“...การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป้าหมายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะกลางให้ต่ำกว่าศักยภาพ และกระทบต่อนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล...”
...........
ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา สำหรับ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งประกอบด้วย 3 แผน ได้แก่ แผนการก่อหนี้ใหม่ 1,465,438.61 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม 1,279,446.80 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ 387,354.84 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว พบว่ามีรายละเอียด ดังนี้
แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,465,438.61 ล้านบาท ได้แก่
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล 1,346,170.52 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง 1,173,163.50 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 623,000 ล้านบาท 2.เงินกู้ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 550,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 163.50 ล้านบาท
(2) รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ (เงินกู้ในประเทศ) เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 74,007.02 ล้านบาท ประกอบด้วย
-การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ต่อ จำนวน 2 โครงการ 13,181.91 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ 18191 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 13,000 ล้านบาท
-การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ จำนวน 6 โครงการ 60,825.11 ล้านบาท ได้แก่ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา) 31,145.95 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง 10.44 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 6.08 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 8,614.40 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ 9,107.26 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร 11,940.98 ล้านบาท
(3) รัฐบาลกู้มาเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 99,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลังให้เพียงพอรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นครั้งคราว เพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยออกตั๋วเงินคลังระยะสั้นอายุไม่เกิน 120 วัน
2.แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (หนี้ในประเทศ) ของรัฐวิสาหกิจ 16 แห่ง วงเงินรวม 117,460.05 ล้านบาท
(ที่มา : มติครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564)
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,279,446.80 ล้านบาท ได้แก่
1.แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล 1,140,580.79 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ 1,094,080.79 ล้านบาท ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนด (Rollover) วงเงิน 914,080.78 ล้านบาm ประกอบด้วย
-หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ 609,815.96 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้ภายใต้พ.ร.ก.โควิด-19 พ.ศ.2563 จำนวน 50,000 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 109,000 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 1,017 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 90,872 ล้านบาท
-หนี้เงินกู้มาเพื่อให้กู้ต่อ 53,375.83 ล้านบาท
(2) การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565-67 วงเงิน 180,000 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ (หนี้ในประเทศ) 137,366.01 ล้านบาท
3.แผนการบริหารหนี้เดิมของหน่วยงานอื่นของรัฐ 1,500 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 387,354.84 ล้านบาท ได้แก่
1.แผนการชำระหนี้เดิมของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานรัฐจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 293,454.32 ล้านบาท
2.แผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ 93,900.52 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะฉบับนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่าการกู้เงินภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 57.23% ซึ่งไม่เกินกรอบ 60% ของจีดีพี จาก ณ สิ้นเดือนก.ย.2563 ที่คาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 8.21 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 51.64% ของจีดีพี (อ่านประกอบ : ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64)
อย่างไรก็ตาม จากแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ครม.เพิ่งอนุมัติไปนั้น พบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คือ แผนการบริหารหนี้ฯ ระบุว่า รัฐบาลจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบ 2564 (623,000 ล้านบาท) และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนด (Rollover) กรณีหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (609,815.96 ล้านบาท) หรือรวมแล้วเป็นเงินสูงถึง 1.23 ล้านล้านบาท
แต่ทว่าการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล จะไม่หยุดอยู่เท่านั้นแน่นอน
เริ่มจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในงบปี 2563 จากข้อมูลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 11 เดือนของปีงบ 2563 (ต.ค.2562-ส.ค.2563) พบว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.15 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.93 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12%
ในขณะที่การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 2 ที่ครม.อนุมัติไปเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 นั้น ให้การขยายกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเพียง 2.14 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้ว 4.69 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : โชว์มติครม.! ย้ำชัดรัฐ ‘ถังแตก’-เปิดวงเงินกู้เต็มเพดาน แต่อาจไม่พอ ‘ปิดหีบ’ งบปี 63)
จึงเท่ากับว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบ 2563 เพิ่มเติม ในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 7.9 หมื่นล้านบาท และหากผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนก.ย.2563 ต่ำกว่าเป้าหมาย ก็ต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2563 ขอบคุณภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
เช่นเดียวกับการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบปี 2564 เพราะแม้ว่าภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 2564 ได้กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2564 ไว้ที่ 6.23 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากรายงานการพิจารณางบปี 2564 ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2564 พบว่ามีการปรับลดคาดการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจาก 2.677 ล้านล้านบาท เหลือ 2.37 ล้านล้านบาท (อ่านประกอบ : ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า)
ดังนั้น หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และรัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบ 2564 อีกกว่า 3 แสนล้านบาท
นั่นทำให้สุดท้ายแล้ว หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปีงบ 2564 หรือ ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 จะไม่หยุดที่ระดับ 57.23% แต่จะมีโอกาสพุ่งทะลุ 'เพดานหนี้' ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ระดับ 60% ของจีดีพี
ประเด็นที่ 2 เมื่อพิจารณาจากแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล พบว่ามีการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอยู่ที่เพียง 7.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5.49% ของแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับน้อยมาก และอาจสะท้อนได้ว่าการกู้เงินใหม่ของรัฐบาลถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหา ‘เฉพาะหน้า’ เป็นหลัก
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งได้จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบ 2564-68) เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง พบว่ามีโครงการลงทุนตามความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง รวม 182 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 819,283.16 ล้านบาท
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปีเดิม (ปีงบ 2563-67) ซึ่งมีโครงการลงทุนรวม 238 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,201,118.71 ล้านบาท จะพบว่าเงินลงทุนลดลง 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความไม่ชัดเจนของนโยบายและรูปแบบการลงทุน และปัญหาความไม่พร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการ
“การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป้าหมายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะกลางให้ต่ำกว่าศักยภาพ และกระทบต่อนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล” คณะกรรมการฯให้ความเห็น
(ที่มา : มติครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564)
ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ และมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการฟื้นตัวให้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดนั้น แม้ว่าการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาและเยียวยาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าจะมีความจำเป็น
แต่สิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่อง คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับโลกหลังโควิด รวมถึงการค่าใช้จ่ายของภาครัฐลง
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเงินทุกบาทที่รัฐบาลกู้มาใช้จ่ายจะไม่คุ้มค่า สวนทางกับหนี้สาธารณะของประเทศที่พุ่งทะยานไม่หยุด
อ่านประกอบ :
‘4 นักเศรษฐศาสตร์’ มองศก.ปี 64 ยังเสี่ยงสูง-เชื่อรัฐไม่ถังแตก แต่ต้องใช้เงินให้ตรงจุด
ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
สภาถกงบปี 64 ปรับลดน้อย-จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เสี่ยงกู้ชดเชยจนทะลุเพดานหนี้
สภาเริ่มถกงบปี 64 วาระสอง ปรับลดเหลือ 3.28 ล้านล้าน ฝ่ายค้านห่วงเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า
หนี้พุ่ง-ฐานะ รบ.เปราะบาง? กางข้อสังเกต กมธ.วิสามัญฯหั่นงบปี 64 เหลือ 3.28 ล้านล.
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/