สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ออกแถลงการณ์ คดีที่ดินรถไฟเขากระโดง ชี้ถึงความไร้ระบบจริยธรรม-หลักธรรมาภิบาลอย่างสิ้นเชิง จี้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงจากเอกชน มาเป็นของ รฟท.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง “คดีที่ดินรถไฟเขากระโดง” ตัวชี้วัดประเทศไทยถึงความไร้ระบบจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลอย่างสิ้นเชิง ระบุว่า
คดีที่ดินรถไฟเขากระโดง ได้มีข้อพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับเอกชนผู้บุกรุกซึ่งเป็นตระกูลนักการเมืองดังในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ยกประเด็นนี้มาต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ทำให้หลายภาคส่วนได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงและใช้กระบวนต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อร่วมกันปกป้องทรัพย์สินของแผ่นดิน นำมาสู่กระบวนการทางกฎหมายจนศาลฎีกามีคำพิพากษาถึง 2 ฉบับ ว่าที่ดินเขากระโดง จำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชนมาเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือเป็นมหากาพย์ของการดำเนินการทางศาลทุกศาลจนคำพิพากษาออกมา ทั้งที่ ที่ดินเขากระโดงมีหลักฐานพระบรมราชโองการมอบที่ดินเขากระโดงสมัยรัชกาลที่ 5 และยังมีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเขากระโดง จำนวน 5,083 ไร่ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
จากกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 จนเมื่อล่าสุดอธิบดีกรมที่ดินได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ รฟท. แจ้งเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสรุปเนื้อหาได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. นั้น กรณีที่กรมที่ดินตั้งคณะกรรมการสอบสวนมาพิจารณาขัดกับคำพิพากษาศาลฎีกา ถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงหากมองถึงการบริหารจัดการประเทศเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืนของปวงชนชาวไทยบนพื้นฐานอำนาจแห่งรัฐผ่านกลไกของอำนาจบริหารซึ่งมีรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี อำนาจนิติบัญญัติโดยรัฐสภาและอำนาจตุลาการโดยศาล จากคดีที่ดินรถไฟเขากระโดงซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการผ่านกระบวนการมาแล้วเกือบทุกกลไกอำนาจ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 53 รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งหมายถึงรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีนี้ คือ กรมที่ดิน ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา คือ ศาลสูงสุดได้พิจารณาให้คืนที่ดินดังกล่าวก็ต้องคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่สถาปนาโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล กรมที่ดิน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเห็นว่า จากกรณีของคดีที่ดินรถไฟเขากระโดงนั้น หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ นั้น ถือเป็นการทำลายระบบจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลในประเทศไทย รวมถึงทำลายหลักการของอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ที่ทำหน้าที่แทนปวงชนชนชาวไทยในการค้ำจุนสังคมไทยให้สงบสุขหมดสิ้นแล้ว พร้อมกันนี้แสดงให้เห็นว่าหากมีเงินและมีอำนาจก็สามารถการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องได้ ดังนั้น เพื่อร่วมกันผดุงไว้ซึ่งระบบจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลให้อยู่คู่สังคมไทย รวมถึงการถ่วงดุลแห่งอำนาจ การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คณะกรรมการสอบฯ และกรมที่ดิน ที่มีวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรชั้นนำในการคุ้มครองสิทธิด้านที่ดิน การจัดการข้อมูล ระบบแผนที่โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างมีหลักธรรมาภิบาล” ควรดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลฎีกา เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของที่ดินรถไฟเขากระโดง จำนวน 5,083 ไร่ จากเอกชนและกลุ่มทุนนักการเมืองมาเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย