ครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง 4 ปี ปีงบ 65-68 คาดรัฐขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 2.77 ล้านล้านบาท แต่ยังตรึงหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ที่ไม่เกิน 60% พร้อมเคาะเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 1-3%
..................
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2565–2568) โดยแผนดังกล่าวได้มีการจัดทำประมาณงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2565-2568 อยู่ที่รวมทั้งสิ้น 13.03 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ปีงบ 2566 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ปีงบ 2567 วงเงิน 3,310,000 ล้านบาท และปีงบ 2568 วงเงิน 3,420,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประมาณการรายจ่ายดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมีสัดส่วน 2.0-3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5-4% ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% เป็นต้น
ส่วนประมาณการรายได้สุทธิ ปีงบ 2565-2568 อยู่ที่รวมทั้งสิ้น 10.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบ 2565 วงเงิน 2,400,000 ล้านบาท ปีงบ 2566 วงเงิน 2,490,000 ล้านบาท ปีงบ 2567 วงเงิน 2,619,500 ล้านบาท และปีงบ 2568 วงเงิน 2,750,500 ล้านบาท
“ประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC) เป็นต้น”นายอนุชากล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า จากประมาณการดังกล่าว รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 710,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 690,500 ล้านบาท ปีงบ 2568 จำนวน 669,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดดุลงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2.77 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบ2565 จะอยู่ที่ 57.6% ต่อจีดีพี ปีงบ 2566 อยู่ที่ 58.6% ต่อจีดีพี ปีงบ 2567 อยู่ที่ 59.0% และปีงบ 2568 อยู่ที่ 58.7% ต่อจีดีพี จาก ณ สิ้นปีงบ 2563 ที่คาดว่ายอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็น 49.3% ต่อจีดีพี
สำหรับสถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัว 3.0-4.0% และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.7-3.7% และจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วง 2.9-3.9% ในปี 2567 และขยายตัว 3.2-4.2% ในปี 2568
นายอนุชา กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย 1.Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้
2.Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น
3.Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน
“เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง คือ การเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด” นายอนุชากล่าว
นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2564 โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% โดยเห็นว่าระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย และมียืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือน ก.ย. 63 เท่ากับ -0.9% และคาดการณ์ว่าในปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะเท่ากับ 1.0%
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะร่วมกัน ติดตามความเคลื่อนไหวเป้าหมายของนโยบายการเงิน เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
“การกำหนดอัตราเงินเฟ้อในลักษณะนี้จะช่วยให้สามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19”นายอนุชากล่าว
อ่านประกอบ :
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/