นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 65 ให้ยึด 4 แนวทางแผนแม่บทเฉพาะกิจ 'โควิด' กำชับส่วนราชการตัดรายจ่ายไม่จำเป็น แต่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลกลุ่มเปราะบาง ระบุแม้เป็นการจัดทำงบขาดดุลต่อเนื่อง แต่ไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง
...................
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ให้กับหัวหน้าส่วนราชการ โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ.2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีจำนวน 3.289 ล้านล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ 2.4 ล้านล้านบาท ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 277,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ประกอบกับการดำเนินมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษีบางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายดำเนินการ ดังนี้
1.บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด หากแผนงาน โครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไปดำเนินการในแผนงาน โครงการอื่นต่อไป
2.ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน
3.ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณต้องพิจารณานำเงินดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ.2565 นั้น ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 โดยมี 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบด้วย
1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) โดยส่งเสริมการจ้างงาน ทั้งการจ้างงานใหม่ในพื้นที่ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ รักษาการจ้างงานในสาขาที่ได้รับผลกระทบ และการสร้างงานที่สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต ,การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ส่งเสริมการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ ,สนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และปรับโครงสร้างปัจจัยแวดล้อม ,การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค และสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค/กลุ่มจังหวัด
2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยขยายช่องทางการตลาดแพทย์แผนไทย/ปัจจุบัน ยกระดับคุณภาพสินค้า บริการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ,การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ โดยส่งเสริมการลงทุนและรูปแบบการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเมืองรองและท้องถิ่น
การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยสร้างแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ,การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร โดยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมผู้ประกอบการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ ,การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ/แรงงาน และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) โดยการยกระดับ ปรับทักษะ และส่งเสริมการเรียนรู้โดยส่งเสริมแรงงานให้ได้รับการฝึกอบรมทักษะยกระดับคุณภาพมาตรฐานศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแรงงาน
การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม โดยช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยคนยากจน กลุ่มเปราะบาง ผลักดันแรงงานให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม พัฒนาระบบช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคม ,การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ โดยพัฒนาระบบปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ ภูมิคุ้มกันร่างกาย จิตใจ กระจายบริการสาธารณสุข และปฏิรูประบบประกันสุขภาพ
4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ ,การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล โดยปรับปรุงและพัฒนาฐานข้อมูลแบบบูรณาการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการประชาชน และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ
การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตเป้าหมาย และแก้ไขระเบียบที่เป็นอุปสรรค ,การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลในการบูรณาการระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่และส่งเสริมให้ครัวเรือนบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคส่วนอื่น ๆ ในการพัฒนาประเทศ ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ
“สุดท้ายนี้ ขอให้หน่วยรับงบประมาณ นำประเด็นสำคัญทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว มาใช้ประกอบการจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 ม.ค.2564” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดแผนแม่บทเฉพาะกิจ ‘โควิด’ ตั้งเป้า 2 ปี ‘ดัน 5 เครื่องยนต์ศก.ใหม่-ลดยากจน’
สั่งลดรายจ่ายประจำ! ครม.เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล.
ชำแหละแผนคลัง 4 ปี! ภาระผูกพันเพียบ-ดบ.พุ่ง ขยับ 'เก็บภาษีคนเดินทางไปนอก'
'โควิด' ยืดเยื้อ-ระบาดรอบใหม่ ทุบจัดเก็บรายได้รัฐบาล-จับตากู้เพิ่มปิดงบปี 64?
ไม่ตัดสวัสดิการ-ดูแลกลุ่มเปราะบาง! ‘บิ๊กตู่’ เคาะกรอบงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/