“…สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่อง เฉพาะสถาบันการเงินของรัฐเรามีสภาพคล่องเหลืออยู่ 2.86 แสนล้านบาท ส่วนซอฟท์โลนของแบงก์ชาติมีเหลืออยู่ 3.7 แสนล้านบาท ทำให้เรามีวงเงินสภาพคล่อง 6.38 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆสามารถติดต่อสถาบันการเงินของรัฐได้ทุกแห่งทุกเวลา…”
..................
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ออกมาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดแล้ว
เริ่มจาก ธปท. ล่าสุดได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยให้ลูกหนี้ยื่นขอขยายระยะเวลาพักชำระหนี้หรือชะลอหนี้ออกไปได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 จากเดิมที่สิ้นสุด 30 ธ.ค.2563
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในภาคแรงงาน ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
@ขยายเวลาพักหนี้ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี 6 เดือน
1.ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค.2563 โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์
2.ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทนั้น สามารถยื่นเรื่องต่อสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้หรือชะลอการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยมีแนวทาง ดังนี้
-ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น
-ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม
-พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan
-ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม
“มาตรการเร่งด่วนในช่วงนี้ จะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกสอง โดยธปท.จะออกหนังสือเวียนแจ้งมาตรการดังกล่าวไปยังสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ให้เร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งหนังสือจะออกมาในช่วงเย็นวันนี้ (12 ม.ค.)” รณดลกล่าว
@ธปท.กำชับสถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้
รณดล ย้ำว่า มาตรการพักการชำระหนี้หรือการชะลอหนี้ เป็นเพียงการประวิงเวลา เพราะยอดหนี้ยังเท่าเดิมหรือมากกว่านั้นเมื่อครบกำหนดการชะลอหนี้ ดังนั้น สิ่งที่ธปท.ต้องการเห็น คือ การเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เพื่อตอบโจทย์ระยะยาวให้ลูกหนี้ ขณะเดียวกัน ธปท.จะหารือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้หากมีความจำเป็น
วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยว่า ธปท.ได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำในแต่ละประเภทสินเชื่อ ซึ่งลูกหนี้ปกติสามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการทางการเงินได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 ดังนี้
1.ประเภทสินเชื่อบัตรเครดิต ลูกหนี้สามารถยื่นขอเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 12% และให้ผู้ให้บริการทางการเงินพิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
2.ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ให้ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำตามความสามารถในการชำระหนี้ หรือเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือขยายเวลาชำระหนี้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 22% และให้ผู้ให้บริการทางการเงินพิจารณาให้ใช้วงเงินที่เหลือตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
3.ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22%
4.ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อ ไม่จำกัดวงเงิน (เดิม : มอเตอร์ไซด์ ไม่เกิน 35,000 บาท และรถยนต์ทุกประเภท ไม่เกิน 250,000 บาท) ให้เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาชำระหนี้
5.สินเชื่อบ้าน ไม่จำกัดวงเงิน (เดิม : ไม่เกิน 3 ล้านบาท) ให้เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือเลื่อนชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาชำระหนี้
ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา หรือมาตรการขั้นต่ำ หรือมาตรการอื่นๆ ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ และให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีแผนปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระหนี้ 3 เดือนจนเป็น NPL สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ของธปท.ได้
วิเรขา ระบุว่า ข้อมูล ณ เดือน พ.ย.2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของธปท. ประมาณ 11 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 5.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้รายย่อย 10 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท
@ชงครม.เยียวยารายละ 3,500 บาท-กดเงินเร็วสุดภายในม.ค.นี้
ขณะที่ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แถลงหลังการประชุมครม. ว่า ในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า หรือในวันที่ 19 ม.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม.พิจารณามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ โดยการจ่ายเงินเยียวยารายละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) และเมื่อครม.เห็นชอบแล้ว จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านโครงการ ‘เราชนะ’ www.เราชนะ.com
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าจะโอนเงินเยียวยาฯให้ประชาชนที่ได้สิทธิอย่างเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนม.ค. หรือช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.2564
“เราจะให้พี่น้องประชาชนกดเงินได้ภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้เป็นอย่างเร็ว หรืออย่างช้าก็เป็นสัปดาห์แรกของเดือนก.พ.2564 โดยผู้ที่จะได้สิทธิ์ต้องลงทะเบียนผ่านโครงการ ‘เราชนะ’ ซึ่งได้มีการเตรียมการเอาไว้แล้ว” อาคมกล่าว
ขณะเดียวกัน ในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบการเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ 1 ล้านสิทธิ์ โดยสิทธิ์ทั้ง 1 ล้านสิทธิ์ดังกล่าว มาจากโครงการคนละครึ่งเฟส 1 ที่เหลือสิทธิ์ 5 แสนสิทธิ์ และโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ที่เหลือสิทธิ์อีก 5 แสนสิทธิ์ เนื่องจากมีผู้ไม่ผ่านคุณสมบัติหรือไม่มีการใช้เงินภายใน 14 วันหลังได้รับสิทธิ์ หากครม.เห็นชอบจะเปิดลงทะเบียนวันที่ 20 ม.ค. และใช้เงินได้วันที่ 25 ม.ค.2564
นอกจากนี้ ในการประชุมครม.อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรือในวันที่ 26 ม.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม.พิจารณาให้เห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ออกไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายภาษีให้ประชาชน พร้อมทั้งเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% จากปกติ 2%
อาคม กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งอยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย
1.การขยายระยะเวลาการยื่นคำขอสินเชื่อใน 3 โครงการ ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 ได้แก่ โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานรากของธนาคารออมสิน (สินเชื่อรายละ 50,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน) ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อเหลืออยู่ 7,500 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (สินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือ 11,400 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ 2,000 ล้านบาท
@พร้อมอัดฉีดสภาพคล่อง 6.38 หมื่นล้าน ช่วยธุรกิจ
2.มาตรการเสริมสภาพคล่องและค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งปัจจุบันคึ่งมีโดยเฉพาะในส่วนการค้ำประกันสินเชื่อนั้น ในช่วงเดือนธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติให้ บสย. เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อในวงเงินสินเชื่อ 1.7 แสนล้านบาท แล้ว
ส่วนซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เหลืออยู่ 3.7 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังจะประสานความร่วมมือกับธปท.ในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อซอฟต์โลนได้มากขึ้น
“สำหรับมาตรการเสริมสภาพคล่อง เฉพาะสถาบันการเงินของรัฐเรามีสภาพคล่องเหลืออยู่ 2.86 แสนล้านบาท ส่วนซอฟท์โลนของแบงก์ชาติมีเหลืออยู่ 3.7 แสนล้านบาท ทำให้เรามีวงเงินสภาพคล่อง 6.38 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆสามารถติดต่อสถาบันการเงินของรัฐได้ทุกแห่งทุกเวลา” อาคมกล่าว
@คลังสั่งแบงก์รัฐเร่งช่วย'ลูกหนี้'หลังขยายพักหนี้
3.มาตรการบรรเทาภาระหนี้และพักชำระหนี้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง เร่งพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2.พักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ย 3.พักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย และยืดเวลาชำระหนี้ และ4.การปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขยายมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 แล้ว
ด้าน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 จะให้ความสำคัญกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ส่วนการเยียวยาประชาชนรายละ 3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนจะใช้เงินเท่าใดนั้น จะมีการเสนอรายละเอียดให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
@เพิ่มชดเชยว่างงานจากเหตุ ‘เลิกจ้าง’ เป็น 70% ของค่าจ้าง
ส่วน ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตการช่วยเหลือแรงงาน โดยลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของลูกจ้างเหลือ 3% และนายจ้างเหลือ 3% เริ่มตั้งแต่ม.ค.-มี.ค.2564 พร้อมทั้งให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แรงงาน โดยลูกจ้างที่ว่างงานจากการถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชย 70% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมที่ชดเชย 50% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 180 วัน
ขณะที่แรงงานที่ว่างงานเพราะลาออกจะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมที่ชดเชย 30% ของค่าจ้าง ปีละไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งเกิดขึ้นจากประกาศของทางราชการที่สั่งปิดพื้นที่หรือหยุดการปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆ จะได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน และหากเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างก่อนหยุดการจ้างเป็นการชั่วคราว
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้าย) สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (กลาง) ดนุชา พิชยนันท์ (ขวา)
@ลดค่าไฟฟ้า-น้ำประปา 2 เดือน
ส่วนการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ประชาชน ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ต ให้ประชาชนและผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) โดยรัฐบาลจะเข้าไปอุดหนุนในส่วนของการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเงิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ และลดเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1.ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 ดังนี้
-ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
-ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
(1) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธ.ค.2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
(2) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธ.ค.2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้
(2.1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วย การใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธ.ค.2563
(2.2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธ.ค.2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ในอัตรา 50%
(2.3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธ.ค.2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 62563 ในอัตรา 70% โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
-ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
2.ค่าน้ำประปา ให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนก.พ.-มี.ค.2564
3.ค่าอินเทอร์เน็ต ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมในการพิจารณากำหนดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน (อ่านประกอบ : ใช้งานแอปฯหมอชนะไม่เปลืองเน็ต! ค่ายมือถือรับลูก ‘ดีอีเอส-กสทช.’ ร่วมเฝ้าระวังโควิด)
นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยให้ผู้ใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่จองที่พักในช่วงม.ค.-ก.พ.2564 สามารถเลื่อนการใช้สิทธิ์ไปจนถึงเดือนเม.ย.2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้กระทรวงแรงงานทบทวนเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาให้โดยภาครัฐและเอกชน เช่น ขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมเฉพาะเด็กจบใหม่ ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ด้วย
@บิ๊กตู่ยันรัฐบาลมีเงิน 6 แสนล้านพอรับมือโควิด
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยยังเหลือเงินกู้จากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท และมี งบกลางของงบปี 2564 ซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉินและเร่งด่วนอีก 1.3 แสนล้านบาท รวมกันแล้วมีเงินทั้งหมด 6 แสนล้านบาท
“เรื่องเงินเราไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า เรารับมือโควิดได้” พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆจะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะลดค่าน้ำ-ไฟ-เน็ต พร้อมสั่งคลังทำแผนแจกเงิน 3,500 เยียวยาโควิด 2 เดือน
ยึดแผนแม่บทเฉพาะกิจโควิด-ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น! ‘บิ๊กตู่’ มอบนโยบายจัดทำงบปี 65
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/