ป.ป.ช. จับตานโยบายแจกเงินดิจิทัล เทียบเกณฑ์ความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-นักวิชาการให้รายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ในการประชุมวุฒิสภา ซึ่ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม และมีวาระพิจารณารายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งในระหว่างการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สำคัญคือนโยบายเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชน ซึ่งพบข้อท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ และกังวลว่าจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวที่ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลมาแล้ว
นางสุวนา สุวรรณจูฑะ กรรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อประเด็นข้อซักถามในการติดตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษาและรวบรวมรายละเอียดข้อมูล โดยได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน พ.ศ.2566 เกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต และนำไปวิเคราะห์ตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย และจะขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว นำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจมีการเชิญนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการคลัง มาเข้าร่วมศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วน
ทั้งนี้ การตรวจสอบนโยบายสาธารณะของรัฐบาลดังกล่าวนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายเหมือนรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา และแม้ว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จะยังไม่มีการแถลงให้เห็นภาพที่ชัดเจนออกมา แต่ด้วยความห่วงใยจากสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับประเด็นการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว ทางคณะกรรม ป.ป.ช. ถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก