“…ถ้าจะทำให้เกิดผล ผมกำลังพูดถึงวัคซีน เพราะสิ่งที่เราทำ เช่น การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือการใช้เม็ดเงินทั้งหลายนั้น เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น สิ่งที่เราต้องการวันนี้ คือ เราต้องการวัคซีนให้มาให้เร็วที่สุด ต้องทำให้คนติดเชื้อลดลง ทำให้คนภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นและใช้จ่ายได้เร็วที่สุด…”
.....................
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : เหลือ 5 แสนล.! แพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯใหม่ แก้โควิด-สธ.ได้ 3 หมื่นล.-คลัง 4.7 แสนล.)
แม้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯฉบับใหม่ จะลดเหลือ 5 แสนล้านบาท จากเดิม 7 แสนล้านบาท แต่รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่า วงเงินกู้ดังกล่าวจะมีเพียงพอสำหรับใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งเริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา
“ปีที่แล้วเราใช้ 1 ล้านล้านบาท ผมคิดว่าการใช้อีก 5 แสนล้านบาท อยู่ในระดับที่น่าจะเพียงพอที่จะรองรับในช่วงท้ายๆ ผมเชื่อว่าเราอยู่ในช่วงท้ายๆของโควิด เพราะมีวัคซีนที่เริ่มทยอยฉีดกันแล้ว ฉะนั้นเงินกู้ 5 แสนล้านบาท หรือกึ่งหนึ่งของ 1 ล้านล้านบาทที่เราได้ใช้ในปีที่แล้ว น่าจะเพียงพอ
…วันนี้เราเห็นพัฒนาการของวัคซีน และมีวัคซีนจำนวนมากทยอยออกมา เราจึงมองว่าโอกาสในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระดับสากลมีความเป็นได้สูง แต่เราก็ไม่ประมาท จนไม่ได้เตรียมอะไรรองรับความไม่แน่นอน จึงเตรียมเงินก้อนนี้ไว้” สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน แถลงหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.
@นายกฯกำชับดูแลกลุ่มเอสเอ็มอี-ไมโครเอสเอ็มอี
สำหรับแผนการใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงว่า เงินกู้ดังกล่าวจะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงาน หรือโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่
(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท
(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใน 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“3 แผนงานตรงนี้ จะเข้าไปเสริมแผนงานตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับที่ 1 ซึ่งจะเน้นย้ำบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่นายกฯเป็นห่วง คือ เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ส่วนผู้ประกอบอาชีพรายเล็กรายน้อย ก็ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือในปีที่แล้วผ่านโครงการต่างๆของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน” อาคม กล่าว
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม. ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564)
@คลังคาดจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.5% ส่วนหนี้สาธารณะแตะ 58.56%
อาคม ยังระบุว่า การใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564-65 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดิมที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดไว้ล่าสุดว่า เศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวเพียง 1.5-2.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่
“ถ้ามีเม็ดตรงนี้เข้ามาช่วย จะทำให้เศรษฐกิจในช่วง 2 ปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5%” อาคม ย้ำ
อาคม กล่าวด้วยว่า หากมีการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะทำให้ ณ เดือน ก.ย.2564 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แต่หากเศรษฐกิจเติบโตได้ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะดีขึ้น และเป็นภารกิจของรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินต่อโดยเร็วที่สุด
ด้าน ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่มีกรอบวงเงิน 1.7 แสนล้านบาทนั้น จะนำไปใช้ใน 2-3 เรื่อง ได้แก่ การลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กในชุมชน การลงทุนโครงการพื้นฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางทางถนน และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
“จะมีการกำหนดวงเงินที่จะไปช่วยรักษาระดับการจ้างงานของเอสเอ็มอี ส่วนนักศึกษาที่จบมาใหม่จะไปดูว่ามีโครงการอะไรที่มาช่วยให้เกิดการจ้างงานด้วย” ดนุชา กล่าว
@เงินกู้ 1 ล้านล้านใช้เกือบหมดแล้ว-พบทุ่มเยียวยา 6.6 แสนล.
ดนุชา กล่าวถึงผลเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า แผนงานด้านสาธารณสุข (ค่าใช้จ่ายบุคลากร จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล) วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 25,825 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารสุขเสนอขอใช้เงินส่วนนี้จัดซื้อวัคซีนเพิ่ม เป็นต้น
แผนงานเยียวยาประชาชน วงเงิน 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 666,243 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 125,154 ล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่เหลือดังกล่าวจะนำไปใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564
“ขณะนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งในส่วนที่มีการใช้ไปแล้ว และส่วนที่กำลังจะน้ำสนอ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้มีการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว อาจเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่วงเงินกู้ที่อนุมัติไปแล้ว 8.1 แสนล้านบาท ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 2%” ดนุชากล่าว
ขณะที่ แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะไม่กู้ในคราวเดียว และจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมทั้งไม่ไปแย่งสภาพคล่องจากภาคเอกชน
“การบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้” แพตริเซีย ระบุ
@นักเศรษฐศาสตร์มองเงินกู้ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอวัคซีนโควิด
ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ขาดรายได้จากการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่นั่นอาจเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น
“ถ้าจะทำให้เกิดผล ผมกำลังพูดถึงวัคซีน เพราะสิ่งที่เราทำ เช่น การกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือการใช้เม็ดเงินทั้งหลายนั้น เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น สิ่งที่เราต้องการวันนี้ คือ เราต้องการวัคซีนให้มาให้เร็วที่สุด ต้องทำให้คนติดเชื้อลดลง ทำให้คนภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้คนมีความเชื่อมั่นและใช้จ่ายได้เร็วที่สุด” อมรเทพกล่าว
(อมรเทพ จาวะลา)
อย่างไรก็ตาม อมรเทพ เสนอว่า การใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ต้องทำให้เร็ว เพราะต้องไม่ลืมว่าผลกระทบจากการระบาดโควิดระลอก 3 นั้น เริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย.แล้ว ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนต้องทำให้ตรงจุด เพราะวงเงินตามแผนงานเยียวยาที่ตั้งไว้ 3 แสนล้านบาทนั้น เมื่อเฉลี่ยให้ประชาชนเป็นรายหัวแล้วจะพบว่าลดลงเมื่อเทียบกับวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
“อยากให้เน้นการช่วยเหลือเยียวยาให้ตรงจุด เพราะที่ผ่านมาเราหว่านแหค่อนข้างมาก และตอนนี้รัฐบาลก็มี BIG DATA ที่ได้จากลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือต่างๆ จึงน่าจะใช้ข้อมูลตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นใคร อาชีพอะไร เพื่อจะได้ทำให้เม็ดเงินลงไปได้ตรงจุด” อมรเทพกล่าว
อมรเทพ ย้ำว่า “วันนี้ภาครัฐต้องเป็นกองหน้าในการประคองเศรษฐกิจระยะสั้น…ส่วนหนี้สาธารณะจะชนเพดานหรือไม่ ไม่น่าจะใช่ปัญหา ถ้าหนี้สาธารณะจะทะลุ 60% ต่อจีดีพี ก็เป็นสิ่งที่รับได้ ถ้าหากเอามาแก้ปัญหาระยะสั้นในช่วงวิกฤติโควิด”
อ่านประกอบ :
เหลือ 5 แสนล.! แพร่ พ.ร.ก.กู้เงินฯใหม่ แก้โควิด-สธ.ได้ 3 หมื่นล.-คลัง 4.7 แสนล.
ครม.ผ่านร่างพ.ร.ก.กู้เงินล็อตใหม่ 7 แสนล้าน เยียวยาโควิด-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage