‘เศรษฐา’ไปพิษณุโลก ระบายความในใจถึงดิจิทัลวอลเลต ชี้คนที่เห็นด้วยต้องส่งเวียงบ้าง หลังเสียงค้านดังหระหึ่ม ด้าน ‘จุลพันธ์’ ปฏิเสธข่าวลดวงเงิน-จำกักลุ่มเป้าหมาย ชี้ยังไม่ได้สรุปอะไร ปัดไม่มีการให้ลงทะเบียน แต่จะมีระบบให้ยืนยันตัวตน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และคณะเดินทางตรวจราขการที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย
โดยในช่วงเช้าทีผ่่านมา เข้าตรวจเยี่ยมยังโรงผลิตน้ำประปา ที่เทศบาลนครพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เพื่อพูดคุยปัญหาน้ำประปากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
@กราบขอโทษประชาชน น้ำท่วมเมือง
ทั้งนี้นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารจัดการน้ำมี 4 ส่วนคือ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ และเรื่องอุปโภคบริโภค จ.พิษณุโลก เป็นจังหวัดแรกที่ตนเดินทางมาแล้วมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่องการเก็บน้ำ ท่อส่งน้ำที่สร้างมา 80 กว่าปี มีการรั่วซึม จ.พิษณุโลก ที่เป็นเมืองรอง แต่วันนี้จะเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน เมื่อกลับไปจะคุย กับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ตนเพิ่งทราบปัญหานี้ ตอนที่เคยมาช่วงเลือกตั้ง ถ้าทราบจะเตรียมทางแก้ปัญหาไว้ แต่ถึงอย่างไรช้าดีกว่าไม่ทำ ขอกราบขอโทษด้วยแล้วกัน
อย่างไรก็ตาม สส.เพื่อไทยที่นี้ให้ความเป็นห่วงประชาชน สิ่งที่คนในหลายจังหวัดถือเป็นของตาย คือน้ำอุปโภคบริโภค แต่ จ.พิษณุโลกที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีปัญหาก็กราบขอโทษ ในนามรัฐบาลจะนำมาพัฒนาและทำให้ดี ในระยะสั้นก่อน ระยะยาวก็ค่อยแก้กันไป ไม่เช่นนั้นเมืองรองที่มีคุณค่าอย่างจ.พิษณุโลก จะไม่มีโอกาสเติบโตตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจของชาติได้
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ กล่าวว่า ที่นายกฯบอกว่าไม่ทราบมาก่อน ถือเป็นความผิดของตน ผู้สมัครสส.ในพื้นที่บอกตนมาตลอด แต่เมื่อไม่ได้เป็นผู้แทนเลยไม่ได้นำเรียนต่อวันนี้จึงต้องขอโทษ
ขณะที่นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า เจตนาของเทศบาลนครพิษณุโลก ต้องการจำหน่ายน้ำประปาเอง หรือโอนมอบไปให้การประปาภูมิภาค ตนมองว่าไหนๆจะทำสักที อยากให้สส.ในพื้นที่ทำประชาคมดูว่า จะให้ไปอยู่ประปาส่วนภูมิภาคหรือจะทำเอง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร อยากให้สส.ประสานกับทางเทศบาล ทำให้เป็นประปาดื่มได้เลย
จากนั้นนายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม เรื่องการท่องเที่ยว การพัฒนาสนามบินอยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะบอกวันนี้คือ ที่ผ่านมารัฐบาลลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงดีหรือไม่ ทำไมไม่มีใครบอก จำได้หรือไม่ น้ำมันดีเซลลงไปเท่าไหร่เหลือ 29 บาทกว่าๆ
@กร้าว ขอคนเห็นด้วยดิจิทัลวอลเลต ส่งเสียงบ้าง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อถึงประเดด็นดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทว่า ส่วนเงินดิจิทัลวอลเลตอยากได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ เรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลตระหนักดี สำหรับดิจิทัลวอลเลต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมุติวันที่ 1 ก.พ. 67 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้คนละหมื่นบาท บ้านไหนมีสามคนห้าคนเอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่ามีประโยชน์มากแค่ไหน และเงินที่ได้ไปใช้ในกทม.ไม่ได้ ต้องใช้ในเขตที่ท่านอยู่ จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว ซึ่งมีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็น เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน รับฟังแล้วปรับให้ดีให้เป็นนโยบายที่โดนใจทุกคน คิดดูวันที่ 1 ก.พ. มีเงิน 5.6 แสนล้านเข้าไปในระบบ ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะเตรียมสินค้าออกมารองรับหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มหรือไม่ เงินจะอยู่ในกระเป๋าประชาชนมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร
“ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง เรื่องลดค่าไฟค่าน้ำมันต้องพูด อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ท่านต้องออกมาพูดว่า ท่านมีความสุข ดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็เป็นคนเหมือนกัน ต้องการขวัญและกำลังใจเหมือนกัน บางคนที่มาด้วยกันวันนี้ก็อยากอยู่บ้าน แต่วันนี้เข้าใจปัญหาประชาชนก็มารับฟังปัญหา เราไม่ได้มาหาเสียงแต่เรามาทำงานจริง “ นายเศรษฐากล่าว
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
@ลดวงเงินเหลือ 400,000 ล้านบาท ข่าวมั่ว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เปิดเผยว่า กระแสข่าวว่าจะมีการปรับลดวงเงินโครงการจาก 5.6 แสนล้านบาท เหลือ 4 แสนล้านบาท และ ปรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น เรื่องนี้ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ยังไม่มีการหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ และไม่มีข้อสรุปใด ๆ ทั้งสิ้น
“ประเด็นลดวงเงินเหลือ 4 แสนล้านบาท ผมไม่เคยพูดไปเอาตัวเลขมาจากไหน นโยบายนี้เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช้นโยบายดูแลกลุ่มผู้ยากไร้ นโยบายสงเคราะห์ แต่เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วถึง แต่เมื่อมีเสียงคัดค้าน ข้อเสนอแนะ ก็พร้อมรับฟัง เช่น มาตรการสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เพราะจะเป็นการนำเงินดิจิทัลไปทดแทนวงเงินใช้จ่ายปกติเท่านั้น ก็ต้องเอาประเด็นนี้มาพิจารณา” นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า หากมีการแบ่งว่าใครควรได้รับสิทธิ์ จะพิจารณาอย่างไร ว่าใครรวยใครจน พิจารณาจากการยื่นภาษีกรมสรรพากร หรือพิจารณาจากเงินฝากในบัญชี ซึ่งก็ต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายพีดีพีเอ หรือ พิจารณาจากการถือครองที่ดิน สุดท้ายทั้งหมดคงต้องมีกลไกทางวิทยาศาสตร์ บอกว่าใครรวยจริง คณะอนุกรรมการในชุดต่าง ๆ ต้องไปพิจารณา แล้วกลับมาเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า
@ไม่ได้ให้ลงทะเบียน แค่ยืนยันตัวตน
สำหรับกระบวนการได้สิทธิ์ดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าไม่ใช่ลงทะเบียน แต่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ตัวตนเพราะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเป็นการใช้เงินดิจิทัลเทียบเงินบาท จากข้อมูลในมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีประชาชน ยืนยันตัวตนแล้วกว่า 40 ล้านคน ยังเหลืออีก 10 กว่าล้านคน ต้องยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เป็นการยืนยันรับสิทธิ์ ไม่ใช่การพิสูจน์สิทธิ์
“ต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสิทธิ์ และต้องมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวผูกบัญชีไว้ ซึ่งกระบวนการยืนยันตัวตน จะต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะมีการโหลดแอพพลิเคชั่นดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ คณะทำงานต้องไปทำรายละเอียดมา” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอให้ปรับลดวงเงิน แต่กลไกต้องอยู่ในกรอบเหมาะสม และไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ละสัปดาห์ก็แบ่งงานกันไปทำชัดเจน เพื่อสามารถมาทำโครงการได้โดยไม่ให้มีผลกระทบน้อยสุด ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะใช้น้อยกว่า 5.6 แสนล้านบาท
เบื้องต้น จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า 1.ประชาชนที่ได้สิทธิ์ อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี จะเหลืออยู่ราว 54.8 ล้านคน จาก 56 ล้านคน 2. การพิจารณาอยู่ใครจำเป็นไม่จำเป็น ไม่มีใครตอบได้ ต้องฟังเสียง นักวิชาการ ประชาชน และรอคณะอนุกรรมการ ไปพิจารณาดูว่าคนกลุ่มไหน ไม่ควรต้องได้สิทธิ์ และให้คำตอบมาก่อน และ 3.กระบวนการครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ได้สิทธิ์จะใช้สิทธิ์กันครบ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอ และปฏิบัติตามแนวทางที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ กลุ่มนักวิชาการ ท้วงติงความเหมาะสมโครงการ และยืนยันว่าจะยึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาก็เป็นรัฐบาลที่ทำงบประมาณแบบสมดุลได้ แต่ถ้าถามว่าโตต่ำกว่าศักยภาพมาโดยตลอด ถ้าขยายตัวในระดับ 2% ต่อปี ประชาชนก็ไม่พึงพอใจ
“ถ้าบอกเศรษฐกิจดีแล้ว วันนี้ คงไม่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ประชาชนคงไม่เลือกเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการทำให้เศรษฐกิจโต ก็มีไม่กี่อย่าง กลไกหนึ่งคือการกระตุ้นบริโภคภาคเอกชน” นายจุลพันธ์ กล่าว