“...ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน) จึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีหน้าที่ในการดำเนินการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เพื่อตรวจสอบถึงความถูกต้องในการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (เขากระโดง)…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)
โดยศาลฯพิพากษาให้ ‘อธิบดีกรมที่ดิน’ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’ 772 แปลง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘คำวินิจฉัย’ ของศาลฯในคดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566) ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ที่ดินแยก ‘เขากระโดง’ 5,083 ไร่ เป็นที่ดินหวงห้ามของ ‘การรถไฟฯ’
คดีนี้ ศาลได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว โดยคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณา รวม 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า เดิมก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีหนังสือ ที่ บร 0011/13853 ลงวันที่ 18 ก.ค.2540 เสนอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง ในท้องที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่ราษฎรบางราย
แต่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) กล่าวอ้างว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึง อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ดินที่ราษฎรครอบครองบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินได้สำรวจ
และจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้างฉบับ พ.ศ.2456 (ที่ถูกคือ ลงวันที่ 27 ก.ย.2465)
แต่ที่ดินในส่วนที่หารือนั้น มิได้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะในแผนที่กำหนดไว้ว่า เป็นที่ป่ายังไม่มีเอกชนครอบครองทำประโยชน์ แม้ว่า พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ได้กำหนดแนวเขตอย่างกว้างไว้สำหรับการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟและไม่มีผลเป็นการเวนคืนตามความเห็นของผู้แทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ตาม
แต่เมื่อได้สำรวจเส้นทางที่แน่นอนและทราบจำนวนที่ดินที่จำเป็นต้องใช้แล้ว ก็จะมีการตรา พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินจากเอกชนและยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ เป็นตอนๆ ซึ่งแนวทางที่สำรวจแน่นอนแล้วนี้ ประกอบด้วยที่ดินของเอกชนที่ต้องจัดซื้อตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ และที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐที่ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อแต่มีสภาพเป็นที่ดินหวงห้ามไว้ใช้ในราชการ
การยกเลิก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ย่อมหมายถึงการยกเลิกสงวนหวงห้ามที่ดินส่วนที่เป็นของเอกชนในส่วนที่นอกเหนือจากแนวเขตที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินฯ เท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด
เมื่อปรากฎว่าการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางรถไฟ ในปี พ.ศ.2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินในขณะนั้นมีสภาพเป็นป่าที่ยังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์
และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจัดเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งตอบข้อหารือดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือที่ นร 0601/211 ลงวันที่ 17 มี.ค.2541 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1556/2550 ลงวันที่ 29 พ.ค.2550 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
และคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 163/2552 ลงวันที่ 29 ม.ค.2552 เปลี่ยนแปลงกรรมการในคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว เพื่อพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
แต่คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ที่สงวนหวงห้าม ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้ และไม่สามารถชี้ได้ว่าการออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไม่สมบูรณ์หรือขัดต่อกฎหมาย
จึงเห็นควรไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 จึงเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ยุติเรื่อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นชอบตามความเห็นดังกล่าว จึงมีคำสั่งยุติเรื่องเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2552
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้มีหนังสือ ลับ ที่ ปช 0018/1084 ลงวันที่ 14 ก.ย.2554 แจ้งว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้พิจารณาสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 เนื่องจากออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี
และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้หารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้เคยมีความเห็นให้ยุติเรื่องไปแล้ว และจะต้องดำเนินการตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อย่างไร
สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือด่วนมาก ที่ อส 0005/5403 ลงวันที่ 12 มิ.ย.2555 ตอบข้อหารือ โดยมีความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 ต่อไป
หลังจากนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 ซึ่งวินิจฉัยสรุปความได้ว่า จากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนที่แยกออกจากเส้นทางแยกเขากระโดงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหินหรือศิลาที่ย่อยในพื้นที่เขากระโดง เพื่อนำหินไปใช้ก่อสร้างในทางรถไฟสายหลักในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งทางรถไฟที่แยกออกอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 395+650 มีความยาวแยกออกไป 8 กิโลเมตร
ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์ในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2462 ขณะนั้นประเทศไทยใช้ระบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินในบริเวณพิพาทข้างต้น เป็นของพระมหากษัตริย์ (รัชกาลที่ 6) ผู้ฟ้องคดีได้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานกว่า 90 ปี
จึงเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ซึ่งมีความยาว 8 กิโลเมตร และความกว้างตามที่ระบุในแผนที่ คิดเป็นพื้นที่ 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นที่ดินที่ข้าหลวงพิเศษ ซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ดำเนินการสำรวจและวางแนวการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก
และดำเนินการจัดซื้อที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรแรก อันเป็นบริเวณที่มีเจ้าของรวม 18 ราย และเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง อันเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของและเป็นแหล่งหินที่ใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ
สำหรับการเข้าครอบครองที่ดิน 4 กิโลเมตรแรกนั้น ปรากฎว่ารายชื่อเจ้าของที่ดินทั้ง 18 รายที่ระบุในแผนที่ตรงกับรายชื่อเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือซื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับเงินค่าทำขวัญในใบสำคัญแสดงรายละเอียดแห่งค่าทำขวัญสำหรับทรัพย์ทุกประเภทที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อใช้เพื่อประโยชน์รถไฟ ลงวันที่ 9 พ.ย.2469 (ที่ถูกต้อง คือ วันที่ 9 พ.ย.2467)
และการที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ระบุว่า ในช่วงเวลา 2 ปี ที่กำหนดใน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงฯ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าจับจองที่ดินซึ่งเป็นที่ว่างไม่มีเจ้าของย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้าหลวงพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว
และกรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจกำหนดพื้นที่ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ เป็นที่หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างทางรถไฟได้ ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดิน จึงมีอำนาจเข้ายึดถือที่ดินที่ไม่มีเจ้าของในช่วง 4 กิโลเมตรหลังถัดไปด้วย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถฟต่อจากนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟ เข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง และบ้านตะโก ทั้งยังใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินดังกล่าว เป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบ
ด้วยกฎหมายอยู่ในความหมายของคำว่า “ที่ดินรถไฟ” ตามมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
จึงเป็นผลให้ที่ดินพิพาทที่เป็นเส้นทางแยกออกมาในคดีนี้ ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองหวงห้ามมิให้ประชาชนเข้ายึดถือหรือครอบครอง รวมทั้งโต้แย้งสิทธิใดๆ กับผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เว้นแต่จะได้มีประกาศหรือกฎหมายตามพระราชกระแสว่าขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
เมื่อทรัพย์สินของกรมรถไฟโอนเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 แล้ว ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
@พบเอกสารสิทธิในที่ดิน 772 ฉบับออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’
หลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) โจทก์ กับนายวิรัตน์ วงศ์พิพัฒน์ชัย ที่ 1 กับพวกรวม 4 คนจำเลย โดยวินิจฉัยในทำนองเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดีข้างต้น และให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของจำเลยทั้งสี่
คดีดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดถึงที่สุด ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือ ที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ทั้งหมด
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) มีหนังสือกรมที่ดิน ลับ ที่ มท 0516.2/15572 ลงวันที่ 27 ก.ค.2564 ขอให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ชี้แจงว่า แผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 27 พ.ย.2465 หรือไม่
ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) มีหนังสือการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ รฟ 1/2281/2564 ลงวันที่ 20 ส.ค.2564 แจ้งตอบผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ไม่มีแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ มีเพียงแผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง ซึ่งเป็นเอกสารที่ยื่นในคดีพิพาทต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) จึงมีหนังสือกรมที่ดิน ลับ ที่ มท 0516.2 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) นำส่งแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ หรือนำครอบแผนที่อีกครั้ง
พร้อมทั้งแจ้งว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ไม่ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอนตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) เป็นหน่วยงานทางปกครองประเภทกรม ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย และมีหน้าที่ตามที่ปรากฎในกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ...
และข้อ 18 กำหนดว่า สำนักจัดการที่ดินของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ... (2) ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน...
จากข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้
เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า
ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ที่ได้มาตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) จึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557
ประกอบกับ เมื่อมีข้อเท็จจริงที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดีดังกล่าวว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้มีคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 2992/2564 ลงวันที่ 11 พ.ย.2564 แก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ข.) เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561
และสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการยกเลิกใบไต่สวน พร้อมจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และยกเลิกเรื่องการขอออกโฉนดที่ดินจำนวน 40ฉบับของประชาชนจำนวน 35 ราย ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560
รวมทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินทั้งหมดข้างต้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) กล่าวอ้างว่าเป็นการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี
แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆนอกเหนือจากที่ปรากฎเป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึง มีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
ประกอบกับ ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดีประมาณ 850 แปลง แต่ผู้ฟ้องคดีดำเนินการคัดถ่ายเอกสารมาได้บางส่วน จำนวน 497 แปลงปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 15
อีกทั้ง ปรากฎข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะทำงานตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 822/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย.2565 ว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) อ้างสิทธิในเบื้องต้นพบว่า มีการออกโฉนดที่ดิน จำนวนประมาณ 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวนประมาณ 376 ฉบับ รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 772 ฉบับ
เมื่อผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้มีหนังสือ ที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งประมวกฎหมายที่ดิน ดำเนินการตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด
กรณีจึงเป็นความปรากฏขึ้นจากการที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้มีหนังสือร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ว่า ได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็สามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินไปก่อนได้ โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือพบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้ว จึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง
@‘กรมที่ดิน-อธิบดีกรมที่ดิน’ละเลยต่อหน้าที่ตามม. 61 ประมวลกม.ที่ดิน
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน) จึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีหน้าที่ในการดำเนินการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เพื่อตรวจสอบถึงความถูกต้องในการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณที่พิพาทว่าเป็นการออกโดยทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อใดก็ตาม แต่อย่างช้าที่สุดก็ไม่ควรเกินระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ฟ้องคดีอันเป็นระยะเวลาอันสมควร
โดยพิจารณาเทียบเคียงจากระยะเวลาขั้นสูงในการพิจารณาคำร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.432/2563)
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ได้รับหนังสือการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ช้าที่สุดที่ข้อเที่จจริงเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ปรากฎแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงควรที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 26 ก.ย.2564
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎภายหลังจากที่มีการฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 822/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย.2565 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี โดยกำหนดให้คณะทำงานสรุปข้อเท็จจริงและให้ความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ภายใน 90 วัน
แต่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดดังกล่าว ก็ยังไม่ได้มีการสรุปข้อเท็จจริง และให้ความเห็นเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ภายใน 90 วัน แต่อย่างใด
แม้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะมีกรอบระยะเวลาการทำงานให้ดำเนินการก็ตาม แต่หากปล่อยให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ดำเนินการต่อไป ย่อมทำให้การริเริ่มการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันสมควรอย่างแน่นอน
และโดยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้กำหนดขั้นตอน วิธีการ การดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ โดยตามวรรคสอง บัญญัติให้ก่อนที่จะดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวนั้น
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือผู้ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มอบหมายตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวน และแจ้งผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้โอกาสคัดค้าน โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง อันได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน
และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงต้องมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
@เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน‘เขากระโดง’ เป็นอำนาจ‘อธิบดีกรมที่ดิน’
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถแสดงแผนที่ท้ายพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง พ.ศ.2465 หรือถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดตำแหน่งที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทราบได้ จึงไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ นั้น
เห็นว่า ความมุ่งหมายของมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต้องการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้ปรากฏขึ้น เพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นประกอบต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ประกอบกับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและเป็นผู้จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ทั้งหมด จึงย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) ที่จะต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ข้อกล่าวอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจัดหาแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ หรือไม่สามารถถ่ายทอดแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ได้ จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ยอมใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นั้น
เห็นว่า มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ได้จำกัดอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเฉพาะกรณีที่จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น
แต่ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่รวมถึงวิธีการและขั้นตอนต่างๆ กรณีที่ความปรากฎแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เองว่า มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน) ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง
และหากพบว่ามีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ โดยไม่จำต้องให้ผู้ฟ้องคดีไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลเสียก่อน ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และขับไล่ผู้ครอบครองและถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด นั้น
เห็นว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้เป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ ศาลจึงไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตามคำขอในส่วนนี้ของผู้ฟ้องคดีได้
@สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ‘เขากระโดง’
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี (การรถไฟแห่งประเทศไทย) หรือไม่ และหากเป็นการกระทำละเมิดแล้ว จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี หรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ไม่ดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แต่การที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง หากปรากฏว่าหนังสือแสดงสิทธิแปลงใดออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่มีเหตุที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งเพิกถอน
และเมื่อความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างในคำฟ้องเป็นความเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ไม่สามารถเข้าครอบครองหรือนำออกให้เช่าหาประโยชน์ได้ ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีขาดประโยชน์หรือเข้าครอบครองเพื่อหาประโยชน์ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 129 ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินเป็นเงิน จำนวน 707,595,034 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 59,966,253 บาท นั้น
เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและคืนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้ครอบครองที่ดิน และไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด
ส่วนความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าสามารถนำออกให้เช่าหรือทำประโยชน์ได้ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 129 ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตของผู้ฟ้องคดีในกรณีที่มีการนำที่ดินออกทำประโยชน์แล้วเท่านั้น กรณีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี หรือกำหนดค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีคืนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด นั้น
เห็นว่า มาตรา 72/1 แห่ง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดี โดยไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแทนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับตามคำขอนี้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดและไม่ได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนใดให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าธรรมเนียมศาลคืนแต่อย่างใด
“พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมที่ดิน) ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมที่ดิน) และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของผู้ฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำรายงานการสอบสวนให้แล้วเสร็จตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดินกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โดยกรมที่ดินมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ จึงต้องติดตามกันต่อไป กรมที่ดินจะการยื่นอุทธรณ์คดีในประเด็นบ้าง และสุดท้ายแล้วการเพิกถอน ‘เอกสารสิทธิ์’ ในที่ดินอย่างน้อย 772 แปลง ที่ออกทับที่ดินบริเวณแยก ‘เขากระโดง’ ของการรถไฟฯ จะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด?
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ยันไม่ละเลยเพิกเฉย! ‘กรมที่ดิน’ลุ้น‘ศาลปค.กลาง’ตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้
‘ศาลปค.’นัดตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้-‘ตุลาการฯ’ชี้‘กรมที่ดิน’ละเลยหน้าที่
'ศาลปค.'นั่งพิจารณานัดแรก คดี'รฟท.'ฟ้อง'กรมที่ดิน'ขอสั่งเพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' 5 พันไร่
เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’
อภิปรายไม่ไว้วางใจ : รุมซักฟอก'ศักดิ์สยาม'อ้างใช้นอมินีถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ รับงานรัฐ
คำชี้แจง ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ กรณีเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’-‘ในยุคผม...ผมไม่ฟ้องประชาชน’
ไม่อยากระรานประชาชน! ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจงเหตุเมินไล่ฟ้องเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ รายแปลง
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน
คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน