“…และแม้ในที่สุดศาลปกครองจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้การรถไฟฯชนะคดี คำพิพากษาดังกล่าว ก็จะไม่มีผลในการที่จะขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินให้ออกไปจากที่ดินของการรถไฟฯได้ การจะดำเนินการขับไล่และเรียกคืนที่ดิน การรถไฟฯจะต้องไปฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกเป็นรายบุคคลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รู้เห็น ยินยอมให้มีการดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าว จึงส่อว่ามีเจตนาที่จะหน่วงเวลาในการเรียกคืนที่ดินคืนให้การรถไฟฯ...”
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ,ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ,วิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย , สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ
นิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย , มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ ,พัฒนา สัพโส ส.ส.พรรคเพื่อไทย , กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาชาติ และ ธงชาติ รัตนวิชา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.ร. ปี 2540
เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนฯ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รวม 3 เรื่อง โดยมี 2 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินรถไฟฯ ‘กระโดง’ จ.บุรีรัมย์ (อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปคำร้องของแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนฯ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ย้อนข้อเท็จจริงที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง
1.ที่ดินบริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ เป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตตามประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงลงวันที่ 8 พ.ย.2562 เพื่อให้กรมรถไฟหลวงในขณะนั้น หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปัจจุบัน ได้สร้างทางรถไฟตั้งแต่ จ.นครราชสีมาไปยัง จ.บุรีรัมย์ จนถึง จ.อุบลราชธานี
2.เมื่อประมาณวันที่ 9 พ.ย.2513 ได้เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่าง นายชัย ชิดชอบ ซึ่งเป็นบิดาของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับประชาชนผู้บุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดงดังกล่าว จึงมีการเจรจากัน โดย นายชัย ชิดชอบ ยอมรับว่าที่ดินที่ตนเองครอบครองนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และได้ทำหนังสือขออาศัยที่ดินของการรถไฟฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2515 นายชัย ชิดชอบ ได้นำที่ดินที่ครอบครองอยู่ดังกล่าว ไปขอออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และต่อมาได้โอนให้กับ นางละออง ชิดชอบ ภริยาของตน ซึ่งเป็นมารดาของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวได้โอนขายให้กับ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด
3.ในช่วงปี 2539 ได้เกิดข้อพิพาทที่ดินบริเวณเขากระโดงขึ้น จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือ ที่ บร.0011/13853 ลงวันที่ 18 ก.ค.2540 ส่งปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย และมีความเห็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) มีความเห็น เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2541 ว่า ที่ดินที่ราษฎรครอบครองบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3(2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 และแจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์ทราบตามหนังสือที่ นร 0601/211 ลงวันที่ 17 ม.ค.2541
4.เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2554 ปรากฎข้อเท็จจริงในรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหาผู้ว่าการรถไฟฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีนายชัย ชิดชอบ ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และนางกรุณา ชิดชอบ ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งออกทับที่ดินการรถไฟฯ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีหนังสือลับที่ ปช. 0018/1085 ลงวันที่ 14 ก.ย.2554 ถึงผู้ว่าการรถไฟฯ ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว
5.เมื่อปี 2554 ได้มีประชาชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินบริเวณเขากระโดง 35 ราย ยื่นฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดินเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555
คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์ทั้ง 35 รายครอบครองอยู่เป็นที่ดินของการรถไฟฯ จึงพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินให้การรถไฟฯในสภาพเรียบร้อย
ต่อมาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 842-876/2560 เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 ว่า ที่ดินที่โจทก์ทั้ง 35 ราย ครอบครองอยู่นั้น เป็นที่ของการรถไฟ ตามมาตรา 3 (2) (11) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 6 (12) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464
6.เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2561 ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 8027/2561 ในคดีที่ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟฯ และนายสมศักดิ์ คะริบรัมย์ ในคดีที่การรถไฟฯ และนายสมศักดิ์ฯ คัดค้านการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินของหนังสือการรับรองการทำประโยชน์ (ส.ส.3ข) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนเป็นที่ดินรถไฟ ตามมาตรา 3 (2) ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 25 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 (1) และ (2) ตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น
7.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ซึ่งการรถไฟฯได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิรัตน์ วงศ์พิพัฒน์ชัย ที่ 1 กับพวก ขอให้ขับไล่ ละเมิด เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 5272, 2971 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าว และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่การรถไฟฯ ซึ่งต่อมาการรถไฟฯ ได้ดำเนินการบังคับคดีให้ที่ดินกลับมาเป็นของการรถไฟฯ แล้ว
@‘ที่พักศักดิ์สยาม-บ.เครือญาติ’ ตั้งอยู่ในที่ดินเขากระโดง
8.ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยย้ายมาอยู่ในบ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2546 ซึ่งบ้านเลขที่ดังกล่าวยังใช้เป็นที่ตั้งของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และ หจห. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ด้วย
แม้ต่อมาในปี 2560 บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ ณ บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 4 และเมื่อปี 2561 หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้ย้ายไปอยู่ ณ บ้านเลขที่ 30/17 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ก็ตาม แต่ที่ตั้งกิจการทั้ง 2 แห่ง และที่ดินที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถือครองอยู่ ก็ยังคงอยู่บนที่ดินบริเวณเขากระโดง อันเป็นที่ดินของการรถไฟฯ
9.นอกจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะได้ถือครองที่ดินบริเวณเขากระโดงแล้ว ยังมีบุคคลที่เป็นเครือญาติของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนิติบุคคลที่เครือญาติของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ถือครองที่ดินและใช้ที่ดินบริเวณเขากระโดงในการประกอบกิจการต่างๆรวม 12 แปลง คิดเป็นเนื้อที่รวม 179 ไร่ 1 งาน 43.3 ตารางวา ได้แก่
1) โฉนดเลขที่ 3466 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพัก เลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
2) โฉนดเลขที่ 8564 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ถือครองโดย นางกรุณา ชิดชอบ ภริยาของ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
3) โฉนดเลขที่ 3742 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด
4) โฉนดเลขที่ 3733 เนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด
5) โฉนดเลขที่ 3476 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด
6) โฉนดเลขที่ 2847 เนื้อที่ 10 ไร่ 18 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด
7) โฉนดเลขที่ 3477 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 22.4 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้ บริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด เช่า มีกำหนดเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 1 เม.ย.2554-31 มี.ค.2584 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ สมาคมฟุตบอลช้างอารีน่า โดยบริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด มี นางสาวชิดชนก ชิดชอบ เป็นกรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่
8) โฉนดเลขที่ 24091 เนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 8.2 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และ บริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด เช่า มีกำหนด 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2554-31 มี.ค.2584 และบริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด ได้ให้ บริษัท บุรีรัมย์ยูไนเต็ด สปอร์ตโฮเต็ล จำกัด เช่าช่วงต่อทำเป็นโรงแรม ซึ่งบริษัทบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สปอร์ตโฮเต็ล จำกัด มี นางสาวชิดชนก ชิดชอบ เป็นกรรมการ ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ บริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด และนางสาวชิดชนก ชิดชอบ
9) โฉนดเลขที่ 9160 เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และบริษัท เค 2009 ลิซ จำกัด เช่า เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.2554-31 มี.ค.2584
10) โฉนดเลขที่ 3285 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 30.6 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท เค มอเตอร์ สปอร์ต จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวมี นายเนวิน ชิดชอบ และ นางสาวชิดชนก ชิดชอบ เป็นกรรมการ ส่วนผู้ถือหุ้นมีนางสาวชิดชนก ชิดชอบ และนายไชยชนก ชิดชอบ ถือหุ้นใหญ่
11) โฉนดเลขที่ 30222 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 24.3 ตารางวา ถือครองโดย บริษัท เค มอเตอร์สปอร์ต จำกัด
12) โฉนดเลขที่ 115572 เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ถือครองโดย นายไชยชนก ชิดชอบ และให้บริษัท เค 2009 ลิช จำกัด เช่า มีกำหนด 30 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.2554-31 มี.ค.2584
@พฤติการณ์ส่อเจตนา ‘หน่วงเวลา’ เรียกคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’
หนังสือฉบับที่ 1 ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
พฤติการณ์แห่งการกระทำ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ,มติ ป.ป.ช. ,คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 และคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ผู้ครอบครองที่ดินจึงไม่มีสิทธิอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์บนที่ดินดังกล่าวได้
โดยการรถไฟฯได้เคยฟ้องร้องผู้ถือครองที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อขอให้ขับไล่ออกจากที่ดิน และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้การรถไฟฯชนะคดี และการรถไฟฯ ก็ได้ดำเนินการบังคับคดีขับไล่ผู้อยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าวแล้ว ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าว มีขึ้นก่อนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะเข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม
และในระหว่างที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคมแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลการรถไฟฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม
ย่อมทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดี จึงต้องสั่งการเร่งรัด กำชับ หรือมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการฟ้องผู้ที่บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ในบริเวณเขากระโดงดังกล่าวตามแนวทางที่การรถไฟฯ ได้เคยปฏิบัติมา เพื่อให้ที่ดินเหล่านั้น กลับคืนมาเป็นของการรถไฟฯ ซึ่งการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมดังกล่าวจะเป็นช่องทางที่รวดเร็วในการนำที่ดินดังกล่าวคืนมา
การที่ไม่ดำเนินการเช่นนั้น เพราะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทราบดีว่า หากสั่งการดังกล่าว ตนเองและเครือญาติรวมถึงกิจการที่ตนเองครอบครองแสวงหาผลประโยชน์อยู่ ย่อมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปด้วย
นอกจากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ทราบถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2549 ตามหนังสือด่วนมากที่ นร 0505/ว 184 ลงวันที่ 14 ธ.ค.2549 ที่ห้ามหน่วยงานของรัฐฟ้องคดีกันเอง โดยให้ยุติข้อพิพาท โดยการส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณายุติข้อพิพาท
แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กลับปล่อยปะละเลย ไม่สั่งการมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง แต่กลับรู้เห็นยินยอมให้การรถไฟฯ ใช้วิธีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางกับกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินในข้อหาละเมิดที่ออกโฉนดที่ดินบนที่ดินเขากระโดงดังกล่าว ซึ่งการดำเนินคดีในศาลปกครองอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี
และแม้ในที่สุดศาลปกครองจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้การรถไฟฯชนะคดี คำพิพากษาดังกล่าว ก็จะไม่มีผลในการที่จะขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินให้ออกไปจากที่ดินของการรถไฟฯได้ การจะดำเนินการขับไล่และเรียกคืนที่ดิน การรถไฟฯจะต้องไปฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกเป็นรายบุคคลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งการที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รู้เห็น ยินยอมให้มีการดำเนินการโดยวิธีการดังกล่าว จึงส่อว่ามีเจตนาที่จะหน่วงเวลาในการเรียกคืนที่ดินคืนให้การรถไฟฯ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ พี่น้องและญาติของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง และนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ในการประกอบธุรกิจในรูปแบบต่างๆ
การที่นายศักดิ์สยามได้ปล่อยปะละเลย ไม่เร่งรัด สั่งการมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งเรียกคืนที่ดินที่มีการถือครองโดยมิชอบดังกล่าวให้การรถไฟฯโดยเร็ว ทั้งที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ทราบถึงสถานะของที่ดินบริเวณเขากระโดงว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีหนังสือให้การรถไฟฯดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กลับรู้เห็นยินยอมให้การรถไฟฯ ใช้วิธีการที่เป็นการหน่วงเวลาการเรียกที่ดินคืน
พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯ ที่ต้องเสียโอกาสในการได้ที่ดินกลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ หรือหาประโยชน์ให้การรถไฟฯ หรือเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว รวมถึงเครือญาติได้ใช้ประโยชน์บนที่ดินดังกล่าวต่อไป โดยไม่ต้องถูกการรถไฟฯฟ้องร้องเรียกคืนที่ดินดังกล่าว อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามมาตรา 172 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
@ขอ ‘ป.ป.ช’ ไต่สวนฯ ‘ศักดิ์สยาม’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามย่อมต้องรู้ หรือควรรู้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 โดยมิชอบ
เพราะที่ดินทั้ง 2 แปลง มีนายชัย ชิดชอบ บิดาของตน และนายประพันธ์ สมานประธาน เป็นผู้ขอออกโฉนด และนางกรุณา ชิดชอบ ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8564 ในเวลาต่อมา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 นั้น ในเวลาต่อมาได้โอนให้นางละออง ชิดชอบ มารดาของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนด จึงเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และแจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังล่าว และแจ้งการรถไฟฯให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯต่อไปด้วย
เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล สั่งการมอบหมายการรถไฟฯ จึงชอบที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะต้องรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ และปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว
ด้วยการสั่งการเร่งรัดให้การรถไฟฯ ดำเนินการฟ้องร้องผู้ถือครองที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว รวมถึงที่ดินแปลงอื่นๆ ที่มีการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ดังเช่นที่การรถไฟฯได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เม.ย.2563
แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กลับละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่กลับมีพฤติการณ์รู้เห็นยินยอมให้การรถไฟฯ ไปยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง แทนที่การรถไฟฯจะไปยื่นฟ้องคดีกับผู้ครอบครองและบุกรุกที่ดินด้วยตนเองต่อศาลยุติธรรม เพื่อให้ที่ดินได้กลับคืนมาเป็นของการรถไฟฯโดยเร็วที่สุด
อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฎว่า เมื่อกรมที่ดินได้แจ้งให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคงไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟฯ ให้จัดส่งผู้แทนจำนวนไม่เกิน 6 คน เข้าเป็นคณะทำงาน 2 ชุด
ชุดที่ 1เป็นคณะทำงานเพื่อร่วมกับกรมที่ดินไปทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟฯ เนื้อที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา และชุดที่ 2 เป็นคณะกรรมการอำนวยการเพื่อร่วมกับกรมที่ดินในการแก้ไขปัญหาการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ ในบริเวณดังกล่าว
แต่กลับปรากฎฏว่าการรถไฟฯ มิได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมดำเนินการกับกรมที่ดินในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด จึงทำให้การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดงล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลการรถไฟฯ ก็ควรใช้หน้าที่และอำนาจของตนในการสั่งการมอบหมายให้การรถไฟฯให้ความร่วมมือกับกรมที่ดินในการแก้ปัญหา ตรวจสอบและเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว
แต่เหตุที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ใส่ใจดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อาจเป็นเพราะตนเองก็ได้ครอบครองยึดถือที่ดินในบริเวณเขากระโดงอยู่ด้วย รวมถึงของญาติพี่น้องของตนเองต่างก็ได้ถือครองที่ดินบริเวณนั้นไว้ และใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจอยู่ด้วย และต้องการถือครองที่ดินนั้นไว้ต่อไปให้นานที่สุด
การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯ ทำให้การรถไฟขาดโอกาสในการได้ที่ดินที่ถูกยึดถือครอบครองโดยมิชอบกลับมาเป็นของการรถไฟฯ เพื่อการใช้ประโยชน์และหารายได้จากที่ดินดังกล่าว แต่ประโยชน์ดังกล่าวแทนที่จะตกได้แก่การรถไฟฯ กลับตกแก่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และเครือญาติ
“ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการที่การรถไฟฯ ไม่เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้ได้ที่ดินที่มีการครอบครองและออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบกลับคืนมาเป็นของการรถไฟฯ โดยเร็ว แต่กลับเลือกใช้วิธีการที่ล่าช้ากว่าในการดำเนินการ น่าจะอยู่ในการรับรู้และเกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแล สั่งการการรถไฟฯ เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งรัฐของการรถไฟฯ
จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวน ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว หากเห็นว่าคดีมีมูลที่จะดำเนินคดีกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ขอได้โปรดดำเนินการโดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ข้าพเจ้าได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อเป็นพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้ว” หนังสือเรื่อง ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถึงประธาน ป.ป.ช. ลงวันที่ 15 ก.ย.2565 ระบุ
@เปิดพฤติการณ์ ‘ศักดิ์สยาม’ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ‘ร้ายแรง’
หนังสือฉบับที่ 2 ขอให้ไต่สวนและดำเนินการด้านจริยธรรมกับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
พฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ,มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ,คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 และคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ บริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบนั้น
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลการรถไฟฯ ย่อมทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวดี กลับละเว้น เพิกเฉย ไม่สั่งการ เร่งรัด กำชับ หรือมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการฟ้องผู้ที่บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ในบริเวณเขากระโดงดังกล่าว เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและเครือญาติ
นอกจากนี้ การที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม แล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็ยังยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ แทนที่จะทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการคืนที่ดินให้กับการรถไฟฯ
ทั้งปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดสั่งการให้การรถไฟฯ ฟ้องร้องเรียกคืนที่ดินกับผู้บุกรุกที่ดินฯ โดยมีมูลเหตุจูงใจ เพื่อให้ตนเองและเครือญาติยังคงอาศัยและใช้ประโยชน์บนที่ดินของการรถไฟฯต่อไป ซึ่งเป็นการยึดถือประโยชน์ส่วนตนเหนือผลประโยชน์ของการรถไฟฯ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เข้าข่ายเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองและเครือญาติ
อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ตามข้อ 7 และข้อ 8 ของมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ที่ให้นำมาใช้บังคับแก่ ครม.ด้วย
และในฐานะที่เป็น รมว.คมนาคม และมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการรถไฟฯ นอกจากไม่สั่งการให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกแล้ว แต่ตนเองกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯเสียเอง และปล่อยปละละเลยยินยอมให้เครือญาติของตน ครอบครองและใช้ประโยชน์บนที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจแก่ตนเองและเครือญาติ อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักตามข้อ 18 ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวถือเป็นกรณีร้ายแรง
“ข้าพเจ้าจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินการด้านจริยธรรมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามมาตรา 28 (1)
และส่วนที่ 2 การดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา 87 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อไป พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าได้ส่งเอกสารหลักฐานเบื้องต้นมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว” หนังสือเรื่อง ขอให้ไต่สวนและดำเนินการด้านจริยธรรมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถึงประธาน ป.ป.ช. ลงวันที่ 15 ก.ย.2565 ระบุ
ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาคำร้องของหนังสือที่ ‘แกนนำ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน’ ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดี รวมถึงการดำเนินการด้านจริยธรรม กับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการรถไฟฯ กรณีปล่อยปละละเลย ไม่ทวงคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’ กลับคืนมาเป็นของการรถไฟฯโดยเร็ว
อ่านประกอบ :
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : รุมซักฟอก'ศักดิ์สยาม'อ้างใช้นอมินีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ รับงานรัฐ
คำชี้แจง ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ กรณีเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’-‘ในยุคผม...ผมไม่ฟ้องประชาชน’
ไม่อยากระรานประชาชน! ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจงเหตุเมินไล่ฟ้องเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ รายแปลง
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน
คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน