"...เงินแผ่นดิน คือ เงินที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของโดยส่วนรวม ฉะนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงต้องบัญญัติ “หลักเฉพาะ” ไว้เหมือนกันว่า จะนำเงินแผ่นดินไปจ่ายได้ต้องมีกฎหมายอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญคือกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย..."
ได้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งอดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์และคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์หลายท่านเข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ระงับโครงการแจกเงินดิจิทัล ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์
แต่ในบทความนี้ของผู้เขียนจะขอเจือสมในข้อกฎหมายการคลัง โดยวิเคราะห์ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 140 กล่าวคือ
เงินแผ่นดิน คือ เงินที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของโดยส่วนรวม ฉะนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงต้องบัญญัติ “หลักเฉพาะ” ไว้เหมือนกันว่า จะนำเงินแผ่นดินไปจ่ายได้ต้องมีกฎหมายอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง ที่สำคัญคือกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 บัญญัติไว้ ดังนี้.....
“การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญยัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป”
ผู้เขียนได้แยกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแผ่นดินตามมาตรา 140 ที่บัญญัติไว้เป็นวรรคเดียวกันทั้งหมดออกมาเป็นสองวรรคเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ กล่าวคือหลักเฉพาะและข้อยกเว้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแจกเงินดิจิทัลที่เป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามหลักเฉพาะแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่เข้าทั้งหลักเกณฑ์ในตอนต้นของมาตรา 140 กล่าวคือไม่มีกฎหมายอนุญาตตามที่มาตรา 140 บัญญัติอนุญาตไว้ และไม่อยู่ในข่ายจำเป็นรีบด่วนตามมาตรา 140 ตอนท้ายที่เป็นข้อยกเว้น เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่ถือเป็นกฎหมาย การจ่ายตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่คณะรัฐมนตรีที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้าง Fake Law เพื่อบิดเบือนว่าไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินแผ่นดิน แต่เป็นการแจก “เงินดิจิทัล” แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่า ไม่อาจตั้งได้ทันในงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เพราะจะต้องล่าช้าไปหลายเดือน จะต้องขอยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ ที่อาจจะเป็นธนาคารออมสิน ซึ่งก็หนีไม่พ้นทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจะเป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคแรก ที่ไม่อาจตัดรายจ่ายประเภทนี้ได้ ก็จะเป็นผลให้งบประมาณรายจ่ายปีนั้นมีวงเงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเพราะต้องกู้เพื่อการนี้มากขึ้น
การแจก “เงินดิจิทัล” จึงเป็นการขัดต่อวินัยทางเศรษฐศาสตร์การเงินและการคลังตามความเห็นของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่มีมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดๆ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”
การแจก “เงินดิจิทัล” จึงตกเป็น “โมฆะ” ครับ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต