คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเลต เคาะ 3 เกณฑ์คัดคนรวยออก ไม่แจกดิจิทัลวอลเลต ‘รายได้เกิน 25,000 บ.มีเงินฝาก 100,000 บ.-รายได้เกิน 50,000 บ.มีเงินฝาก 500,000 บ.-แจกผู้ยากไร้โดยใช้ฐานบัตรคนจน’ จ่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี ‘เศรษฐา’ เป็นประธานพิจารณาในสัปดาห์หน้า ยอมรับแนวโน้มอาจจะแจกช้ากว่า 1 ก.พ. 67
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเลต ครั้งที่ 2 วานนี้ (25 ต.ค. 2566) ที่ประชุมมีข้อสรุปกรณีรัศมีการใช้ดิจิทัลวอลเลต ให้ใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมกำหนดให้ใช้ในรัศมี 4 กม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอรองรับการใช้จ่าย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ในที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างในเงื่อนไขในอีกหลายประเด็น ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น กลุ่มที่จะได้รับสิทธิ์ โดยมาตรการนี้มีข้อเสนอเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องการคนมาเข้าร่วมจำนวนมาก ในขณะที่อีกส่วนเสนอให้เอากลุ่มคนรวยออก เพราะคนรวยจะไม่นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะนำเงินไปออม ดังนั้นคณะทำงานต้องหาคำจำกัดความ
ทั้งนี้ จะมีการให้คณะกรรมการตัดสินใจ 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ
1. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ที่มีอยู่ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท
"เมื่อมีความเห็นต่าง เป็นหน้าที่ คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการ จะไปดูแต่ละกลุ่มครอบคลุมเท่าไหร่ และเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจรายละเอียด" นายจุลพันธ์ระบุ
อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการ เป็นเพียงผู้รวบรวมและนำเสนอแนวทาง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา ภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับประเด็นของแหล่งเงิน ที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงในหลายแนวทาง ทั้งการกู้เงิน ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือกลไกอื่น เช่น มาตรการกึ่งการคลัง
ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันไม่ใช้เงินจากธนาคารออมสิน เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย
สำหรับการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ์ ครอบคลุมทั้ง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ใช้จ่ายได้ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนระบบการขึ้นเงินได้ร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เงินได้นิติบุคคล และ บุคคธรรมดา
นอกจากนี้ นายจุลพันธุ์ ยังยอมรับว่าแนวโน้มการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท น่าจะช้าในระดับหนึ่ง จากเดิมกำหนดวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้นขอพิจารณาก่อน