'เศรษฐา ทวีสิน' เผยเงื่อนไขรับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเลตต้องเป็นคนไทย-มีอายุ 16 ปีขึ้นไป-มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน-มีเงินฝากรวมทุกบัญชีต่ำกว่า 500,000 บาท ขาดเงื่อนไขใดไม่ได้-ใช้เงินจ่ายหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงความชัดเจนนโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลได้หาข้อสรุปของโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยเงินมูลค่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท ครอบคุลม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ทุกอย่างที่แถลงในวันนี้ต้องต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และต้องมีมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อนจะสรุปเป็นครั้งสุดท้ายอีกครั้ง ตัวเลขเมื่อครู่เกิดจากการที่รัฐบาลได้ฟังความคิดเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ปรับเงื่อนโครงการดิจิทัลวอลเลตให้ครอบคลุมขึ้น
โดยรัฐบาลมอบสิทธิ์ 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากรวมทุกบัญชีต่ำกว่า 500,000 บาท
ทั้งนี้ถ้ามีรายได้ 70,000 บาท แต่เงินฝากไม่ถึง 500,000 ก็ไม่ได้สิทธิ์ หรือมีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน แต่มีเงินฝากเกิน 500,00 บาท ก็ไม่ได้รับสิทธิ์ โดยให้สิทธิ์ระยะแรก 6 เดือนหลังโครงการเริ่ม ขยายการใช้เป็นระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นมา พร้อมกันนั้นจะใช้เงินเพิ่มขีดความสามารถภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น กองทุนนี้ใช้ดึงดูดผู้มีความสามรถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป
"ผมยังยืนยันความตั้งใจที่ทำให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจะออกโครงการe-refund โดยให้คนไทยสามรถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน ฉะนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเตสามารถร่วมเป็นสวนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น" นายเศรษฐากล่าว
โดยสรุปนโยบายจะส่งผลดีต่อประเทศ 2 ด้าน ได้แก่
1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น มีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกลผ่านการบริโภคและการลงทุน
2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและe-Government เป็นการวางและแก้ไขโครงสร้างของประเทศในระยะยาว
"นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินับการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิ์ร่วมกัน ใช้สิทธิ์อย่างภาคภูมิใจ ที่ผมกล่าวไปข้างต้นไปเนื้อหาที่ผ่านการสรุปหวังว่าทุกคนจะเข้าใจภาพรวมในเบื้องต้น" นายเศรษฐากล่าว
นอกจากนี้นายเศรษฐากล่าวอีกว่า เงินดิจิทัลวอลเลตนี้ประชาชนสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้ แต่ไม่สามรถนำไปซื้อสินค้าออนไลน์ สินค้าแอลกอฮอล์ บุหรี่ สินค้าผลิตภัณฑ์จากกระท่อมและกัญชา ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ ค่าเทอม ค่าเชื้อเพลิง หรือจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้