นิด้าโพลเผยประชาชน 30.92% ค่อนข้างกังวลต่อนโนบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท อาจได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศตามคำเตือนนักวิชาการ 47.10% คิดว่าควรดำเนินนโยบายต่อ แต่ควรปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ว่าอาจจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสียกับประเทศ (เช่น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ) ตามคำเตือนของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ พบว่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 30.92 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล
ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่กังวลเลย
ร้อยละ 25.27 ระบุว่า กังวลมาก
ร้อยละ 15.19 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล
ร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 47.10 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อ แต่ควรมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
ร้อยละ 32.52 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อตามที่ได้หาเสียงไว้
ร้อยละ 18.85 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว
ร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนการรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ของประชาชน พบว่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 79.85 ระบุว่า รับเงินและนำไปใช้จ่าย
ร้อยละ 13.51 ระบุว่า ไม่รับเงิน
ร้อยละ 5.42 ระบุว่า รับเงิน แต่ไม่นำไปใช้จ่าย
ร้อยละ 1.22 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย หากรัฐบาลยกเลิกนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 60.00 ระบุว่า ส่งผลกระทบให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดลง
ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 6.49 ระบุว่า ส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 3.59 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.41 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.60 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.99 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 33.82 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.82 สมรส และร้อยละ 2.36 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.03 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.41 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.02 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.73 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.81 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 7.86 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.48 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.00 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.44 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 17.10 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.77 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 5.19 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหากำไร และไม่ระบุอาชีพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.76 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.71 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.47 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.04 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.62 ไม่ระบุรายได้