“…เราต้องการเงินมาช่วยเหลือประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ คนกลุ่มเปราะบาง คนที่ไม่มีรายได้ คนตกงาน แต่เวลาจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลก็จัดแบบร่องเดิม งบกองทัพไม่ลดเลย 2 แสนกว่าล้านอย่างไร ก็ยัง 2 แสนกว่าล้านอย่างนั้น ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่วิธีคิดของผู้นำประเทศว่า คุณให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหนมากที่สุด…”
...................
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เครือข่ายเด็กเท่ากัน 300 องค์กร จัดงานเสวนาผ่านระบบ Zoom ออนไลน์ ในหัวข้อ “วิพากษ์...พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 64 สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า อยู่ตรงไหน ?” ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.2564 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@งบสวัสดิการประชาชนลด 3.5 หมื่นล.-หดตัว 9.9%
สุนี ไชยรส ผู้ประสานคณะทำงานเด็กเล็กขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ระบุว่า แม้ว่าในปีงบ 2565 รัฐบาลจะจัดสรรงบอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน เป็นเงิน 1.66 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีงบ 2564 ที่จัดสรรไว้ที่ 1.34 หมื่นล้านบาท แต่พบว่ายังไม่ใช่การอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า เพราะครอบคลุมเด็กอายุ 0-6 ปีเพียง 2 ล้านคน จากจำนวนเด็กเล็กทั้งประเทศที่มีกว่า 4.1 ล้านคน
ขณะเดียวกัน การจัดสรรงบปี 2565 ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ที่เห็นชอบแนวทางจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปีแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบ 2565 เป็นต้นไป
“ในขณะที่กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบมากเป็นอันดับ 4 ที่ 2.03 แสนล้านบาท แต่งบสวัสดิการประชาชนกลับลดลงจาก 3.6 แสนล้านบาท ในปีงบ 2564 เหลือ 3.24 แสนล้านบาท ในปีงบ 2565 ลดลง 3.55 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 9.9% โดยเฉพาะงบอุดหนุนเด็กเล็กทั่วหน้า รัฐบาลจัดสรรงบให้เพียง 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น” สุนี กล่าว
@ทีดีอาร์ไอห่วงโควิดกระทบไอคิว-อีคิวเด็กระยะยาว
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอย่างรุนแรง และส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่าย ไม่ใช่รัดเข็มขัด เพื่อให้กลุ่มเปราะบางไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบหรือสร้างแผลเป็นในระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็ก
“คนจะมองว่าโควิดเกิด 2 ปี 3 ปี แล้วจะดีขึ้น พอวัคซีนมาก็เปิดประเทศได้ แต่ในช่วงถูกกระทบนั้น ผลกระทบบางเรื่องลากยาวกว่า 2-3 ปี เช่น เรื่องเด็ก เด็กถูกกระทบชัดเจน ถ้าเด็กไปเรียนไม่ได้ พ่อแม่ดูแลไม่ดี เกิดภาวะเครียด บางทีไปกระทบทั้งไอคิว และอีคิวของเด็ก ซึ่งตรงนี้จะเป็นแผลเป็นที่แม้ว่าจะผ่านไป 5 ปี 10 ปี ผลกระทบก็ยังอยู่
จึงต้องมาดูเรื่องนี้ ห้ามขาดช่วง ดีไม่ดี จะต้องกู้เงินมากขึ้นด้วยซ้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าแผลเป็นนี้จะมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ และต้องสื่อสารกับผู้มีอำนาจที่ดูแลภาพใหญ่ของประเทศว่า แนวคิดรัดเข็มขัดไม่น่าจะใช่ แต่ต้องเพิ่มงบประมาณมากกว่า ถ้างบปี 2565 ปรับไม่ได้ ก็ต้องเอามาจากเงินกู้ 7 แสนล้านบาท เอามาเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเด็กเล็ก หากเป็นอย่างนี้งบเด็กเล็กทั่วหน้าอาจมีความเป็นไปได้ในปีงบ 65 ก็เป็นได้” สมชัยกล่าว
ขณะที่ เชษฐา มั่งคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เรียกร้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพิ่มงบอุดหนุนเด็กเล็กให้ครอบคลุมเด็กเล็ก 4.1 ล้านคน และต้องยกเลิกหลักเกณฑ์การอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจง คือ ให้เฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปีเท่านั้น พร้อมทั้งเสนอให้ พม.ทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ตกหล่นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมากกว่ากลุ่มทั่วไป 2-3 เท่า
@รัฐบาลให้ความสำคัญงบกองทัพมากกว่างบอุดหนุน ‘เด็ก’
ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบเพื่ออุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด เงินช่วยเหลือเด็กเล็ก 600 บาท/คน/เดือน น่าจะช่วยบรรเทาภาระให้กับผู้ที่เป็นพ่อแม่ได้บ้าง
“สิ่งที่เราเห็นจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา คือ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการให้ประชาชน พวกเราอยากจะบอกว่า ช่วงที่เรามีรายได้หรือตอนที่เราไม่มีรายได้ เราก็เสียภาษีให้กับรัฐ และวันนี้ประชาชนเกิดวิกฤติเรื่องปากท้อง พวกเราไม่มีงานทำ ดังนั้น เงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กน่าจะมาช่วยบรรเทาให้พวกเราลืมตาอ้าปากได้บ้าง” ธนพรกล่าว
ธนพร ยังระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หาเสียงในช่วงเลือกตั้งว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 2,000 บาท/คน/เดือน โดยจะให้ไปจนถึงอายุ 6 ปี แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าสิ่งที่ พปชร. หาเสียงไว้ไปที่อยู่ไหนแล้ว เพราะขนาดเราขอเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 600 บาท/คน/เดือน แบบถ้วนหน้า รัฐบาลยังให้เราไม่ได้เลย ทั้งๆที่รัฐบาลเพียงแต่เพิ่มงบประมาณในส่วนนี้เพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ก็ครอบคลุมเด็กเล็กถ้วนหน้าแล้ว
ธนพร ระบุว่า “เราตั้งคำถามว่า เราต้องการเงินมาช่วยเหลือประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ คนกลุ่มเปราะบาง คนที่ไม่มีรายได้ คนตกงาน แต่เวลาจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลก็จัดแบบร่องเดิม งบกองทัพไม่ลดเลย 2 แสนกว่าล้านอย่างไร ก็ยัง 2 แสนกว่าล้านอย่างนั้น ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่วิธีคิดของผู้นำประเทศว่า คุณให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหนมากที่สุด ซึ่งเราเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับกองทัพเยอะมาก
เราไม่ได้โจมตีกองทัพ เพราะทุกหน่วยงานมีความสำคัญ แต่ภายใต้สถานการณ์ประเทศที่เป็นแบบนี้ ประชาชน เด็ก พ่อแม่ขาดรายได้ เราขอให้มีการจัดรัฐสวัสดิการที่มาจากภาษีของเรา ทำไมจึงให้ไม่ได้...ตั้งแต่คุณรัฐประหารเข้ามา เงินจัดสวัสดิการให้เด็กยังจัดสรรแบบเดิม บางเรื่องลดลง แต่งบกองทัพยังเหมือนเดิม ไม่เคยลดทอนลงมา ยัง 2 แสนล้านบาทอัพ อยู่อย่างนั้น เราขอแค่เอา 1 หมื่นล้านมาจัดสรรให้เด็ก มาช่วยบรรเทาภาระให้พ่อแม่ในยามนี้”
"คุณหาเสียงประชาชนว่า เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า มารดาประชารัฐ และค่าจ้าง 425 บาท คุณทำอะไรไม่ได้ซักเรื่อง นี่ก็ผ่านมา 2 ปีจะเข้าปีที่ 3 แล้ว” ธนพรย้ำ
(ธนพร วิจันทร์)
@เผยรัฐตัดงบสนับสนุนการศึกษาระดับมัธยม 2 หมื่นล้าน
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกจากงบปี 2565 จะไม่ได้มีการจัดสรรงบอุดหนุนเด็กเล็กไว้อย่างถ้วนหน้าแล้ว จะพบว่างบปี 2565 ได้ตัดงบประมาณด้านศึกษาในระดับมัธยมลง 2 หมื่นล้านบาทด้วย จึงน่าเป็นห่วงว่าเมื่อวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป ศักยภาพของเด็กไทยจะเป็นอย่างไร
ด้าน วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบอุดหนุนเด็กเล็กได้ไม่ถึง 50% ของเด็กเล็กทั้งประเทศ ทั้งๆที่การลงทุนกับเด็กและเยาวชนของชาติเป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ได้ใช้งบมากมายด้วย เช่น หากอุดหนุนงบเด็กเล็กถ้วนหน้าจะใช้เงินเพียง 3.4 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 อีก 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ส่วนจะเพิ่มงบสำเร็จหรือไม่อยู่ที่วิธีคิดของรัฐบาล
“อยู่ที่วิธีคิดของรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญเรื่องไหน ซึ่งการลงทุนกับเด็ก กับเยาวชนของชาติ เป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่ใด้ใช้งบเยอะ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็ลดลงทุกวัน” วรรณวิภากล่าว
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เสนอว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบอุดหนุนเด็กเล็กทั้ง 4.6 ล้านคน แบบถ้วนหน้า และไม่ใช่การให้เด็กที่จะได้รับเงินอุดหนุนต้องมาแสดงตนว่ายากจนลำบากจึงจะได้รับการอุดหนุน เพราะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนการค้นหาว่าเด็กที่จะได้รับการอุดหนุนอยู่ที่ไหนบ้าง เพียงแต่ค้นหาในทะเบียนราษฎร์ก็จะรู้ว่ามีเด็กคนไหนบ้าง
“วันนี้วิกฤติมีเยอะ ถ้าเราหยุดสร้างถนนสักเส้น 2 เส้น ก็ได้งบมา 2 หมื่นกว่าล้านแล้ว เราต้องไปสร้างสมองให้เด็ก ไม่ใช้ไปสร้างถนน แล้วมีเงินทอน” พ.ต.อ.ทวีย้ำ
@‘รมว.พม.’ เตรียมถกคลังเพิ่มงบอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
ขณะที่ พัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า หากมองในภาพรวมจะพบว่า พม. ได้รับจัดสรรงบปี 2565 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงบที่จะนำไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ส่วนงบอุดหนุนเด็กเล็กที่ยังไม่ถ้วนหน้านั้น ท่านจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ รับปากว่าจะจัดหางบเพิ่มเติมมาให้ เพื่อให้ครอบคลุมเด็กเล็กทั้ง 4.1 ล้านคน
“รมว.การพัฒนาสังคมฯ จะเข้าหารือกับ รมว.คลังในเรื่องนี้ แต่เราต้องหาตัวเลขที่ชัดเจนก่อนว่า เด็กอายุ 0-6 ขวบมีจริงๆเท่าไหร่ อยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งพม.จะต้องรวบรวมรายชื่อที่แท้จริงเพื่อเสนอกระทรวงการคลังต่อไป และเชื่อว่าน่าจะทันปีงบ 2565 นี้” พัชรีกล่าว
เหล่านี้เป็นแนวคิดและมุมมองของภาคประชาชน ภาคราชการ รวมถึงภาคการเมือง ในการเดินหน้าผลักดันการสวัสดิการ ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า’
แต่ทั้งนี้ คงต้องติดตามต่อไปว่าการแปรญัตติงบปี 2565 รัฐบาลจะเพิ่มงบอุดหนุนในส่วนนี้อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาทได้หรือไม่ เพื่อให้ครอบคลุมเด็กเล็กทั้งประเทศกว่า 4 ล้านคน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/