"...ประการต่อมา หลังจากโอนขายหุ้นแล้วในปี 2561 ตลอดทั้งปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังได้รับค่าตอบแทนในการเป็นที่ปรึกษาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อีกจำนวน 400,000 บาท ทั้งที่เคยชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆแล้ว อีกทั้งมีหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นบิลการเบิกจ่ายน้ำมัน ศาลรัฐธรรมนูญได้พบว่า หลังจากการโอนขายหุ้นแล้วนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังได้นำรถยนต์ส่วนตัวจำนวน 2 คัน มาเบิกค่าน้ำมันในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนถึงเดือนตุลาคม 2562 อีกด้วย..."
......................................
จากกรณีในวันที่ 17 ม.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีกำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีที่ สส.จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง
อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.187 ประกอบพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ม.4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ นั้น (อ่านประกอบ : 17 ม.ค 67 ศาลรธน.นัดลงมติ-ฟังคำวินิจฉัย สถานะรมว. 'ศักดิ์สยาม' ปมถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ร้อง และผู้ถูกร้องในคดีนี้ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@อ้างสัญญาซื้อขายหุ้น‘หจก.บุรีเจริญฯ’เป็นนิติกรรมลวง
คำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ร้อง (สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 54 คน จากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ)
คำแถลงการณ์ปิดคดี
ข้อ 1 คดีนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอคำร้องกล่าวหานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในข้อหายังคงไว้ซึ่งหุ้น ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
ต่อมานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ผู้ถูกร้อง) ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยปฏิเสธว่าผู้ถูกร้องมิได้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด โดยมีหลักฐานทางธุรกรรมการเงินพิสูจน์ได้ว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ใช้เงินในการซื้อสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น จากผู้ถูกร้องจริง
และผู้ถูกร้อง ยังแสดงให้เห็นถึงฐานานุรูปสถานะทางการเงินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่มีจำนวนมากอันสามารถนำเงินมาซื้อหุ้นในห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท และให้บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด กู้ยืมจำนวน 345,500,000 ได้
ส่วนการที่ต้องกู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เนื่องจากในช่วงประมาณปี 2559 บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991จำกัด ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพชำรุดบกพร่อง มีสาเหตุที่แท้จริงจากการทุจริตของพนักงานฝ่ายการเงินและเจ้าหน้าที่ผู้บริหารในขณะนั้นช่วงประมาณปี 2552-2557
บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ไม่สามารถติดตามเอาเงินที่ถูกทุจริตไปกลับมาได้ ส่งผลทำให้ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินกิจการและซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้
ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงขอความช่วยเหลือจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ให้ช่วยเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ และการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ตลอดจนจัดเตรียมหินเข้ากระบวนการผลิตของโรงโม่ โดยให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดไปก่อนและหลังจากที่บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ขายหินได้ แล้วค่อยนำเงินรายได้ดังกล่าวมาหักลบกลบหนี้กัน ตลอดจนกู้ยืมเงินสดหมุนเวียนอีกด้วย
แต่เนื่องจากในช่วงปี 2558 ยอดขายยังไม่สามารถทำกำไรได้มากพอ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ 1991 จำกัด จึงไม่สามารถชำระเงินสำรองจ่ายคืนให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามที่ตกลงกันไว้ได้ จึงเป็นที่มาของการเข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 6 ครั้ง โดยเป็นการรวมยอดเงินสำรองจ่ายและเงินกู้ยืมเงินสดหมุนเวียน คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 จำนวน 49,000,000 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 จำนวน 44,000,000 บาท ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 จำนวน 44,000,000 บาท ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 จำนวน 31,000,000 บาท ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 จำนวน 35,500,000 บาท ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 จำนวน 35,000,000 บาท .....” (รายละเอียดดังปรากฏคำชี้แจงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในสำนวนคดีนี้)
จากพยานหลักฐานได้ปรากฏอย่างประจักษ์ชัดแล้วว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาที่แท้จริงในการทำสัญญาซื้อขายสิทธิลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และไม่มีการโอนเงินชำระค่าหุ้นกันอย่างแท้จริง หลักฐานการโอนเงินที่อ้างว่าเป็นการชำระค่าหุ้นนั้นเป็นเพียงธุรกรรมปกติที่บุคคลทั้งสองกระทำระหว่างกันโดยไม่เปิดเผยต่อบุคคลภายนอกมิใช่การโอนชำระค่าหุ้น
ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นฉบับลงวันที่ 26 มกราคม 2561 จึงเป็นเพียงการทำนิติกรรมลวง ระหว่างบุคคลทั้งสอง และนอกจากนี้ พบว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นบุคคลที่ไม่มีอาชีพหรือรายได้ที่เพียงพอต่อการซื้อสิทธิลงหุ้นในจำนวน 119,499,000 บาท
ประการที่สำคัญยิ่ง ได้ปรากฏหลักฐานเส้นทางการเงินในการโอนชำระค่าหุ้นของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีแหล่งที่มาของเงินจากบัญชีธนาคารของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (ในฐานะส่วนตัว) ,บัญชีธนาคารของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบัญชีธนาคารของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นเจ้าของและมีอำนาจในการบริหารกิจการนิติบุคคลดังกล่าวทั้งสิ้น โดยสรุปเส้นทางการเงินการชำระค่าหุ้น ดังนี้
พบพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งเป็นเส้นทางการเงิน แหล่งที่มาของเงินที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นำมาซื้อหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น พบว่ามาจากบัญชีเงินฝากของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ
นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ให้ถ้อยคำชี้แจง (ครั้งที่ 1) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.30 ในประเด็นแหล่งที่มาของเงินในการซื้อหุ้น ว่า มาจากเงินลงทุนและกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยได้รวบรวมเงินไว้ในบัญชีกองทุนต่างๆ
โดยเงินที่นำมาชำระค่าหุ้น งวดที่ 1. จำนวน 35,000,000 บาท ได้ใช้เงินจากกองทุนเปิดธนชาติ Income Plus ขายออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 งวดที่ 2. จำนวน 35,000,000 บาท ได้ใช้เงินกองทุนเปิด ธนชาติ Income Plus และ กองทุนเปิดธนชาต DPlus ขายออกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 และงวดที่ 3 จำนวน 49,500,000 บาท ได้ใช้เงินจากกองทุนเปิดธนชาต Income Plus ขายออกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561
และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ยังได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกว่า แหล่งที่มาของเงินกองทุนเปิดธนชาต Income Plus เลขที่ผู้ถือหน่วย 0020632297 เลขที่หน่วยลงทุน 011370 จำนวน 46,500,000 บาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 นั้น มาจากการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมจากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ด้วยวิธีโอนผ่านธนาคาร ธนชาต สาขาบุรีรัมย์ เลขที่ 884-2-01055-8 ชื่อบัญชีบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด จำนวน 36,702,680.01 บาท และเงินสดจากการทำธุรกิจส่วนตัวอีกจำนวน 20,000,000 บาท โดยนำไปซื้อกองทุนเปิดธนชาต Income Plus เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จำนวน 56,702,608.01 บาท
และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ยังได้ให้การชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ตามเอกสารหมาย ศ.42/4 ว่า เงินจำนวน 36,702,608.01 บาท เป็นการได้รับชำระหนี้จากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ส่วนเงินสดจำนวน 20,000,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับจากการรับจ้างจัดหาเครื่องจักร อะไหล่ และซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น และรับจ้างตักหินให้โรงโม่หินบริษัท ศิลาชัย 1991 จำกัด รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.30/3
คำให้การชี้แจงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ดังกล่าวเป็นความเท็จ กล่าวคือ เมื่อได้พิจารณาในรายละเอียดตามเอกสารประกอบคำชี้แจงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ได้อ้างส่งเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ตอบข้อสอบถามข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2566 ลงนามโดยนายเอกราช ชิดชอบ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ได้ตอบคำถาม นายตฤณ แก่นหิรัญ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ได้ทำหนังสือสอบถามฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งถามไปยังนายเอกราช ชิดชอบ ในประเด็นการกู้ยืมเงิน
ปรากฏว่านายเอกราช ชิดชอบ ได้ตอบหนังสือถึงเรื่องการชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยมีใจความระบุว่า “......ในช่วงปี 2559-2564 บริษัทฯเคยกู้ยืมเงินระยะยาวโดยมีสัญญากู้ยืมเงิน แต่ไม่มีดอกเบี้ยจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 345,500,000 บาท โดยมีการชำระหนี้คืนบางส่วน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 17,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 78,300,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 95,300,000 และคงเหลือหนี้เงินกู้ยืมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 250,200,000 บาท และได้อ้างสำเนางบการเงินของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด นำมาประกอบการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตามเอกสารหมายเลข 13.........”
ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงตามหนังสือดังกล่าว ขัดแย้งกับคำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่ให้ไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นที่กล่าวอ้างแหล่งที่มาของเงินจำนวน 36,702,680.01 บาท ว่าได้รับการชำระหนี้สำรองจ่ายค่าดำเนินการตักหินจากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อกองทุนเปิดธนชาต Income Plus ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากหนังสือที่นายเอกราช ชิดชอบ ทำหนังสือชี้แจงว่า ได้ชำระหนี้เงินกู้คืนให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในปี 2560 (คือวันที่ 31 ธันวาคม 2560) เป็นเงินจำนวน 17,000,000 เท่านั้น
อีกทั้งเมื่อพิจารณาเส้นทางการเงินจำนวน 36,702,680.01 บาท พบว่า ยอดเงินดังกล่าวเป็นการโอนมาจากบัญชีธนาคารธนชาต ชื่อบัญชี บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด เลขที่ 401-2-02809-8 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเป็นผู้ทำรายการถอนและโอนเงินจำนวน 36,702,680.01 ดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.63/161 และ ศ.70/15)
โดยตรวจพบว่ายอดเงินจำนวน 36,702,680.01 บาทตามที่นายศุภวัฒน์ กล่าวอ้าง นอกจะขัดแย้งกับนายเอกราช ชิดชอบ แล้ว ยังไม่ปรากฏรายละเอียดในงบการเงินของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด เกี่ยวกับจำนวนเงิน 36,702,680.01 แต่ประการใด คำให้การชี้แจงดังกล่าวของนายศุภวัฒน์ จึงเป็นความเท็จ
ส่วนยอดเงินจำนวน 20,000,000 บาท ที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กล่าวอ้างในคำชี้แจง (ครั้งที่ 1) ว่า ได้มาจากการทำธุรกิจส่วนตัว แต่จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นผู้ทำรายการถอนโอนจากบัญชี ธนาคารธนชาต เลขที่บัญชี 401-6-05130-2 ชื่อบัญชี ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น ดังปรากฏตามรายละเอียดเอกสารหมาย ศ.70/14 ฝากเป็นเงินโอนไปยังนายศุภวัฒน์ จำนวน 20,000,000 บาท
และในยอดเงินดังกล่าวนี้ ไม่ปรากฏจากคำชี้แจงของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่อย่างใด แต่พบว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้อ้างในคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งที่ (1) ว่า ได้รับเงินจำนวน 20,000,000 บาท จากการทำธุรกิจส่วนตัว (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.30/3) และยังให้คำชี้แจงเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย ศ.42/4
โดยให้การใหม่อีกครั้งว่า เงินสดจำนวน 20,000,000 บาท ได้มาจากการรับจ้างจัดหาเครื่องจักร อะไหล่ และซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น (ซึ่งก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นขาดสภาพคล่องทางการเงินเช่นเดียวกับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด แต่ประการใด) และได้จากการรับจ้างตักหินให้โรงโม่ บริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด
จากหลักฐานข้างต้นและคำรับของนายศุภวัฒน์ จึงฟังได้เป็นข้อยุติว่าเงินจำนวน 20,000,000 บาท เป็นเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตัคชั่น ที่โอนมาจาก ธนาคารธนชาต สาขาบุรีรัมย์ เลขที่บัญชี 401-6-05130-2 (รายละเอียดปรากฏตาม ศ.70/14) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นผู้ทำรายการถอนเงินเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ดังนั้น คำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เกี่ยวกับการได้มาของเงินจำนวน 20,000,000 บาท จึงเป็นความเท็จอีกเช่นกัน
อนึ่ง หากเงินจำนวนดังกล่าวที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กล่าวอ้างได้มาจากการประกอบธุรกิจจริง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ต้องเสียภาษีจากรายได้ดังกล่าว ในแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2560
แต่จากคำชี้แจงของนายศุภวัฒน์ ที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยอมรับว่า ตนเองไม่เคยสำแดงการเสียภาษี สอดคล้องกับจากการตรวจสอบหลักฐานการยื่นแบบการเสียภาษีเมื่อปี 2560 พบว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีรายได้เพียง 99,300 บาท โดยไม่พบว่ามีการแสดงรายได้จำนวนเงินจำนวน 20,000,000 บาท จากการับจ้างและนำไปยื่นแบบเสียภาษีแต่ประการใด (รายละเอียดปรากฏตาม ศ.3/23-25) นอกจากนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใดๆ ที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้น
ดังนั้น ข้ออ้างว่าได้รับเงินจำนวน 20,000,000 บาท จากการรับจ้างตักหินจากบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น จึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะถือเป็นคำการกล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับเมื่อได้ตรวจพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว ไม่พบว่ามีการทำสัญญาว่าจ้างตักหิน รวมถึงไม่มีหลักฐานการรับเงินหรือชำระเงินของบริษัท ไม่มีรายการหักภาษีตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีการแสดงรายได้-รายรับต่อสรรพากร รวมถึงนิติบุคคลดังกล่าวด้วย ถือเป็นพฤติการณ์ที่หลบเลี่ยงภาษีอย่างประจักษ์ชัดอีกด้วย
จากพยานหลักฐานการโอนเงินจำนวน 20,000,000 บาท ดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่า เป็นเงินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ใช่เงินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามที่กล่าวอ้าง และทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงได้อย่างปราศจากสงสัยว่าเงินจำนวน 20,000,000 บาท ที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้รับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น และนำเงินดังกล่าวมาซื้อกองทุนเปิดธนชาต Income Plus
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเส้นทางการเงินและแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งมีความสอดคล้องต้องกันดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปได้ว่าเงินจำนวน 56,702,608.01 บาท ที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นำไปซื้อกองทุนเปิดธนชาต Income Plus ดังกล่าว มีแหล่งที่มาของเงินจากการทำธุรกรรมของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่โอนมาจากบัญชีส่วนตัวของตนเองก่อนและโอนเข้าไปยังบัญชีของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด
และได้ทำธุรกรรมถอนเงินโอนในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตัคชั่น และในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด โอนให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยขณะทำธุรกรรมดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีอำนาจบริหารกิจการบริษัท/ห้างหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของในห้วงเวลาขณะนั้นอย่างแท้จริง
เมื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้นำเงินอันมีแหล่งที่มาจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนำมาซื้อกองทุนเปิดธนชาต Income Plus และได้นำเงินที่ขายกองทุนจำนวน 49,000,000 บาท ไปชำระค่าหุ้นให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงถือเป็นนิติกรรมลวงไม่มีการทำสัญญาและชำระค่าซื้อขายหุ้นกันจริงดังที่กล่าวอ้าง แต่เป็นธุรกรรมการเงินปกติที่บุคคลทั้งสองคนปกปิดอำพลางเพื่อประโยชน์แก่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เท่านั้น
ส่วนการชำระค่าหุ้นในงวดที่ 2 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กล่าวอ้างว่าได้ขายจากกองทุนเปิดธนชาต Incom plus และ กองทุนเปิด ธนชาต DPlus ตามหนังสือรับรองธนาคารตามเอกสารหมาย ศ.70/4 , 70/6 มาชำระค่าหุ้นให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในงวดที่ 2 จำนวน 35,000,000 บาท นั้น
แต่พบหลักฐานที่สำคัญจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินปรากฏชัดว่า จำนวนเงินดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากบัญชีธนาคาร ธนชาต บัญชีเลขที่ 401-6-01432-6 ซึ่งเป็นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 เวลา 15.36 นาฬิกา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้โอนเงินจำนวน 40,000,000 บาท จากบัญชีของตนเองไปยังบัญชีธนาคาร ธนชาต เลขที่บัญชี 401-2-02809-8 ชื่อบัญชีบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.62/3 , ศ.63/140
และในวันเดียวกัน (17 สิงหาคม 2560) เวลา 15.42 นาฬิกา บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ได้ถอนเป็นเงินโอน (XWD) จำนวน 35,000,000 บาท เข้าไปยังบัญชีธนาคาร ธนชาต เลขที่ 223-2-58847-8 ของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2560 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ทำการถอนเงินโอนจำนวน 35,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ศ.14/10
และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อกองทุนธนชาต DPlus จำนวน 15,000,000 บาท และกองทุน Income Plus อีกจำนวน 20,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,000,0000 บาท (รายละเอียดดังปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.70/4 , ศ.70/6 (ด้วยวิธี การถอนเป็นเงินโอน (XWD) หรือโอนหน้าเคาเตอร์)
ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2560 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ขายกองทุนดังกล่าวและมีการโอนเงินที่ขายกองทุนเข้าบัญชีธนาคาร ธนชาต เลขที่ 223-2-58847-8 โดยได้เงินจากการขายกองทุนมาเป็นจำนวน 15,008,934.95 บาท และ 20,014,388.36 บาท ตามลำดับ (เงินจำนวน 8,934.95 บาท และ 14,388.36 บาท เป็นดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากการลงทุน)
และในวันเดียวกัน (5 กันยายน 2560) นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้โอนเงินจำนวน 35,000,000 บาท จากบัญชีเลขที่ 223-2-58847-8 เข้าไปยังบัญชีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เช่นเดิม เงินที่ชำระค่าหุ้นดังกล่าว จึงเป็นเงินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งในประเด็นเรื่องการโอนเงินจำนวน 40,000,000 บาทดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ยอมรับข้อเท็จจริงว่า เป็นการโอนจริงแต่เป็นการโอนใช้หนี้ให้กับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด (ซึ่งก็ขัดแย้งในคำชี้แจงของตนเองและนายเอกราช ชิดชอบ ที่ไม่ได้พูดถึงการกู้ยืมเงินจำนวน 40,000,000 บาท แต่อย่างใด)
แต่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อ้างในคำชี้แจงว่าเป็นเงินที่เกิดจากการสลับกองทุน (ย้ายบัญชี) จากกองทุน T-Cash เลขที่ 002-0-63229-7 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 จำนวน 25,056,330 บาท เอกสารหมาย ศ.31/3 ไปยังกองทุน ธนชาติ T-S-IPlus และนำออกขายเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 จำนวน 20,014,388.36 บาท เอกสารหมาย ศ.31/2
แท้จริงแล้ว กองทุนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 มีการทยอยขายตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2556 และขายหมดและตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2556 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ.31/3 คำชี้แจงดังกล่าวของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จึงน่าเชื่อว่าเป็นความเท็จ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเงินที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กล่าวอ้างว่าได้นำมาชำระค่าหุ้นในงวดที่ 2 ให้กับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั้น ไม่เป็นความจริง และความจริงแล้วเงินจำนวน 119,499,000 บาท เป็นเงินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อย่างแท้จริง (รายละเอียดปรากฏตามแผนผังรายการธุรกรรมการเงินหรือเส้นทางการเงิน ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566ที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว)
@ยกหลักฐานชี้‘ศักดิ์สยาม’เป็นเจ้าของ‘หจก.บุรีเจริญฯ’
ข้อ 2. นอกจากนี้ยังได้พบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดี ทั้งก่อนและหลังจากการทำนิติกรรมซื้อขายหุ้น ที่มีคุณค่าในเชิงพิสูจน์สนับสนุนให้เห็นได้ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังคงไว้ซึ่งหุ้นและยังเป็นเจ้าของมีอำนาจครอบงำ สั่งการ และบริหารจัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างไม่เปลี่ยนแปลงโดยมีรายละเอียด ดังนี้
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เป็นกิจการดั้งเดิมของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ดำเนินกิจการมาเกินกว่า 25 ปี ถือเป็นธุรกิจของครอบครัวโดยประกอบกิจการภายในบริเวณที่พักอาศัยของตนเองและเครือญาติ นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ว่าเหตุผลการโอนขายหุ้นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มิใช่เกิดจากกรณีผลประกอบการขาดทุนหรือประสบปัญหาทางการเงิน แต่เป็นกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประสงค์จะเข้าทำงานทางการเมือง
ในประเด็นดังกล่าวนี้ผู้ร้องเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต้องขายหุ้นหรือกิจการในลักษณะที่เร่งรีบ และทำให้ได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินของห้างฯที่กำลังเติบโตทางธุรกิจด้วย
ประการต่อมา เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้โอนขายหุ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังยินยอมให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ใช้สถานที่ตั้งที่ประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในทะเบียนบ้านของตนเองก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียง 23 วัน
และข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า แม้จะย้ายที่อยู่จาก 30/2 มาเป็น 30/7 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ยังอยู่ในบริเวณที่พักอาศัยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เช่นเดิม สอดคล้องกับที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ชี้แจงว่าได้เช่าสถานที่ประกอบกิจการของห้างฯจากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด
นอกจากนี้ ยังพบว่าหลังจากโอนหุ้นแล้วนางสาววรางสิริ ระกิติ ซึ่งพนักงานบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และเป็นลูกน้องของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ หรือนอมินี ที่อยู่ในการควบคุมดูแลใต้บังคับบัญชาของตนเข้ามาบริหารกิจการในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยินยอมให้นางสาววรางสิริ ระกิติ มีอำนาจในการเบิกถอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) รวมถึงมีอำนาจลงนามในสัญญาต่างๆกับภาครัฐ โดยนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นเจ้าของกิจการไม่ได้มีอำนาจดังกล่าว
และเป็นที่สังเกตว่าช่วงเวลาที่ขายหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น มีผลประกอบการที่กำลังเติบโตมีรายได้และผลกำไรที่ดีจากการเข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐจำนวนมาก การขายหุ้นและกิจการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ผู้ร้องเชื่อว่า ไม่เป็นความจริง
ประการต่อมา หลังจากโอนขายหุ้นแล้วในปี 2561 ตลอดทั้งปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังได้รับค่าตอบแทนในการเป็นที่ปรึกษาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อีกจำนวน 400,000 บาท ทั้งที่เคยชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆแล้ว
อีกทั้งมีหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นบิลการเบิกจ่ายน้ำมัน ศาลรัฐธรรมนูญได้พบว่า หลังจากการโอนขายหุ้นแล้วนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังได้นำรถยนต์ส่วนตัวจำนวน 2 คัน มาเบิกค่าน้ำมันในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนถึงเดือนตุลาคม 2562 อีกด้วย
อีกทั้งหลังจากโอนขายหุ้นแล้วนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังยินยอมให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ใช้หลักประกันการทำงาน ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ พี่ชายของตนเข้าผูกพันเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 1 ปี 8 เดือน
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าโดยปกติแล้วการที่ประชาชนคนทั่วไปจะเข้าทำสัญญากับภาครัฐ ย่อมต้องมีประสบการณ์การทำงาน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบขั้นตอนของทางราชการ และต้องมีสายสัมพันธ์อย่างดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่มีคุณสมบัติหรือเคยประกอบธุรกิจในการรับเหมาก่อสร้างหรือเข้าทำงานกับภาครัฐมาก่อนแต่อย่างใด และได้ยอมรับข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงในประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย
แต่กลับพบว่าภายหลังจากรับโอนหุ้นและกิจการในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้รับงานและเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างจากกระทรวงคมนาคมจำนวนมากนับร้อยสัญญา
และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีรายได้และมีเงินในบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นจำนวนกว่า 600,000,000 บาท ซึ่งถือเป็นการมีรายได้แบบก้าวกระโดด มากเสียกว่าในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้าบริหารห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น (รายละเอียดการรับงานการลงนามสัญญาและรายได้ดังปรากฏในบัญชีธนาคารของห้างฯซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนแล้ว)
ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่สำคัญและมีคุณค่าในเชิงพิสูจน์ให้เห็นมูลเหตุจูงในการกระทำของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้ขายและโอนหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
คำให้การของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่ให้การชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกอ้างว่าตนมีสถานะร่ำรวย มีรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นนักลงทุนในหุ้น ทองคำ และทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาให้การชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ตามเอกสารหมาย ศ.42 ที่ระบุว่า
“....ประกอบอาชีพรับจ้างจัดหาเครื่องจักร อะไหล่ และซ่อมบำรุงเครื่องจักรให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัครชั่น และ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด มีมูลค่าการซื้อขายและบริการซ่อมบำรุงไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท โดยได้กำไรสุทธิจากการรับจ้างไม่น้อยกว่า 10% หรือประมาณ 50 ล้านบาท และจะได้รับค่านายหน้าจากการชี้ช่องในการขายเครื่องจักร อะไหล่ และบริการซ่อมบำรุงให้กับทางห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด เป็นเงินสดโดยไม่หักภาษีจากผู้ขาย ....”
การชี้แจงดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจและมีเงินซื้อหุ้นในห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นได้ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าตามหลักฐานการยื่นรายการ ภ.ง.ด.91 ตั้งแต่ปี 2558-2562 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ยื่นการแสดงรายได้ต่อกรมสรรพกรระบุว่ามีรายได้ในอัตรา 108,000-118,000 บาท ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาทเท่านั้น และไม่พบรายได้อื่นๆอีกแต่อย่างใด ซึ่งพยานหลักฐานของกรมสรรพกรดังกล่าว เป็นเอกสารทางราชการย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีรายได้เพียงเท่าที่ระบุไว้เท่านั้น
ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้มีอาชีพอื่น นอกจากการเป็นพนักงานในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ดังนั้น การที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อ้างว่ามีรายได้จำนวนมากจากการประกอบธุรกิจส่วนตัวจำนวนกว่า 500,000,000 บาท โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้าง จึงฟังไม่ขึ้นถือเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ
เมื่อจำนนต่อหลักฐานถึงการไม่มีรายได้ดังกล่าว ต่อมานายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่ามีการทำธุรกิจรับจ้างตักหิน ซ่อมเครื่องจักร ซื้ออะไหล่ ให้กับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งได้ทำธุรกิจรับเป็นเงินสด และยอมรับว่าไม่ได้เสียภาษีจากรายได้และกำไรดังกล่าวให้กับกรมสรรพกร (ดังปรากฏในการชี้แจงและเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ)
ซึ่งก็พบว่า เป็นการย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้รับเงินโอนค่าสำรองจ่ายในการดำเนินการตักหินจำนวน 20,000,000 บาท หรือจำนวน 35,000,000 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ดังที่เคยชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่าคำให้การชี้แจงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กลับไปกลับมา ไม่อยู่ในร่องในรอย ยากที่จะเชื่อถือได้
นอกจากนี้ การอ้างประกอบธุรกิจข้างต้นแต่กลับพบว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆให้ปรากฏว่าตนเองได้ทำธุรกิจดังกล่าวจริง ดังจะเห็นได้จากการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนเองไม่มีสถานประกอบกิจการ เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น และหากพิจารณาจากรายการทรัพย์สินก็ไม่ปรากฏเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพดังที่กล่าวอ้าง อาทิ รถบรรทุก เครื่องจักรกล อุปกรณ์สำคัญๆในการประกอบอาชีพเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเป็นทรัพย์สินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่ได้ประกอบกิจการรับจ้างตักหินจริง
แต่กลับพบว่าได้อ้างใบเสร็จค่าสำรองจ่าย ค่าดำเนินการตักหิน ค่าอะไหล่ ใบวางบิลต่างๆ ซึ่งเป็นเอกสารของ บริษัท ไมนิ่งคอปอร์เรชั่น จำกัด บริษัท พีซีกาญจนบุรี จำกัด บริษัท ศิลาหรรษา จำกัด และนายสายันต์ โดยไม่ปรากฏว่ามีเอกสารใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นเอกสารของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ออกเงินสำรองจ่ายตามที่กล่าวอ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญ
จึงเชื่อได้ว่าเอกสารข้างต้นที่นำมากล่าวแสดงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นล้วนแล้วเป็นการนำเอกสารของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นๆ มากล่าวอ้างทั้งที่ความจริงแล้วมิใช่เอกสารของตนแต่อย่างใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่และจัดทำย้อนหลังเพื่อรองรับข้ออ้างการสำรองจ่ายเงินและเพื่อให้สอดคล้องกับเส้นทางการเงินในการชำระค่าหุ้นที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะหากดำเนินกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้มีการสำรองจ่ายค่าดำเนินการตักหินหรือค่าอะไหล่ดังกล่าวจริงโดยหน้าที่ของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด รวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานทางบัญชีตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพกร
กล่าวคือ ต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชี เช่น ใบสำคัญการจ่าย ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น และในกรณีที่มีการสำรองการจ่ายเงินเป็นจำนวนมากต้องมีหลักฐานสำเนาใบโอนเงิน สำเนาเช็ค และต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อส่งกรมสรรพกรตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากรด้วย
เมื่อไม่ปรากฏการดำเนินการดังกล่าวจึงไม่สามารถพิสูจน์การจ่ายเงินที่มีผลตามกฎหมายได้ และไม่มีความน่าเชื่อถือที่จะนำมาพิสูจน์ว่ามีรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง
อีกทั้งเอกสารตาม ถ.40/213 อันเป็นการสำรองค่าใช้จ่าย อาทิ ใบเสร็จบิลค่าน้ำมัน ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จีเอสบี แก๊ส ตามเอกสารหมาย ศ 73/592-631 ที่นำมากล่าวอ้างก็เป็นข้อพิรุธสงสัยว่า เป็นบิลน้ำมันปลอมหรือไม่ เนื่องจากบิลน้ำมันมีการลงวันที่ใบเสร็จ และลำดับที่เรียงติดต่อกันและจำนวนต่อใบเสร็จมีจำนวนเงินหลักแสนบาทต่อบิล อีกทั้งผู้ร้อง ตั้งเป็นข้อสังเกตว่าเหตุใด บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ไปใช้บริการซึ่งมีสาขาอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามห่างจากโรงโม่ศิลาชัยโดยประมาณ 49 กิโลเมตร และปั้มน้ำมันดังกล่าวได้ปิดกิจการแล้ว
ประการที่สำคัญเอกสารใบเสร็จการสำรองจ่ายดังที่กล่าวอ้าง ก็ล้วนแต่ไม่มีเอกสารฉบับใดบ่งชี้ว่าเป็นของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ทั้งสิ้น แม้ต่อมานายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ยกข้อกล่าวอ้างขึ้นใหม่ว่า เป็นการจ้างผู้รับเหมาอีกทอดหนึ่ง ก็เพราะจำนนต่อหลักฐาน เนื่องจากไม่มีเอกสารใดบ่งชี้ว่าตนเองเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวอ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องให้การชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นกรณีว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลใดในการรับงานช่วงอีกทอดหนึ่ง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ไม่ปรากฏสัญญา ข้อตกลง หรือหลักฐานใดๆระหว่างนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กับผู้รับเหมาช่วงมาแสดงต่อศาลให้เห็นดังที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กล่าวถึงแต่อย่างใดเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆอีกเช่นเดิม
และเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด มีการจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าบริการ ให้กับคู่ค้าหรือผู้ประกอบการายอื่นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เพื่อนำส่งกรมสรรพกรพร้อมกับมีเอกสารอื่นประกอบการจ่ายเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งซื้อ ใบเสนอราคา สำเนาใบโอนเงิน สำเนาหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย
แต่ในส่วนของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่และมีการว่าจ้างหรือออกเงินสำรองจ่ายเป็นจำนวนมาก กลับไม่มีเอกสารดังกล่าวมาประกอบตามมาตรฐานทางการเงินและบัญชียื่นกรมสรรพกรเหมือนเช่นกับผู้ประกอบการรายอื่น
เมื่อไม่มีหลักฐานดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้ออกเงินสำรองจ่ายค่าเครื่องจักร ค่าอุปกรณ์ ค่าอะไหล่ ค่าดำเนินการตักหินตามที่กล่าวอ้าง จึงฟังได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ คือ บุคคลไม่มีอาชีพและรายได้จริงตามที่ได้ชี้แจงและเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อกล่าวอ้างที่ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้รับโอนจำนวน 20,000,000 บาท และ 36,702,680.01 บาท อันเป็นเงินสำรองจ่ายที่บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นโอนคืนให้จากการที่ได้ดำเนินการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ และการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ตลอดจนจัดเตรียมหินเข้ากระบวนการผลิต จึงเป็นความเท็จย่อมไม่อาจรับฟังได้
นอกจากนี้ จำนวนเงินข้างต้นก็ไม่สอดคล้องกับงบการเงินของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่ได้ยื่นไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์อีกด้วย
ในประเด็นดังกล่าวนี้ผู้ร้องขอกราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อกล่าวอ้างของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ระบุว่าการโอนเงินดังกล่าวเป็นการชำระค่าเครื่องจักร ค่าอุปกรณ์ ค่าอะไหล่ ค่าดำเนินการตักหิน ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จึงเป็นคำกล่าวอ้างขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเส้นทางการเงินที่ตรวจพบว่า เป็นเงินที่มาจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น รวมถึงบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ไม่ใช่การคืนเงินที่มีการสำรองจ่ายกันจริงตามที่กล่าวอ้าง
เท่านั้นไม่พอได้พบพยานหลักฐานสำคัญยิ่งซึ่งเป็นบัญชีธนาคารหรือบัญชีกองทุนของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในห้วงเวลาก่อนและขณะทำการซื้อหุ้นจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 พบว่าเงินในบัญชีธนาคารหรือเงินกองทุนต่างๆของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีจำนวนไม่เพียงพอและไม่สัมพันธ์สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายต่างๆตามที่กล่าวอ้างชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
อาทิ ค่าใช้จ่ายกรณีนำมาให้บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด กู้ยืมจำนวน 345,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการนำเงินมาซื้อหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท หรือกรณีนำมาเพิ่มทุนห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 40,000,000 บาท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยในนามส่วนตัวจำนวน 2,770,000 บาท หรือเข้าซื้อหุ้นในบริษัท บุรีเจริญท่าทราย จำกัด จำนวน 4,900,000 บาท และกรณีที่ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กู้ยืมจำนวน 30,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 542,669,000 บาท (รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆได้ปรากฏตามเอกสารในสำนวนคดีนี้)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้น่าเชื่อว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ได้มีเงินในบัญชีที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวอ้างจริง แต่พบว่าเงินหมุนเวียนในบัญชีส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธุรกรรมทางการเงินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ทำการเบิก-ถอน-โอน และเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในช่วงวัน-เวลา เดียวกันอยู่บ่อยครั้ง
จึงสรุปได้ว่าเงินในบัญชีของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในการทำธุรกรรมหรือชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ใช่เงินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อย่างแท้จริงเพราะจะเห็นได้ว่าเงินที่มีการโอน ถอน ฝาก จะกลับมายังบัญชีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เสมอโดยจะเห็นได้ว่าภายหลังจากที่มีการโอนขายหุ้นแล้วพบว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีเงินโอนเข้ามาในบัญชีเมื่อวันที่ 11 ,12 เมษายน 2562 จำนวน 2 รายการเป็นเงินมากถึง 287,977,510 บาท โดยไม่ปรากฏแหล่งที่มา (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ศ 62/4) ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นได้ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมากไม่ได้ขาดสภาพคล่องทางการเงินตามที่กล่าวอ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางกลับกันมีเงินในบัญชีเงินฝากมากว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ อย่างเห็นได้ชัด
@เชื่อเอกสารที่‘ศักดิ์สยาม’ยกขึ้นต่อสู้ เป็นการทำย้อนหลัง
ข้อ 3. ข้อเท็จจริงที่เป็นคำรับของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้อง และคำรับของพยานผู้ถูกร้องในการยื่นคำชี้แจงต่อศาลและเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันไต่สวน พบว่ายังมีข้อเท็จจริงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ได้ทำการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น
ทั้งในเรื่องที่เพราะเหตุใดหลังจากโอนหุ้นแล้วนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ถึงได้รับงานและลงนามเข้าทำสัญญากับภาครัฐหลายสัญญา และกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ไม่ได้ขาดสภาพคล่องทางการเงินแต่เหตุใดจึงต้องให้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ต้องสำรองเงินค่าใช้จ่ายในการตักหิน ซื้ออะไหล่ ซ่อมเครื่องจักร จำนวน 20,000,000 บาท
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ยังอ้างการทุจริตของพนักงานในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด อันทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงต้องกู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และเป็นเหตุที่ต้องเข้ามาบริหารกิจการด้วยตนเอง ก็ไม่อาจรับฟังได้
เนื่องจากการทุจริตของพนักงานบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด มีความเสียหายโดยประมาณเพียงสิบล้านบาทเศษ ซึ่งผลแห่งคดีดังกล่าวศาลจังหวัดบุรีรัมย์จะมีคำพิพากษาอย่างไร ผู้ถูกร้องก็มิได้นำส่งสำเนาคำพิพากษาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีความเสียหายดังกล่าวตามคำฟ้องหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดความเสียหายดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นเหตุผลจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มากถึงจำนวน 345,500,000 บาท ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผล
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เบิกความยอมรับต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า “สัญญากู้ยืม” ที่ได้นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้เป็นการทำสัญญากู้ยืมย้อนหลัง สอดคล้องกับนางกอบกุล ถีระวงษ์ ที่ได้ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า สิ่งที่ปรากฏในงบการเงินและหน้ารายงานผู้สอบบัญชีนั้นถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการกู้ยืมเงินระหว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด
หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การยอมรับว่าการรับรองงบการเงิน ไม่มีการทำสัญญากู้ยืมเงิน และไม่มีการคิดดอกเบี้ย กันจริง จึงทำให้สอดคล้องกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ได้ยอมรับต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าตนเองได้ทำสัญญากู้ยืมย้อนหลัง ดังนั้นนิติกรรมการกู้ยืมที่ทำกันย้อนหลังหากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่สั่งการ ครอบงำ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้
การทำสัญญากู้ยืมย้อนหลัง ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงทำให้เห็นได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีลักษณะเป็นตัวแทนหรือ (นอมินี) ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อย่างชัดแจ้ง ซึ่งการตอบคำถามของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมทำให้เห็นได้ว่าพยานเอกสารการกู้ยืมเงินที่นำมาแสดงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารเท็จที่ทำขึ้นย้อนหลังไม่ได้ทำกันตามที่ระบุไว้ในสัญญาอย่างแท้จริง
ซึ่งเอกสารการกู้ยืมดังกล่าว เป็นข้อสาระสำคัญแห่งคดีที่จะพิสูจน์ถึงนิติกรรมระหว่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กับ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ รวมถึงบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ว่ามีจริงหรือไม่อย่างไร และถือเป็นความสุจริตโปร่งใสในการชี้แจงต่อสู้คดีซึ่งบุคคลต้องมาศาลด้วยมือสะอาด
กรณีดังการจึงทำให้เชื่อได้ว่าเอกสารต่างๆที่กล่าวอ้างมาทั้งหมดว่า มีการทำเอกสารย้อนหลังเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จำนนต่อหลักฐาน เช่น ใบสรุปยอดค่าใช้จ่ายในการสำรองจ่าย ใบเสร็จบิลน้ำมัน ตามเอกสาร ถ.40/213-313 ที่มีการออกใบเสร็จติดต่อกันและมีการเติมน้ำมันครั้งละหลายหมื่นจนถึงหลักแสนบาท โดยนำมาอ้างเป็นค่าใช้จ่ายที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้สำรองจ่าย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากบิลใบเสร็จดังกล่าวออกในนามบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด และออกในนามบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งไม่มีชื่อของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในหัวกระดาษใบเสร็จ ใบวางบิลของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ จากเลขที่ 30/2 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นเลขที่ 30/17 หมู่ 15 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เป็นการทำย้อนหลังเพียงเพื่อจะแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้เข้ามาบริหารกิจการจริงตั้งแต่รับโอนหุ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 แต่กลับพบว่าหัวกระดาษที่มีชื่อนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ลงนามดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับการจดแก้ไขทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่อยู่ที่ได้ยื่นจดแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์
นอกจากเอกสารที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้แสดงต่อศาลรัฐธรรมนูญ อันมีลักษณะพิรุธและไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำชี้แจง คำให้การ ยังเป็นข้อพิรุธสงสัยและมีลักษณะที่ให้การชี้แจงกลับไปกลับมาไม่อยู่ในร่องในรอยอีกด้วย
ส่วนกรณีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นเงินกู้ยืมของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด นั้น นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อ้างว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมีการทุจริตเกิดขึ้น บริษัทฯจึงได้กู้ยืมเงินจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตั้งแต่ปี 2559-2562 จำนวนหลายร้อยล้านบาท ไม่สอดคล้องกับงบการเงินและคำชี้แจงของนายเอกราช ชิดชอบ
ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า อาจจะมีพนักงานที่เป็นกลุ่มที่ทุจริตยังหลงเหลืออยู่ที่บริษัทฯ ตนจึงได้ทำการถอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด จำนวน 88,500,000 บาท ออกไปเก็บไว้ที่บัญชีส่วนตัว แต่ด้วยระบบบัญชีไม่ดีนักบัญชี จึงได้บันทึกบัญชีเกี่ยวกับรายการถอนเงินดังกล่าวว่าบริษัทได้ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กู้ยืมโดยไม่มีสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ย
ผู้ร้อง จึงเห็นว่าเป็นการเบิกความโดยไม่มีเหตุผล เนื่องจากอำนาจในการเบิกถอนเงินเป็นอำนาจของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท พนักงานไม่สามารถนำสมุดบัญชีเงินฝากไปเบิกถอนได้ ประกอบกับเมื่อพบว่างบการเงินไม่ถูกต้องแล้ว เหตุใดรายงานงบการเงินปี 2559 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะกรรมการบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด จึงยินยอมลงลายมือชื่อในงบการเงินโดยไม่ดำเนินการโต้แย้งคัดค้านความไม่ถูกต้องในงบการเงินดังกล่าวได้
ส่วนกรณีของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ที่ได้เบิกความยอมรับว่าตนเองมีรายได้จากการรับจ้างตักหิน ขายอะไหล่ ซ่อมเครื่องจักร ให้กับบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ไม่น้อยกว่า 500,000,000 บาท และกำไรไม่น้อยกว่า 10% หรือ 50,000,000 บาท และไม่เคยเสียภาษีให้กับกรมสรรพกร เพราะสะดวกในการทำธุรกิจแบบนี้ และยอมรับว่าเอกสารใบเสร็จค่าอะไหล่ ใบวางบิล ต่างๆที่ได้สำรองจ่ายให้กับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด เป็นเอกสารของบุคคลและนิติบุคคลอื่นไม่ใช่ของตนเอง และยอมรับว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด ยังคงค้างชำระเงินกู้ยืมจำนวน 250,000,000 บาท แต่ตนไม่เคยทวงถาม
นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบเรื่องการที่ตนเองได้มอบอำนาจให้นางสาววรางสิริ ระกิติ เป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นได้อย่างไร และไม่ทราบว่าตนเองมีหุ้นในบริษัท ศิลาชัยโกคาร์ท จำกัด จำนวน 10,800 หุ้น ได้อย่างไร (ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจลงนามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียน บอจ.5)
ในประเด็นดังกล่าวย่อมทำให้เห็นได้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างตามอำเภอใจในการเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนที่จะมอบหุ้นหรือถอนหุ้นจากบุคคลใดออก โดยที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีชื่อดังกล่าวทั้งสิ้น ทำให้เห็นถึงการครอบงำและสามารถสั่งการนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้อย่างประจักษ์ชัด จึงเชื่อได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ คือบุคคลที่เป็นนอมินีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อย่างแท้จริง
นอกจากนี้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ยังเบิกความต่ศาลรัฐธรรมนูญว่าหลังจากรับโอนหุ้นและเข้ามาบริหารกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นแล้ว ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการนำรถยนต์ส่วนตัวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จำนวน 2 คัน มาเบิกค่าน้ำมันกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในช่วงเดือนเมษายน 2562 จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม 2562 ทั้งที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ในประเด็นดังกล่าวย่อมบ่งชี้ได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ใช่บุคคลที่เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นอย่างแท้จริง การที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวยี่ห้อ โฟล์คทะเบียน 4997 บุรีรัมย์ และ รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ทะเบียน 8999 บุรีรัมย์ นำบิลน้ำมันมาเบิกค่าใช้จ่ายได้จนถึงเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากโอนหุ้นถึง 1 ปี 9 เดือน
ย่อมฟังได้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นเจ้าของกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และมีอำนาจสั่งการ และแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างไม่เปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้นแล้วคงไม่กล้าที่จะนำบิลน้ำมันรถยนต์ส่วนตัวทั้ง 2 คัน มาเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้เลยทั้งที่อ้างว่าโอนขายหุ้นให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ แล้ว
นอกจากนี้นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เบิกความว่าต่อศาลรัฐธรรมนูญทำนองว่า ไม่ทราบว่าห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นมีเงินในบัญชีจำนวนกว่า 600,000,000 บาท ด้วยเหตุและผลดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ใช่เจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ของห้างหุ้นส่วนบุรีเจริคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริงแต่เป็นเพียงตัวแทนเชิดหรือนอมินีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เท่านั้น
ส่วนกรณีนางสาววรางสิริ ระกิติ ได้ยอมรับว่าเป็นพนักงานของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด มาตั้งแต่ ปี 2561-2566 และในขณะเดียวกันก็ทำงานให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ควบคู่กันไปโดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 3,000 บาท และเข้ารับตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อปี 2562 โดยได้รับเงินเดือนส่วนตัวจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนางสาววรางสิริ ระกิติ เป็นผู้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น มีอำนาจในการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและมีจำนวนหุ้นเพียง 3,000 บาทเท่านั้น
และนางสาววรางสิริ ระกิติ ยอมรับว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงถึงการที่ตนเองมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ศิลาชัยโกคาร์ท จำกัด อีกด้วย (ซึ่งการได้รับหุ้นดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจลงนามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียน บอจ.5)
ในประเด็นดังกล่าว ย่อมทำให้เห็นได้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สามารถใช้อำนาจของตนได้อย่างตามอำเภอใจในการเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนที่จะมอบหุ้นหรือถอนหุ้นจากบุคคลใดออกโดยที่ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนางสาววรางสิริ ระกิติ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นทั้งสิ้น ทำให้เห็นถึงอำนาจ การครอบงำ สั่งการ ของนายศักดิ์สยามชิดชอบ ที่มีอำนาจเหนือต่อนางสาววรางสิริ ระกิติ ได้อย่างประจักษ์ชัด จึงเชื่อได้ว่านางสาววรางสิริ ระกิติ เป็นเพียงพนักงานและเป็นตัวแทนหรือนอมินี ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เฉกเช่นเดียวกันกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์
นอกจากนี้ ผู้ร้องมีข้อสังเกตว่าเมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ ต่างยอมรับว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 ยังคงค้างเงินกู้ยืมเงินนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 250,000,000 บาท แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการจัดทำรายการสรุปค่าสำรองจ่าย เหมือนเช่นกรณีการสำรองจ่ายเงินจำนวน 20,000,000 บาท หรือ 36,702,680.01 บาท แต่อย่างใด
และไม่ปรากฏว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้บอกกล่าวทวงถามให้บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ 1991 จำกัด คืนเงินกู้ยืมแต่ประการใด จึงทำให้เห็นได้ว่าเงินสำรองจ่ายตามที่กล่าวอ้างเป็นการจัดทำย้อนหลัง เพราะจำนนต่อหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าเงินที่นำมาโอนซื้อหุ้นมาจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เท่านั้น
ประการสำคัญพบว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งเป็นกรรมการบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์โกคาร์ท จำกัด ได้โอนหุ้นของตนให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนางสาววรางสิริ ระกิติ โดยที่บุคคลทั้งสองไม่ทราบว่าตนเองมีหุ้นในบริษัทดังกล่าวได้อย่างไร ทำให้เชื่อได้ว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีอำนาจครอบงำ สั่งการ ถึงกับสามารถเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นให้กับบุคคลดังกล่าวได้อย่างตามอำเภอใจ
อนึ่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เข้าชื่อเสนอคำร้อง ตลอดจนพยานผู้ร้อง ไม่มีบุคคลใดมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้องทั้งสิ้น ได้ทำหน้าที่อย่างสุจริตตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ และไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งบุคคลใดทั้งสิ้น
ด้วยเหตุและผลทั้งหมดทั้งปวงที่ได้กราบเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญมาทั้งหมดนั้น คำชี้แจงข้อกล่าวหาของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้องและพยานผู้ถูกร้อง ตลอดจนเอกสารที่นำมาประกอบคำชี้แจงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ประกอบกับพยานของผู้ถูกร้อง ให้การขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงและขัดต่อเหตุผลหลายประการ อีกทั้งเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนคำชี้แจงได้
จึงรับฟังได้อย่างประจักษ์ชัดว่าการซื้อขายหุ้นเป็นเพียงนิติกรรมลวง และไม่ได้มีการชำระราคา 119,499,000 บาทกันจริง และเงินจำนวนดังกล่าวสามารถพิสูจน์จากเส้นทางการเงินได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าเป็นเงินของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไม่ใช่เงินของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์
ซึ่งพยานหลักฐานของผู้ร้องที่ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบกับพยานหลักฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเรียกมาทั้งหมดนั้น สามารถรับฟังได้อย่างมั่นคงและปราศจากสงสัยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้อง ได้กระทำผิดคงไว้ซึ่งหุ้นตามที่ผู้ร้องกล่าวหา อันเข้าข่ายฝ่าฝืนกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
@ชี้คำร้องของ‘ผู้ร้อง’ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามรธน.
คำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม)
คำแถลงการณ์ปิดคดี
ข้อ 1.คดีนี้ศาลได้โปรดนัดฟังคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในวันที่ 17 มกราคม 2567
ข้อ 2 ตามที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นและบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ต่อไป ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นลูกจ้างของบุคคลใด โดยมีนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ เป็นตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้องนั้น
ผู้ถูกร้องขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี เพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวนอันแสดงให้เห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องไม่มีน้ำหนัก และประจักษ์อย่างเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นเกินกว่า ร้อยละ 5 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งหมด และมิได้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ดังมีข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้
2.1 คำร้องของผู้ร้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) กล่าวคือ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) มีองค์ประกอบความผิดดังต่อไปนี้
(1) เป็นรัฐมนตรี
(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนทั้งหมดของห้างและหรือร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ของบริษัทนั้น
(3) เป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(4) เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องจะเห็นได้ว่า ผู้ร้องไม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า ผู้ถูกร้อง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร หรือผู้ถูกร้องเคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และ/หรือผู้ถูกร้อง มีอำนาจสั่งการหรือควบคุมการบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด หรือไม่ อย่างไร ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
และไม่ปรากฏว่ามีพยานบุคคลใดที่ยืนยันได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ เป็นตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้อง อันเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญตำมข้อกล่าวหาของผู้ร้องในคดีนี้
ทั้งนี้ การยื่นคำร้องในคดีนี้ผู้ร้อง มีหน้าที่ต้องบรรยายคำร้องให้ครบองค์ประกอบความผิด อันเป็นสำระสำคัญในข้อหาความผิดนั้นๆเสียก่อน ส่วนเอกสารประกอบคำร้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคำร้องเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายคำร้องดังกล่าว มาพิจารณาประกอบกับคำร้อง เพื่อให้คำร้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด กลับกลายเป็นคำร้องที่ครบองค์ประกอบความผิดขึ้นมาได้
อีกทั้งเอกสารประกอบคำร้องดังกล่าว ล้วนแต่เป็นการตั้งข้อสงสัยในประเด็นที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ร้องจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น โดยไม่ได้มีการบรรยายกล่าวถึงหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่ผู้ร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้องได้รับประโยชน์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว อย่างไร
ส่วนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมพยานหลักฐาน และการไต่สวนของศาล ภายหลังจากการยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ ก็ไม่มีผลทำให้คำร้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด กลับกลายเป็นคำร้องที่ครบองค์ประกอบความผิดขึ้นมาได้
ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1)
2.2 ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนทั้งหมดของห้าง และหรือบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ของบริษัทนั้น และไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้ใด
กล่าวคือ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการไต่สวนเป็นที่ยุติว่า ผู้ถูกร้องออกจากการเป็นหุ้นส่วน/หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ตามเอกสารหมาย ศ.8 หน้า 101–112 ผู้ถูกร้องออกจากการเป็นหุ้นส่วนในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด นับแต่ วันที่ 16 สิงหาคม 2545 ตามเอกสารหมาย ถ.6 ผู้ถูกร้องออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562 ตามเอกสารหมาย ถ.7
ผู้ถูกร้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2566 ตามเอกสารหมาย ถ.2
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อมูลทางทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และหนังสือรับรองอันเป็นเอกสารมหาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้อง และโต้แย้งหักล้างพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้
พยานหลักฐานของผู้ถูกร้องจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องได้พ้นจากการเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น และกรรมการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด อย่างถูกต้อง โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพำณิชย์ เรื่องซื้อขาย และหุ้นส่วนบริษัท กรณีไม่สามารถรับฟังเป็นอย่างอื่นได้
โดยผู้ถูกร้องไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในข้อมูลทางทะเบียน และหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และหรือนิติบุคคลอื่นแต่อย่างใด จึงต้องเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ซึ่งผู้ร้องก็มิได้บรรยายข้อกล่าวหาโต้แย้งว่าข้อมูลทางทะเบียนและหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่นและบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด นั้น ไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไร
ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนทั้งหมดของห้าง และหรือบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ของบริษัทนั้น และไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้ใด
@ยกหลักฐาน‘ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์-เอกราช ชิดชอบ’ไม่ใช่นอมินี
2.3 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ ไม่ใช่ตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้อง
กล่าวคือ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติว่า “นอมินี หรือตัวแทนอำพราง” หมายถึง บุคคลหนึ่งถูกใช้เป็นชื่อหรือตัวแทนในกำรทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการซ่อนตัวตนจริงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจริงกับการทำธุรกรรม โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(1) ความไม่สอดคล้องระหว่างทรัพย์สินและสถานะทางการเงิน
(2) การขาดความเข้าใจในธุรกรรม
(3) การรับคำสั่งหรือการควบคุมจากบุคคลภายนอก
(4) การนำส่งผลประโยชน์ให้แก่ตัวการ
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และครอบครัว ได้นำส่งต่อศาลประกอบการไต่ส่วนตามเอกสารหมาย ถ.22 ถึง ถ.27 และ ศ.50 ถึง ศ.52 ล้วนเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญและมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้มีฐานะร่ำรวย โดยมีทรัพย์สิน และสถานะทางการเงินเริ่มต้นมาจากธุรกิจในครอบครัวของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถสร้างกำไรให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ หลายร้อยล้านบาทตามเอกสารหมาย ศ.44 ถึง ศ.46
ประกอบกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มีรายได้จากการประกอบธุรกิจกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ซึ่งเพียงพอต่อการซื้อสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท จากผู้ถูกร้อง ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย ศ. 8/101-112 ศ.14/10 และ ศ.62/3
เมื่อพิจารณาจากวุฒิการศึกษาและประวัติการทำงานของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามเอกสารหมาย ถ.21 จะเห็นได้ว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเครื่องจักร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจโรงโม่หิน ประกอบกับในระหว่างการไต่สวน นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ สามารถตอบข้อซักถามของศาลอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่เกี่ยวกับวิธีการบริหารธุรกิจการดำเนินกิจการ และการจัดการด้านการเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้อย่างชัดเจนเช่นวิญญูชนผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำ
จึงต้องรับฟังว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้ด้วยตนเอง
เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารการเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามสำเนาสัญญาจัดจ้างโครงการกรมทางหลวงชนบท เอกสารหมาย ถ.38 ไม่ปรากฏว่ามีชื่อของผู้ถูกร้องในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเอกสารสัญญาหรือเอกสารใดๆ จึงต้องรับฟังว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้องไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ไม่ว่าในการใดๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาจากรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเลขที่ 223-2-58847-8 ชื่อบัญชี นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เอกสารหมาย ศ.14 รายการเคลื่อนไหวของบัญชีเลขที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เอกสารหมาย ศ.62 รายการเคลื่อนไหวของบัญชีเลขที่ 401-2-02809-8 ชื่อบัญชี บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เอกสารหมาย ศ.63 และรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเลขที่ 884-2-01916-1 ชื่อบัญชี ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เอกสารหมาย ศ.76
จะเห็นได้ว่า ไม่ปรากฏเส้นทางการเงินใดที่บ่งชี้ว่า ผู้ถูกร้องได้รับประโยชน์จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่อย่างใด จึงต้องรับฟังว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้รับประโยชน์จากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น หรือบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว
นอกจากนี้ คำร้องของผู้ร้อง ก็มิได้บรรยายให้เห็นว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้อง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ มีผลประโยชน์ ทับซ้อนกันหรือไม่ อย่างไร หรือผู้ถูกร้องเคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ และ/หรือผู้ถูกร้องมีอำนาจสั่งการหรือควบคุมการบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่นและบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด หรือไม่ อย่างไร ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ประกอบกับข้อเท็จจริงจากการไต่สวน ก็ไม่ปรากฏว่า มีพยานบุคคลปากใดที่ยืนยันได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ เป็นตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้อง อันเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องในคดีนี้ดังที่กราบเรียนต่อศาลข้างต้น ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ ไม่ใช่ตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้อง
@อ้างสัมพันธ์'ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์’เป็น‘กัลยาณมิตร’
2.4 เหตุที่ผู้ถูกร้องต้องขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นให้แก่ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในฐานะกัลยาณมิตรที่รู้จักสนิทสนมกับมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
อีกทั้งในช่วงก่อนที่ผู้ถูกร้อง จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกร้องยังเคยหยิบยืมเงินจากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และกรรมกำรของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด หลายครั้ง โดยมิได้มีการคิดดอกเบี้ย ปรากฏตามคำชี้แจ้ง ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2566 และคำชี้แจงข้อเท็จจริงของผู้ถูกร้อง ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2566 เอกสารหมาย ศ.24 ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกข้อเท็จจริงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เอกสารหมาย ศ.30 ศ.42 และ ถ.39
จึงต้องรับฟังว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นเพื่อนและ เคยเป็นเจ้าหนี้ของผู้ถูกร้อง และยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกร้องในการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ดังนั้น ตามที่ผู้ร้องได้เบิกความต่อศาลในทำนองว่า หลังจากการที่ผู้ถูกร้องได้เสนอขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ให้แก่ญาติพี่น้องของตนก่อนเป็นอันดับแรก แต่เมื่อไม่มีผู้ใดสนใจที่จะรับซื้อ
ผู้ถูกร้อง จึงได้เสนอขายสิทธิเงินลงหุ้น ในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นของผู้ถูกร้อง ให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีที่อยู่ในวิสัยปกติของวิญญูชนพึงกระทำและเหมาะสมแล้ว
ส่วนการที่ผู้ถูกร้องและนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตกลงราคาซื้อขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท นั้น นอกจากเหตุผลที่ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงไว้ต่อศาลแล้วว่า การกำหนดราคาซื้อขายนั้นเป็นไปตามมูลค่าของกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในขณะนั้น และเป็นราคาเหมาะสมตามความพึงพอใจ และเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายแล้ว
เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ถูกร้องและนำยศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ดังกล่าวข้างต้น การที่ผู้ถูกร้องจะขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท ให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ โดยไม่แสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่น นอกเหนือไปจากมูลค่าของสิทธิเงินลงหุ้นดังกล่าวแล้ว ก็เปรียบเสมือนการที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เคยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับผู้ถูกร้องโดยไม่แสวงหากำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้เอากับผู้ถูกร้องเช่นกัน
ดังนั้น จึงต้องรับฟังได้ว่า การตกลงราคาซื้อขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท ระหว่างผู้ถูกร้องกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นั้น จึงเป็นกรณีที่อยู่ในวิสัยปกติ ของวิญญูชนพึงกระทำและเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงตำมคำร้องของผู้ร้อง และโต้แย้งหักล้างพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้
พยานหลักฐานของผู้ถูกร้อง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การซื้อขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 119,499,000 บาท ระหว่างผู้ถูกร้องกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพำณิชย์ เรื่องซื้อขาย และหุ้นส่วนบริษัท ไม่สามารถรับฟังเป็นอย่างอื่นได้
เมื่อพิจารณาจากรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตามเอกสารหมาย ศ.62/3 และรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 223-2-58847-8 ชื่อบัญชี นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามเอกสารหมาย ศ.14/10 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้ใช้เงินลงทุนจากบัญชีส่วนตัวมาชำระเงิน ค่าสิทธิเงินลงหุ้นดังกล่าว ด้วยวิธีการโอนเงินผ่านธนาคารไปยังบัญชีส่วนตัวของผู้ถูกร้อง ดังนี้
งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 จำนวน 35,000,000 บาท งวดที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 จำนวน 35,000,000 บาท และงวดที่ 3 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 จำนวน 49,500,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 119,500,000 บาท และหลังจากที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกร้องก็ได้ดำเนินยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ตามเอกสารหมาย ศ. 8/101-112
ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า ผู้ถูกร้องออกจากการเป็นหุ้นส่วนและหุ้นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ตามกฎหมายก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562
ทั้งนี้ จากบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เอกสารหมาย ศ.30 ศ.42 และ ถ.39 นางสาววรางสิริ ระกิติ หุ้นส่วนผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่การเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และอดีตเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เอกสารหมาย ศ.33 และ ศ.72 นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบัญชีของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เอกสารหมาย ศ.73 และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เอกสารหมาย ศ.74
จะเห็นได้ว่า เงินที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นำมาชำระค่าสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ให้แก่ผู้ถูกร้อง ล้วนเป็นเงินส่วนตัวของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ทั้งสิ้น โดยไม่มีเส้นทางของแหล่งที่มาของเงินเกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องแต่อย่างใด จึงต้องรับฟังว่า การซื้อขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นนั้น มีการเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย
@อ้าง‘ทวี สอดส่อง’เสนอข้อเท็จจริง-พยานหลักฐานเท็จ
2.5 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกร้องโอนเงินให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จากบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปยังบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 223-2-58847-8 ชื่อบัญชี นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในระหว่างปี พ.ศ.2560 ถึงปี พ.ศ.2561 เป็นจำนวนเงิน 290,099,135 บาท ตามเอกสารหมาย ศ.59 นั้น ล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น
กล่าวคือ รายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จำนวนดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นจากการที่ผู้จัดการธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาบุรีรัมย์ ในระหว่างปี พ.ศ.2560 ถึงปี พ.ศ.2561 ได้ร้องขอให้ผู้ถูกร้องช่วยซื้อกองทุนเปิดธนชาต ตลาดเงิน T-Money บัญชีเลขที่ 002-1-06129-0 ชื่อบัญชี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เพื่อขอทำยอดของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาบุรีรัมย์ ในแต่ละเดือนเท่านั้น
โดยผู้ถูกร้องได้ใช้เงินทุนของผู้ถูกร้องประมาณ 50,000,000 บาท ในการหมุนเวียนซื้อขายกองทุนดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งผู้ถูกร้องได้ชี้แจงต่อศาลแล้วตามเอกสารหมาย ถ.40 และเมื่อพิจารณาจากรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตามเอกสารหมาย ศ.62 จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับกองทุนเปิดธนชาตตลาดเงิน T-Money บัญชีเลขที่ 002-1-06129-0 ชื่อบัญชี นายศักดิ์สยำม ชิดชอบ เอกสารหมาย ถ.40
ทั้งนี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ย่อมทราบดีว่า รายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จำนวนเงิน 290,099,135 บาท ตามเอกสารหมาย ศ.62 ไม่สอดคล้องกับรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 223-2-58847-8 ชื่อบัญชี นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามเอกสารหมาย ศ.14 เนื่องจากเมื่อพิจารณารายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารตามเอกสารหมาย ศ.14
จะเห็นได้โดยชัดเจนว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2560 ถึงปี พ.ศ.2561 ไม่มีรายการนำฝากหรือโอน จำนวน 50,023,045 บาท 40,010,223 บาท 50,012,341 บาท 50,012,755 บาท 50,014,870 บาท 50,025,901 บาท รวม 290,099,135 บาท เข้าในบัญชีของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามวันเวลาที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาล ตามเอกสารหมาย ศ.59และ ร.20
จึงต้องรับฟังว่า พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลดังกล่าวไม่มีมูลความจริงและล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น อันแสดงถึงเจตนาชั่วร้ายของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ที่ต้องการเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเท็จต่อศาลเพื่อให้ศาลหลงเชื่อและสำคัญผิดในสำระสำคัญแห่งคดี และนำไปสู่การลงโทษผู้ถูกร้องตามคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ และมีเจตนาแอบแฝงเพื่อมุ่งหวังผลในทางการเมืองของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังประเด็นดังกล่าวของพ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เพื่อนำมาพิจารณาให้เป็นผลร้ายกับผู้ถูกร้องได้
2.6 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ยังคงเป็นผู้ค้ำประกันให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จนถึงปัจจุบันล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น
เกี่ยวกับประเด็นตามเอกสารหมาย ศ.67 ผู้ถูกร้องได้สอบถามข้อเท็จจริงจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และได้รับการยืนยันว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ขอไถ่ถอนบัญชีเงินฝากหลักประกันตามเอกสารหมาย ศ.67 ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2562 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัยอีกแต่อย่างใด ตามเอกสารหมาย ถ.42
จึงต้องรับฟังว่า พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลดังกล่าว ไม่มีมูลความจริง และล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น อันแสดงถึงเจตนาชั่วร้ายของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ที่ต้องการเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเท็จต่อศาลเพื่อให้ศาลหลงเชื่อและสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งคดี และนำไปสู่การลงโทษผู้ถูกร้องตามคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้
นอกจากนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ แม้มีความสัมพันธ์กับผู้ร้องในฐานะเป็นพี่ชายของผู้ถูกร้อง แต่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ นั้นไม่ใช่ผู้ถูกร้อง หรือตัวแทนของผู้ถูกร้อง และหาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ มีความประสงค์จะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ก็เป็นสิทธิของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่พึงกระทำได้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังประเด็นดังกล่าวของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เพื่อนำมาพิจารณาให้เป็นผลร้ายกับ ผู้ถูกร้องได้
2.7 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ถูกร้องและนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561 เอกสารหมาย ถ.41/6 ตามที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2561 นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้โอนเงินให้แก่ผู้ถูกร้อง จำนวน 30,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏแหล่งที่มาของเงิน ตามเอกสารหมาย ร.20/7 นั้น
ผู้ถูกร้องขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ข้อกล่าวหาของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น กล่าวคือ ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นที่เคยกล่าวอ้างกันมาก่อน และไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในคำร้องของผู้ร้องและข้อซักถามของศาล อีกทั้ง ศาลยังไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องชี้แจงประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งที่ ความจริงนั้น ยอดเงินจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ผู้ถูกร้องได้กู้ยืมเงินจำนวน 30,000,000 บาท จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2561 เอกสารหมาย ถ.41/6 ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างกันและอยู่ในวิสัยปกติทั่วไป
แต่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง กลับอาศัยข้อเท็จจริงที่ยังไม่เคยได้รับการชี้แจง หรือยืนยันข้อเท็จจริงทั้งจากผู้ถูกร้องและนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว มากล่าวหาผู้ถูกร้อง อันแสดงถึงเจตนาชั่วร้ายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ต้องกำรเสนอข้อเท็จจริงและพยำนหลักฐานเท็จเพื่อให้ศาลหลงเชื่อและสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและนำไปสู่กำรลงโทษผู้ถูกร้องตำมคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ ดังนั้น จึงไม่อำจรับฟังประเด็นดังกล่ำวของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เพื่อนำมาพิจารณาให้เป็นผลร้ายกับผู้ถูกร้องได้
@แจงปมเงินกู้ยืม ‘ศุภวัฒน์-บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์’
2.8 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลทางบัญชีของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ตามที่ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงในประเด็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระหว่างนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ กับบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ตามคำชี้แจงข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2566 แล้ว
ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเลขที่ 401-2-02809-8 ชื่อบัญชี บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เอกสารหมาย ศ.63 ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 จำนวน 40,000,000 บาท และ 35,000,000 บาท และในวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จำนวน 36,702,680.01 บาท นั้น ว่า เงินจำนวน 40,000,000 บาท เป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาเงินกู้ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ให้แก่บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด
ส่วนเงินจำนวน 35,000,000 บาท และเงินจำนวน 36,702,680.01 บาท เป็นกรณีที่บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ชำระหนี้เงินสำรองจ่ายให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 และวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงของผู้ถูกร้อง เอกสารหมาย ถ.40 ซึ่งในการไต่สวนคดีนางสาวฐิติมา เกลาพิมาย ก็ได้เบิกความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงของผู้ถูกร้อง
อีกทั้งยังสามารถอธิบายในรายละเอียดว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรมดังกล่าวไว้ในงบกำรเงินของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด โดยนางสาวฐิติมา เกลาพิมาย ได้อธิบายว่ากรณีรายการธุรกรรม 40,000,000 บาท เป็นกรณีที่ผู้จัดทำบัญชีคนเก่าและพนักงานการเงินของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ไม่ได้มีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง จึงเป็นเหตุให้นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย ไม่อาจทราบข้อมูลของเงินจำนวนดังกล่าวและไม่สามารถบันทึกรายการธุรกรรมดังกล่าวให้ถูกต้องได้ เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลในงบการเงินที่จะทำกำรชำระหนี้ในบัญชีได้
ส่วนกรณีรายการธุรกรรม 35,000,000 บาท และ 36,702,680.01 บาท นั้น เป็นกรณีชำระเงินหนี้สำรองจ่ายให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ในรอบระยะเวลาบัญชีในปีนั้น จึงไม่จำต้องบันทึกไว้ในงบการเงิน เนื่องจากไม่ได้มีการตั้งเป็นเจ้าหนี้ข้ามปี ซึ่งนางสาวฐิติมา เกลาพิมาย ก็ได้ยืนยันว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นไปตามหลักทำงบัญชี
จึงต้องรับฟังว่า เป็นกรณีที่อยู่ในวิสัยปกติของการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานทางการบัญชีเยี่ยงผู้มีวิชำชีพทางบัญชีพึงกระทำโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ซึ่งผู้สอบบัญชีและผู้ทำบัญชีของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ไม่เคยถูกร้องเรียน หรือถูกดำเนินคดีอาญาจากหน่วยงานราชการเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินอันเป็นเท็จแต่อย่างใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1024 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีเอกสารของบริษัทนั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ทุกประการ (ฎีกาที่ 1550-1551/2534)
2.9 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลทางบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ตามที่ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถามพยานปากนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ ในทำนองว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้โอนเงินจำนวน 20,000,000 บาท ให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ใช่หรือไม่ และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ ได้ตอบว่า ใช่ นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถามคำถามดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของศาลมิได้มีการแสดงพยานเอกสารที่อ้างถึงประกอบคำถามให้แก่นางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ ตรวจสอบก่อน
จึงทำให้นางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ สำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามประเด็นคำถาม กล่าวคือ ประเด็นเกี่ยวกับยอดเงินจำนวน 20,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ชำระหนี้เงินสำรองจ่ายให้แก่ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และเมื่อพิจารณาจากเอกสารหมาย ศ.70/14 ซึ่งเป็นหลักฐานที่ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคำถามดังกล่าวที่ปรากฏชื่อของผู้ถูกร้องในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ลงนามในเอกสารการโอนเงินให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ผ่านบัญชีกองทุนเปิดธนชาต T-IncomePlus เท่านั้น
ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า เงินจำนวน 20,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นเงินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โอนให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกร้องโอนเงินให้แก่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งในประเด็นปัญหาข้อนี้พยานหลักฐานเอกสำรที่นำสืบและอ้างส่ง ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคล และไม่อาจรับฟังพยานบุคคลเอามาโต้แย้งหักล้างทำลายน้ำหนักพยานเอกสารได้
@ชี้แจงกรณีการเพิ่มทุน ‘หจก.บุรีเจริญฯ’ เมื่อปี 58-59
2.10 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกร้องเพิ่มทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ในปี พ.ศ.2558 และปี พ.ศ.2559
ตามที่ท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถามว่า เงินที่ผู้ถูกร้องนำมาเพิ่มทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 40,000,000 บาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 นั้น เป็นเงินกู้ยืมจาก บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด จำนวน 40,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เอกสารหมาย ถ.40/378 ใช่หรือไม่ เหตุใดการเพิ่มทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จึงเกิดขึ้นก่อนวันที่ระบุในสัญญาดังกล่าว โดยผู้ถูกร้องได้ตอบว่า เป็นการทำสัญญาย้อนหลังนั้น
ผู้ถูกร้องขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า คำตอบดังกล่าวเป็นกรณีผิดหลงซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง กล่าวคือ ยอดเงินจำนวน 40,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เอกสารหมาย ถ.40/378 ไม่ใช่เงิน ที่ผู้ถูกร้องนำมาเพิ่มทุนห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันที่ 2 เมษายน 2558 ความจริงแล้วเป็นเงิน ที่ผู้ถูกร้องกู้ยืมเงินจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มทุนห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันที่ 9 ตุลาคม 2558
โดยเมื่อพิจารณาจากรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขบัญชีที่ 401-6-01432-6 ชื่อบัญชีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เอกสารหมาย ศ.62/2 ในวันที่ 2 เมษายน 2558 จะเห็นได้ว่าไม่มียอดรับโอนหรือนำฝากเงินจำนวน 40,000,000 บาท เพราะความจริงแล้วผู้ถูกร้องได้รับโอนยอดเงินดังกล่าวจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ลงนามในสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เอกสารหมาย ถ.40/378 เพื่อนำไปใช้ ในการเพิ่มทุนห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ตามเอกสารหมาย ศ.8/67-73
กรณีดังกล่าว จึงไม่ใช่การทำสัญญากู้ยืมย้อนหลังตามที่ผู้ถูกร้องได้เบิกความที่ศาล โดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง แต่เป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกต้องตามวันที่ระบุไว้ในสัญญา และนอกจากยอดเงินจำนวน 40,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เอกสารหมาย ถ.40/378 แล้ว
ผู้ถูกร้อง ยังได้เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด อีกจำนวน 14,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 54,000,000 บาท สอดคล้องกับการเพิ่มทุนห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นในวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ตามเอกสารหมาย ศ.8/67-73 ซึ่งเป็นกรณีตามปกติทั่วไปทางธุรกิจการค้า มิใช่กรณีที่ผิดปกติ หรือ ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า ยอดเงินจำนวน 40,000,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 เอกสารหมาย ถ.40/378 ไม่ใช่แหล่งที่มาของเงินที่ผู้ถูกร้องนำมาเพิ่มทุน ในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 40,000,000 บท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 และไม่ได้มีการทำสัญญาย้อนหลัง เพราะแท้จริงแล้วยอดเงินจำนวน 40,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นแหล่งที่มาของเงินที่ผู้ถูกร้องนำมาเพิ่มทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จำนวน 54,000,0000 บาท เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558
ทั้งนี้ เหตุที่ผู้ถูกร้องไม่เคยชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศาลทราบมาก่อน เนื่องจากประเด็นข้อสงสัยของผู้ร้องและคำถามของศาลในคดีนี้ล้วนแต่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในระหว่าง ปี พ.ศ.2559 ถึง ปี พ.ศ.2562 เท่านั้น
2.11 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับบิลค่าใช้จ่ายเบิกค่าน้ำมันรถยนต์ของนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ภายหลังจากที่ผู้ถูกร้องออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561
ผู้ถูกร้องขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ผู้ถูกร้องไม่เคยได้รับเงินค่าน้ำมันรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และไม่เคยสั่งให้พนักงานขับรถของผู้ถูกร้องนำบิลค่าน้ำมันไปเบิกค่าใช้จ่ายกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทั้งนี้ ปกติผู้ถูกร้องจะจ่ายเงินให้กับพนักงานขับรถของผู้ถูกร้อง เป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำมันทุกครั้ง จึงไม่ทราบว่า นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ได้เคยมำขอใบเสร็จค่าน้ำมันรถยนต์จากพนักงานขับรถของผู้ถูกร้องเพื่อนำไปเบิกเป็นค่าใช้จ่ายของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นหรือไม่
ทั้งนี้ จากการไต่สวนก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้รับหรือเคยได้รับเงินค่าน้ำมันรถยนต์จากนำยศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์และหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นแต่อย่างใด จึงต้องรับฟังว่า ผู้ถูกร้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์นำบิลค่าน้ำมันรถยนต์ของผู้ถูกร้องไปเบิกค่าใช้จ่ายกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
2.12 กรณีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และ บริษัท ศิลำชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด
เหตุที่ผู้ถูกร้อง มิได้นำส่งคำพิพากษาคดีตามเอกสารหมาย ถ.40 นั้น เนื่องจากผู้ถูกร้องเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวมิใช่สำระสำคัญแห่งคดี และคำพิพากษาดังกล่าวมิได้อยู่ในความครอบครองของผู้ถูกร้อง ประกอบกับผู้ถูกร้องไม่สามารถคัดถ่ายคำพิพากษาได้ด้วยตนเองได้ เพราะผู้ถูกร้องมิใช่คู่ความในคดีดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องมิได้นำส่งคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการประสานงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น และบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เพื่อขอสำเนาคำพิพากษาดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีฉบับนี้
ข้อ 3 อาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงต่อศาลทั้งหมด ประกอบกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจากการไต่สวน จะเห็นได้ว่า ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดกำร ผู้ถือหุ้น และหรือลูกจ้างของนิติบุคคลใดๆ
และการซื้อขายสิทธิเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ระหว่างผู้ถูกร้องและนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นนิติกรรมที่มีการเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งประเด็นข้อสงสัยของผู้ร้องและท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกร้องเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น
และจากการไต่สวนไม่ปรากฏว่า มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า ผู้ถูกร้อง นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และหรือนายเอกราช ชิดชอบ มีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน หรือเคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และ/หรือ มีอำนำจสั่งการหรือควบคุมการบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นและบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด หรือไม่ อย่างไร ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
และไม่ปรากฏว่ามีพยานบุคคลใดที่ยืนยันได้ว่านายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ และนายเอกราช ชิดชอบ เป็นตัวแทนหรือนอมินีของผู้ถูกร้อง ในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2562
ดังนั้น จึงต้องรับฟังว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องแต่อย่างใด จึงขอศาลได้โปรดพิจารณาและมีคำวินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้อง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาดังที่ได้มีการแถลงการณ์ปิดคดีมานี้ด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นคำแถลงการณ์ปิดคดีซุกหุ้น ‘หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น’ ที่ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม) ได้แถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และต้องติดตามกันต่อไปว่าในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ศาลฯจะมีคำวินิจฉัยออกมามาอย่างไร?
อ่านประกอบ
- 17 ม.ค 67 ศาลรธน.นัดลงมติ-ฟังคำวินิจฉัย สถานะรมว. 'ศักดิ์สยาม' ปมถือหุ้น หจก.บุรีเจริญ
- 'ศาล รธน.'สั่ง‘บุคคล-หน่วยงาน’ส่ง‘คำชี้แจง-พยานหลักฐาน’เพิ่ม คดีซุกหุ้น‘หจก.บุรีเจริญฯ'
- ไร้หุ้น หจก.บุรีเจริญฯ! เปิดทรัพย์สิน'ศักดิ์สยาม'ล่าสุดรับตำแหน่ง สส.ภูมิใจไทย 111 ล.
- 20 ก.ย. 66 ศาลรธน.นัดอภิปรายคำวินิจฉัยความเป็นรมต.'ศักดิ์สยาม' คดีซุกหุ้น 'บุรีเจริญ'
- พุ่งเป้าพิสูจน์ฐานะการเงิน'ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์'! เปิดลิสต์31พยานคดีนอมินี'หจก.บุรีเจริญฯ'
- 'ก้าวไกล'ร้อง'ป.ป.ช'สอบ‘ศักดิ์สยาม’ซุกหนี้'หจก.บุรีเจริญฯ'38 ล.-พบพิรุธเอกสารยื่นศาล รธน.
- ย้อนไทม์ไลน์ ปมถือหุ้นรับเหมา‘ศักดิ์สยาม’ ก่อนศาล รธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
- เอื้องบบุรีรัมย์-เอี่ยวผู้รับเหมา! พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยยื่นคำร้องถอดถอน 'ศักดิ์สยาม'
- คลี่12ปมส่อขายหุ้นให้นอมินี! เปิดคำร้องส่ง'ศาล รธน.'วินิจฉัย'ศักดิ์สยาม'พ้น‘รมต.’หรือไม่
- ภูมิใจไทย อัดฝ่ายค้าน ถอดถอน ‘ศักดิ์สยาม’ ใช้สิทธิไม่สุจริต - เป็นเกมการเมือง
- ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
- หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.
- ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
- คุ้ยทรัพย์สิน ส.ส.‘ศักดิ์สยาม’! ใช้ที่อยู่เดียว หจก.บุรีเจริญฯ 25 วันก่อนเปลี่ยน?
- เจาะ 4 โครงการทำถนน คค.-หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดงคว้างาน 122 ล.คู่เทียบเดิม?
- โชว์สัญญาจัดจ้าง! หจก.รับเหมาฯคดีเขากระโดง ใช้ที่อยู่‘ศักดิ์สยาม’คว้างานรัฐ 1.2 พันล.
- หจก.บุรีเจริญฯใช้บ้าน‘ศักดิ์สยาม’เป็นที่ตั้ง-แจ้งเปลี่ยนก่อนนั่ง รมว.คมนาคม 23 วัน
- โชว์สัญญาโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-ศุภวัฒน์’ 119.4 ล.-ไม่ระบุจ่ายเงินหรือไม่?
- ปี 58‘ศักดิ์สยาม’คัมแบ็กหุ้นใหญ่ หจก.บุรีเจริญฯ เพิ่มทุน 119.5 ล.-โอนเกลี้ยงปี 61
- เจาะ หจก.บุรีเจริญฯ‘ศักดิ์สยาม-เพิ่มพูน’ ร่วมก่อตั้ง-ลงหุ้นปี 39 ก่อนไขก๊อกปี 40
- เปิดละเอียด! ข้อกล่าวหา’ศักดิ์สยาม-อนุพงษ์’ เอื้อพวกพ้อง-ไม่ถอนโฉนดรุก ‘เขากระโดง’
- ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
- ออกไปนานแล้ว! 'ศักดิ์สยาม' แจงสัมพันธ์ หจก.บุรีเจริญฯ ปมที่ดิน ‘เขากระโดง’
- ‘ศุภวัฒน์-หจก.บุรีเจริญฯ’ 2 ตัวละครมหากาพย์ ‘เขากระโดง’ บริจาค ภท. ปี 62 รวม 7.5 ล.
- คำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัด! ‘เขากระโดง’ที่ดินรถไฟ สะเทือน‘ช้างอารีน่า-บุรีรัมย์คาสเซิล’
- 23 ปียังไม่เพิกถอนโฉนด! เปิดบันทึกกฤษฎีกาชี้ชัด ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่ ที่ดินรถไฟ
- พลิกแฟ้มป.ป.ช.! สั่งถอนโฉนดตระกูล ‘ชิดชอบ’ ทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
- ได้งาน คค.7 ปีหลังสุด 1.9 พันล.! หจก.บุรีเจริญฯของ‘ตัวละครสำคัญ’มหากาพย์‘เขากระโดง’
- เปิดตัว ‘ศุภวัฒน์’ คู่พิพาทที่รถไฟ ‘เขากระโดง’-บริจาค ภท.-‘ศักดิ์สยาม’ เคยเป็นกุนซือ
- ควันหลงซักฟอก! 'ประเสริฐ'ร้อง ป.ป.ช.10 มี.ค.เอาผิด'บิ๊กตู่-จุรินทร์'คดีถุงมือยาง
- มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’