่นผ่านการจ้างงาน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่และชุมชน ร่วมกับการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ให้ปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นในอนาคต
พร้อมทั้งกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังหัวเมืองหลักในภูมิภาคและเมืองรองที่มีความสามารถและความพร้อม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความเจริญ พร้อมรับการกระจายตัวของการพัฒนาและการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานกลับคืนถิ่น เป็นแหล่งจ้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้ไปยังภาคท้องถิ่น และชุมชนอย่างทั่วถึง
@ดัน 5 เครื่องยนต์หนุนเศรษฐกิจโตระยะยาว
2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) โดยมุ่งเน้นด้านการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิต การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
พร้อมกันนั้น จะมีการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลัก ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสและวิเคราะห์แล้วว่ามีศักยภาพภายใต้ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนไป ซึ่งมี 5 สาขา ได้แก่
-อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยขยายช่องทางการตลาดทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสุขภาพ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคแบบครบวงจร เป็นต้น
-การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ ให้มุ่งเน้นที่เชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณทั้งแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และรูปแบบการท่องเที่ยวที่สนับสนุน และการติดตามประเมินผล พร้อมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อกระจายรายได้
-การเกษตรมูลค่าสูง ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น
-อุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และการจ้างงาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยการมุ่งสู่ธุรกิจอาหารมูลค่าสูงเช่น อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารทางการแพทย์ เป็นต้น
-อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ด้วยการสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการและแรงงาน และอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศ ให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ให้บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาที่อาจได้รับผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
3.การพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ด้วยการยกระดับทักษะ (Upskill) ปรับทักษะ (Reskill) และส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและบริการที่จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลัก ( Future Growth) พร้อมทั้งขยายและพัฒนาระบบประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรทุกสาขาอาชีพและทุกช่วงวัย ส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อให้คนเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
@ปฏิรูปการจัดเก็บรายได้-เพิ่มประสิทธิภาพจัดสรรงบ
4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน
โดยปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนา อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้โครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับทิศทางการการพัฒนาประเทศ
การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการต่างๆ ตลอดจนการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และประสิทธิภาพการจัดสรรและใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ให้สอดคล้องกับบริบท และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565 จะมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางในกรอบกว้างๆไว้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้กำหนด ‘เจ้าภาพ’ ในการขับเคลื่อนแต่ละแนวทางพัฒนา อีกทั้งไม่มีการผูกพันกับ ‘งบประมาณ’
จึงอาจทำให้การขับเคลื่อนแผนฯไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมได้
“ถ้าจะให้แผนแม่บทเฉพาะกิจโควิดฯ เดินได้จะต้องให้ผูกโยงกับงบประมาณ เช่นเดียวกับแผนฯ 12 ของสภาพัฒน์ ถ้าใครไม่ทำตามแผน ไม่ทำตามกรอบ จะไม่ได้ตังก์” ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(ยงยุทธ แฉล้มวงษ์)
อย่างไรก็ตาม ยงยุทธ ตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายกรณีจะเห็นว่าหน่วยงานรัฐเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยอ้างอิงกับแผนแม่บทเกี่ยวกับการพัฒนาต่างๆ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่จะพบว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรรนั้นถูกนำไปใช้จ่ายในประเด็นไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของแผนฯมากนัก ดังนั้น ความสำเร็จของแผนฯจึงขึ้นอยู่กับ 'หัวขบวน' ว่าจะนำไปทางไหน
“อย่างเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าบอกจะเอางบไปทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มันก็ตรงไปหมด แต่วันนี้ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่ลงซักที หรือแผนบางแผนตัวชี้วัดมีการตั้งไว้สวยหรูเลย แต่เอาเข้าจริงๆ เวลาปฏิบัติอาจไม่ได้เป็นไปตามนั้น ดังนั้น เมื่อมีเป้า ต้องทำตามเป้า ต้องมีงบ มีแผน มีกิจกรรม ถ้าไม่มีก็เกิด และต้องมีคนรับผิดชอบ” ยงยุทธระบุ
ยงยุทธ เสนอด้วยว่า ในการปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การเตรียมทักษะและกำลังแรงงานให้พร้อมก่อนล่วงหน้า เพราะเป็นปัจจัยที่ตัดสินใจนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติว่า จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการสนับสนุนหรือไม่
“ยกตัวอย่างการลงทุนในอีสเทิร์น ซีบอร์ด เช่น อุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรม New s-curve เราต้องทำเรื่องคนก่อนล่วงหน้าให้เขาเห็น และคนจะเป็นปัจจัยที่ตัดสินว่านักลงทุนต่างชาติจะมาที่ไทย หรือไปเวียดนาม ไปอินโดนีเซีย ที่มีค่าแรงถูกกว่าเรา แม้ว่าวันนี้เราจะมี 5G แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องมีคนที่ใช้ 5G เป็น ต้องทำไอทีเป็น” ยงยุทธกล่าว
เหล่านี้เป็นภาพรวมแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ฉบับของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อ่านรายละเอียด : แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565
อ่านประกอบ :
สั่งลดรายจ่ายประจำ! ครม.เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล.
ชำแหละแผนคลัง 4 ปี! ภาระผูกพันเพียบ-ดบ.พุ่ง ขยับ 'เก็บภาษีคนเดินทางไปนอก'
'โควิด' ยืดเยื้อ-ระบาดรอบใหม่ ทุบจัดเก็บรายได้รัฐบาล-จับตากู้เพิ่มปิดงบปี 64?
ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/