"...ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่าแผนที่ที่ปรากฏตามคำพิพากษา ไม่ใช่แผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างประกาศลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2464)..."
............................................
จากกรณีที่อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน ‘ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ถอนโฉนด‘เขากระโดง’)
ต่อมาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดินและฝ่ายการช่างโยธา ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของ รฟท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อชี้แนวเขตและทำการรังวัดที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขาระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ จนแล้วเสร็จ และจัดส่งข้อมูลการรังวัดที่ดินให้คณะกรรมการสอบสวนฯพิจารณา (อ่านประกอบ : รังวัดฯเสร็จแล้ว! ‘กรมที่ดิน’จ่อชงข้อมูล‘คณะกรรมการสอบสวน’ชี้ขาดเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’)
กระทั่งล่าสุด พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าการ รฟท. แจ้งเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. นั้น (อ่านประกอบ : โยน‘รฟท.’พิสูจน์สิทธิ์ในศาล! ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’มีมติไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 5 พันไร่)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/22162 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามโดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน มีรายละเอียด ดังนี้
@‘คกก.สอบสวนฯ’ไม่ร่วมชี้แนวเขต หวั่นเสียความเป็นกลาง
ตามหนังสือที่อ้างถึง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขอทราบกรอบระยะเวลา แผนงานในการรังวัดสอบแนวเขตที่ดิน ตลอดจนกระบวนการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณทางแยกเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ในการดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จนแล้วเสร็จ จะใช้กรอบระยะเวลาเท่าใด เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
กรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 สืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงปรากฏตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายคณะที่ 7) เรื่องเสร็จ ที่ 106/2541 ว่า
การสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี พ.ศ.2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถไฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแสดงไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือ ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟในขณะนั้น มีสภาพเป็นที่ป่ายังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์
และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจัดเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟ ตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464
เมื่อหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในท้องที่ตำบลเสม็ดและตำบลอิสาณดังกล่าว เป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกสืบเนื่องจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งผู้แจ้งการครอบครองได้ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ
การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ในพื้นที่ดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยวิธีการเดินสำรวจฯ โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินในเขตที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทย
จึงเป็นการออกในเขตที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
และกรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 1516.2(2)/9385 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 แจ้งจังหวัดบุรีรัมย์ทราบ เพื่อแจ้งคุณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะกรรมสอบสวนฯ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โปโปโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
โดยมีอำนาจหน้าที่เรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง จากผู้ยึดถือมาประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน และเมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
โดยในรายงานการสอบสวนจะต้องสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โบโบโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายว่าสมควรสังเพิกถอนหรือแก้ไขความคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นหรือไม่อย่างไร
อีกทั้ง คณะกรรมการสอบสวน มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ตามนัยกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งอธิบดีกรมดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ไปในทำนองเดียวกัน สรุปได้ดังนี้
1.การตรวจสอบแนวเขตที่ดินร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 คณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่าจะปฏิบัติตามได้ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไว้โดยชัดแจ้ง
คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงไม่อาจดำเนินการตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลาง ในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนต้องวางตัวเป็นกลาง การร่วมพิสูจน์ตรวจสอบแนวเขตที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นการร่วมกับคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองเกี่ยวกับการกำหนดแนวเขตที่ดินพิพาท ทำให้สูญเสียความเป็นกลาง หากคณะกรรมการสอบสวนฯ มีความเห็นหรือมติเป็นประการใดในภายหลัง อาจถูกโต้แย้งถึงความไม่เป็นกลางจากการกระทำดังกล่าว อันมีผลทำให้ความเห็นหรือมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คณะกรรมการสอบสวนฯ จะดำเนินการตามข้อสังเกตได้ ต่อเมื่อสถานะทางกฎหมายของที่ดิน และตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นที่ยุติแล้ว
คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงจะใช้ข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาร่วมกับการถไฟแห่งประเทศไทยว่า ที่ดินแปลงใดอยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งแปลง ซึ่งจะต้องดำเนินการเพิกถอน ที่ดินแปลงใดที่อยู่คาบเกี่ยวกับเขตที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบางส่วนซึ่งจะต้องดำเนินการแก้ไข หรือที่ดินแปลงใดอยู่นอกเขตที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งจะต้องไม่เพิกถอนต่อไป
@ขอบเขต‘ที่ดินพิพาท’ไม่มีข้อยุติ อาจทำให้การเพิกถอนไม่ชอบ
2.คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาถึงสถานะทางกฎหมายของที่ดินบริเวณพิพาท รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวอ้างสิทธิ จะต้องได้ข้อยุติ
โดยคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาข้อมูลจากพยานหลักฐานที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งให้ ข้อมูลของผู้คัดค้าน และข้อมูลที่ได้รับจากกรมที่ดิน ซึ่งมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดิน ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยุติในประเด็น ดังนี้
2.1 เรื่องแผนที่ที่การถไฟกล่าวอ้างที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 ข้อเท็จจจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ได้ให้การปรากฎข้อความในหน้าที่ 33 ว่า
“จังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ บร 0020.4/186 ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 แจ้งผลการตรวจสอบว่า รูปแผนที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างสิทธินั้น ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2531 และปี พ.ศ.2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปแล้วประมาณ 900 กว่าแปลง
โดยผู้ฟ้องคดีนำแผนที่ดังกล่าว ไปใช้ประกอบการต่อสู้คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846-476/2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 แผนที่ดังกล่าว จึงไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ กรมที่ดินแจ้งว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีหนังสือ ที่ บร 0020.4/13396 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2567 แจ้งว่าได้ตรวจสอบสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการ กปร. จังหวัดบุรีรัมย์ ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2538 พิจารณา เรื่อง กรณีพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎรในพื้นที่ตำบลอิสาณ และตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินคดีทางศาลแก่ผู้บกรุก โดยมิได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการจัดทำรูปแผนที่แต่อย่างใด
การสำรวจทำแผนที่ทางกายภาพ ในพื้นพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร สองข้างทางรถไฟ เมื่อปี พ.ศ.2537 สันนิษฐานว่าน่าจะจัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 และมีมติที่ประชุมการแก้ไขบัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน
ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่าแผนที่ที่ปรากฏตามคำพิพากษา ไม่ใช่แผนที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างประกาศลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2464)
2.2 ตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตของที่ดินการรถไฟ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่ข้อมูลที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาตรวจสอบจากรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยของคณะทำงางานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2566 อาจมีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร
คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบทางรถไฟ โดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ 4 ชั้นปี ประกอบด้วย ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2497, พ.ศ.2511 , พ.ศ.2529 และ พ.ศ.2557 ปราฎทางรถไฟจากการ อ่าน แปล ภาพถ่ายทางอากาศมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร
และได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริง ด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ (Real Time Kinematics, RTK) โดยการนำหมุดบังคับภาพในภาคสนาม เพื่อหาค่าความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งรวม (RMSE) ปรากฎว่า มีความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ดังนั้น จึงสามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่า ตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริง
ประกอบกับการตรวจสอบจากแผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทย จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (โดยให้ทหารอเมริกันสำรวจให้ให้ในช่วงปี พ.ศ.2495-พ.ศ.2500) ตรงกับแผนที่ชุดแรกที่กรมที่ดินใช้ในการอ่าน แปลภาพถ่ายทางอากาศ ก็ปรากฎทางรถไฟตรงกับตำแหน่งที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเช่นกัน
โดยมีข้อสังเกตที่สำคัญจากการดำเนินการของคณะทำงานฯ คือ จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปี ที่ดำเนินการถ่ายทอด ระยะสิ้นสุดไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด มีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริงจุดสิ้นสุดของกิโลเมตรที่ 8 จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก
2.3 ความกว้างของแนวเขตทางรถไฟ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า และเทียบเคียงจากพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องและจากหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 127 สันนิษฐานได้ว่า การกำหนดเขตสร้างทางรถไฟ จะมีการกำหนดไว้เพียงระยะข้างละไม่เกิน 40 เมตร หรือ 20 วา
และจากการศึกษาข้อมูลแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเขตทางรถไฟของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ เปรียบเทียบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายอื่นๆ ในช่วงปี พ.ศ. ใกล้เคียงกัน
ปรากฏว่าทุกสายมีระยะเขตทางรถไฟ ไม่ถึง 1,000 เมตร ส่วนสายที่มีระยะเกิน 40 เมตร จะมีรูปแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีการโดยกำหนดระยะ อาณาเขตไว้โดยชัดเจน
เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับการสร้างทางแยกรถไฟที่แยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานใต้) โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับทางรถไฟแยกไปเขากระโดงและบ้านตะโก ซึ่งบางช่วงมีความกว้างถึง 1,000 เมตร
จึงน่าเชื่อว่า มิได้เป็นการสร้างทางรถไฟตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และมิได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟ จึงไม่ปรากฏหลักฐานทางกฎหมายในการจัดสร้าง และการจัดซื้อที่ดิน
และจากผลการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ฯ ของคณะทำงานศึกษา แสวงหาหลักฐาน และบูรณาการข้อมูลประวัติที่ดินของกรมที่ดิน กรณีที่กระทรวงโยธาธิการมีหนังสือสอบถามความเห็นเจ้ากรมรถไฟในขณะนั้น เรื่องเกี่ยวกับการกำหนดเขต์สร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 สรุปความได้ว่า
การกำหนดเขตร์ที่ดินข้างทางรถไฟด้านข้างขวาได้ 30 วา ค่อนข้างจะมากเกินความต้องการ เห็นควรให้กำหนดเพียง 20 วา เท่ากับด้านข้างซ้ายเพื่อให้กับการกำหนดเขตร์รถไฟสายอื่นๆ
การกำหนดเขตร์ที่ดิน ซึ่งไม่มีเจ้าของหวงแหนตามพระราชกฤษฎีกาสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาที่กำหนดข้างละ 5 เส้น เห็นว่า ค่อนข้างมากเกินกว่าความต้องการบำรุงทางรถไฟ จึงมีพระราชประสงค์ให้ยกกำหนดเขตร์ที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของหวงห้ามข้างละ 5 เส้น นั่นเสีย
คณะกรรมการเห็นว่า ในประเด็นเกี่ยวกับความกว้างของแนวเขตรางรถไฟ จึงไม่ควรมีความกว้างเกินกว่า 40 วา (ข้างละ 20 วา)
และแม้ว่าจะไม่มีการออกพระราชกฤษฎีการองรับ เมื่อนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเข้าไปใช้ทำประโยชน์ของกรมรถไฟ จึงถือได้ว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ตามที่ได้มีการใช้ประโยชน์จริงระยะข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร
การที่จะนำข้อมูลที่ยังไม่ยุติไปใช้ ให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการจัดทำคำสั่งทางปกครองเพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน อาจส่งผลให้คำสั่งทางปกครองนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ออกเอกสารสิทธิ์ชอบด้วยกฎหมาย-คำคัดค้านรับฟังได้
3.คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นรายแปลง แล้วเห็นว่า การออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน และมีบางแปลงการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับรองแนวเขตที่ดิน
โดยในขณะดำเนินการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ไม่มีกรณีคัดค้าน พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำคำสั่งทางปกครองโดยออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวไป ต้องถือว่าคำสั่งทางปกครองย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงเดิมเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องถือว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปแล้วนั้น ชอบด้วยกฎหมาย
คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยติ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินได้
4.คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้พิจารณาคำคัดค้านเป็นรายแปลง โดยในการประชุมและพิจารณาสอบสวนดังกล่าวได้มีการแจกแจงรายละเอียดโดยชัดเจนว่าที่ดินแต่ละแปลงออกมาโดยวิธีใด สืบเนื่องจากหลักฐานใด ออกให้แก่ผู้ใด แต่เมื่อใด มีการแจ้งผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร แต่เมื่อใด และผู้คัดค้านได้คัดค้านหรือไม่ คัดค้านมีข้อความอย่างไร โดยในรายงานการสอบสวนได้นำคำคัดค้านในประเด็นสำคัญสำคัญ และมีหลักฐานน่าเชื่อถือ
คณะกรรมการสอบสวนฯ เห็นว่ายังไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีพยานหลักฐานยืนยันการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนตำแหน่งที่ตั้ง จึงถือว่าคำคัดค้านที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถรับฟังได้
@ชี้หาก‘รฟท.’เห็นว่ามีสิทธิในที่ดินดีกว่าให้ไปพิสูจน์ในศาลฯ
คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ร่วมกันพิจารณา และมีมติยืนยันความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟ ซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์ ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีคณะกรรมการสอบสวนฯ ท่านใดมีความเห็นแย้ง
เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
และผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฏว่าการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น จึงยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายจะใช้พิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข
ตามนัยข้อ 12 แห่งกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553 จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้
แต่อย่างไรก็ดี หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดิน จะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของหนังสือกรมที่ดิน ที่ระบุถึงความเห็นของ ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’ ก่อนมีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดง และคงต้องติดตามท่าทีของ รฟท. ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร และการทวงคืนที่ดินรถไฟฯเขากระโดงจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งหรือไม่ ?
อ่านประกอบ :
โยน‘รฟท.’พิสูจน์สิทธิ์ในศาล! ‘คณะกรรมการสอบสวนฯ’มีมติไม่เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
‘สนง.ที่ดินบุรีรัมย์’ส่งหนังสือแจ้ง‘รฟท.’รังวัด‘เขากระโดง’เสร็จแล้ว-พร้อมแนบระวางแผนที่
รังวัดฯเสร็จแล้ว! ‘กรมที่ดิน’จ่อชงข้อมูล‘คณะกรรมการสอบสวน’ชี้ขาดเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’
รฟท.ลงพื้นที่นำชี้แนวเขต'เขากระโดง'-'กรมที่ดิน'แจงกม.ขีดเส้นรังวัดฯให้เสร็จภายใน 50 วัน
ย้อนไทม์ไลน์ 1 ปี เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ไม่คืบหน้า-‘กรมที่ดิน’นัด'รฟท.'ชี้เขตรังวัดที่ดิน
8 เดือนไม่เพิกถอน! ‘กรมที่ดิน’รังวัดเขตที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ใหม่-รฟท.ติดเรื่องค่าใช้จ่าย
เปิดหนังสือทนายตระกูล‘ชิดชอบ’ อ้าง 9 ข้อเท็จจริง ค้าน‘คกก.สอบสวน’เพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’
แผนที่เขตรถไฟฯมีพิรุธ! ทนายตระกูล‘ชิดชอบ’ยกต่อสู้ ปมถอนโฉนดเขากระโดง-ชี้ศก.บุรีรัมย์ชะงัก
ไม่เกี่ยวถอนโฉนดเขากระโดง!‘ชยาวุธ’เปิดใจลาออกอธิบดีที่ดินดูแลภรรยาป่วย
เปิดตำแหน่งโฉนด’ตระกูล‘ชิดชอบ’ทับที่รถไฟฯ‘เขากระโดง’-‘ฝ่าย กม.’แจงซื้อโดยสุจริต
จ่อโดนเพิกถอน! ชัดๆเปิด‘โฉนด-น.ส.3’ตระกูล’ชิดชอบ’ 20 แปลง 288 ไร่ ทับที่ดิน‘เขากระโดง’
ก่อน‘ชยาวุธ’ทิ้งเก้าอี้อธิบดี! พบ‘คกก.สอบสวน’แจ้งเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’รุกที่หลวง 2 แปลง
'อนุทิน'ปัดการเมืองกดดัน 'อธิบดีกรมที่ดิน'ยื่นลาออก อย่าโยงปมพิพาท‘เขากระโดง’
การบ้าน‘อนุทิน’นั่ง‘มท.1’! แก้โจทย์สายสีเขียว-เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ต่อสัญญาซื้อน้ำ‘กปภ.’
ลุยเพิกถอนโฉนด 5 พันไร่!‘กรมที่ดิน’ไม่อุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’-แจ้งศาลฯตั้ง‘คกก.สอบสวน’แล้ว
‘รฟท.’ยื่นอุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’ปมเรียกค่าเสียหาย 707 ล้าน-รอ‘ศาลปค.’แจ้งท่าที‘กรมที่ดิน’
เส้นตาย 30 เม.ย.! ‘รฟท.’จับตา‘กรมที่ดิน’ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ฉบับเต็ม! พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน ‘ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ถอนโฉนด‘เขากระโดง’
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ยันไม่ละเลยเพิกเฉย! ‘กรมที่ดิน’ลุ้น‘ศาลปค.กลาง’ตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้
‘ศาลปค.’นัดตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้-‘ตุลาการฯ’ชี้‘กรมที่ดิน’ละเลยหน้าที่
'ศาลปค.'นั่งพิจารณานัดแรก คดี'รฟท.'ฟ้อง'กรมที่ดิน'ขอสั่งเพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' 5 พันไร่
เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’