“…ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ จากการใช้ระบบประกันสุขภาพล้วนหน้าและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลมีภาระผูกพันชัดเจนโดยตรง ในด้านสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ…”
...................
“การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบให้ภาคเศรษฐกิจชะลอตัว…”
เป็นถ้อยคำเกริ่นนำของ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2565-68)’ จัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อ 22 ธ.ค.2563 (อ่านประกอบ : ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%)
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2565-68)
หากพิจารณาเนื้อหาสาระของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับดังกล่าว จะพบว่ารัฐบาลมีความกังวลต่อระดับ ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังรัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มเป็น 56% ต่อจีดีพี จาก ณ สิ้นปีงบ 2563 (30 ก.ย.2563) ที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 7.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 49.3% ต่อจีดีพี
ส่งผลให้ในปีงบ 2564 รัฐบาลมีภาระจ่ายดอกเบี้ยในสัดส่วน 5.9% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนรายจ่ายภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณประจำปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยปี 2565 คาดว่ารายจ่ายดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 6.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก่อนที่รายจ่ายดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในปีงบ 2568 จากจำนวนหนี้สาธารณะที่จะคาดว่าเพิ่มเป็น 11.45 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.ย.2568
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2565-68)
ที่สำคัญเมื่อพิจารณาภาระรายจ่ายผูกพันอื่นๆ พบว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระผูกพันใหญ่ๆ 3 ก้อน ได้แก่
1.ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ จากการใช้ระบบประกันสุขภาพล้วนหน้าและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้รัฐบาลมีภาระผูกพันชัดเจนโดยตรง ในด้านสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยปีงบฯ 2564 รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรงบประมาณสำหรับสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ รวมทั้งสิ้น 738,648 ล้านบาท คิดเป็น 22.5% ของงบรายจ่ายประจำปี ขยายตัวเฉลี่ย 9% ต่อปีในช่วง 6 ปีงบประมาณที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2.ภาระผูกพันที่มาจากรายจ่ายบุคลากร โดยในปีงบ 2564 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนนี้ 776,888 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.6% ของงประมาณรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ ‘ยากต่อการลดทอน’ จึงต้องติดตามและควบคุมให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในระยะยาว เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณ
3.ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาล ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งภาระผูกพันส่วนนี้มาจากการที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐนั้นให้ในอนาคต
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ สิ้นปีงบฯ 2563 พบว่ายอดคงค้างส่วนดังกล่าวมีจำนวน 887,640 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
อย่างไรก็ดี ภาระผูกพันดังกล่าวยังไม่รวมภาระผูกพันส่วนอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น ‘หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด’ เช่น หนี้เงินกู้ชดเชยความเสียหายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) 743,038 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลให้กู้ต่อหรือค้ำประกัน 435,315 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐิวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในอนาคตรัฐบาลยังมีความเสี่ยงที่จะมีภาระผูกพันทางการคลังเพิ่มเติม จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป เนื่องจาก 1.แรงงานวัยแรงงานประมาณ 21 ล้านคน หรือคิดเป็น 48% ของวัยแรงงานทั้งหมดยังไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ
2.ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ได้รับบำนาญเฉลี่ยเพียง 20% ของเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ และ3.ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว หลังการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2565-68)
จากปัจจัยเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นต้องรัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพด้านการคลัง ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ อย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์ที่ผ่านมา และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่วนเป้าหมายการคลังในระยะยาว ควรปรับลดขนาดการขาดดุลและนำไปสู่การจัดทำงบสมดุลในที่สุด
ขณะที่ทั้งรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์เอง ต่างก็ตระหนักเรื่องนี้ดี เห็นได้จากในการพิจารณากำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2565 ของที่ประชุม 4 หน่วยงานที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา นั้น
พล.อ.ประยุทธ์ มอบนโยบายให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยให้คงไว้สำหรับการดูแลงานประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ บัตรสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทั้งหมด (อ่านประกอบ : ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน)
อีกทั้งเพื่อไม่ให้สถานะการคลังเข้าสู่ภาวะ ‘ถังแตก’ เช่นที่หลายฝ่ายมีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้ ปรากฏว่า แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2565-68) ได้กำหนดแผน 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย
1.Reform หรือ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้
2.Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น
3.Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน
(พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
โดยเฉพาะในส่วนแผนการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ (Reform) พบว่า รัฐบาลมีแผนปฏิรูประบบภาษีตามแนวทางที่อยู่ระหว่างการผลักดันของคณะทำงานปฏิรูปภาษีอากรของกระทรวงการคลัง ใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) ของกรมสรรพากร
2.การปรับปรุงวิธีการคำนวณ วิธีการจัดเก็บ ค่าลดหย่อน และการยกเว้นภาษีบางประเภท และทบทวนมาตรการชั่วคราวที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ให้มีเท่าที่จำเป็น
3.การปรับปรุงโครงสร้างภาษีการบริโภคจากสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
4.การปรับปรุงอัตรานำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ
5.การจัดเก็บภาษีจากการเดินทางของผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 2565-68)
ล่าสุดร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ที่ครม.อนุมัติไปเมื่อมิ.ย.2563 นั้น สภาฯได้เห็นชอบแล้ว และกำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่การปฏิรูปภาษีอื่นๆอยู่ระหว่างการผลักดัน
เหล่านี้เป็นภาพรวมแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2565-68) รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายในอนาคต และแน่นอนว่าภาระดังกล่าวจะต้องตกบนบ่าของบรรดาผู้เสียภาษีทุกคน
อ่านประกอบ :
ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/