“…ระบบประกันสังคมจะมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล จากการจ่ายบำนาญให้กับแรงงานสูงอายุที่เกษียณ ทั้งลักษณะของกองทุนประกันสังคมที่มีรายได้มาจากประชากรวัยแรงงาน ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมากและไม่ได้สัดส่วนกับประชากรสูงอายุ เป็นประเด็นที่ท้าทายยิ่งต่อการล้มละลายของกองทุน…”
...........................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบ ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เสนอพร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ
ได้แก่ ข้อเสนอที่ 1 เสริมพลังวัยทำงาน : ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ,ข้อเสนอที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ,ข้อเสนอที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส
ข้อเสนอที่ 4 เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ และ ข้อเสนอที่ 5 สร้างระบบนิเวศ (Eco-System) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว (อ่านข้อมูลประกอบด้านล่าง)
ที่มา : รายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’ ของ ‘คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ’ จัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากรายงาน ‘สมุดปกขาว-ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’ ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำเสนอ เพื่อประกอบการพิจารณา เรื่อง ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมสูงวัย’ ในการประชุม ครม.นั้น
รายงานฯฉบับนี้ ได้มีการนำเสนอประเด็นท้าทายของ ‘สังคมสูงวัย’ ไว้อย่างน่าสนใจ ใน 4 ประเด็นหลัก สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
@ประเมินอีก 10 ปี ไทยอยู่ในภาวะ‘เตี้ยอุ้มค้อม’
ประเด็นที่ 1 ใครจะดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุ : ดูแลกันเอง ครอบครัว หรือรัฐ?
แนวโน้มที่เห็นได้เด่นชัดในสังคมสูงวัย คือ ความต้องการผู้ดูแลปรนนิบัติในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก จากผลการสำรวจประชากรสูงอายุ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความต้องการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามอายุ
กล่าวคือ สัดส่วนของผู้สูงอายุในวัยปลาย (อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป) ต้องอาศัยผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวันมากกว่าผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) เกือบ 9 เท่า ซึ่งสะท้อนว่า ยิ่งประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาการดูแลช่วยเหลือจากผู้อื่นเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุ คือ บุตร และคู่สมรส แต่จากการที่ประชากรไทย มีสัดส่วนผู้ที่เป็นโสด และสัดส่วนผู้ที่ไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แบบแผนการอยู่อาศัยของประชากรในยามสูงอายุเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยสัดส่วนประชากรที่อยู่อาศัยกับบุตรเริ่มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรที่อยู่ตามลำพังคนเดียว และอยู่กันตามลำพังกับคู่สมรสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุ ชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวตามลำพังเพิ่มจากร้อยละ 3.6 ในปี พ.ศ.2537 เป็นร้อยละ 12.0 ในปี พ.ศ.2564 และในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสตามลำพัง เพิ่มจากร้อยละ 11.6 เป็นร้อยละ 21 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่กับบุตรลดลงจากร้อยละ 72.8 เหลือเพียงร้อยละ 49.9
(ที่มา : รายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’)
ประเด็นที่ท้าทายยิ่ง คือ ใครจะมาเป็นผู้ดูแลเกื้อหนุนประชากรสูงอายุในรุ่นต่อๆไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภาวะเจริญพันธุ์ ส่งผลให้อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุ (Potential Support Ratio) หรือสัดส่วนของประชากรในวัยแรงงานที่จะดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุทางตรงในฐานะลูกหลานหรือสมาชิกในครอบครัว หรือดูแลทางอ้อมในฐานะฐานภาษีต่อจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 1 คน มีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ
ในปัจจุบัน คนในวัยทำงานประมาณ 3.2 คนให้การดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุ 1 คน หากภาวะเจริญพันธุ์ยังคงเป็นเช่นในปัจจุบันและอายุคาดเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น 2 ปีต่อทศวรรษ อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุจะลดลงเหลือเพียงประมาณ 2.1 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนภายใน 10 ปีข้างหน้า หมายความว่า หากภาวะเจริญพันธุ์ลดต่ำกว่าระดับปัจจุบันลงไปอีก อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุจะยิ่งลดต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วง 5-10 ปี ข้างหน้า จะเห็นแนวโน้มของผู้ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ หรือผู้สูงอายุสำรอง (ผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี) ต้องดูแลผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ที่เป็นรุ่นพ่อแม่ (Parental Support Ratio) ลดลงจาก 5.3 คน ในปี พ.ศ. 2567 เหลือเพียง 3.2 คนปี 2577
สะท้อนว่าใน 10 ปีข้างหน้า ประชากรในวัยใกล้สูงอายุ ไม่เพียงแต่จะต้องเตรียมการของตนเองให้พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่ต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุวัยปลายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถ้าหากประชากรในรุ่นนี้มีภาวะสุขภาพที่ไม่ดี หรือมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่มั่นคง อาจตกอยู่ในสภาพ “เตี้ยอุ้มค้อม”
(ที่มา : รายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’)
@‘ประกันสังคม’ส่อล้มละลาย-ค่าใช้จ่าย‘สวัสดิการ’พุ่ง
ประเด็นที่ 2 ระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย
สังคมไทย แต่เดิมบุตร คือ กำลังหลักในการดูแลเกื้อหนุนทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่เห็นได้ชัด คือ การที่ผู้สูงอายุมีบุตรน้อยลงเป็นลำดับ แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ จากเดิม คือ บุตร ได้เปลี่ยนมาเป็นรายได้จากการทำงาน (ร้อยละ 32.4) จากบุตร (ร้อยละ 32.2) และจากเบี้ยยังชีพ (ร้อยละ 19.2) ใครจะเกื้อหนุนทางเศรษฐกิจให้กับประชากรสูงอายุ ในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ระบบหลักประกันรายได้และสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมและเพียงพอ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกยาวนาน หลังจากเกษียณอายุการทำงาน จึงทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อภาระการเงินและการคลังของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของงบประมาณด้านสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อีกทั้งยังพบว่าในช่วงปี 2563-2564 ส่วนต่างระหว่างรายรับ (Inflow) และรายจ่าย (Outflow) ทางสังคมลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางอายุของประชากรเป็นประชากรสูงวัย โดยส่วนต่างระหว่างรายรับและรายจ่ายลดลงจากที่เคยสูงสุดร้อยละ 22 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 7.5-10.1 แนวโน้มในอนาคตส่วนต่างนี้ น่าจะลดลงไปอีกและน่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐจัดเตรียมไว้ เช่น
-เบี้ยยังชีพ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รัฐได้ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุจำนวน 10.3 ล้านคน หากคำนวณอย่างคร่าวๆ ด้วยการกำหนดอัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพคงเดิม คือ จ่ายแบบขั้นบันได 600 - 900 บาท ตามกลุ่มอายุ ไปตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า และจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคนตามแนวคิดที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นสวัสดิการพื้นฐานหรือหลักประกันรายได้เบื้องต้น จะพบว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 1.26 แสนล้านบาท และจะเพิ่มเป็นถึง 1.4 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2577
และหากปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท และจ่ายให้ผู้สูงอายุทุกคน คาดว่าภายใน 5 ปี ข้างหน้า ต้องใช้งบประมาณถึง 1.89 แสนล้านบาท และหากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ใน 5 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 5.68 แสนล้านบาท
-ระบบประกันสังคม ปัญหาเสถียรภาพกองทุนประกันสังคม นอกจากจะขึ้นกับการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงเพื่อจะช่วยให้กองทุนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว แต่จากการเพิ่มด้วยอัตราเร่งของประชากรสูงอายุ โดยเฉพาะจากกลุ่มสึนามิประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ หมายความว่า ระบบประกันสังคมจะมีรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล จากการจ่ายบำนาญให้กับแรงงานสูงอายุที่เกษียณ ทั้งลักษณะของกองทุนประกันสังคมที่มีรายได้มาจากประชากรวัยแรงงาน ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมากและไม่ได้สัดส่วนกับประชากรสูงอายุ เป็นประเด็นที่ท้าทายยิ่งต่อการล้มละลายของกองทุน อันเนื่องมาจากแนวโน้มของรายจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อเป็นบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุ เหนือรายได้ที่จัดเก็บมาได้
-ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ตกอยู่ในสภาพที่น่าวิตกเช่นกัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มประชากรสูงอายุ ในปัจจุบันคาดกันว่า รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ (ไม่รวมข้าราชการ) เป็นจำนวนถึง 3,957.30 บาทต่อคนต่อปี
หากสมมติให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวคงที่อย่างเช่นปัจจุบัน และประชากรสูงอายุเพิ่มเป็น 15.78 ล้านคน ใน 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จะเพิ่มเป็นประมาณ 62,476 ล้านบาทต่อปี และภายใน 10 ปี ข้างหน้า คาดกันว่าจำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.11 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพสำหรับประชากรสูงอายุเพิ่มสูงถึงประมาณ 71,655 ล้านบาทต่อปี
@‘วิกฤตประชากร’ลด ฉุด‘จีดีพี’ถดถอยรวดเร็ว
ประเด็นที่ 3 ประชากรวัยเด็กและแรงงานน้อยลง และผลิตภาพ (Productivity) ของประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ “เด็กน้อย แรงงานน้อย ด้อยคุณภาพ”
จำนวนประชากรที่ลดลง ย่อมหมายความว่าการจะรักษาหรือเร่งระดับการพัฒนาของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ต้องอาศัยประชากรที่มีคุณภาพและผลิตภาพสูงกว่าในปัจจุบันหลายเท่าตัว ระบบการศึกษาต้องตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาคุณภาพประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานที่มีอยู่จำกัดให้รับมือกับความต้องการของตลาดและแนวโน้มทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล
ที่ผ่านมาคุณภาพของการศึกษายังมีปัญหา ดังจะเห็นได้จากผลลัพธ์ของการศึกษายังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานสากล
จากการประเมินของธนาคารโลกด้วยดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ในปี พ.ศ. 2560 ว่า เด็กที่เกิดในปัจจุบันจะมีทุนมนุษย์อยู่ในระดับใด เมื่ออายุครบ 18 ปี พบว่า เด็กไทยมีระดับผลิตภาพเพียงแค่ร้อยละ 61 จากการลงทุนในทุนมนุษย์ด้านภาวะสุขภาพและการศึกษา
โดยในด้านการศึกษานั้นพบว่า เด็กไทยอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่ออายุครบ 18 ปี โดยเฉลี่ยได้รับการศึกษา 12.7 ปี แต่กลับมีผลลัพธ์การเรียนรู้เสมือนเรียนแค่เพียง 8.7 ปี ในทำนองเดียวกันผลจากการประเมินด้วย PISA (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยวัดความรอบรู้ในด้าน 3 มิติ คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาในโลกแห่งการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากผลการประเมินในปี พ.ศ.2566 พบว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลงและยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน ยิ่งไปกว่านั้น ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
วิกฤตทางประชากรจากการเกิดที่ลดลงต่ำมาก การสูงอายุทางประชากรที่เป็นไปด้วยอัตราเร่งและเร็วขี้น ในขณะที่คุณภาพของประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้โอกาสที่ประเทศจะก้าวจาก ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ เป็นไปได้ยาก เพราะตลาดเล็กลง ผู้ผลิตและผู้บริโภคน้อยลงมาก ทั้งยังอาจนำไปสู่การถดถอยลงของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ...
“หากจำนวนประชากรลดลงไปเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากจำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย ก็จะทำให้เครื่องจักรด้านการบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอลง และจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศให้ถดถอยได้อย่างรวดเร็ว
การบรรเทาปัญหาการถดถอยของผลิตภัณฑ์มวลรวมในระยะสั้นและระยะกลาง จำเป็นต้องเพิ่มกำลังของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่น (การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน และการส่งออกสุทธิ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครื่องยนต์การใช้จ่ายของภาครัฐไม่สามารถเพิ่มได้อย่างรวดเร็วมากนัก
เพราะปัจจุบันนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยอยู่ในระดับ 3.48 ล้านล้านบาท โดยมีการขาดดุลงบประมาณปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาทอยู่แล้ว หากเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ ก็จะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะอย่างไร้ประสิทธิภาพ
ส่วนเครื่องจักรด้านการส่งออกสุทธินั้น แม้จะมีการเร่งสร้างโอกาสในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-tariff Barriers) นับวันก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการส่งออก และเมื่อพิจารณาถึงเครื่องจักรการลงทุนของภาคเอกชน ประเทศไทย เป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน (ทั้งแรงงานที่มีและไม่มีทักษะ) และยังเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ
เมื่อพิจารณาทั้ง 3 เครื่องยนต์เศรษฐกิจดังกล่าวนั้น จะเห็นว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้กำลังของ 3 เครื่องยนต์นี้ต่ำก็คือ “ประสิทธิภาพ” ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาโดยเร็วด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างผลิตภาพ (Productivity) ให้กลับเข้ามาทดแทนการลดลงของการบริโภคภาคเอกชนอันเนื่องมาจากลดจำนวนลงของประชากร” รายงานฯระบุ
ที่มา : รายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’
@ครอบครัวไทย‘เลือนหาย’-‘ยิ่งสูงอายุ ยิ่งจน’
ประเด็นที่ 4 ครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย
ระเด็นท้าทาย คือ ครอบครัวไทยซึ่งเป็นหลักในการสร้างและพัฒนาคนกำลังเลือนหาย ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 16.4 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 21.4 ในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของเด็กไทย (อายุ 0-17 ปี) อยู่ในครอบครัวที่พร้อมหน้าทั้งพ่อและแม่ ส่วนที่เหลือไม่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ หรืออยู่กับครอบครัวที่มีลักษณะเป็นแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว
นอกจากนี้ ยังพบว่า ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียว หรืออยู่กับคู่สมรสตามลำพังเพิ่มขึ้น เป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และการอยู่กับบุตรซึ่งเคยเป็นรูปแบบการอยู่อาศัยหลักลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 50 เท่านั้น สะท้อนว่าผู้สูงอายุรุ่นหลัง มีลูกน้อยลง เป็นโสดหรือหย่าร้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีลูกแต่ต้องไปทำงานต่างถิ่น
รายงานฯฉบับนี้ ระบุด้วยว่า แม้ว่าการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มไร้ฝีมือซึ่งแรงงานไทยเลือกที่จะไม่ทำ เช่น ภาคการก่อสร้าง การเกษตร การผลิต งานบ้าน การประมง การแปรรูปสัตว์น้ำ และการบริการ นั้น จะสามารถลดการขาดแคลนแรงงานได้บ้าง และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 4-6 หรือ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คาดประมาณกันว่าในปี พ.ศ.2565 แรงงานข้ามชาติมีประมาณร้อยละ 10 ของแรงงานในประเทศไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2566 มีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 2.74 ล้านคน)
อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานข้ามชาตินี้ อาจสามารถบรรเทาความรุนแรงของปัญหาจากสึนามิประชากรในช่วงระยะสั้นเพียง 5-10 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นจำนวนประชากรในวัยแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านเองก็จะลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างอายุทางประชากรเข้าสู่ประชากรสูงวัยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ประชากรสูงวัยของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะ “ยิ่งสูงอายุ ยิ่งจน” และขาดหลักประกันที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังคงมีหนี้สิน อย่างไรก็ดี ราว 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุยังคงทำงานเชิงเศรษฐกิจ โดยผู้สูงอายุที่ยังทำงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคนอกระบบ รายได้ต่ำและไม่แน่นอน
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือติดเตียงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการคาดการณ์แนวโน้มผู้สูงอายุที่จะอยู่ในภาวะพึ่งพิง พบว่า อาจจะเพิ่มจาก 6 แสนคน ในปี พ.ศ. 2558 เป็นกว่า 1.4 ล้านคน ในปี พ.ศ.2593
@‘สศช.’แนะขยายฐานคนเข้า‘กองทุนประกันสังคม’
สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยในอัตราเร่ง โดยเฉพาะ ‘กลุ่มสึนามิประชากร’ ที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุดังกล่าว ทำให้หน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว
“เรื่องของกองทุนประกันสังคมนั้น ขณะนี้ตัวช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายค่อนข้างจะกว้างขึ้น เนื่องจากผู้ประกันตนมีอายุสูงวัยขึ้น ทำให้ (กองทุนประกันสังคม) มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานและเข้ามาอยู่ในระบบลดลง ไม่ได้เข้ามามาก
ตรงส่วนนี้เอง คงต้องมีการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ทั้งในแง่การบริหารจัดการด้านรายรับ และการบริหารจัดการในแง่การดึงคนเข้ามาในระบบประกันสังคม ขยายฐานของคนที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมให้มากขึ้น” ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวในแถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สศช. พบว่า ในปี 2564 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ของกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 73.4% เพิ่มจากปี 2556 ที่สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ฯอยู่ที่ 34.6% และคาดว่าในปี 2575 อาจมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคน จากเดิมที่ในปี 2565 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ 7.6 แสนคน
(ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567)
ที่มา : เอกสารประกอบการแถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 ของ สศช. เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับ 'สึนามิประชากร' หมายถึง 'ประชากรรุ่นเกิดล้าน' ในช่วงปี 2506-2526 ซึ่งทยอยเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอายุ 60 ปี โดย สศช. คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 และในปี พ.ศ.2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 30
ที่มา : วารสารข้าราชการ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2561 สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ.
ก่อนหน้านี้ สุพัณณดา เลาหชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนารายได้และการกระจายรายได้ และ ภัทรพร เล้าวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม สศช. ร่วมกันนำเสนอข้อมูลในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย' เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567
โดย สุพัณณดา และ ภัทรพร ได้นำเสนอประเด็น ‘แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากร และการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศไทย’ โดยชี้ว่า ในปี 2583 ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทย จะเป็นผู้สูงอายุ
และข้อมูลจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts : NTA) พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการขาดดุลรายได้ (Life Cycle Deficit : LDC) ของประเทศเพิ่มขึ้น 1.34 เท่า ในช่วงปี 2562-2583 ทั้งยังทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2583 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.41 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงแหล่งที่มาของรายได้และรายจ่ายของโครงการที่เกี่ยวกับความคุ้มครองทางสังคมทั้งหมด รวมถึงกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนประกันสังคม ในปี 2567 พบว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างของรายรับกับรายจ่ายมากพอสมควร หรือเกือบร้อยละ 20
แต่หากคาดการณ์ไปข้างหน้า จนถึงปี 2583 จะพบว่าช่องว่างนี้จะลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะไม่เหลือช่องว่างเลย ซึ่งเกิดจากการที่ประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้สมทบจะน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้รับประโยชน์ที่จะดึงออกมาจากกองทุน เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป
(ที่มา : เอกสารประกอบการนำเสนอประเด็น '‘แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากร และการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567)
ทั้งนี้ สุพัณณดา และ ภัทรพร มีข้อเสนอแนวทางในการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศไทยไว้ 5 แนวทาง ได้แก่
1.การเตรียมความพร้อมของประชากรในการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ โดยประเด็นสำคัญ คือ จะต้องทำให้คนเหล่านั้น ‘รวยก่อนแก่’ นั่นหมายความว่า ต้องส่งเสริมให้เกิดการออมให้มากขึ้นทุกช่วงวัย พร้อมทั้งความสำคัญกับการ ‘ปรับพฤติกรรม’ ให้สามารถทำได้จริง มากกว่าการ ‘ให้ความรู้’ เพียงอย่างเดียว
2.ให้ความสำคัญกับแนวทางคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่องให้กับประชาชน เปิดโอกาสให้สามารถย้ายข้ามระบบ/ถ่ายเท/เชื่อมต่อ ได้ โดยได้รับประโยชน์ต่อเนื่องและสูงสุด เช่น ระบบประกันสังคมไปยังระบบอื่นๆ
3.ส่งเสริมการดำเนินงานสังคมด้วยโมเดลใหม่ๆ เช่น Social Partnership Model หรือ Social Impact Bond ให้เกิดผลอย่างแท้จริง
4.พัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น ให้สามารถบริการจัดการโครงการด้านสังคมได้เองตามบริบทของพื้นที่ ให้เกิดการทำงานร่วมกันในพื้นที่ในลักษณะ Comprehensive Package ที่มีความเฉพาะเจาะจงในพื้นที่
5.ใช้งานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายของรัฐ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงและประมวลผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ในเชิงการออกแบบนโยบาย
(ที่มา : เอกสารประกอบการนำเสนอประเด็น '‘แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงประชากร และการกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567)
@ชงศึกษาโมเดล‘ตปท.’ พัฒนา‘ประกันสังคม’ยั่งยืน
ขณะเดียวกัน รายงานการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบฯ 2567 วุฒิสภา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานะของกองทุนประกันสังคมในอนาคต พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานประสังคมใน 4 ประเด็น คือ
1.ควรทบทวนระบบประกันสังคมกรณีแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติเข้าลักษณะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกว่า 1 ล้านคน ส่งผลให้รัฐมีภาระต้องจ่ายเงินสมทบตามระบบไตรภาคีเฉพาะกรณีดังกล่าว เป็นงบประมาณ ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น จึงควรทบทวนความเหมาะสมกรณีที่รัฐต้องรับภาระจ่ายเงินสมทบสำหรับกรณีดังกล่าว และพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับกรณีแรงงานข้ามชาติให้แยกต่างหากจากกรณีแรงงานไทย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภาพรวมระบบประกันสังคมของประเทศไทยในระยะยาว
2.ควรสื่อสารประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมต่อสาธารณะให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประกันตน ถึงสถานะของกองทุนว่าปัจจุบันมีเงินสะสมเท่าใด และได้ใช้จ่ายไปเท่าใดอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไป
3.ควรทบทวนเพดานการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ผู้ประกันตนดังกล่าวสามารถจ่ายเงินสมทบในวงเงินที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อที่ผู้ประกันตนสามารถรับประโยชน์ตอบแทนได้มากขึ้นหลังออกจากงานหรือหลังเกษียณแล้ว
4.ควรศึกษาแนวทางระบบประกันสังคมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบโจทย์โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมลดน้อยลง แต่ในทางกลับกันจะมีแนวโน้มผู้ขอรับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
@มีมาตรการจูงใจให้คนอยู่ใน‘ประกันสังคม’นานขึ้น
ขณะที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการกองทุนประกันสังคม ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากสถานการณ์กองทุนประกันสังคม ณ ช่วงเวลานี้ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเงินเข้ามากกว่าเงินออก โดยเงินสมทบที่กองทุนฯได้รับจาก 3 ฝ่าย (ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล) มากกว่าเงินที่จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน
ส่วนผลประโยชน์จากการลงทุนของกองทุนประกันสังคมนั้น แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่กองทุนฯก็ได้กำไรสะสมจากการลงทุนเป็นหลักแสนล้านบาท
“ถ้าพิจารณาเพียงแค่ตัวการบริหารเงิน ก็ถือว่าเป็นไปตามเป้า เป็นไปตามตัวชี้วัด แต่ก็เข้าใจถึงความกังวลของหลายฝ่ายต่างๆที่ว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้มีคนเกษียณอายุมากขึ้น และมากกว่าคนที่เข้าสู่การทำงาน แต่ก็ต้องเรียนตามตรงว่า อันนี้เป็นการคาดเดาจาก scenario (ฉากทัศน์) หนึ่ง
เป็น scenario ที่ว่า สุดท้ายแล้ว จะมีคนป่วยมากกว่าคนที่ทำงาน แต่จริงๆแล้ว ประกันสังคมเอง ก็เหมือนกับกองทุนเพื่อการดูแลสวัสดิการต่างๆของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดภายใต้เงื่อนไขของคณิตศาสตร์ประกันภัยอย่างเดียว เพราะแม้แต่ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะป่วยพร้อมกัน แล้วทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเยอะขนาดนั้น
สิ่งที่ประกันสังคมเรา มีการเตรียมพร้อมไว้ คือ การมองหา scenario ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์บางตัว ที่จะทำให้คนในวัยทำงานมีค่าจ้างที่สูงขึ้นผ่านการมีสวัสดิการที่ดี การเข้าไปดูผู้ประกันตนที่หายไปจากระบบเกิดจากเงื่อนไขอะไร และทำให้คนอยู่ในระบบการจ้างและระบบประกันสังคมได้นาน
เช่น มีการลาคลอดหรือมีเงินเลี้ยงดูบุตรที่ดีมากขึ้น การเพิ่มระยะเวลาในการลาเพื่อไปดูแลคนในครอบครัวภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เป็นต้น ตรงนี้จะทำให้คนในวัยทำงานมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น ส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ยาวนาน
รวมถึงการพิจารณาปรับเงื่อนไขบำนาญต่างๆให้สอดรับ อาทิ การเพิ่มสิทธิบำนาญที่จูงใจให้คนทำงานมากขึ้นเพื่อให้ได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้น และจากข้อเท็จจริง จะพบว่าแรงงานรุ่นใหม่มี productivity สูงมากกว่าแรงงานรุ่นก่อน ถ้าเราออกสิทธิประโยชน์และการดูแลแรงงานรุ่นใหม่ได้ดี ก็ทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ย้ำว่า “คงไม่ได้มีแค่ scenario เดียว ที่บอกว่า เมื่อเดินหน้าไปสู่สังคมคนแก่แล้ว กองทุน (ประกันสังคม) ไม่มีเงิน ก็จะไม่ได้เป็นแบบนั้น”
(รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี)
@มั่นใจ‘กองทุนฯ’ไม่ล้มละลาย อย่างมากแค่‘ฝืดเคือง’
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ในปัจจุบันนี้เงินสมทบกองทุนประกันสังคมมาจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง 5% (ของรายได้ต่อเดือนของลูกจ้าง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท) ฝ่ายลูกจ้าง 5% และฝ่ายรัฐบาล 2.5% แต่ตรงนี้ต้องมีการทบทวนว่ารัฐบาลในฐานะที่เป็นไตรภาคีนั้น การจ่ายเงินสมทบเพียง 2.5% ก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน
“ถ้าเราสามารถเพิ่มในส่วนที่รัฐเข้ามาสมทบเพิ่มได้ ให้เป็นสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 5% รวมถึงเงินที่รัฐคงค้างกับประกันสังคมประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่เราจำเป็นต้องติดตามทวงคืน และปรับเปลี่ยนเงินเหล่านี้มาสร้างความมั่นคงให้ระบบประกันสังคมได้
รวมไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ โดยปัจจุบันเงินที่เรา (กองทุนฯ) จ่ายให้ผู้ประกันอยู่ในอัตราส่วนที่สูงมาก คิดเป็น 60% ของสิทธิประโยชน์ที่เราจ่ายให้ผู้ประกันตนทั้งหมด จึงน่าขบคิดว่าบางรายการที่ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) มีความชำนาญมากกว่า จัดการได้ดีกว่า เช่น การรักษาโรคที่มีความรุนแรง
เราจำเป็นต้องคุยกับ สปสช. ว่า บางส่วน เราสามารถทำ MOU ร่วมกันในส่วนนี้ได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้กองทุนประกันสังคมพัฒนาตัวเองไปดูแลผู้ประกันตนในวัยทำงานได้ดีขึ้น และการเจ็บป่วยเรื้อรังอะไรต่างๆ ก็จะไปร่วมกับ สปสช. ก็จะทำให้กองทุนฯลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงข้อเสนอการปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า เป็นข้อเสนอที่มีมาตั้งแต่บอร์ดประกันสังคมชุดที่ก่อนแล้ว และจริงๆแล้วเรื่องนี้มีความจำเป็น เพราะการปรับเพิ่มเพดานวงเงินสมทบฯ ผู้ประกันตนจะได้ประโยชน์ในระยะยาวในแง่ของเงินบำนาญและการชดเชยการว่างงาน
“คนที่รายได้ 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท ถ้าเงินหายไปเดือนละ 200-300 บาท ก็กระทบชีวิตเขา ดังนั้น จุดยืนของบอร์ดฯฝ่ายผู้ประกัน คือ มีทางเลือกอื่นๆที่จะเพิ่มเงินเข้าสู่กองทุนฯได้ เช่น ถ้าใครสมัครใจจะสมทบเพิ่มเพื่อให้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ก็สมทบได้ แต่ไม่อยากให้เป็นภาคบังคับในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างนี้” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ ดูปัจจัยที่คุณรู้จักในปีนี้ แต่จะไปทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 30-40 ปีข้างหน้า ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะพูดได้ขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย เดิมคนเคยคาดเดาว่า ผู้คนจะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล แต่พอเกิด 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ว่าจะดีหรือแย่อย่างไร คนก็ไม่ล้มละลายจากการักษาพยาบาลแล้ว ฉะนั้น การคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงมีข้อจำกัดอย่างมาก
ส่วนที่มีการบอกว่าเงินจะออกมากกว่าเข้า (กองทุนประกันสังคม) นั้น แต่ถ้าเกิดว่าประเทศไทยเราสามารถอัพสกิลแรงงานต่างๆได้ หรือเรามีการเพิ่มสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการสมทบต่างๆเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้เงินออกและเงินเข้าเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอด เราจะเห็นได้ว่าที่คาดเดาว่า ปี พ.ศ.2592 ปี พ.ศ.2600 กองทุนจะล้มละลาย
เป็นการคาดเดาจะแฟกเตอร์ที่เรารู้จักอย่างจำกัดในช่วงเวลานี้ แม้กระทั่งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันเอกชน เขายังสามารถปรับแพ็กเกจ ปรับเงื่อนไขอะไรต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาได้ ประกันสังคมเองก็ทำเรื่องพวกนี้ด้วยเช่นเดียวกัน อย่างแย่ที่สุดจะเกิดสภาพฝืดเคือง แต่กองทุน (ประกันสังคม) ไม่ล้มละลายแน่นอน”
ท่ามกลางปัจจัยท้าทายท่ามกลาง ‘วิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย’ โดยเฉพาะสถานะกองทุนประกันสังคมที่แนวโน้มเข้าสู่ภาวะ ‘ล้มละลาย’ ในอนาคต ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเกี่ยวกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งรัฐบาลและภาคประชาสังคมเอง จะต้องมีส่วนร่วมในการรับมือกับความท้าทายและวิกฤติเหล่านี้
อ่านประกอบ :
'กลุ่มผู้สูงอายุ'บุก พม.จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้
เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 1 พันบาท 'ถ้วนหน้า' ปูทาง'บำนาญประชาชน'?
เปิดรายงาน'กมธ.'ฉบับล่าสุด ชี้ช่อง'แหล่งรายได้'โปะ‘บำนาญประชาชน’-แนะลดงบฯซ้ำซ้อน 4 หมื่นล.
'เครือข่ายภาคปชช.'เรียกร้อง'รัฐบาล'ผลักดันนโยบาย'บำนาญแห่งชาติ'
'วราวุธ'แจงขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1 พันบาทไม่ได้ ชี้รายรับ-รายจ่าย รบ.สวนทางกัน
ต่างกัน 4 เท่า! เทียบงบ‘เบี้ยผู้สูงอายุ-บำนาญขรก.’10ปี ก่อน‘รบ.บิ๊กตู่’รื้อเกณฑ์จ่ายคนชรา
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ