“…กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวน ต้องยึดข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติดังกล่าวว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมิต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิสูจน์สิทธิ์อีก เพียงแต่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรังวัดแนวเขตว่าที่ดินที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น…”
............................
จากกรณีที่อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
ต่อมา พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/22162 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. (อ่านประกอบ : ไม่เชื่อ'แผนที่'ตามคำพิพากษา! ฉบับเต็ม‘คกก.สอบสวน’ยก 4 เหตุผล ไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’)
กระทั่งต่อมา วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. ได้ทำหนังสือ ที่ รฟ1/2780/2567 เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 12 พ.ย.2567 ส่งไปถึงอธิบดีกรมที่ดิน นั้น (อ่านประกอบ : 'วีริศ' ส่งหนังสือถึง 'อธิบดีกรมที่ดิน' เพิกถอนมติคกก.สอบสวน 'เขากระโดง')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอหนังสืออุทธรณ์ฯของ รฟท. ที่ส่งไป ‘กรมที่ดิน’ ซึ่งมีความยาว 20 หน้ากระดาษ โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 3 ตอน โดยใน ตอนที่ 1 นี้ รฟท. ยืนยันที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเป็นของ รฟท. ดังนั้น กรมที่ดินที่ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. โดยไม่ต้องพิสูจน์สิทธิอีก มีรายละเอียด ดังนี้
@มติ‘คกก.สอบสวน’เป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกม.
ตามหนังสืออธิบดีกรมที่ดินได้แจ้งความเห็นของอธิบดีที่เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ว่า ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเห็นควรยุติเรื่อง
ในกรณีนี้ หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า มีสิทธิในที่ดินกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไป นั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและมติของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำโดยไม่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ และมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น รวมถึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ จึงขออุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวน ตามประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้
ข้อ 1 เหตุผลและวัตถุประสงค์ที่อธิบดีกรมที่ดินต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ทั้งสองฉบับ ระบุว่า ด้วยความปรากฏว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน 44 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 18 ฉบับ ซึ่งออกการเดินสำรวจ ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 68 ฉบับดังกล่าว บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 222 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน 1195/2566)
และด้วยความปรากฏว่า โฉนดที่ดินจำนวน 61 ฉบับ และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 28 ฉบับ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตำบล อิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
และต่อมาหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจำนวน 89 ฉบับ บางฉบับได้มีการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จำนวน 616 ฉบับ เป็นผลให้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงแบ่งแยกดังกล่าวคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย (ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน 1196/2566)
วัตถุประสงค์อันเป็นสาระสำคัญของการออกคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินทั้งสองฉบับข้างต้น จึงเป็นไปเพื่อดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนว่าเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามที่ปรากฏในคำสั่งดังกล่าวนั้น ออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว
ย่อมถือว่าเป็นการออกเอกสารแสดงสิทธิคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะส่งผลให้อธิบดีกรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวต่อไป
เพื่อให้การดำเนินการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ข้างต้น อธิบดีกรมที่ดิน ในฐานะผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจุดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
และต้องกำกับตรวจสอบให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสอบสวนให้เป็นไปตามกฎหมาย ถูกต้องเป็นธรรม สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่มีและปรากฏอยู่หรือไม่ เพียงใด ก่อนที่อธิบดีกรมที่ดินจะใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและสั่งยุติเรื่อง
@ยก‘หลักฐาน’ยันที่ดินแยก‘เขากระโดง’เป็นของ‘การรถไฟฯ’
การรถไฟแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นได้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ที่ดินตามเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินตามจำนวนแปลงที่ระบุไว้ในคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน บริเวณทางแยกเขากระโดงนั้น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบและใช้อ้างอิงยืนยันได้ มีดังนี้
1.1 เมื่อครั้งที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้คัดค้านการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของกรมที่ดินและจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือ ที่ บร 0011/13853 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 เสนอข้อหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเข้ากระโดงในท้องที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่ราษฎรบางราย
แต่การถไฟแห่งประเทศไทยอ้างว่าที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 พิจารณาแล้วเห็นว่า
ที่ดินที่ราษฎรครอบครองบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินได้สำรวจและจัดทำขึ้น เพื่อใช้ในการจัดซื้อที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464
แต่ที่ดินในส่วนที่หารือนั้นมิได้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะในแผนที่กำหนดไว้ว่า เป็นที่ป่ายังไม่มีเอกชนครอบครองทำประโยชน์ แม้ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ได้กำหนดแนวเขตอย่างกว้างไว้สำหรับการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟและไม่มีผลเป็นการเวนคืนตามความเห็นของผู้แทนของกรมที่ดินก็ตาม
แต่เมื่อได้สำรวจเส้นทางที่แน่นอนและทราบจำบจำนวนที่ดินที่ดินที่จำเป็นต้องใช้แล้ว ก็จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินจากเอกชนและยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ เป็นตอนๆ ซึ่งแนวทางที่สำรวจแน่นอนแล้วนี้ ประกอบด้วยที่ดินของเอกชนที่ต้องจัดซื้อตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเชตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐที่ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อแต่มีสภาพเป็นที่ดินหวงห้ามไว้ใช้ในราชการ
การยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์ทางทางรถไฟหลวงฯ ย่อมหมายถึงการยกเลิกสงวนหวงห้ามที่ดินส่วนที่เป็นของเอกชนในส่วนที่นอกเหนือจากแนวเขตที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินฯ เท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด
เมื่อปรากฏว่าการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางรถไฟ ในปี พ.ศ.2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถไฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ดินบริเวณที่หารือ ซึ่งเป็นทีดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินในขณะนั้นมีสภาพเป็นป่าที่ยังไม่ผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับก่อสร้างทางรถไฟ
จึงถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจัดเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งตอบข้อหารือดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ตามหนังสือที่ นร 0601/211 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2541 ซึ่งตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งสองฉบับก็อ้างอิงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวไว้เช่นกัน
1.2 ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 สรุปความได้ว่า จากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนที่แยกออกจากเส้นทางแยกเขากระโดงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหินหรือศิลาที่ย่อยในพื้นที่เขากระโดง เพื่อนำหินไปใช้ก่อสร้างในทางรถไฟสายหลักในเส้นทางดังกล่าว
ทางรถไฟที่แยกออกอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 375+650 มีความยาวแยกออกไป 8 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2462 ขณะนั้นประเทศไทยใช้ระบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินในบริเวณพิพาทข้างต้นเป็นของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 6)
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานกว่า 90 ปี จึงเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ซึ่งมีความยาว 8 กิโลเมตร และความกว้างตามที่ระบุในแผนที่ คิดเป็นพื้นที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
เป็นที่ดินที่ข้าหลวงพิเศษซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบสราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462 ดำเนินการสำรวจและวางแนวการก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก และดำเนินการจัดซื้อที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรแรก อันเป็นบริเวณที่มีเจ้าของรวม 18 ราย และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง อันเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของและเป็นแหล่งหินที่ใช้ในการสร้างทางรถไฟ
สำหรับการเข้าครอบครองที่ดิน 4 กิโลเมตรแรก อันเป็นบริเวณที่มีเจ้าของรวม 18 ราย และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง อันเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของและเป็นแหล่งที่ใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟสำหรับการเข้าครอบครองที่ดิน 4 กิโลเมตรแรกนั้น
ปรากฏว่ารายชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 18 ราย ที่ระบุในแผนที่ตรงกับรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงิน ค่าทำขวัญในในใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญสำหรับทรัพย์ทุกประเภททที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อใช้เพื่อประโยชน์รถไฟ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2469 (ที่ถูกต้อง คือ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2467)
และการที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ระบุว่า ในช่วงเวลาสองปีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างไม่มีเจ้าของ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
และกรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของเป็นที่หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้ ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดินจึงมีอำนาจเข้ายึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กิโลเมตรหลังถัดไปด้วย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึง อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ทั้งยังใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี
ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมไฟแผ่นดินดังกล่าว เป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในความหมายว่า “ที่ดินรถไฟ” ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
1.3 ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ปรากฏจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์กับนายวิรัตน์... ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน จำเลย ซึ่งคำพิพากษาระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกา เอกสารหมาย จ.9 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึง อุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 หมายถึงการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินซึ่งเป็นของเอกชนในส่วนนอกเขตแนวที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อเท่านั้น มิใช่การยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด
และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก ทั้งยังใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีด้วย ย่อมถือว่าที่ดินและที่ดินพิพาท ตามแผนที่กรมรถไฟแผ่นดินฯ เอกสารหมาย จ.7 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เอกสารหมาย จ.4
อันเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า ที่ดินรถไฟ ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 มาตรา 3 (2) ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดิน ตามมาตรา 25 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6(1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว”
1.4 มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกล่าวหา เลขดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหาแดงที่ 14999054 ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช ได้มีหนังสือ ลับ ที่ ปช 0018 ลงวันที่ 14 กันยายน 2559 แจ้งไปยังกรมที่ดินว่า
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 เนื่องจากออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และแจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
1.5 ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดง ที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อธิบดีกรมที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในบริเวณเขากระโดงไว้ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำ ที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า
ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสาย โคราช-อุบล ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464
และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.ศ.2557
ประกอบกับเมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561
และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวนพร้อมจำหน่าย ส.ค. 1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 ฉบับ ของประชาชนจำนวน 35 ราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560
รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดข้างต้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับช้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี
แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดีและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ปรากฎเป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
อีกทั้งที่ดิน บริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึง มีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่”
@‘กรมที่ดิน’ต้องเพิกถอน‘เอกสารสิทธิ์’ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ์อีก
เมื่อข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฎจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา มติและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ดังที่ได้อ้างในอุทธรณ์ข้อ 1.1 ถึง 1.5 ข้างต้น ได้ผลสรุปสอดคล้องกันว่า
ที่ดินบริเวณเขากระโดงที่กรมที่ดินได้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกในที่ดินดังกล่าวบางแปลง ซึ่งเป็นวัตถุพิพาทในคดีด้วยแล้ว
อธิบดีกรมที่ดินเอง ก็ยอมรับในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยการยกเลิกการออกเอกสารสิทธิที่มีการยื่นคำขอจำนวน 35 รายกว่า 40 ฉบับ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงตามแนวเขตที่ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาไว้นั้น เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
และเมื่อที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว คำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน อันเป็นคุณแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่ความในคดี ย่อมใช้ยืนยันแก่บุคคลภายนอกได้
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีย่อมถือได้ว่า มีความปรากฏว่า ได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน มีอำนาจสั่งเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และเป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง และยังเป็นจำเลยในคดีที่มีการฟ้องร้องตามคำพิพากษาฎีกาที่ 842-876/2560 และยังเป็นคู่กรณีในคดีของศาลปกครอง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
คำพิพากษาของศาลที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีผลผูกพัน และใช้ยันกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินให้ต้องปฏิบัติตามด้วย อธิบดีกรมที่ดินจะมากล่าวอ้างว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงมิใช่ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิได้
เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีชื่อในเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินและครอบครองที่ดินแต่ละแปลงจะไปดำเนินการใช้สิทธิทางปกครองและทางศาล เพื่อพิสูจน์สิทธิของตนเองว่าตนเองมีสิทธิกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างไร
เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น ก็เพื่อให้การดำเนินการพิสูจน์สิทธิในเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินนั้น เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ยังไม่มีข้อยุติว่าการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินออกมาโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่กรมที่ดินออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงนั้น เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ดังนั้น กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวน ต้องยึดข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติดังกล่าวว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมิต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิสูจน์สิทธิอีก เพียงแต่มีหน้าที่ในการตรวจสอบรังวัดแนวเขตว่าที่ดินที่มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น
เหล่านี้เป็นรายละเอียดหนังสืออุทธรณ์ของ ‘รฟท.’ ที่ส่งไปถึง ‘กรมที่ดิน’ อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ ซึ่ง รฟท. ยกหลักฐานต่างๆ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลฯ ยืนยันว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เป็นที่ดินของ รฟท. โดยกรมที่ดินมีหน้าที่ต้องออกคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์เท่านั้น!
อ่านประกอบ :
'วีริศ' ส่งหนังสือถึง 'อธิบดีกรมที่ดิน' เพิกถอนมติคกก.สอบสวน 'เขากระโดง'
สอบเขากระโดงล่ม! กมธ.ที่ดินเผย องค์ประชุมไม่ครบก่อนขอมติ
‘เลขาฯกฤษฎีกา’ ชี้ต้องยึดคำพิพากษาเป็นหลัก ‘เขากระโดง’ ‘รฟท.-กรมที่ดิน’ แค่สื่อสารไม่ตรงกัน
‘กรมที่ดิน’ แจง ‘ที่ดินเขากระโดง’ ‘รถไฟ’ไร้เอกสารหลักฐานยืนยัน
‘รถไฟ’ ยื่นศาลปค.อธิบดีทำไม่ครบที่ดิน‘เขากระโดง’-‘อนุทิน’ยันไม่มีช่วยใคร
ย้อนคำวินิจฉัย'ศาลปค.' คดีถอนโฉนด'เขากระโดง'-ก่อน‘กรมที่ดิน’โยน‘รฟท.’ฟ้องขับไล่'รายแปลง'
ไม่ขัดแย้งคำพิพากษา!‘กรมที่ดิน’แจงไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’-แนะ‘รฟท.’ฟ้องขับไล่‘รายแปลง’
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ จี้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง มาเป็นของ รฟท.
‘รฟท.’เร่งสรุปท่าทีทวงคืน‘เขากระโดง’-ข้องใจ‘คกก.สอบสวน’ไม่รับ‘แผนที่’ยกสู้คดีในศาลจนชนะ
ไม่เชื่อ'แผนที่'ตามคำพิพากษา! ฉบับเต็ม‘คกก.สอบสวน’ยก 4 เหตุผล ไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’
โยน‘รฟท.’พิสูจน์สิทธิ์ในศาล! ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’มีมติไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
‘สนง.ที่ดินบุรีรัมย์’ส่งหนังสือแจ้ง‘รฟท.’รังวัด‘เขากระโดง’เสร็จแล้ว-พร้อมแนบระวางแผนที่
รังวัดฯเสร็จแล้ว! ‘กรมที่ดิน’จ่อชงข้อมูล‘คณะกรรมการสอบสวน’ชี้ขาดเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’
รฟท.ลงพื้นที่นำชี้แนวเขต'เขากระโดง'-'กรมที่ดิน'แจงกม.ขีดเส้นรังวัดฯให้เสร็จภายใน 50 วัน
ย้อนไทม์ไลน์ 1 ปี เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ไม่คืบหน้า-‘กรมที่ดิน’นัด'รฟท.'ชี้เขตรังวัดที่ดิน
8 เดือนไม่เพิกถอน! ‘กรมที่ดิน’รังวัดเขตที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ใหม่-รฟท.ติดเรื่องค่าใช้จ่าย
เปิดหนังสือทนายตระกูล‘ชิดชอบ’ อ้าง 9 ข้อเท็จจริง ค้าน‘คกก.สอบสวน’เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’
แผนที่เขตรถไฟฯมีพิรุธ! ทนายตระกูล‘ชิดชอบ’ยกต่อสู้ ปมถอนโฉนดเขากระโดง-ชี้ศก.บุรีรัมย์ชะงัก
ไม่เกี่ยวถอนโฉนดเขากระโดง!‘ชยาวุธ’เปิดใจลาออกอธิบดีที่ดินดูแลภรรยาป่วย
เปิดตำแหน่งโฉนด’ตระกูล‘ชิดชอบ’ทับที่รถไฟฯ‘เขากระโดง’-‘ฝ่าย กม.’แจงซื้อโดยสุจริต
จ่อโดนเพิกถอน! ชัดๆเปิด‘โฉนด-น.ส.3’ตระกูล’ชิดชอบ’ 20 แปลง 288 ไร่ ทับที่ดิน‘เขากระโดง’
ก่อน‘ชยาวุธ’ทิ้งเก้าอี้อธิบดี! พบ‘คกก.สอบสวน’แจ้งเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’รุกที่หลวง 2 แปลง
'อนุทิน'ปัดการเมืองกดดัน 'อธิบดีกรมที่ดิน'ยื่นลาออก อย่าโยงปมพิพาท‘เขากระโดง’
การบ้าน‘อนุทิน’นั่ง‘มท.1’! แก้โจทย์สายสีเขียว-เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ต่อสัญญาซื้อน้ำ‘กปภ.’
ลุยเพิกถอนโฉนด 5 พันไร่!‘กรมที่ดิน’ไม่อุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’-แจ้งศาลฯตั้ง‘คกก.สอบสวน’แล้ว
‘รฟท.’ยื่นอุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’ปมเรียกค่าเสียหาย 707 ล้าน-รอ‘ศาลปค.’แจ้งท่าที‘กรมที่ดิน’
เส้นตาย 30 เม.ย.! ‘รฟท.’จับตา‘กรมที่ดิน’ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ฉบับเต็ม! พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน ‘ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ถอนโฉนด‘เขากระโดง’
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ยันไม่ละเลยเพิกเฉย! ‘กรมที่ดิน’ลุ้น‘ศาลปค.กลาง’ตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้
‘ศาลปค.’นัดตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้-‘ตุลาการฯ’ชี้‘กรมที่ดิน’ละเลยหน้าที่
'ศาลปค.'นั่งพิจารณานัดแรก คดี'รฟท.'ฟ้อง'กรมที่ดิน'ขอสั่งเพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' 5 พันไร่
เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’