“…การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบ 2564 อาจต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 ลดลงกว่า 57% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวจะเป็นฐานในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิที่สำคัญในปี 2564…”
......................
ปิดหีบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2563 (1 ต.ค.2562-30 ก.ย.2563)
ผลปรากฏว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,389,655 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 341,345 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.5% และรัฐบาลนำส่งรายได้เข้าคลังทั้งสิ้น 2,346,197 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 194,021 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.6%
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวน 3,168,730 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 125,553 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,943,860 ล้านบาท (คิดเป็น 92% ของงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท) และการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อน 224,870 ล้านบาท
ส่งผลให้รัฐบาลมีการขาดดุลทั้งสิ้น 724,966 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การขาดดุลงบประมาณ 822,533 ล้านบาท และ2.เกินดุลนอกงบประมาณ 97,567 ล้านบาท
ขณะที่รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 784,115 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสด (หลังกู้เงินชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 59,149 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนก.ย.2563 เงินคงคลัง มีจำนวนทั้งสิ้น 572,104 ล้านบาท
แน่นอนว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าประมาณการในปีงบ 2563 และจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวนั้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าก่อนหน้านี้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับเป้าหมายเศรษฐกิจปี 2563 ใหม่ 'ดีขึ้น' โดยคาดว่าจีดีพีจะหดตัวเพียง -6% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -7.5% (อ่านประกอบ : จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง')
แต่ทว่าตัวเลขจีดีพีที่หดตัว -6% นั้น นั่นเท่ากับว่ามูลค่าจีดีพีที่เคยอยู่ที่ 16.87 ล้านล้านบาท ในปี 2562 จะลดลงเหลือ 15.71 ล้านล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่หายไปจากระบบ 1.16 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการทางภาษี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย.2563 และมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลง
เช่นเดียวกัน ปีงบประมาณปี 2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564) จะเป็นอีกหนึ่งปี ที่ภาวะการคลังของประเทศยังคงเผชิญกับภาวะที่ยากลำบาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลตามมา
ทั้งนี้ จากเอกสารงบประมาณปีงบ 2564 ซึ่งกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ 3,285,962.5 ล้านบาท และรัฐบาลได้ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบ 2564 ตามเอกสารงบประมาณ เท่ากับ 2,677,000 ล้านบาท สูงกว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบ 2563 จำนวน 287,345 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% นั้น
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ในเดือนต.ค.2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบ 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 167,358 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ตั้งไว้ 15,487 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 8.5 % และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 73,712 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.6%
“การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายและมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนและผู้ประกอบการ” เอกสารข่าว สศค. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ระบุ
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้นำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณา เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2565-68) โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง ประเมินว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบ 2564 อาจต่ำกว่าประมาณการ
เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 ลดลงกว่า 57% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวจะเป็นฐานในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิที่สำคัญในปี 2564
ที่สำคัญการจัดทำประมาณการรายได้ของรัฐบาลสุทธิที่ 2,677,000 ล้านบาทนั้น อยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 4.5% สูงกว่าที่ ธปท.ประเมินว่าจีดีพีปี 2564 จะเติบโตแค่ 3.2% (อ่านประกอบ : พร้อมใช้ในจังหวะ ‘เหมาะสม’! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%-หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือโต 3.2%)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท.ให้ความเห็นต่อที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากและมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งเงินภายใต้สถานการณ์จำลองต่าง ๆ (Scenario Planning)
โดยเฉพาะภายใต้กรณีเลวร้าย (Worse Case) ที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าคาดหรือกรณีที่มีการระบาดรอบสอง พร้อมเตือนว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าคาด (อ่านประกอบ : ประกาศใช้พ.ร.บ.งบปี 64! วงเงิน 3.28 ล้านล้าน-'แบงก์ชาติ' ห่วงรัฐเก็บรายได้ต่ำเป้า)
อย่างไรก็ดี การเตรียมความพร้อมในกรณีรัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในปีงบ 2564 รัฐบาลสามารถกู้เงินได้อีก 7 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจึงจะชนเพดานที่ระดับ 60%
“ถ้าหารายได้ไม่พอ ก็ไม่น่าเป็นห่วง สามารถบริหารจัดการได้ ไม่มีปัญหาฐานะการคลัง เพราะยังมีช่องว่าง ที่กระทรวงการคลังกู้ได้อีก 7 แสนล้านบาท ถึงจะชนเพดานที่ 60% ของจีดีพี รวมทั้งยังมีเงินคงคลังพร้อมใช้อีก 5.7 แสนล้านบาท” กฤษฎา ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา
(กฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่มาภาพ : กระทรวงการคลัง)
เหล่านี้เป็นภาพรวมของ ‘สถานะการคลัง’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น 'ขุนคลัง' ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อสำคัญว่า ควบคุมการระบาดได้หรือไม่
แต่ถึงกระนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่า ปีงบ 2564 จะเป็นอีกปีที่รัฐบาลต้องกู้เงิน 'เพิ่มเติม' เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จากการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้า!
อ่านประกอบ :
ขาดดุลเพิ่มอีก 2.77 ล้านล.ใน 4 ปี! ครม.ไฟเขียวแผนคลังระยะปานกลาง-เคาะเป้าเงินเฟ้อ 1-3%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
ชำแหละแผนบริหารหนี้ปีงบ 64 จับตากู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง-หนี้สาธารณะทะลุเพดาน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/