“...ข้อกล่าวอ้างในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการร่างกฎหมายที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คณะกรรมการสอบสวน จึงไม่อาจนำข้อกล่าวอ้างดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ดำเนินการเพิกถอนตามโฉนดที่ดิน…”
...............................
สืบเนื่องจากกรณีอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่ง ที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
อย่างไรก็ดี จากคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินทั้ง 2 ฉบับ ปรากฏว่ามีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบ ซึ่งถือครองกรรมสิทธิ์โดยนักการเมือง ญาตินักการเมือง บริษัทที่ถือหุ้นหรือบริหารโดยนักการเมืองหรือญาตินักการเมืองตระกูล ‘ชิดชอบ’ จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวา นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทีมทนายของตระกูลชิดชอบ นำโดย ชนินทร์ แก่นหิรัญ และผู้ได้รับความเดือนร้อนจากคำสั่งดังกล่าว ได้ทำหนังสือส่งไป 'ประธานคณะกรรมการสอบสวน' ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เพื่อคัดค้านการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ยกพระราชดำรัส ‘รัชกาลที่ 5’ กำหนดเขตทางรถไฟแค่ 20 วา
ตามที่คณะกรรมการสอบสวนฯได้อ้างว่า โฉนดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ทุกแปลง ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเพิกถอนให้ถูกต้องตามนัยมาตรา 61 นั้น
ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยสุจริตและโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเพิกถอนโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าว ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จ ที่ 106/2541 ได้
เนื่องจากเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ และขอคัดค้านการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ในปี พ.ศ.2451 ในการก่อสร้างทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา นายแอร์ ไวเลอร์ เจ้ากรมรถไฟ ได้ขอให้มีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมาข้างซ้าย 20 วา และข้างขวา 30 วา แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเห็นว่า ด้านข้างขวาที่กำหนดเขตไว้ 30 วา มากเกินความต้องการ ทำให้เกิดความลำบากต่อประชาชนเจ้าของที่ดินมากจนเกินไป
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกำหนดแนวเขตไว้เพียงข้างละ 20 วา ตลอดสาย ส่วนที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของตาม พ.ร.ฎ.สร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ที่กำหนดไว้เป็นเขตทางรถไฟข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร นั้น มากเกินกว่าความต้องการบำรุงทางรถไฟ และจะเป็นการตัดประโยชน์ความเจริญในท้องที่ เพราะประชาชนจะสามารถไปจับจองบำรุงที่ดินทำประโยชน์ไม่ได้
จึงทรงมีพระราชดำรัสให้กำหนดเขตทางรถไฟ ข้างละ 20 วา ตลอดสาย และให้ยกเลิกกำหนดเขตที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร
ต่อมาข้าหลวงจัดที่ดินกรมรถไฟ ได้แจ้งความให้ประชาชน ที่มีที่ดินตามทางรถไฟสายนครราชสีมาทราบ โดยทั่วกันว่า เขตที่ดินของกรมรถไฟนั้น มีกำหนดตามทางรถไฟข้างละ 20 วา และที่ตรงสถานีรถไฟข้างละ 40 วา อันเป็นการดำเนินงานตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏตามหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ที่ 139/2013 ลงวันที่ 4 ก.ย.2451 และแจ้งความของข้าหลวงจัดที่่ดิน ลงวันที่ 12 เม.ย.2452
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยยังคงใช้ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุด พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ถือเป็นกฎหมายเด็ดขาด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไม่ต้องการให้การก่อสร้างทางรถไฟหลวงกระทบต่อประโยชน์ของราษฎร จึงทรงมีพระราชดำรัสให้กำหนดเขตทางรถไฟข้างละ 20 วา ตลอดสาย และให้ยกเลิกกำหนดเขตที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถจับจองและใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองต่อไป
พระราชดำรัสดังกล่าวจึงถือเป็นกฎหมายเด็ดขาด ผู้ใดจะฝ่าฝืนมิได้ ดังนั้น แนวเขตที่ดินของกรมรถไฟนั้น จึงต้องมีกำหนดตามทางรถไฟข้างละ 20 วา และที่ตรงสถานีรถไฟข้างละ 40 วา ประกาศกำหนดเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
@ยก‘พ.ร.ฎ.’สมัย ร.6 อ้าง‘เขากระโดง’อยู่นอกแนวเขตสร้างทางรถไฟ
2.ที่ดินบริเวณเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ไม่ใช่ ‘ที่ดินรถไฟ’ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พ.ย.2464 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 เฉพาะตอนตั้งแต่ ต.ท่าช้าง จ.นครราชสีมาถึง จ.สุรินทร์ สิ้นผลบังคับตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2464 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ได้ประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2462 ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้กำหนดแนวเขตทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตั้งแต่นครราชสีมาไปข้ามลำน้ำมูลราว ต.ท่าช้าง เข้าเขต อ.พิมาย ไปยัง จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ จนถึง อ.วารินชำราบใน จ.อุบลราชธานี
และให้อำนาจข้าหลวงพิเศษ จัดการที่ดินดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่จำเป็นต่อการสร้างและเดินรถดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 8 พ.ย.2462 ซึ่งจะมีบังคับใช้ถึงวันที่ 7 พ.ย.2464 ทั้งนี้ ในระหว่าง 2 ปีที่ได้กำหนดไว้นี้ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดจับจองที่ดิน ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ
ส่วนที่ดินที่มีเจ้าของก่อนวันประกาศ พ.ร.ฎ.นี้ ห้ามมิให้เจ้าของเอาที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตทางรถไฟตามปรากฏในแผนที่ ไปยกให้หรือขายซื้อแลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด และห้ามมิให้สร้างบ้านเรือนหรือปลูกต้นผลไม้หรือทำไร่ในที่เหล่านี้ ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากข้าหลวงจัดการที่ดิน
อีกทั้งตามรายละเอียดที่ปรากฏตามสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 , พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ลงวันที่ 20 ส.ค.2463
พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ลงวันที่ 7 พ.ย.2464 และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้าง ลงวันที่ 27 ก.ย.2465 ซึ่งได้ประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2465 นั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และวันที่ 7 พ.ย.2464 ถูกยกเลิกทั้งฉบับ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2465
ส่งผลให้ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจับจองที่ดิน ซึ่งเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของ ส่วนที่ดินที่มีเจ้าของก่อนวันประกาศ พ.ร.ฎ.นี้ เจ้าของเอาที่ดิน ซึ่งมิได้ถูกจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟ สามารถยกให้หรือขายซื้อแลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด และสามารถสร้างบ้านเรือนหรือปลูกต้นผลไม้ หรือทำไร่ในที่เหล่านี้โดยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากข้าหลวงจัดการที่ดินอีกต่อไป
และข้าหลวงจัดการที่ดิน ไม่มีอำนาจที่จะกระทำกิจการในการสำรวจวางแนวทางรถไฟอีกต่อไป หากกรมรถไฟหลวงหรือข้าหลวงจัดการที่ดินมีความประสงค์ที่จะจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือและหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดเพิ่มเติม
จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงและว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟหลวงในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน
เช่นเดียวกับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล กับว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟแยกสายนี้ ลงวันที่ 13 ก.พ.2470 ที่ได้ประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2470
2.2 โฉนดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทุกแปลง ไม่ได้อยู่ในแนวเขตการจัดซื้อที่ดิน ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พ.ย.2464
เมื่อพิจารณาจากบัญชีรายนามเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ในเขตที่ดินที่กรม รถไฟหลวงต้องการจัดซื้อ สำหรับก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือจากสถานีโคราช จังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 20 ส.ค.2463 ,วันที่ 7 พ.ย.2464 และวันที่ 27 ก.ย.2465 จะเห็นได้ว่า พื้นที่ ต.เขากระโดง ไม่ได้อยู่ในแนวเขตการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวแต่อย่างใด
@‘กรมรถไฟฯ’ไม่มีกรรมสิทธิ์ เหตุไม่ทำตามขั้นตอน‘พ.ร.บ.จัดวางรางฯ’
3.กรมรถไฟแผ่นดินไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 115572 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ และพื้นที่บริเวณเขากระโดง ตามนัยมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน กล่าวคือการบังคับให้ขายตามข้อความดังกล่าวไว้ในส่วนที่ 2 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ได้นิยามคำว่า ‘ที่ดินรถไฟ’ หมายความว่า ‘ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาฤาเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย'
มาตรา 3 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ได้นิยามคำว่า ‘ทางรถไฟ’ หมายความว่า ‘ถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถ’
มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 บัญญัติว่า ‘ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น ให้อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน กล่าวคือการบังคับให้ขายตามข้อความดังกล่าวไว้ในส่วนที่ 2 นี้’
จากบทบัญญัติข้างต้นจะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ใน ‘ที่ดินรถไฟ’ ของกรมรถไฟแผ่นดิน จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 18 ถึงมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 สรุปโดยสังเขปดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการตรวจวางแนวเขตทางรถไฟให้แน่นอน กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกำหนดอายุ 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศ พ.ร.ฎ.นั้น ตามนัยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(2) กรมรถไฟแผ่นดินเป็นผู้ธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดิน ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ ตามนัยมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(3) พนักงานรถไฟ กรมรถไฟแผ่นดิน มีสิทธิเข้าไปตรวจวางแนวทางสร้างทางรถไฟในที่ดินของประชาชนทั้งหลายเท่าที่จำเป็น เพื่อทำแผนที่การสร้างรถไฟ ซึ่งรวมถึงการวัดระยะ การปักหลักแนวเขต และการเก็บตัวอย่างวัสดุตามนัยมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(4) กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่ออนุญาตให้จัดซื้อที่ดิน ให้มีการจัดทำแผนที่แสดงเขตที่ดินที่ต้องการสร้างทางรถไฟและเขตที่ดินที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดซื้อแนบท้าย พ.ร.ฎ.นั้นด้วย ตามนัยมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(5) กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไว้ในราชกิจจานุเบกษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามนัยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(6) กรมรถไฟแผ่นดิน จะต้องจัดทำสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินและว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น โดยมีเจ้าหน้าที่รับรอง กับแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.นั้น และส่งมอบไว้ที่ ที่ว่าการกรมรถไฟแผ่นดิน ศาลารัฐบาลมณฑล ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการในตำบลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันจะต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่
และหอทะเบียนที่ดินในมณฑลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น อันจะต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่ ตามนัยมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สำเนา พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะถูกรวบรวมและเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ
(7) กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่กรมรถไฟแผ่นดินได้จัดซื้อไว้ ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้น จะตกเป็นของกรมรถไฟแผ่นดิน ก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไว้ในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ตามนัยมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
(8) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่ซึ่งให้จัดซื้อที่ดินนั้น จะต้องนำข้อความใน พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ออกโฆษณาให้ราษฎรในท้องที่นั้นทราบ โดยปิดประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่ว่าการ และโดยวิธีหนึ่งวิธีใดที่มีอำนาจจะโฆษณาให้ทราบได้ตามนัยมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า กรมรถไฟแผ่นดินไม่มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินได้ด้วยตนเอง แต่จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเท่าที่จำ เป็นตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ตามนัยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
และในประการสำคัญ กรมรถไฟแผ่นดินจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ก็ต่อเมื่อมีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไว้ในราชกิจจานุเบกษา ตามนัยมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลจากศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ
กลับไม่ปรากฏว่ามีต้นฺฉบับ หรือสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์และว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือไปเขากระโดงและบ้านตะโก จังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อได้ตรวจสอบหนังสือราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ.2462 ถึง ปี พ.ศ.2570 ก็ไม่ปรากฏว่า ได้มีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์และว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือไปเขากระโดงและบ้านตะโก จังหวัดบุรีรัมย์แต่อย่างใดเช่นกัน
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 ที่พิจารณาว่า ‘เมื่อปรากฏว่า การสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดเขตที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี พ.ศ.2464ได้ดำเนินการครบถ้วน..... จึงถือได้ว่าเป็นการหวงห้ามที่รกร้างว่างเปล่าไว้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจึงเข้าลักษณะเป็นที่รถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวงฯ นั้น
จึงเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากกรมรถไฟแผ่นดินไม่เคยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเท่าที่จำเป็นตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามนัยมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
และไม่เคยมีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตามนัยมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 แต่อย่างใด
@ชี้คำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ กรณี‘เขากระโดง’คลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย
4.คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1556/2550 ลงวันที่ 29 พ.ค.2550 และที่ 163/2552 ลงวันที่ 29 ม.ค.2552 เคยได้วินิจฉัยภาพถ่ายทางอากาศที่กรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 0516.2/3546 ลงวันที่ 10 ก.พ.2552แจ้งผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ระหว่างแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่าง 5638 IV 9654 ปี พ.ศ.2497 ปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ/ไม้พุ่ม และแผ้วถาง บางส่วนเป็นป่าผลัดใบ ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 สภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินแผ้วถาง บางส่วนปรากฏเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ
(2) ระหว่างแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จังหวัดบุรีรัมย์ระหว่าง 5638 IV 9654 ปี พ.ศ.2519 ปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 พื้นที่ทั้งหมดเป็นหมู่บ้าน ส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ บางส่วนของพื้นที่ปรากฏเป็นหมู่บ้าน พื้นที่เพาะปลูกพืชสวน ป่าผลัดใบเสื่อมโทรม และทุ่งหญ้าธรรมชาติ/ไม้พุ่ม
จากผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าว เชื่อได้ว่าราษฎรเริ่มเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ได้ทำการสงวนหวงห้ามหรือป้องกันการบุกรุกแต่อย่างใด ประชาชนจึงได้มีการครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา และอยู่อาศัยเป็นหลักฐานมั่นคง จนถึงปี พ.ศ.2519 บริเวณที่ดินทั้ง 2 แปลง จึงเป็นหมู่บ้าน
และเมื่อโฉนดที่ดินเลขที่ 115572 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นบริเวณใกล้เคียงกันกับโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ย่อมสามารถอ้างอิงผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศของที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวได้
ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541ที่พิจารณาว่า โฉนดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ทุกแปลง เข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
จึงเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เนื่องจากโฉนดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ทุกแปลง ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าหรือรกร้าง ว่างเปล่า และการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่ได้ทำการสงวนหวงห้ามหรือป้องกันการบุกรุกในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด
@อ้าง‘กรมรถไฟแผ่นดิน’ไม่มีอำนาจจัดหาที่ดินบริเวณ‘แยกเขากระโดง’
5.ทางรถไฟบริเวณทางแยกไปเขากระโดงและบ้านตะโก เป็นรางรถไฟชั่วคราว ตามนัยมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 บัญญัติว่า ‘ภายในเวลาที่จำเป็นเพื่อการก่อสร้าง ฤาเพื่อสร้างทางรถไฟให้แล้วเสร็จก็ดี ฤาภายในเวลาที่ต้องจัดซ่อมทางรถไฟอย่างขนานใหญ่ก็ดี
กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะสั่งให้เขาปกครองที่ดินซึ่งติดต่อกับทางรถไฟนั้นได้ชั่วคราว (ยกเว้นแต่สิ่งปลูกสร้าง สวนที่ประดับประดาไว้ชม ถนน สวนปลูกต้นผลไม้ฤาสวนเพาะปลูก) เพื่อขุดเอาศิลา ดินสอพอง ทราย กรวด ดิน ฤาวัตถุสิ่งอื่นที่ใช้ในการก่อสร้างฤาการซ่อม ฤาเพื่อทำความสะดวกในการก่อสร้าง ฤาการซ่อมทางรถไฟนั้น
เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้มีคำสั่งดังว่ามานี้แล้ว ให้ทำหนังสือจดบันทึกรายการเลอียดแห่งทรัพย์ที่จะเข้ายึดถือปกครองนั้น แล้วให้เจ้าน่าที่กรมรถไฟแผ่นดินกับเจ้าของทรัพย์นั้น ลงนามไว้เป็นสำคัญทั้ง สองฝ่ายเพื่อเป็นหลักฐานในการที่จะคำนวณค่าเสียหายอันพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้ายึดถือปกครองทรัพย์นั้น
เมื่อได้เลิกถอนการปกครองที่ชั่วคราวดังกล่าวมาแล้วนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องใช้เงินค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์นั้น
ถ้าการเข้าไปปกครองนั้น เป็นเวลานานกว่าปีหนึ่งขึ้นไปก็ดีฤาการที่เข้าไปปกครองนับได้เกินกว่าห้าครั้งก็ดี เจ้าของทรัพย์มีสิทธิที่จะขอให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดซื้อที่นั่นได้ ฝ่ายกรมรถไฟแผ่นดินนั้นย่อมมีสิทธิเสมอที่จะจัดซื้อที่นั่นไว้ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่จะเห็นสมควร”
ข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า ทางรถไฟแยกเขากระโดงนั้น มิใช่เส้นทางรถไฟตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และวันที่ 7 พ.ย.2464 และมิได้มีการจัดซื้อไว้ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 20 ส.ค.2463 ,วันที่ 7 พ.ย.2464 และวันที่ 27 ก.ย.2465
หากแต่เป็นเพียงทางรถไฟชั่วคราว เพื่อประโยชน์เข้าไปขนหินย่อยที่เขากระโดง ตามนัยมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2564 เท่านั้น หากกรมรถไฟแผ่นดินต้องการที่จะจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อสร้างทางรถไฟ จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน มาตรา 18 ถึงมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวงฯ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กรมรถไฟแผ่นดินเป็นเพียงผู้ทำธุระจัดหา แต่ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อได้ด้วยตนเอง และจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นและจะต้องมีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไว้ในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารหรือหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นว่า กรมรถไฟแผ่นดินเคยได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว
และเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล กลับพบว่า นอกจากจะมีสำเนา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตกับว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟสายนี้ที่ได้มีการประกาศโฆษณาไว้ในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2470 เล่มที่ 44 หน้า 313 แล้ว
จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจในการจัดหาซื้อที่ดินบริเวณทางแยกไปเขากระโดงและบ้านตะโกแต่อย่างใด เนื่องจากทางรถไฟสายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางคมนาคมและเพื่อความสะดวกในการรับส่งสินค้าของประชาชน
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ทางรถไฟบริเวณทางแยกไปเขากระโดงและบ้านตะโกเป็นรางรถไฟชั่วคราว ตามนัยมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และกรมรถไฟแผ่นดินไม่มีอำนาจในการจัดหาซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวอย่างใด
ประกอบกับเมื่อไม่มีการประกาศโฆษณา พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์และว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือไปเขากระโดงและบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ ไว้ในราชกิจจานุเบกษา การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว
@ชี้‘แผนที่’การถไฟฯ’ที่อ้างต่อศาลฯไม่ใช่‘แผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.’
6.แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 เป็นเพียงแผนที่สำรวจแนวเขต ไม่ใช่แผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.
จากการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุ พบว่า แผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์และว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟหลวงซึ่งจัดท าโดยกรมที่ดินและกรมรถไฟหลวงนั้น จะมีมาตราส่วน 1 : 50,000 ถึง 1 : 1,000,000
และจะใช้ชื่อแผนที่ว่า ‘แผนที่แสดงเขตที่ดินที่ต้องการจัดซื้อสำหรับทางรถไฟ.....’ หรือ ‘แผนที่แสดงแนวเขตรถไฟแผ่นดินที่จะจัดสร้างตาม ประกาศพระราชกฤษฎีกา.....’ หรือ ‘แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางรถไฟ.....’ ฯลฯ
เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จงบุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างส่งต่อศาล ในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย กลับมีชื่อที่แตกต่างจากแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ. ฉบับอื่น และมีมาตราส่วน 1 : 4000 ขนาดประมาณ 0.33 เมตร × 2 เมตร ซึ่งไม่สามารถแนบท้าย พ.ร.ฎ.ได้อย่างแน่นอน
และยังน่าเชื่อว่าเป็นแผนที่ที่ได้มีการจัดทำขึ้นมาในปี พ.ศ.2467 เพื่อใช้สำหรับการเสนอขอตราเป็น พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ตาม พ.ร.บ.จัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 เท่านั้น แต่เมื่อไม่ได้รับการโปรดเกล้าให้จัดซื้อที่ดิน จึงไม่มีการปรับมาตราส่วนแผนที่ดังกล่าว เพื่อแนบท้าย พ.ร.ฎ.ต่อไป แผนที่ดังกล่าว จึงมิใช่แผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ที่ถูกต้องแท้จริง ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวอ้างแต่อย่างใด
@กล่าวหา‘การรถไฟฯ’อ้าง'แผนที่'อันเท็จให้ศาลพิจารณา
7.แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 ที่มีการระบุแนวเขตข้างละ ๑๐๐๐ ม. (ม.อยู่ด้านบนตัวเลข ๑๐๐๐) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 11 เป็นความเท็จ ส่งผลให้แผนที่ดังกล่าวเป็นเอกสารเท็จ
กล่าวคือ การอ่านแผนที่ตามหลักภูมิสารสนเทศศาสตร์ โดยวิธีการคำนวณมาตราส่วน 1 : 4,000 คือ 1 เซนติเมตร เท่ากับ 4,000 เซนติเมตร แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 มีการที่มีการระบุแนวเขตข้างละ ๑๐๐๐ ม. (ม.อยู่ด้านบนตัวเลข ๑๐๐๐)
แต่เมื่อวัดความยาวจากกึ่งกลางทางรถไฟถึงแนวเขตที่ดินรถไฟดังกล่าวกลับวัดระยะได้เพียง 2.5 เซนติเมตร และเมื่อนำมาคำนวณตาม มาตราส่วน 1 : 4,000 จะได้ผลลัพธ์ดังนี้
2.5 เซนติเมตร × 4,00 เซนติเมตร = 10,000 เซนติเมตร
100 เซนติเมตร เท่ากับ 1 เมตร
10,000 เซนติเมตร ÷ 100 เซนติเมตร = 100 เมตร
ดังนั้น ระยะแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 จากกึ่งกลางทางรถไฟที่มีการที่มีการระบุแนวเขตข้างละ ๑๐๐๐ ม. (ม.อยู่ด้านบนตัวเลข ๑๐๐๐) เป็นความเท็จ
เพราะเมื่อคำนวณหาระยะทางในแผนที่ตามหลักภูมิสารสนเทศศาสตร์โดยใช้มาตราส่วน 1 : 4,000 จะมีแนวเขตที่ดินเพียงข้างละ 100 เมตร เท่านั้น
และเมื่อนำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375– 650 มาตราส่วน 1 : 4,000 (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 11)
มาเปรียบเทียบกับแผนที่แสดงแนวเขตที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างสิทธิ์บริเวณทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ มาตราส่วน 1 : 4,000 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างส่งต่อศาลในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย
จะเห็นโดยชัดเจนว่า แผนที่ทั้งสองนั้น มีมาตราส่วน 1 : 4,000 เท่ากัน แต่เมื่อวัดความยาวจากกึ่งกลางทางรถไฟถึงแนวเขตที่ดินรถไฟดังกล่าวกลับวัดระยะได้แตกต่างกันถึง 10 เท่า
โดยแผนที่แสดงแนวเขตที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างสิทธิ์บริเวณทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ วัดระยะได้ถึงข้างละ 25 เซนติเมตร และเมื่อนำมาคำนวณตามมาตราส่วน 1 : 4,000 จะได้ผลลัพธ์ ดังนี้
25 เซนติเมตร × 4,000 เซนติเมตร = 100,000 เซนติเมตร
100 เซนติเมตร เท่ากับ 1 เมตร
100,000 เซนติเมตร ÷ 100 เซนติเมตร = 1,000 เมตร
แผนที่แสดงแนวเขตที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างสิทธิ์บริเวณทางแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เอกสารหมาย ล. 14 จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ว่า แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างว่าเป็นแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.เป็นเอกสารเท็จ
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตในวิธีการเขียนข้อความที่ระบุแนวเขตข้างละ ๑๐๐๐ ม. (ม.อยู่ด้านบนตัวเลข ๑๐๐๐) เป็นการเขียนที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการภาษาไทยและหลักภูมิสารสนเทศศาสตร์
กล่าวคือ ตัวย่อ ม. จะอยู่ต่อท้ายตัวเลข ไม่ใช่ไว้ด้านบนตัวเลข โดยที่ถูกต้องคือ 1,000 เมตร หรือ 1,000 ม. และไม่มีเครื่องหมายจุลภาค “,” ที่ใช้คั่นจำนวนเลขนับจากหลักหน่วยไปทีละ 3 หลัก
จึงน่าเชื่อมาการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในแผนที่ดังกล่าว เพื่อหลอกลวงผู้อื่นให้เชื่อว่า แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 มีระยะที่ดินรถไฟข้างละ 1,000 เมตร ตามข้อกล่าวต่อสู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เมื่อนำแผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 มาตราส่วน 1 : 4,000 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 11 มาเปรียบเทียบกับแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงแยกจากสายตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านบุ่งหวายไปบ้านโพธิ์มูล
จะเห็นได้ว่า จะมีการระบุระยะแนวเขตที่ดินการรถไฟด้วยตัวเลข 100 ม. ไม่ใช่ 1000 ม. และจะมีเครื่องหมายจุลภาค “,” ที่ใช้คั่นจำนวนเลขนับจากหลักหน่วยไปทีละ 3 หลัก ดังเช่นที่ระบุไว้ว่า มาตราส่วน 1 : 10,000 และมาตราส่วน 1 : 5,000 ซึ่งเป็นเขียนที่ถูกต้องตามหลักภาษาไทยและหลักภูมิสารสนเทศศาสตร์
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำและการอ่านแผนที่ ย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่า แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375-650 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 11 ที่มีการระบุแนวเขต ข้างละ 1000 ม. เป็นเอกสารเท็จ
แต่กลับเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวและอาศัยความไม่รู้ของประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย
เพื่อให้หลงเชื่อว่า แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 มีแนวเขตข้างละ 1,000 เมตร ตามข้อต่อสู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดงได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
(ชนินทร์ แก่นหิรัญ)
@ยกหลักฐานอ้าง'ประชาชน'ครอบครองที่ดินฯตั้งแต่ปี 2458
8.จากการตรวจสอบรายการโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 นั้น
ปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 2869 8473 8626 8659 8923 8661 8662 1128577 8663 180070 และ 18616 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ซึ่งได้มีการแจ้งการครอบครองและก่นสร้างใช้ประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2458
รายละเอียดปรากฏตามหลักฐานทะเบียนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2869 8473 8626 8659 8923 8661 8662 1128577 8663 180070 และ 18616 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประชาชนได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และ พ.ร.ฎ.ด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พ.ย.2464
อันเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า กรมรถไฟหลวงไม่เคยห่วงกันแนวเขตพื้นที่บริเวณเขากระโดงแต่อย่างใด อันเป็นที่มาของผลการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศตามหนังสือ กรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 0516.2/3546 ลงวันที่ 10 ก.พ.2552 ดังกล่าวข้างต้น
@ชี้‘หลักเขตที่ดิน’ที่‘การรถไฟฯ’กล่าวอ้างต่อศาลฯเป็นความเท็จ
9.หลักซีเมนท์ที่มีข้อความว่า ร.ฟ.ล. ที่การรถไฟ กล่าวอ้างต่อศาลในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย (โจทก์) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (จำเลย) เอกสารหมาย ล.15 ว่า
เป็นหลักแนวเขตตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พ.ย.2464 นั้น เป็นความเท็จ
จากการตรวจสอบพบว่า หลักซีเมนท์ เอกสารหมาย ล. 15 นั้น แท้จริงแล้วเป็นหลักแนวเขตที่เกิดขึ้นจากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของราษฎรและปักหลักสำหรับการทำรังวัด เพื่อขอออกหนังสือสำคัญที่หลวงในช่วงปี พ.ศ.2517
และเมื่อประชาชนที่ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินบริเวณเขากระโดงได้ทราบถึงการกระทำดังกล่าว จึงได้ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในทันที น่าเชื่อว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนการกระทำของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กระทำการรื้อถอนหลักแนวเขตที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของตน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คงเหลือหลักแนวเขตดังกล่าวเพียงหลักเดียว
นอกจากนี้ ตำแหน่งของหลักแนวเขตดังกล่าว ก็มิได้ตั้งอยู่ในบริเวณแนวเขตที่ดินรถไฟในระยะ 1,000 เมตร นับจากทางรถไฟอีกด้วย แต่กลับตั้งอยู่ใกล้กับรางรถไฟในระยะไม่เกิน 100 เมตร เท่านั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ทราบเป็นอย่างดีว่า หลักแนวเขตดังกล่าว ไม่ใช่หลักแนวเขตตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง ลงวันที่ 7 พ.ย.2464
แต่กลับเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวและอาศัยความไม่รู้ของประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย
เพื่อให้หลงเชื่อว่า แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟ ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเม็ตร์ 375–650 มีแนวเขตข้างละ 1,000 เมตร ตามข้อต่อสู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดงได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
@ร้อง‘คณะกรรมการสอบสวน’ ยุติการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
10.เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่กล่าวมาขั้นต้นตามข้อ 1. ถึงข้อ 9. จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย
เป็นคำพิพากษาที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ และการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน ผู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีสิทธิดีกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้มีสิทธิตามโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมาตรา 37 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 รับรองคุ้มครองไว้
“อาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเบื้องต้น ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ซึ่งรวมถึงตามโฉนดที่ดิน สิ่งที่แนบมาด้วย 1 ข้อกล่าวอ้างในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการร่างกฎหมายที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
คณะกรรมการสอบสวน จึงไม่อาจนำข้อกล่าวอ้างดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ดำเนินการเพิกถอนตามโฉนดที่ดิน สิ่งที่แนบมาด้วย ๑ ตามที่อ้างถึง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการสอบสวนได้โปรดมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน สิ่งที่แนบมาด้วย 1 และมีคำสั่งยุติเรื่องในกรณีนี้ด้วย” หนังสือคัดค้านการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฯ ระบุ
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของหนังสือคัดค้านการเพิกถอน ‘โฉนดที่ดิน’ และเอกสารสิทธิในที่ดินต่างๆ ที่ทนายความตระกูล ‘ชิดชอบ’ และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ยื่นต่อคณะกรรมการสอบสวน โดยหยิบยกข้อเท็จจริงใน 9 ประเด็น มาคัดค้านการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ในครั้งนี้
อ่านประกอบ :
แผนที่เขตรถไฟฯมีพิรุธ! ทนายตระกูล‘ชิดชอบ’ยกต่อสู้ ปมถอนโฉนดเขากระโดง-ชี้ศก.บุรีรัมย์ชะงัก
ไม่เกี่ยวถอนโฉนดเขากระโดง!‘ชยาวุธ’เปิดใจลาออกอธิบดีที่ดินดูแลภรรยาป่วย
เปิดตำแหน่งโฉนด’ตระกูล‘ชิดชอบ’ทับที่รถไฟฯ‘เขากระโดง’-‘ฝ่าย กม.’แจงซื้อโดยสุจริต
จ่อโดนเพิกถอน! ชัดๆเปิด‘โฉนด-น.ส.3’ตระกูล’ชิดชอบ’ 20 แปลง 288 ไร่ ทับที่ดิน‘เขากระโดง’
ก่อน‘ชยาวุธ’ทิ้งเก้าอี้อธิบดี! พบ‘คกก.สอบสวน’แจ้งเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’รุกที่หลวง 2 แปลง
'อนุทิน'ปัดการเมืองกดดัน 'อธิบดีกรมที่ดิน'ยื่นลาออก อย่าโยงปมพิพาท‘เขากระโดง’
การบ้าน‘อนุทิน’นั่ง‘มท.1’! แก้โจทย์สายสีเขียว-เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ต่อสัญญาซื้อน้ำ‘กปภ.’
ลุยเพิกถอนโฉนด 5 พันไร่!‘กรมที่ดิน’ไม่อุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’-แจ้งศาลฯตั้ง‘คกก.สอบสวน’แล้ว
‘รฟท.’ยื่นอุทธรณ์คดี‘เขากระโดง’ปมเรียกค่าเสียหาย 707 ล้าน-รอ‘ศาลปค.’แจ้งท่าที‘กรมที่ดิน’
เส้นตาย 30 เม.ย.! ‘รฟท.’จับตา‘กรมที่ดิน’ยื่นอุทธรณ์คดีเพิกถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ฉบับเต็ม! พลิกคำพิพากษา‘ศาล ปค.’สั่ง‘กรมที่ดิน ‘ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ถอนโฉนด‘เขากระโดง’
‘ศาลปค.กลาง’สั่ง‘อธิบดีกรมที่ดิน’ตั้ง‘คกก.สอบสวน’ เพิกถอนโฉนดที่ดิน‘เขากระโดง’ 772 แปลง
ยันไม่ละเลยเพิกเฉย! ‘กรมที่ดิน’ลุ้น‘ศาลปค.กลาง’ตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้
‘ศาลปค.’นัดตัดสินคดีถอนโฉนด‘เขากระโดง’ 30 มี.ค.นี้-‘ตุลาการฯ’ชี้‘กรมที่ดิน’ละเลยหน้าที่
'ศาลปค.'นั่งพิจารณานัดแรก คดี'รฟท.'ฟ้อง'กรมที่ดิน'ขอสั่งเพิกถอนโฉนด'เขากระโดง' 5 พันไร่
เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’