‘นพ.วรงค์’ ร้อง ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ แสวงหาข้อเท็จริง-ส่งเรื่องให้ ‘ศาลปกครอง’ สั่งระงับการแจก ‘เงินดิจิทัล’ เหตุเป็นการก่อหนี้-สร้างภาระงบประมาณประเทศ
......................................
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และคณะ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งต่อศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบการคลังของประเทศในอนาคต โดยมี นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เป็นผู้รับเรื่อง
สำหรับหนังสือที่ นพ.วรงค์ ยื่นถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับดังกล่าว ได้ร้องขอให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.ขอให้ดำเนินการตามมาตรา 22 (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
และมาตรา 22 (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น
2.ดำเนินการตามมาตรา 23 (2) เสนอเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งระงับการดำเนินการแจกเงินดิจิทัล หรือที่เรียกเป็นอย่าอื่น 10,000 บาท แก่บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน เพื่อระงับยับยั้งมีให้เป็นการก่อหนี้ ก่อความเสียหายสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศและระบบการเงินการคลังของประเทศในระยาวต่อไป
ทั้งนี้ สมควรร้องขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ให้ระงับการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ไว้ก่อนระหว่างการพิจารณา เพราะหากมีการแจกเงินไปแล้ว จะเกิดความเสียหายต่องบประมาณและระบบการเงินการคลังของประเทศยากทีจะเยียวยาได้
รายงานข่าวแจ้งว่า หนังสือของ นพ.วรงค์ ยังได้สรุปประเด็นโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ไว้ 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การแจกเงินให้ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ทุกคน คนละ 10,000 บาท สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม เพราะเศรษฐีมหาเศรษฐีก็ได้รับหมด ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ 2.เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 3.รัฐควรเน้นการใช้จ่ายภาครัฐ สร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออก
4.การกระตุ้นการบริโภคในระยะนี้อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 5.รัฐมีงบประมาณจำกัด การใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท (ไปแจก) ทำให้รัฐเสียโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้าง Digital Infrastructure การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว ซึ่งเป็นผลดีกว่าการแจกเงิน เพื่อการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลของการสร้างหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป แทนการแข่งขันของประเทศ
6.ประเทศไทยอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น การก่อหนี้จำนวนมากไม่ว่าโดยการออกพันธบัตร หรือกู้เงินไม่ว่าจากแหล่งใด จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น และ 7.หนี้สาธารณะที่ปัจจุบันสูง ร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งสูงมากแล้วการกู้เงินเพื่อนำเงินมาแจกจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นอีก จะต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยคืน ซึ่งจะเพิ่มภาระต่องบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนมหาศาล